ถอยกลับขยับมานิดนึง นโยบายประชารัฐเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันโฆษกพรรคฯ ดันบอกว่าต้องรอไว้ก่อน ตานี้เลขาธิการเลยต้องออกมาแก้
‘ขอให้สบายใจ’ พรรคร่วมเห็นตรงกันว่า
“ควรจะต้องปรับให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน”
ในหลักการค่าแรงขั้นต่ำ ๔๐๐ บาทต่อวัน แต่ติดปัญหาอยู่นิด
“ทิศทางของนโยบายต้องสอดคล้องกับงบประมาณด้วย แต่ยังไม่สามารถตอบในตอนนี้ได้ว่าต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนเท่าไหร่
แต่จะทำให้อยู่ในกรอบงบประมาณที่มีอยู่”
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาฯ พปชร.ที่ย้ายจาก
รมว.พาณิชย์ไปคุมพลังงาน สบัดสำนวนว่านโยบายของรัฐบาลใหม่มีสองส่วน ส่วนแรกเรื่องเร่งด่วนใน
๑- ๒ ปี เกี่ยวกับปากท้องและความเหลื่อมล้ำของประชาชน ส่วนหลังมุ่งสร้างความยั่งยืนทุกมิติ
ทั้งนี้เป็นเพียงการวางเค้าโครงคร่าวๆ เช่นนโยบายการเกษตร
มีทั้งยกระดับราคาสินค้าและรายได้เกษตรกร แต่ยังต้อง ‘หารือกัน’ อีกก่อน เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์ผลักดัน
ก็ยืนยันโดยปริยายต่อรายงานข่าวที่ว่า
ในแถลงนโยบาย ๔๑ หน้ามีเอ่ยถึงเรื่อง “สนับสนุนให้มีการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ
และให้นำไปใช้ช่วยเหลือในทางการแพทย์” แต่ไม่มีระบุนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ เนื่องเพราะ
“ยังมีรายละเอียดบางส่วนที่ต้องมีการหารือเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
ส่วนจะรับไว้ในนโยบายของรัฐบาลหรือไม่
ยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไข” มิใยที่มีโพลนิด้าในประเด็นนี้ออกมาว่า “ส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๗.๐๔ ระบุว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน เพราะการได้มาของนายกรัฐมนตรี
และ ส.ว. ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความยุติธรรม”
จึงรวมความว่าในการอ่านแถลงนโยบายของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ ๒๔ กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะกินเวลาถึง ๒ ชั่วโมง ยังคงเป็นรายการเกาะโพเดี้ยมเจื้อย
บลา บลา บลา อย่างเคย สำหรับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่จะมีที่สร้างความสนใจให้กับบรรดา ‘มนุษย์เงินเดือน’ กันบ้าง
ตรงที่มีข่าวออกมาจากกระทรวงคลังเรื่องมาตรการยกเว้นภาษี
โฆษกพรรคฯ กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นคนปูดก่อนว่าคณะทำงานร่างนโยบายเสร็จแล้วและส่งให้ว่าที่
รมว.คลัง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เรียกทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหารือ
ได้ความว่า นโยบายภาษีที่พรรค
พปชร.ใช้หาเสียง ในส่วนของการค้าออนไลน์ “ไม่น่าจะมีปัญหา...สามารถดำเนินการได้แน่นอน”
เพราะปกติแทบจะ “แทบจะไม่อยู่ในฐานภาษีหรือเก็บภาษีไม่ได้อยู่แล้ว
ดังนั้นก็เพียงแค่ชะลอการไปไล่เก็บภาษีเท่านั้นก็ถือว่า ‘ทำได้แล้ว’
แต่ “การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ๑๐%
นั้น อาจจะต้อง ‘ทบทวน’ เพราะกระทบกับรายได้ภาษีที่จะหายไปถึง
๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ล้านบาท
ซึ่งหากจะดำเนินการก็ต้องมีการเพิ่มภาษีประเภทอื่นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป”
(https://www.prachachat.net/finance/news-349620, https://prachatai.com/journal/2019/07/83421, https://www.thairath.co.th/news/politic/1614603, https://www.thebangkokinsight.com/175391/)
อ้าว ไหงกลับโอละพ่ออีกล่ะ อุตตม สาวนายน คนที่แก้ตัวน้ำขุ่นๆ
ว่าเคยแสดงตนไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย คุยเสียคำโตว่าเตรียมทุ่มเงินจากงบฯ
กลาง ๘ หมื่นล้าน บวกกับกองทุนประชารัฐอีก ๓-๔ หมื่นล้าน หวังพยุงเศรษฐกิจให้โตได้ไม่ต่ำกว่า
๓.๕ เปอร์เซ็นต์
แต่ว่าโครงการทุ่มและแจกเหล่านั้นกำหนดขึ้นบนฐานทฤษฎีที่ว่า
ทุ่มแล้วจะได้คืนในอนาคต จากการผลิดอกออกผล ทว่าหนทางหาเงินมาใช้ในโครงการยกเว้นภาษีต่างๆ
มาจาก ‘แผนการปฏิรูปฐานภาษีทั้งระบบ’
“เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี
และยังเป็นการขยายฐานภาษีอีกด้วย”