Thailand Unsettled EP.8 | เสาวนีย์ x บก.ลายจุด: ทิศทางคนเสื้อแดง
2019-07-22
ประชาไท
ซีรีส์บทสัมภาษณ์ชุดนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างประชาไทและเว็บไซต์ New Mandala ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก Coral Bell มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560
- หลังรัฐประหารปี 2557 กลุ่มคนเสื้อแดงถูกคุกคามและกดปราบไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง จนเกิดคำถามว่าคนเสื้อแดงยังคงเป็นพลังที่สำคัญทางการเมืองหรือไม่
- ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน แกนนำเสื้อแดงท้องถิ่นถูกเรียกเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ สิ่งนี้ส่งผลต่อมวลชน ที่พวกเขาต้องเงียบเสียงลง อย่างไรก็ตามมวลชนเสื้อแดงไม่ได้สลายตัวไปไหน
- อุดมการณ์และเป้าหมายของคนเสื้อแดงยังคงแข็งแกร่งและไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือคนเท่ากัน
‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ คือหนึ่งพลังสำคัญทางการเมือง ต้องการประชาธิปไตย และยืนยันในความคิดพื้นฐานที่ว่าคนเท่ากัน คำถามมีอยู่ว่าประโยคข้างต้นยังคงเป็นปัจจุบันกาลที่จะต่อเนื่องสู่อนาคตกาล หรือมันได้กลายเป็นอดีตกาลไปแล้ว
การเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหารโดย คสช. จนกระทั่งหลังยุค คสช. กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีหลายเฉดสีจะมีอิทธิพลหรือไม่ อย่างไร เป็นสิ่งที่เราจะค้นหาคำตอบในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้กับ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อแดงโดยตรง และสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ก่อตั้งพรรคเกียน โดยเป็นการสัมภาษณ์ก่อนประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 2562
วิวัฒนาการคนเสื้อแดง
สมบัติเล่าความเป็นมาของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยสรุปว่า เริ่มต้นหลังรัฐประหารปี 2549 ขยับมาสู่ประเด็นการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยรวมคือการไม่เอาเผด็จการหรืออำนาจนอกระบบ อย่างไรก็ตาม สมบัติเห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงผูกติดการเคลื่อนไหวกับการนำของพรรคเพื่อไทย กล่าวได้ว่าในช่วงเริ่มต้นเป็นมวลชนที่ทับซ้อนกันระหว่างผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกับความเป็นคนเสื้อแดง
“หมายความว่าคนเสื้อแดงอาจมี 2 สถานะ จนขบวนการเสื้อแดงวิวัฒนาการค่อยๆ เคลียร์ตัวเองไปสู่เป้าหมายเรื่องประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งสามารถมีความอิสระจากพรรเพื่อไทยได้ แต่ว่ายังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด”
เมื่อเกิดกรณีนิรโทษกรรมสุดซอยขึ้น มันได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากความผิดหวังต่อการนำของพรรคเพื่อไทย สมบัติใช้คำว่า วิวัฒนาการที่สำคัญ เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งแสดงปฏิกิริยาที่แตกต่างหรือต่อต้านการกระทำของพรรคเพื่อไทย
“อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนานของการปกครองโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็ทำให้ขบวนการเสื้อแดงหรือแม้แต่พวกที่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลทหารมีความอ่อนล้าอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเสื้อแดงองค์กรที่เป็นองค์กรนำ เช่น พวก นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ก็ไม่สามารถหรือไม่ได้ออกมานำการต่อสู้ในช่วงเวลานี้ บทบาทของการต่อต้านรัฐประหารก็กลายเป็นกลุ่มอิสระ กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มประชาชนที่อยากเลือกตั้ง โดยอาจจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นมวลชนเสื้อแดงมาร่วมสนับสนุน”
คนเสื้อแดงถูกคุกคามตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557
เสาวนีย์ กล่าวว่า ภายหลังการยึดอำนาจในปี 2557 แกนนำคนเสื้อแดงระดับจังหวัดหรืออำเภอที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวปี 2553 ถูกเรียกเข้าค่ายทหาร บางคนถูกกักตัวอยู่ในค่ายระยะหนึ่ง เมื่อได้รับการปล่อยตัวต้องเซ็นบันทึกความเข้าใจกับทหารและต้องรายงานตัวเป็นระยะ มีทหารขับรถเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อส่งสัญญาณว่าพวกเขาถูกจับตามองตลอด เป็นการกดไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง พูดได้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ เผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกัน
“เพราะฉะนั้นเขาต้องเงียบ แต่ในความเงียบ ถ้าเราถามว่าเขาสลายตัวไปหรือไม่ เราต้องนิยามว่าสลายคืออะไร ถ้าสลายตัวหมายความว่าไม่ออกมาประท้วงตามท้องถนน อันนี้เห็นด้วย เพราะไม่มีการประท้วงจริงจัง ยกเว้นในส่วนกรุงเทพฯ อาจมีกิจกรรมบ้าง แล้วคนก็ไม่ใส่เสื้อแดงออกมาแล้ว คือออกมาในฐานะประชาชนทั่วไปมากกว่า ถามว่าเขาเป็นคนเสื้อแดงหรือไม่ อันนี้มันไม่มีการนิยามแล้ว คือหลังรัฐประหารไม่มีการนิยามแล้วว่าคุณเป็นเสื้อสีไหน คุณเป็นใคร ถ้าคุณออกมา คุณก็คือประชาชน”
แม้จะออกมาในนามประชาชนคนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่เสื้อสีแดง แต่ในระดับความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ‘ความเป็นเสื้อแดง’ สลายไปหรือไม่ เสาวนีย์ตอบว่า ไม่ พวกเขายังติดตามการเมือง ติดตามข่าวแกนนำ ผ่านช่องทางต่างๆ พวกเขาก็ยังรู้สึกว่าสิ่งที่เรียกร้องตั้งแต่ปี 2553 ยังไม่ได้รับ เพียงแต่ไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่แสดงออก
อุดมการณ์แบบคนเสื้อแดงยังคงแข็งแรงอยู่ใช่หรือไม่? เสาวนีย์เชื่อว่ายังคงแข็งแรง เธออธิบายต่อว่า
“ตั้งแต่ปี 2552 ที่ติดตามการเคลื่อนไหวมา เราไม่เคยเห็นประชาชนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนรากหญ้า ใช้วาทะไพร่ บอกว่าฉันเป็นไพร่ เพราะฉันไม่ได้รับความยุติธรรมทางสังคม สังคมยังไม่เท่าเทียม เข้ามาชุมนุมในเมืองหลวงมากมายขนาดนี้ แล้วถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม เสียชีวิตมากมาย 49 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เสียชีวิตในการปราบที่ราชประสงค์ปี 2553 คือคนที่มีทะเบียนบ้านมีภูมิลำเนาอยู่ที่อีสาน”
สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่บอกว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไรบางอย่าง แต่กลับถูกปราบอย่างรุนแรง หลังจากนั้นคนเสื้อแดงก็ไม่ยอม ซึ่งเห็นได้ผ่านผลการเลือกตั้งปี 2554 เห็นการชุมนุมประท้วงประปรายเมื่อมีการต่อต้านรัฐบาลโดยอีกฝ่ายหนึ่ง เสาวนีย์อธิบายว่า นั่นเป็นเพราะเป้าหมายของคนเสื้อแดงยังไม่บรรลุ แต่ขั้นแรกที่พวกเขาได้คือได้การเลือกตั้งในปี 2554 ได้รัฐบาลที่ตนเป็นคนเลือกเองอีกครั้ง และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาถูกทำรัฐประหาร
Thailand Unsettled ย้อนหลัง
ประชามติรัฐธรรมนูญและนัยของตัวเลข
เมื่อถามว่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2559 คะแนนรับกับไม่รับห่างกันเพียงร้อยละ 3 ขณะที่การลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คะแนนรับกับไม่รับค่อนข้างห่างกันมาก ปรากฏการณ์นี้กำลังสื่ออะไร เสาวนีย์ ตอบว่า
“อย่างน้อยรัฐธรรมนูญปี 2550 ฝ่ายประชาชนสามารถนำร่างมาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ มีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวาง คนทั่วไปซึ่งอาจไม่ใช่ฝั่งไหนทั้งสิ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ก็สามารถเคลื่อนไหว พูดคุย สื่อสาร มีการเข้ามาของสื่อออนไลน์ด้วย ความต่างหลักๆ คือตอนนั้นประชาชนทั่วไปรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับตัวร่างมากพอสมควร
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2559 ต่อให้รัฐจะบอกว่าไม่ได้สกัดกั้น มีการให้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) เผยแพร่ แต่ลักษณะการเผยแพร่ข้อมูล ค่อนข้างเป็นการสนับสนุนตัวร่างมาก แม้แต่เพลงในการรณรงค์ มีการชี้แนะชี้นำว่าประชาชนควรจะเลือกยังไง ควรจะคิดยังไง”
อีกทั้งประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวร่างได้อย่างกว้างขวาง จากการสัมภาษณ์ในวันลงประชามติหลังจากลงคะแนนแล้วของเสาวนีย์ พบว่า คนบางคนยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาอะไรบ้าง พอถามว่ารับเพราะอะไร คำตอบที่ได้คืออยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เบื่อรัฐบาลทหาร
“คือรับเพราะไม่อยากจะอยู่ในภาวะแบบนี้อีกต่อไป แล้วรู้หรือไม่ว่าในนั้นเขียนอะไร ไม่รู้ แต่คิดว่าถ้าเรามี ส.ส. แล้ว ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร ส.ส. ก็เอามาแก้ไขได้ทีหลัง ด้วยความที่ไม่รู้ส่วนหนึ่ง ความเบื่อหน่ายกับสภาพที่เป็นอยู่ และความต้องการที่จะเลือกตั้ง เขาคิดว่านี่คือทาง เหมือนในปี 2550 ที่คิดว่าพอประชามติแล้วเดี๋ยวเขาก็ได้เลือกตั้ง”
1 คน 1 เสียง เพราะทุกคนเท่ากัน
จากงานวิจัยของเสาวนีย์ที่ลงไปสัมภาษณ์คนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสาน สิ่งที่ทำให้เธอประหลาดใจคือทั้งที่โดนกระทำขนาดนี้
