ในอีก 3-4 วันหลังจากนี้ จะถึงเวลาของกำหนดการสำคัญๆที่สืบเนื่องจากการเลือกตั้งให้ติดตามกันดังต่อไปนี้
7 พฤษภาคม 2562 กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต โดย กกต. เคยประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตอย่างไม่เป็นทางการทั้ง 350 เขตออกมาแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 แต่หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในหลายกรณี เช่น การให้จัดการเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วย 5 จังหวัด การให้ใบส้มว่าที่ ส.ส. เชียงใหม่เขต 8 พรรคเพื่อไทยจากการบริจาคเงินให้พระ 2,000 บาท การนับคะแนนใหม่ จ.นครปฐมเขต 1 ที่พลิกไปมาถึง 5 รอบ ดังนั้นการรับรองผลการเลือกตั้งจึงย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
https://www.bbc.com/thai/thailand-47810750
https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2465453
https://www.thairath.co.th/news/politic/1556510
8 พฤษภาคม 2562 เมื่อทราบผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว กกต. ก็จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนและจำนวน ส.ส. แบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้มาเป็นตัวคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อ ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนวุ่นวายมากที่สุดในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ กกต. ออกมายอมรับอย่างหน้าไม่อายว่ายังไม่มีสูตรคำนวณที่ชัดเจนแน่นอน และเมื่อเสนอสูตรในเวลาต่อมากลับกลายเป็นว่าจะมีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของการมี ส.ส. 1 คน (71,065 คะแนน) ได้มี ส.ส. เข้าสภามาด้วยถึง 11 พรรค (รวมเป็น 27 พรรค หากนับเฉพาะพรรคที่ได้คะแนนเกิน 71,065 คะแนนจะมีเพียง 16 พรรค) ดังนั้นการตัดสินใจของ กกต. เลือกว่าจะใช้สูตรใด (27 พรรค หรือ 16 พรรค) อาจส่งผลถึงขนาดตัดสินว่าขั้วการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลเลยทีเดียว
https://prachatai.com/journal/2019/04/81906
อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการรับรองรายชื่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ คือกรณีของนักการเมืองที่ถูก กกต. กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายจากการ “ถือหุ้นสื่อ” ได้แก่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นความพยายามกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง จึงต้องรอดูกันว่าชื่อของธนาธรจะถูกรับรองด้วยหรือไม่
https://www.bbc.com/thai/thailand-48061691
นอกจากทางด้านของ กกต. ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยว่าข้อความเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. ที่เขียนใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. (มาตรา 128) ขัดกับข้อความที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 91) หรือไม่ โดยจะมีคำวินิจฉัยออกมาในวันเดียวกันนี้ด้วย
https://themomentum.co/constitutional-court-accepts-ombudsmans-petition/
10 พฤษภาคม 2562 คสช. จะนำรายชื่อ ส.ว. ที่ตัวเองคัดเลือก 250 คน ขึ้นกราบบังคมทูลฯ ให้แต่งตั้ง โดย ส.ว. ทั้ง 250 คนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ก็ได้มีข่าวกรณีที่รัฐมนตรี, สมาชิก สนช. และนายพลจำนวนมากเตรียมตัวเป็นการใหญ่เพื่อมาเข้ารับตำแหน่งอันทรงอำนาจนี้ ดังนั้นแม้ว่าเรื่องรายชื่อ ส.ว. จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ลึกลับที่สุดสำหรับประชาชน แต่เราก็คงพอจะเดาได้ว่าเป็นพวกไหน และเข้ามาเพื่อรับใช้ใคร
https://www.prachachat.net/politics/news-321919
https://www.matichon.co.th/politics/news_1476914
https://www.thairath.co.th/news/politic/1559953
และภายหลังจากนี้ เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็ยังมิอาจทราบได้ว่าผลจะออกมาเป็นใคร หรือกระบวนการจะถูกยืดเยื้อให้ยาวนานออกไปแค่ไหน
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG