วันอังคาร, เมษายน 23, 2562

รัฐจ่ายค่าโง่หมื่นล้าน ศาลยกคำร้องคดีโฮปเวลล์ ย้อนประวัติค่าโง่โฮปเวลล์




NEW18
Published on Apr 22, 2019

...

สำหรับโครงการนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 ได้มีการลงนามเซ็นสัญญา โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด ใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี มองดูแล้วเหมือนฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบ แต่หากมองอีกทีพบว่า สิ่งที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียเปรียบฝ่ายเอกชนอย่างมาก นั่นคือการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้บอกเลิกสัญญาได้ แต่ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้

ต่อมามีรายงานว่า โครงการนี้มีเหตุต้องสะดุด เนื่องจาก โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง เพราะประสบปัญหาเรื่องการอพยพโยกย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ในหลายเส้นทาง ประจวบเหมาะกับการที่โฮปเวลล์เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้โครงการยักษ์ใหญ่ต้องสะดุดลง ประกอบกับแหล่งเงินทุนที่เคยให้โฮปเวลล์ผันเงินได้คล่องๆ เริ่มไม่มั่นใจและถอนตัวออกจากการร่วมลงขันให้กู้แก่โครงการโฮปเวลล์





นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลไทยถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ครั้นจะบอกเลิกสัญญาก็ทำไม่ได้ เพราะสัญญาที่เขียนกันไว้เหมือนจงใจวางยาประเทศตัวเอง ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาหลายต่อหลายชุดจึงไม่กล้าเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา เพราะกลัวว่าจะถูกโฮปเวลล์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ยกเลิกสัญญา ซึ่งไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้ ทำให้มีการต่อสู้คดีประวิงเวลากันไปมา

จนกระทั่งในปี 2539-2540 โฮปเวลล์ได้หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรมว.คมนาคม เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ ก่อนที่โครงการก่อสร้างจะสิ้นสุดในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2541 เนื่องจากหลังดำเนินโครงการมา 7 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.7%

ทางโฮปเวลล์ ได้เดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ การรถไฟฯ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท ต่อมาใน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม

จากนั้น กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557 ศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทสัญญาทางปกครอง จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 ทั้งฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์

เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น เป็นการยื่นเรื่องให้วินิจฉัยที่เกินกรอบระยะเวลา 60 วันที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ 31 และระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ภายในระยะเวลาสูงสุด 5 ปี ตามมาตรา 50 และ 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ วันที่ 27 ม.ค. 2541 ดังนั้น หากจะยื่นเรื่องอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยต้องกระทำภายในวันที่ 27 ม.ค. 2546 ภายหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่าย รับทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญา.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศาลปกครองสูงสุด สั่งคมนาคม จ่ายค่าโง่ "โฮปเวลล์" 11,888 ล้านบาท

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ooo