“เราจะไม่เซอร์ไพรส์เลยถ้าเขาหยุด ตอนปี 2553 พอดีต้องไปสัมภาษณ์ญาติของคนที่ติดคุก ญาติของคนที่เสียชีวิต มันคือเรื่องใหญ่ในชีวิตชาวบ้านธรรมดา แล้วเขายังไม่หยุดคิดและเชื่อ ถึงเขาจะแสดงออกไม่ได้ ถึงแม้ว่าชีวิตประจำวันจะลำบาก ต้องเลี้ยงลูก สามีติดคุกอยู่ แต่ไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ ความเชื่อ และความต้องการการยอมรับในฐานะพลเมืองว่าหนึ่งคนมีสิทธิหนึ่งเสียง เขาไม่หยุดคิดว่าเขาก็เท่าเทียมกับคนอื่น ทำไมเสียงของเขาถึงไม่มีความหมาย ไม่ว่าเขาจะเลือกใครก็ตาม อันนี้เขาไม่หยุด
“ผลกระทบที่เขาโดน ทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่คนรอบตัวบางคนติดคุกไปแล้วออกมานั่งทำงานข้างถนน แล้วคนที่เคยเป็นลูกค้ามาพูดว่าแล้วทำไมเป็นคนเสื้อแดง แล้วทำไมไปเผาศาลากลาง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำ ตราประทับนี้ด้านหนึ่งเป็นราคาที่แพงมากที่พวกเขาต้องจ่าย สูญเสียรายได้ สูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัว บางคนครอบครัวแตกแยก ลูกเสียผู้เสียคน เอากลับคืนมาไม่ได้ แล้วทำไมเขาไม่หยุด นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องค้นคว้าต่อไปว่า เอาเข้าจริง คนเหล่านี้คือคนที่สมัยปี 2552 2553 ถูกประทับตราว่าถูกจ้างมา หรือจริงๆ แล้วเขามีความคิดความเชื่อของเขาที่คนในสังคมต้องรับฟัง”
เสาวนีย์ยังกล่าวถึงคำถามในการวิจัยที่เคยทำเมื่อปี 2555-2556 และตีพิมพ์ในปี 2559 ว่า คนเสื้อแดงต่อสู้เพื่ออะไร คำตอบที่ได้คือเพื่อประชาธิปไตย
“เมื่อเราถามต่อว่าประชาธิปไตยสำหรับเขาคืออะไร ประชาธิปไตยสำหรับเขาคือคนเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะชอบอะไรก็ได้ที่เป็นนโยบายที่ตัวเองศรัทธา แล้วสู้กันที่เสียงว่าถ้าใครมีเสียงเยอะก็ชนะ ไม่ล้มกระดาน สำหรับเขา ท้ายที่สุดแล้ว มันก็กลับมาที่สำนึกว่าเขาเป็นพลเมือง เขามีสิทธิ์เท่ากับคนอื่นที่จะบอกว่าเขาต้องการอะไร เขาจึงไม่พอใจเมื่อเขาชนะการเลือกตั้ง แล้วผลการเลือกตั้งไม่ถูกยอมรับหรือมีความพยายามทำลาย ล้มกระบวนการใช้สิทธิ์ใช้เสียง ซึ่งเป็นที่มาของวาทะสองมาตรฐาน ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม”
แม้อุดมการณ์ยังเหมือนเดิม แต่ความเงียบตลอดหลายปีมานี้ ก็ทำให้คนส่วนหนึ่งในสังคมเชื่อว่าคนเสื้อแดงตายแล้ว ไร้พลังทางการเมืองแล้ว ซึ่งเสาวนีย์ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกทางการเมือง
“เคยถามเล่นๆ ว่า มีคนบอกว่าคนเสื้อแดงตายแล้ว ขบวนการเสื้อแดงตายแล้ว บางคนก็ไม่พอใจมากๆ เขาบอกว่าลองให้เรามีสิทธิ์ มีเสียงสิ เราก็จะแสดงออกทางความคิดของเรา”
ตามที่เสาวนีย์กล่าว ในด้านหนึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงกำลังรอคอยให้ถึงวันที่พวกเขาจะได้เปล่งเสียงผ่านการเลือกตั้ง เป็นความหวังที่พวกเขามองเห็นอยู่เบื้องหน้า ส่วนในมุมของสมบัติ เขากล่าวถึงกรณีทั่วไปว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจภายใต้ความกลัว
“ผมคิดว่าการเลือกตั้งรอบนี้ คนตัดสินใจจากความกลัว เมื่อก่อนเขาตัดสินใจจากความหวัง ถ้าได้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองนี้เข้ามา มันจะดีขึ้น ผมว่ารอบนี้คนกลัว กลัวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ต่อ ผมคิดว่าความกลัวนี้จะทำให้คนตัดสินใจเลือกที่ชัดเจนมากขึ้น แต่แน่นอนก็คงจะมีทั้ง 2 เรื่อง ทั้งความหวังและความกลัว แต่ว่าความกลัวน่าจะเอาเรื่องพอสมควร”