วันจันทร์, พฤษภาคม 13, 2562

ความใฝ่ฝันของ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ หลังเลิกสนุกกับการสอนหนังสือ...





"ผมสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ติดตามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เปรียบเทียบเหมือนการดูมวยปล้ำ มีฝ่ายพระเอก ฝ่ายผู้ร้าย ตีกัน ยังไม่ได้วิเคราะห์ลึกซึ้ง พอสอบตรงเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไปดูหลักสูตรว่าเป็นยังไง เจอวิชากฎหมายมหาชน มันไม่ใช่แค่วินิจฉัยว่าใครถูกใครผิด แต่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย เลยตั้งใจจะเอาดีทางนี้ ช่วงปีแรกเป็นวิชาพื้นฐาน ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ห้องสมุด ทำให้ได้อ่านหนังสือมากมาย ขณะเดียวกัน การเรียนปีหนึ่งก็สนุก เราได้เจออะไรใหม่ๆ ที่สมัยมัธยมไม่มีคำตอบ เลยเริ่มมาสนใจการเมืองในแง่วิชาการมากขึ้น ผมอยากออกไปเห็นสิ่งต่างๆ ในโลก เห็นแล้วก็อยากเอามาเล่า จะมีอาชีพอะไรเหมาะสมเท่าการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาให้คุณไปเรียนหนังสือต่อ ได้ไปเห็นโลก แล้วเอากลับมาเล่าให้คนในประเทศไทยฟัง เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ทันสมัยกับโลกได้

“ตอนเรียนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์มีอาจารย์สาขากฎหมายมหาชนลาออกกันไปเยอะ เลยเปิดสอบ 2 ตำแหน่ง คือปริญญาโท-เอก และปริญญาตรี ผมตัดสินใจสมัครสอบแล้วได้เป็นอาจารย์ เซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2544 ตอนนั้นสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ สนุกมาก น่าจะทำได้ดีพอสมควร เพราะนักศึกษาเรียนแล้วสนุกกัน คณะนิติศาสตร์จะมีทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเข้ามาทุกปี ผ่านไปหนึ่งปี ผมลาไปเรียนต่อปริญญาโท-เอกที่ฝรั่งเศส จนกระทั่งกลับมาปี 2553 เป้าหมายในการเป็นอาจารย์หนักแน่นกว่าเดิมอีก ผมสอนกฎหมายมหาชน ระหว่างสอนจะสอดแทรกเรื่องต่างๆ เข้าไปด้วย เป็นคนรู้อะไรมาก็ชอบเล่า การสอนหนังสือคือการพัฒนาความรู้ของตัวเอง มันตื่นเต้นและท้าทาย สิ่งสำคัญของคนเป็นอาจารย์ คือการกระตุ้นให้นักศึกษาอยากค้นคว้าเพิ่มเติมมากกว่าแค่ในวิชาเรียน

“ผมเป็นคนชอบสอนหนังสือมาก แต่หลังปี 2557 เริ่มรู้สึกไม่สนุกตรงที่ว่า สุดท้ายสิ่งที่สอน สิ่งที่บรรยาย สิ่งที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ มันอยู่แค่ในหนังสือและห้องเรียน เราสอนสิ่งที่ถูกต้องไป นักศึกษารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เมื่อจบการศึกษา ภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองเป็นแบบนี้ สภาพสังคมเป็นแบบนี้ อำนาจเผด็จการทหารที่ครองอำนาจแบบนี้ เมื่อออกไปทำงาน ทั้งรับราชการหรือทำในบริษัทเอกชน เขารู้ว่าอะไรถูกผิด แต่ใครจะกล้าแสดงออกบ้าง เกิดสภาพ ‘การอยู่เป็น’ ไปเรื่อยๆ รู้นะว่าที่ถูกเป็นยังไง แซวเผด็จการทหารทุกวัน แต่ถามว่ามีการต่อต้านไหม ไม่มี วันที่คุณตำแหน่งสูงขึ้น การแสดงออกจะน้อยลงๆๆ แต่การไปเรียกร้องกับคนอื่นก็ไม่เป็นธรรม ผมเลยเรียกร้องกับตัวเองเยอะขึ้น เดือนมกราคม 2559 ผมได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส 6 เดือนเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม เลยลาสอนหนึ่งภาคการศึกษา ช่วงนั้นไปศึกษาขบวนการพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ๆ ในยุโรป เห็นทั้งจุดเหมือนและต่างกับประเทศไทย ก็คิด ตัดสินใจ ลังเลใจ ในที่สุดก็ออกมาเป็น ‘พรรคอนาคตใหม่’

“ตอนเริ่มคิดทำพรรคการเมือง ก็มีฝ่ายที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ตลอด คุณเริ่มตั้งพรรคในสถานการณ์ที่รัฐบาล คสช. ครองอำนาจอยู่ มีกลไกรัฐแบบเผด็จการเต็มไปหมด กฎหมายพรรคการเมืองก็ยาก ถ้าคุณอยากมีพรรคการเมืองในฝัน แต่ไม่กล้าทำ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งผลการเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จพอสมควรนะ เราได้ที่นั่ง ส.ส. ในหลายจังหวัด แล้วช่วงลงพื้นที่หาเสียง หลายคนเข้ามาพูดว่า เมื่อก่อนสนับสนุนให้ คสช. ยึดอำนาจ ดีใจมากที่พลเอกประยุทธ์เข้ามา บางคนไปชุมนุมกับ กปปส. ด้วย วันที่ผมปิดปราศรัยใหญ่ แล้วลงมาถ่ายรูป มีคนมาบอกว่า เมื่อก่อนเกลียดอาจารย์ฉิบหาย วันนี้ได้มานั่งฟังอาจารย์ เข้าใจแล้วว่าปัญหามันคืออะไร

“ความฝันของผม คือการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจว่าจะออกแบบรัฐธรรมนูญกันแบบไหน มีการประกันเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเป็นหัวใจในการถกเถียงเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ มีการออกแบบให้อำนาจสถาบันการเมืองต่างๆ อยู่ในดุลยภาพกัน ระบบการเลือกตั้งที่เคารพเสียงข้างมากและเคารพเสียงข้างน้อย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจร่วมกันในเรื่องหนึ่ง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เปลี่ยนการตัดสินใจได้ใหม่โดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งเดียว สองครั้ง สามครั้ง คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงขนาดนั้น แต่ทุกการเลือกตั้ง ทุกการรณรงค์ ล้วนมีความสำคัญ เพราะมันคือก้าวย่างบนถนนเส้นใหญ่”
.
ภาพ : อดิเดช ชัยวัฒนกุล

ที่มา FB

มนุษย์กรุงเทพฯ

มนุษย์กรุงเทพฯ อ่านบทสัมภาษณ์ตัวเต็มได้ที่
https://thematter.co/.../long-interview-with-piyabutr/76766