7 เรื่องที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่งมาตรา 44 อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่
19 เมษายน 2019
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
TDRI
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้มีคำสั่ง คสช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้ความ “ช่วยเหลือ” แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และหลังจากนั้นในวันที่ 17 เมษายน 2562 เลขาธิการ กสทช. ก็ได้จัดชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
บทความนี้จะวิเคราะห์เหตุและผลของคำสั่งดังกล่าว เฉพาะในส่วนของการให้ความ “ช่วยเหลือ” แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ โดยจะกล่าวถึง 7 เรื่องที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าว
1. ยืดหนี้ 4G = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ
กสทช. พยายามอธิบายว่า การยืดระยะเวลาชำระหนี้ 4G ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลง เพราะเอกชนก็ต้องจ่ายเงินเท่าเดิม ดังปรากฏในเอกสารที่ กสทช. นำเสนอในการชี้แจงว่า ไม่ว่าจะยืดหนี้หรือไม่ก็ตาม เอกชนก็ต้องจ่ายเงินให้จากการประมูล 4G เท่ากันคือ 203,317 ล้านบาทเมื่อถึงปี 2572
สิ่งที่คำสั่ง ม. 44 และกสทช. ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ “ดอกเบี้ย” ซึ่งต้องคิดตามเวลาที่รอการชำระหนี้ การยืดหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยจึงเป็นการยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ
ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับนี้มากน้อยเพียงใด? คำตอบก็ย่อมขึ้นกับต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่ดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย ในกรณีต้องกู้ยืม แต่ในกรณีของหนี้ก้อนใหญ่ เจ้าหนี้มักกำหนดให้ลูกหนี้ต้องเพิ่มทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้น (equity) ด้วย แน่นอนว่าผู้ถือหุ้นก็ต้องการผลตอบแทนด้วยเช่นกัน ดังนั้น “ต้นทุนการเงิน” ของผู้ประกอบการจึงเป็นต้นทุนของเงินทุนที่เฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ต้องการ หรือที่เรียกว่า WACC (weighted average cost of capital)
ในกรณีของธุรกิจโทรคมนาคม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จะคิด WACC ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งหมายความว่า การยืดหนี้ 100 บาทจากปีนี้ไปเป็นปีหน้า โดยไม่คิดดอกเบี้ย จะทำให้ผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์ 9 บาท ในกรณีนี้ มูลหนี้ที่เกี่ยวข้องสูงถึง 64,000 ล้านบาทต่อรายสำหรับทรูและเอไอเอส และ 32,000 ล้านบาทสำหรับดีแทค ส่วนเวลาการยืดหนี้ก็ไม่ใช่ปีเดียว แต่ยืดออกไปถึง 5 ปี
เมื่อคำนวณออกมา เราจะพบว่า หากทั้งสามรายขอยืดหนี้โดยไม่ถูกคิดดอกเบี้ย ทรูและเอไอเอสจะได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8,780 และ 8,380 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนดีแทคได้ไปประมาณ 2,580 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 19,740 ล้านบาท ในมูลค่าปัจจุบัน (present value) (ดูรายละเอียดในภาคผนวกที่ 1)
