วันศุกร์, เมษายน 05, 2562

ทำไม “ธนาธร” ถูกออกหมายเรียกประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ ม.189 จากเหตุการณ์ปี 58 กลุ่มนักศึกษา ทำกิจกรรม หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร...





ทำไม “ธนาธร” ถูกออกหมายเรียกประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ ม.189

เหตุการณ์เริ่มต้นจากวันที่ 22 พ.ค.58 กลุ่มนักศึกษา ทำกิจกรรม หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร มีตำรวจเข้ามาพยายามให้ยุติการชุมนุม มีนักศึกษาบางคนถูกควบคุมตัวไป

จากนั้นนักศึกษาถูก สน.ปทุมวันออกหมายเรียกครั้งแรกวันที่ 8 มิ.ย.58 ในข้อหาชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ฝ่ายนักศึกษาทำหนังสือขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนวันที่ 24 มิ.ย.58 แต่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ปฏิเสธ และขอให้นักศึกษา มาพบวันที่ 19 มิ.ย. 58 ฝ่ายนักศึกษาตอบกลับยืนยันว่า จะเดินทางไป สน.ปทุมวัน วันที่ 24 มิ.ย.

เมื่อถึงวันที่ 24 มิ.ย.58 นักศึกษาไปอยู่หน้า สน.ปทุมวันตั้งแต่ 11.00น. ถึงช่วงค่ำ นักศึกษาต้องการเข้าไปแจ้งความกลับว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย วันที่ 22 พ.ค.58 ระหว่างทำกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้เข้าไป นักศึกษาจึงส่งทนายความเข้าไปแจ้งความแทน

ช่วงเวลานั้น นักศึกษายืนยันว่า ยังไม่มีหมายจับ แม้จะเลื่อนการเข้าพบมาแล้ว 2 ครั้ง และถ้ามีหมายจับแล้ว ทำไมตำรวจไม่จับ ทั้งที่อยู่หน้า สน.ปทุมวัน สุดท้ายเหตุการณ์วันนั้นยุติด้วยการแยกย้ายกลับบ้าน นักศึกษาตัดสินใจกลับด้วยกันเพื่อความปลอดภัยมีรถ 2 คันพาออกไป คันหนึ่งคือรถตู้ อีกคันคือ รถมินิแวน นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า ยังมีรถมอเตอร์ไซต์ตำรวจขี่ตามรถมินิแวน ออกมาจากพื้นที่ด้วย (เข้าใจว่าตำรวจต้องการให้แน่ใจว่านักศึกษาออกไปครบแล้ว เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง หากใครหายตัวไป) รถมินิแวน ส่งนักศึกษาที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง บน ถ.วิภาวดี และคืนนั้นนักศึกษาไปรวมกันที่สวนเงินมีมา เหตุการณ์วันนั้นจบไป

วันนี้มีหมายเรียกไปถึงธนาธร ข้อกล่าวหา มาตรา 116 และ 189

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

มาตรา 189 ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตำรวจยืนยันว่า รถตู้ที่พานักศึกษาออกจาก สน.ปทุมวัน วันนั้นมีชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แม่ของธนาธร เป็นเจ้าของ ถือว่าช่วยผู้ต้องหาหลบหนี แต่คดีนี้นักศึกษายืนยันว่า อัยการศาลทหารจำหน่ายคดีออกไปแล้ว หลังจากคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองยกเลิกไป

และนักศึกษายืนยันว่า วันนั้นต้องการเข้าไปใน สน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความกลับตำรวจ แต่ตำรวจไม่ให้เข้าไป แต่วันนี้กลับดำเนินคดีกับ คนที่พานักศึกษาออกจากพื้นที่ไป โดยอ้างว่าพาหนี

นักกฎหมายบางท่านให้ความเห็นว่า แม้คดีหลักจบไปแล้ว แต่การช่วยเหลือผู้ต้องหา ถือเป็นคนละคดี ตำรวจอาจจะเอาผิดได้ ตามมาตรา 189 ไม่ว่าสถานะขณะนั้นจะเป็นหมายเรียกหรือหมายจับ

แต่คำถามคือมาตรา 116 เกิดจากพฤติกรรมใด เพราะวันนั้นธนาธร ยังเป็นนักธุรกิจไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดใด ยังไม่ได้เปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ และคดีหลักของนักศึกษาจากเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 58 ก็ไม่มีข้อหานี้

ข้อต่อสู้คดีนี้ จึงอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า นักศึกษาได้พยายามเข้าไปใน สน.ปทุมวัน จริงหรือไม่ มีตำรวจห้ามเข้าจริงหรือไม่ เพราะจะบอกถึงเจตนาของนักศึกษาว่า จะหลบหนีด้วยรถตู้หรือไม่ และอีกด้านหนึ่งคือ ธนาธร มีพฤติกรรมใดในวันนั้นที่ผิด ม.116 ทั้งที่นักศึกษา ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้ และคดีหลักยุติลงแล้ว

ภาพประกอบเหตุการณ์หน้า สน.ปทุมวัน 24 มิ.ย.58 เป็นที่น่าสังเกตว่า นักศึกษายืนเผชิญหน้ากับตำรวจแต่ไม่ถูกจับ แต่ขากลับด้วยรถตู้ เจ้าของรถตู้กลับถูกดำเนินคดีพาหลบหนี


Varavit Chimmanee

..





Anansit Puenthiang