วันศุกร์, พฤษภาคม 03, 2562

เดวิด เฮล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการเมือง สหรัฐฯ กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการหลังการเลือกตั้ง สหรัฐฯจะยืนอยู่ข้างประชาชนชาวไทยที่คาดหวังให้เกิดกระบวนการที่ยุติธรรมและโปร่งใส และหวังว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนไทย กลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง



ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียและไทย

นายเฮลได้กล่าวถึงการเยือนอินโดนีเซียในวันก่อนหน้า และแสดงความยินดีกับประชาชนชาวอินโดนีเซียที่จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นภายในวันเดียวกันเป็นครั้งแรก

สำหรับประเทศไทย นายเฮลแสดงความยินดีและความปรารถนาดีในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“ขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจต่อประชาชนชาวไทยต่อการเลือกตั้ง ผมมาที่นี่เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการหลังการเลือกตั้ง และเพื่อหารือเกี่ยวกับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ประเด็นหลักในการพบปะครั้งนี้ คือความร่วมมือหลักๆ ที่เรามีกับประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก นอกเหนือไปจากความตกลงแบบทวิภาคี ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเป็นผู้นำของไทยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และความร่วมมือ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy)”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากผลการเลือกตั้งในไทยยังคงไม่แน่นอน ทั้งที่ผ่านมาเป็นเดือนแล้ว สหรัฐฯ จะมีนโยบายต่อไทยอย่างไร นายเฮลตอบอย่างกว้างๆ ว่า ไทยเป็นพันธมิตรและเพื่อนที่มีสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนานกว่า 200 ปี และมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอันแน่นแฟ้น ทั้งยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งด้านความมั่นคง การลงทุน สาธารณสุข และอาชญากรรมข้ามชาติ เขายืนยันตามแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ รู้สึกยินดีที่ประชาชนไทยให้การสนับสนุนอย่างขันแข็งเพื่อกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และชื่นชมการทำหน้าที่อย่างจริงจังของสื่อมวลชนตั้งแต่ก่อนและหลังเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

“แต่เราก็ได้รับฟังข่าวคราวและรับทราบข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็ยืนอยู่ข้างประชาชนชาวไทยที่คาดหวังให้เกิดกระบวนการที่ยุติธรรมและโปร่งใส เราหวังว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนไทย ซึ่งรอคอยโอกาสที่จะแสดงเจตนานี้ผ่านการเลือกตั้งมานาน และนี่ก็เป็นเป้าหมายของทุกสังคมประชาธิปไตย”

เฮลเน้นไปที่คำว่า ‘กระบวนการ’ โดยย้ำว่าไม่ได้เจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งหรือผลลัพธ์แบบใดแบบหนึ่ง ส่วนกรณีที่สถานทูตสหรัฐฯ ได้ส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกข้างอย่างไม่เหมาะสมในทางการทูต เฮลตอบว่า สหรัฐฯ ปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกันกับในหลายๆ ประเทศเมื่อใดก็ตามที่มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

“เราสนับสนุนกระบวนการ เราไม่ได้ต้องการเลือกข้างปัจเจกบุคคลหรือพรรคการเมืองใด เจตนาเรามีเพียงเพื่อสร้างความมั่นใจว่า กระบวนการดังกล่าวยุติธรรมและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหรือนอกการเลือกตั้ง หรือในกระบวนการหลังการเลือกตั้ง ต่อบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง





“สิ่งที่สำคัญสำหรับเราก็คือ กระบวนการนี้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมากๆ สำหรับประเทศต่างๆ เช่นไทย ที่จะเป็นที่สนใจของประเทศอื่นรวมทั้งสหรัฐฯ เราหวังให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง ซึ่งประเทศไทยจะแข็งแกร่งได้ ผลการเลือกตั้งก็ต้องสะท้อนเจตนาของประชาชนในประเทศ เป็นเรื่องธรรมชาติที่มิตรประเทศต่างก็อยากมีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นไปตามมาตรฐานของนานาชาติ นั่นก็คือเจตนาของเรา เราทำแบบนี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เหตุการณ์นี้ไม่มีอะไรผิดปกติเลย

“ผมคิดว่าประชาชนไทยเองก็อยากจะสังเกตการณ์ด้วยตาของพวกเขาเองเหมือนกัน เมื่อมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย”

สำหรับประเด็นที่ว่า เมื่อใดสหรัฐฯ จะแต่งตั้งทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ เฮลบอกว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการ ทั้งความตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเจ้าบ้าน และการรับรองจากสภาคองเกรส “แต่ต้องเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนความสัมพันธ์ที่เรามีระหว่างกัน”


อ่านบทความเต็มได้ที่
https://themomentum.co/david-hale-visits-thailand/