วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2562

“มหาวิหารนอเทรอดาม” คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ


https://www.facebook.com/BBCThai/videos/329539701039013/

..

“มหาวิหารนอเทรอดาม” คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง





16 เมษายน พ.ศ.2562
ศิลปวัฒนธรรม


ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์พิเศษมติชนTV ประเด็น “มหาวิหารนอเทรอดาม” คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ รับชมได้ตามคลิป ส่วนข้อเขียน “อาสนวิหารนอทเทรอะดามแห่งเมืองปารีส” โดย ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง ข้อมูลและ
ภาพจากเพจ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

อาสนวิหารนอทเทรอะดามแห่งเมืองปารีส

อาสนวิหารนอทเทรอะดามแห่งเมืองปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) เป็นตัวอย่างที่สำคัญของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคตอนต้นของฝรั่งเศส (Early Gothic) และโกธิคยุครุ่งเรือง (High Gothic) เนื่องจากถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาของการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคในระยะแรกสุด คือ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 แม้ว่าจะสร้างบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิม คือ โบสถ์เก่าที่มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 บนเกาะกลางแม่น้ำแซนน์ โดยใน ค.ศ. 1163 Maurice de Sully บิชอปประจำกรุงปารีสได้สั่งสร้างอาสนวิหารหลักประจำเขตการปกครองของอาร์คบิชอปแห่งกรุงปารีส (Archdiocese of Paris)บนซากของโบสถ์หลังเก่าสองหลัง ดังนั้นการออกแบบอาสนวิหารทั้งหลังจึงใช้ผังและรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิคที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าไม่นานนักที่งานบูรณะส่วน choir-ambulatory ของ Basilica de st. Denis โดย Abbot Suger เมื่อปี 1140





ความสำคัญของ Notre-Dame of Paris ในเชิงประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมคือ การเริ่มใช้ flying buttress ในการพยุงน้ำหนักของอาคาร ซึ่ง flying buttress หรือเสาค้ำยัน(บ้างแปลว่าครีบยัน)แบบลอย เป็นหนึ่งใน 3 องค์ประกอบหลักของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคร่วมกับอีกสององค์ประกอบคือ วงโค้งแหลม (pointed arch) และเพดานโค้งกากบาทแบบมีคิ้ว (ribbed vault) องค์ประกอบเหล่านี้ได้ส่งผลต่อโครงสร้างและภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมโดยรวม กล่าวคือ องค์ประกอบทั้งสามช่วยรองรับและกระจายน้ำหนักได้ดีกว่าเทคนิควิธีการก่อสร้างหรือหลักวิศวกรรมของงานสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ก่อนหน้าที่อาศัยเสาและผนังหนาหนักทำงานเป็นตัวรองรับน้ำหนัก เมื่อสถาปัตยกรรมโกธิคมีตัวช่วยเรื่องน้ำหนัก ภาระจึงไม่ตกกับผนัง ผนังไม่จำเป็นต้องหนา และยังสามารถเจาะช่องหน้าต่างได้กว้างขึ้น ทำให้เกิดการประดับกระจกสี (stained glass) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคตามมา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่สถาปัตยกรรมซึ่งใช้องค์ประกอบดังกล่าวถูกสร้าง ยังไม่ปรากฏการเรียกสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่นี้ว่า “Gothic” ซึ่งเป็นชื่อเรียกโดยนักเขียนชาวอิตาลีในสมัยเรอเนส์ซองส์ คือ Giorgio Vasari แต่ในช่วงเวลาร่วมสมัยกับงานสถาปัตยกรรมนั้น เรียกกันว่า opus francigenum หรือ opus modernum คือ แบบฝรั่งเศส หรือแบบใหม่

รูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบันของ Notre-Dame of Paris ยังคงอิงอยู่กับการออกแบบดั้งเดิมในการก่อสร้างช่วงแรก ตั้งแต่ ค.ศ. 1163 จนถึงราว ค.ศ. 1240 และได้มีการก่อสร้างปรับปรุงเป็นระยะจนถึงอย่างน้อยสุดคือราวค.ศ. 1345-50 การก่อสร้างโดยรวมจึงเสร็จสมบูรณ์ ด้วยผังแบบ basilica แบบ double side aisles เหมือน Abbey Church of Cluny และ St. Peter’s Basilica ที่กรุงโรม จึงสะท้อนความสำคัญของพื้นที่ตั้ง ระบบเพดานโค้งเป็นแบบ sexpartite vaults ที่คลุมพื้นที่และรองรับน้ำหนักอาคารได้มากกว่า quadripartite vault เพดานโค้งแบบ sexpartite นี้คลุมพื้นที่พิกัดมหึมา คือ ความยาว 130 เมตร ความสูงถึงเพดานโค้ง 35 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าขนาดโดยเฉลี่ยของโบสถ์โกธิค พร้อมด้วยด้านหน้าของอาคารฝั่งทิศตะวันตก (west façade) ที่มีหอระฆังคู่ใหญ่ยักษ์ตั้งตระหง่าน ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ Notre-Dame of Paris เป็นจุดรวมสายตาของภูมิทัศน์เมืองปารีสได้อย่างฉับพลันทันที

Notre-Dame of Paris เดินทางผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์น้อยใหญ่ร่วมกับชาวปารีสมาหลายยุคหลายสมัย ผ่านการบูรณะซ่อม-สร้างมาโดยตลอด ครั้งสำคัญคือในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution; 1789-1799 ) ได้ถูกทำลายไปเป็นบางส่วน และอยู่ในสภาพทรุดโทรม จนกระทั่งในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงได้มีการปฏิสังขรณ์ให้กลับมามีรูปแบบของสถาปัตยกรรมโกธิคแบบดั้งเดิมโดยการบูรณะของเออแฌน เอ็มมานูเอล วิโอเญต์-เลอ-ดุ๊ค (Eugène Emmanuel Viollet-le-Duc; ca. 1814 – 1879) สถาปนิกและนักบูรณะคนสำคัญในกระแส “Gothic Revival” ของฝรั่งเศส หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการสร้างใหม่บนตำแหน่งเดิมคือ Spire หรือยอดแหลม และชุดประติมากรรม grotesque บน Galerie des chimères ที่มีชื่อเสียง (แต่มักเรียกผิดเป็น gargolye ซึ่งหน้าตาคล้ายคลึงกัน แต่ gargolye นั้นต้องเป็นท่อระบายน้ำ)

การบูรณะครั้งสำคัญนี้ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของวรรณกรรม “Notre Dame de Paris” (ภาษาอังกฤษ: The Hunchback of Notre-Dame) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1831 ซึ่ง Notre-Dame of Paris เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องเล่า เพราะ Hugo ต้องการให้หันกลับมาให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมยุคกลาง (โกธิค) ต้านทานกับความนิยมสถาปัตยกรรม Neo-classical ที่เบ่งบานมาตั้งแต่กลาง/ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 Hugo ได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือฉบับตีพิมพ์ปี 1832 ว่า “Let us inspire in the Nation, if it is possible love for the National architecture” ซึ่งสามารถถอดความหมายได้ว่าสถาปัตยกรรมโกธิคก็คือมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติของฝรั่งเศสนั่นเอง

เหตุไฟไหม้ครั้งล่าสุดเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 ตามเวลาท้องถิ่น เพลิงไหม้เผาทำลายส่วนหลังคาของพื้นที่ choir หรือ east end และ crossing, กระจกสีบริเวณ transept (โถงขวาง) รวมทั้ง spire เป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์ที่ส่งผลสำคัญยิ่งต่อกายภาพของสถาปัตยกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งความหมายเชิงสัญญะต่อสังคม เฉกเช่นที่ Notre-dame of Paris ได้เคยเผชิญมาตลอดอายุขัยกว่า 800 ปีของสถานที่