ตัวเลขประมาณการดังกล่าวของผู้เขียนใกล้เคียงกับการประเมินของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เช่น K-Securities คำนวณได้ 18,456 – 28,393 ล้านบาท โดยจะมีค่าเท่าใดแล้วแต่ข้อสมมติว่าแต่ละรายมีสภาพคล่องมากหรือน้อยเพียงใด
2. บังคับทำ 5G = ให้อภิสิทธิ์ครองตลาดต่อ
กสทช. อ้างว่า การยืดหนี้ดังกล่าวมาพร้อมกับการแลกให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ต้องให้บริการ 5G โดยจะจัดสรรคลื่นย่าน 700 MHz ขนาด 15 MHz ให้แก่ทั้ง 3 ราย โดยไม่มีการประมูล แต่จะคิดมูลค่าคลื่นต่อรายประมาณ 25,000 ล้านบาท
สิ่งที่ คสช. และ กสทช. มองว่าเป็น “เงื่อนไขบังคับ” ผู้ประกอบการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ยืดชำระหนี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงการแถม “อภิสิทธิ์” ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ได้ยืดชำระหนี้ไปแล้ว เพราะทำให้ได้สิทธิในการนำคลื่น 5G ไปให้บริการโดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร
ผลที่จะตามมาจากมาตรการนี้คือ ตลาด 5G ของประเทศไทยก็น่าจะมีผู้ประกอบการเพียง 3 รายประกอบการแบบกึ่งผูกขาดอยู่เช่นเดิม โดยไม่ต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหม่ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายบอกว่า ได้แค่นี้ ผู้ประกอบการก็สุดคุ้มแล้ว
อันที่จริงมูลค่าคลื่นต่อรายที่ประมาณ 25,000 ล้านบาทนั้นไม่ใช่มูลค่าที่สูงมากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อดูให้ดีจะพบว่ามีประเด็นที่ควรพิจารณาหลายประการ
1) ที่กล่าวว่าคลื่นมีมูลค่า 25,000 ล้านบาทนั้นเป็น “มูลค่าในอนาคต” โดยหากพิจารณาระยะเวลาผ่อนชำระนาน 10 ปี จะมีมูลค่าปัจจุบันเหลือเพียง 17,167 ล้านบาทนั้น เมื่อนำผลประโยชน์จากการยืดหนี้ที่เกิดจากคำสั่งคสช. มาคิดรวมด้วย เราก็อาจพูดได้ว่า เอไอเอส และทรู สามารถซื้อสิทธิ์ในการใช้คลื่น 5G ในราคาเพียง 8,787 ล้านบาท และ 8,386 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ดีแทคซื้อได้ในราคาสูงกว่ามากคือ 14,580 ล้านบาท การเชื่อมโยงการลดหนี้ 4G เข้ากับการได้ใช้คลื่น 5G จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย
2) ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ผู้ประกอบการจะชำระมูลค่าคลื่นที่กล่าวมาข้างต้นจริง เพราะยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของ กสทช. เช่น กสทช. อาจขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วกับกรณีประมูล 4G ในครั้งนี้ ทั้งที่กำหนดเวลาชำระหนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่งของใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการยอมรับไปแล้ว นอกจากนี้ กสทช. ยังอาจขยายเวลาประกอบกิจการให้นานกว่า 15 ปี ซึ่งสามารถทำได้ทั้งสิ้น เพราะคำสั่ง คสช. ให้อำนาจดุลพินิจมากมายเสมือนให้ “เช็คเปล่า” แก่ เลขาธิการ กสทช.
3. ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด = อภิมหาเศรษฐีและนักลงทุนต่างชาติ
ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการนี้คือ ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ซึ่งไล่ต่อไปแล้วจะพบว่าเป็นตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งเป็นตระกูลอภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับของ Forbes (ในกรณีทรู) และผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศในทั้ง 3 บริษัทคือ จีน (ในกรณีของทรู) สิงคโปร์ (ในกรณีของเอไอเอส) และนอร์เวย์ (ในกรณีของดีแทค) ดังแสดงในตารางในภาคผนวกที่ 2
ทำไมรัฐบาลไทยจะต้อง “อุ้ม” อภิมหาเศรษฐี และผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศ? กรณีของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แตกต่างจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอย่างน้อย 2 ประการ
1) ในกรณีของทีวีดิจิทัล กสทช. มีส่วนบกพร่องอยู่บ้างในการแจกคูปองล่าช้าและประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ส่วนในกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐได้ทำอะไรผิด แม้อาจกล่าวได้ว่า กสทช. ปล่อยให้ผู้เข้าประมูล 4G บางรายทิ้งประมูลไปโดยมีบทลงโทษเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ราคาประมูลที่เกิดขึ้นก็เป็นราคาที่ผู้ประกอบการที่ชนะประมูลยอมรับแล้วทั้งสิ้น ดังจะเห็นว่ามีบางรายเฉลิมฉลองหลังชนะประมูลและแถลงข่าวว่าสามารถจ่ายค่าประมูลได้อย่างแน่นอน
2) ในกรณีของทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาขาดทุน จนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เพราะไม่สามารถปรับตัวกับตลาดที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว จึงควรมีมาตรการในการหาทางออกที่เหมาะสมในบางรูปแบบ แม้ไม่ต้องถึงขั้นคืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระไปแล้วบางส่วนตามคำสั่ง คสช. แต่ในกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายยังมีผลประกอบการที่มีกำไรหรือมีฐานะการเงินที่มั่นคง เช่น ในปี 2561 ที่ผ่านมา เอไอเอสและทรูมีกำไรสุทธิ 29,682 และ 7,035 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนดีแทคขาดทุน 4,369 ล้านบาทเนื่องจากมีค่าใช้จ่าย 9,510 ล้านบาท เพื่อระงับข้อพิพาทกับ กสท. โทรคมนาคม แน่นอนว่าทั้ง 3 รายล้วนเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคงทางการเงินทั้งสิ้น
อันที่จริงต่อให้ธุรกิจขาดทุน หากเป็นการขาดทุนที่เกิดจากความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติ (normal business risk) รัฐก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไป “อุ้ม” เพราะเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกธุรกิจและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลากับธุรกิจ SMEs ซึ่งล้มหายตายจากไปอยู่ทุกวัน ยิ่งกรณีที่ธุรกิจใหญ่ยังไปได้ดีและมีกำไรดี อย่างผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลให้รัฐต้องเข้าไป “อุ้ม” อีก
4. บริการ 5G บริการแห่งอนาคต = ไม่ต้องรีบร้อนทำวันนี้
กสทช. พยายามเร่งรัดการจัดสรรคลื่น 5G ในย่าน 700 MHz โดยอ้างว่าบริการ 5G จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศ 2.3 ล้านล้านบาท ในปี 2578 ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายเคยขู่ว่า จะไม่ร่วมประมูลคลื่น 5G หากไม่ขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G
อันที่จริง ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรีบร้อนจัดสรรคลื่น 5G ดังที่กสทช. พยายามผลักดัน ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้
1) ปัจจุบัน ยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน ดังที่ผู้บริหารเอไอเอส เคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่า “แม้ 5G มีประโยชน์ที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากมาย…แต่ไม่ใช่วันนี้” เพราะ “ยังไม่มี Business Case จึงไม่เห็นตอบแทนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือ IoT ในโลกนี้ยังไม่เกิดขึ้น” และกล่าวต่อไปว่า “ผู้พัฒนาเครือข่ายหลายๆ รายที่เป็นพันธมิตรบอกว่านับจากนี้ไปอีก 3 ปี ค่อยมาคิดว่าควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะปัจจุบัน 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศ 2.3 ล้านล้านบาทที่ กสทช. กล่าวอ้างยังเป็นเพียง “ความฝัน” ของ “บริการแห่งอนาคต” เท่านั้น เพราะผู้ให้บริการเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร
2) กสทช. เองก็ยังทำโรดแมปในการประมูลคลื่น 5G ไม่เสร็จ หลายท่านคงทราบว่า บริการ 5G สามารถใช้คลื่นความถี่ได้หลายย่าน ทั้งความถี่ต่ำ ความถี่ปานกลางและความถี่สูง การประมูลคลื่น 5G จึงควรเกิดขึ้นเมื่อมีโรดแมปในการประมูลคลื่นทุกย่านที่ชัดเจนก่อน การซอยคลื่น 700 MHz ในย่านความถี่ต่ำออกมาประมูลก่อน โดยยังไม่เห็นความชัดเจนในการประมูลคลื่นย่านอื่นจะสร้างปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น จะทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาของคลื่นย่านความถี่ปานกลางและความถี่สูงได้อย่างเหมาะสมในอนาคต เพราะต้องยึดโยงกับราคาของคลื่น 700 MHz ที่กำหนดไปก่อน
3) การไม่เร่งรัดประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ จะไม่มีผลทำให้ประเทศไทยมีบริการ 5G ช้ากว่าประเทศอื่นส่วนใหญ่ เพราะในปัจจุบันมีเพียง 4-5 ประเทศเท่านั้น ที่เปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ (ซึ่งเปิดบริการเพียงในไม่กี่เมือง) โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ 5G ซึ่งต้องการเปิดบริการในประเทศของตนให้เร็ว เพื่อผลในการโฆษณาและทำการตลาดในต่างประเทศ ดังนั้น ต่อให้บริการ 5G จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศมหาศาลอย่างที่ กสทช. กล่าวอ้าง ก็ต้องรอถึงปี 2578 ซึ่งหมายความว่าการรอไปอีก 2-3 ปี ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไร
ผู้สนใจฟังคลิปที่เกี่ยวข้อง“คิดยกกำลังสอง: 5G ประมูลดี ๆ…ไม่ต้องไว” ได้ที่นี่ )
5. การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 = การขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ
เหตุใดจึงมีความพยายามผลักดันให้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44? ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาจะทราบว่า มีความพยายามจากผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือบางรายที่เรียกร้องให้ กสทช. ยืดเวลาชำระหนี้ให้มานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ หากยอมยืดหนี้ ซึ่งหมายถึงการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนและทำให้รัฐเสียหาย กสทช. คงยากที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดทางอาญาไปได้
แนวทางเดียวที่จะทำให้รอดพ้นความรับผิดทางอาญาจึงเกิดขึ้นโดยการออกคำสั่งตามมาตรา 44 อย่างเร่งรัดในช่วงก่อนสงกรานต์ (ก่อนที่อำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าวจะหมดไปจาก คสช. เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่) ในแง่นี้ ทั้ง กสทช. และรัฐบาลจึงขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง
ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้ คสช. รัฐบาล และ กสทช. พ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในระหว่างการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว เช่นเดียวกันกับการออกคำสั่ง “อุ้ม”ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปพร้อมกัน ยังทำให้สื่อโทรทัศน์หลีกเลี่ยงที่จะตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว เพราะตนก็ได้รับประโยชน์จากการถูก “อุ้ม” ไปด้วย
6. อำนาจดุลพินิจมาก = เสี่ยงทุจริตมาก
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งจากคำสั่งของ คสช. คือการมอบอำนาจในการกำหนดสาระสำคัญในการปฏิบัติตามคำสั่งให้แก่เลขาธิการ กสทช. โดยปราศจากหลักการที่กำกับการปฏิบัติหน้าที่อันเหมาะสม ผลจึงเป็นการให้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางมากแก่เลขาธิการ กสทช. นับตั้งแต่กำหนดว่า “ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติและในการวินิจฉัยตำมคำสั่งนี้ ให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของเลขาธิการ กสทช. ให้ถือเป็นที่สุด” ทั้งนี้ ควรสังเกตด้วยว่า คสช. ได้มอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจมหาศาลให้แก่บุคคลเดียว ไม่ใช่ กสทช. ซึ่งเป็นองค์คณะและมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของเลขาธิการ กสทช.
อำนาจดุลพินิจที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่สำนักงาน กสทช. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขต่างๆ ในการจัดสรรคลื่น 5G ย่าน 700 MHz ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการประกอบกิจการ การตีมูลค่าคลื่นความถี่ ระยะเวลาในการวางโครงข่าย ระยะเวลาในการชำระเงิน ฯลฯ ทั้งนี้โดยไม่มีข้อกำหนดแม้กระทั่งให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเลย
อำนาจดุลพินิจในระดับสูงดังกล่าวน่าเป็นห่วงมากในสภาพที่การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่มีการแข่งขันใดๆ ระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลในการตัดการตรวจสอบโดยกลไกตลาดออกไปโดยสิ้นเชิงอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ คสช. ยังเคยมีคำสั่งตามมาตรา 44 ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ระงับการสรรหา กสทช. ไว้ อันมีผลทำให้ กสทช. ชุดปัจจุบันสามารถดำรงตำแหน่งไปจนตลอดชีวิต หากไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขออกมา น่าเสียดายว่า การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ในครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้ยกเลิกคำสั่งก่อนหน้านั้น
7. ผู้เสียหาย = ประเทศและประชาชน
ผู้ที่เสียหายจากการออกคำสั่งตามมาตรา 44 นี้ คงจะหนีไม่พ้นประเทศและประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นทั้งผู้เสียภาษีและผู้บริโภค
ในฐานะของผู้เสียภาษีและ “เจ้าหนี้ทางอ้อม” ของผู้ประกอบการ 4G คนไทยทุกคนเสียโอกาสจากการยืดหนี้ 4G และการจัดสรรคลื่น 5G ที่ปราศจากการแข่งขัน ลำพังเฉพาะเงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาทที่หายไปจากการยืดหนี้สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างโรงพยาบาล พัฒนาโรงเรียน หรือจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ประชาชนได้มากมาย ในฐานะของผู้บริโภค คนไทยทุกคนยังเสียโอกาสในการได้รับบริการ 5G จากตลาดที่มีการแข่งขันมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายใหม่ถูกปิดทางเข้าสู่ตลาดจากการจัดสรรคลื่น 5G เฉพาะเจาะจงให้แก่ผู้ประกอบการ 3 รายเดิม
ในส่วนของประเทศไทย คำสั่งตามมาตรา 44 นี้ มีผลทำให้ระบบกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของไทยเสมือนย้อนกลับไปสู่ยุคที่กิจการโทรคมนาคมยังอยู่ภายใต้ “ระบบสัมปทาน” ซึ่งเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นมากมาย ซึ่งทำให้เกิดกฎกติกาต่างๆ ที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ จนนำมาสู่ “ธนกิจการเมือง” ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของประเทศ ทั้งที่ในทางกฎหมาย ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปสู่ “ระบบใบอนุญาต” ซึ่งมุ่งสร้างการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ภายใต้กฎกติกาที่สามารถพยากรณ์ได้มานานแล้ว
ปัญหาในวงการโทรคมนาคมไทยจะส่งสัญญาณแก่นักลงทุนต่างประเทศโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ห่างไกลจากความเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ตามที่รัฐบาลใฝ่ฝัน ไม่ใช่เพียงเพราะเรามีรายได้ต่อหัวยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่เป็นเพราะรัฐไทยยังมีปัญหาธรรมาภิบาลบกพร่องอย่างรุนแรง
คสช. จึงควรทบทวนและแก้ไขข้อบกพร่องในการออกคำสั่งครั้งนี้ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย และคนไทยทุกคน มิฉะนั้นคำสั่งนี้ก็จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยในฐานะที่เป็นผลงานโบว์ดำอีกชิ้นหนึ่งของ คสช.
คนไทยเองก็ควรตระหนักว่า ภูมิคุ้มกันประชาชนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐและทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่สมคบกันคือ การสร้างความรู้เท่าทันรัฐและทุนผูกขาดให้แพร่หลายไปในสังคมในวงกว้าง โดยก้าวข้ามเส้นแบ่งความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อร่วมสร้างความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ไม่ยอมรับการทุจริตคอรัปชันในภาครัฐ และความเป็นผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ไม่ยอมให้กลุ่มทุนผูกขาดเอาเปรียบอีกต่อไป
ภาคผนวก 1 และ 2