วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2562

๒ ข้อหาต่อปิยบุตร "ผู้คนสงสัยว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่หวังผลสกัดตัดตอนคู่แข่งการเมือง"


คสช.แจ้งความ ๒ ข้อหาต่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นการ “ใช้การดำเนินคดีอาญาเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง” และ “ก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม” ดังที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแคนดิเดทนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติตั้งข้อสังเกตุ หรือไม่

จะต้องรอจนกว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว และอำนาจอิทธิพลของคณะทหารทางการเมืองหมดไปละหรือ อีกทั้งจะเชื่อได้เพียงใดว่าศาลสถิตย์ จะ ยุติธรรม ตามที่โฆษกกองบังคับการอาชญากรรมเทคโนโลยี่อ้างบ้างไหม

และกระบวนการยุติธรรมของไทยจะ “ได้มาตรฐาน” อันสำคัญที่สุดของประเทศไทย ได้ดังที่ อจ.ปิยบุตร ผู้ต้องหาวาดหวังไว้หรือไร ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคำถามที่จะไม่มีคำตอบอย่างสมเหตุสมผลมาจาก คสช. และผู้สนับสนุนทางการเมือง ให้สืบทอดอำนาจกันต่อไปอีกอย่างน้อยๆ ๘ ปี

ถ้าปิยบุตร และหัวหน้าพรรคของเขา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกพิพากษามีความผิดตามที่ คสช.กล่าวหา หรืออาจเลยเถิดไปถึงมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วย

เราได้ทราบถึงการแจ้งข้อหา ดำเนินคดีกับธนาธรกันแล้วว่า เหลวไหล เพียงใด มาดูข้อหาต่อปิยบุตรบ้างให้เห็นว่าทุเรศทุรังพอกัน

แรกเริ่มเดิมที ปิยบุตรถูกเรียกตัวไปรายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในความเกี่ยวพันกับพรรคอนาคตใหม่ จากการแถลงข่าวแสดงความเห็นกรณีพรรคไทยรักษาชาติถูกสั่งยุบ สองวันหลังจากนั้นผู้แจ้งความได้เปลี่ยนเป็นข้อกล่าวหาทางอาญาแทน

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นเจ้าหน้าที่ของ คสช. เพื่อการฟ้องร้องคดีต่อผู้ที่แสดงความเห็นโต้แย้ง ต่อต้าน การรัฐประหารและ คสช.มาโดยตลอดนับเป็นร้อยๆ คดี นี่เป็นวิธีการสงครามจิตวิทยาทางการทหารอย่างหนึ่ง ที่ คสช.ใช้กำหราบ กีดกัน และกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ข้อหาที่ใช้กระหน่ำเลขาฯ พรรคอนาคตใหม่ครั้งนี้ก็คือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๘ เรื่องการดูหมิ่นศาล ซึ่งมีระวางโทษจำคุก ๑-๗ ปี และ/หรือ ปรับ ๒ พันถึง ๑ หมื่น ๔ พันบาท

อีกข้อหาเป็นความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๔(๒) ซึ่ง คสช.มักใช้เสมอกับผู้แสดงความเห็นขัดแย้งกับ คสช. มีระวางโทษอยู่ที่ คุก ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ แสน หรือรวมกัน ข้อสำคัญ อันนี้เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้

ในฐานะที่ผู้ต้องหาเป็นนักกฎหมายด้วยตัวเอง (แม้จะเป็นสาขามหาชน) จึงน่าจะฟังความเห็นโต้แย้งของเขาดูบ้าง ปิยบุตรชี้ว่าข้อหาดูหมิ่นศาลที่ พ.อ.บุรินทร์เป็นผู้ฟ้องนั้นเป็นความผิดที่อ้างว่ากระทำต่อศาลรัฐธรรมนูญ
 
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของปิยบุตร จึงได้ถามกลับพนักงานสอบสวนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับเป็นผู้เสียหายหรือเปล่า ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ ข้อสงสัยจึงไม่เพียงแต่ว่า คสช.เดือดร้อนอะไรนักหนา ที่จะต้องมาฟ้องร้องแทน

ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้ผู้คนสงสัยว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่หวังผลสกัดตัดตอนคู่แข่งการเมือง

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตุอีกว่า ถ้า คสช. ถือตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ (และรัฐบาล) จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการที่หัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ด้วยใช่ไหม อีกทั้งต่อไปข้างหน้า รัฐบาลมิต้องมีหน้าที่คอยฟ้องคดีดูหมิ่นศาลอยู่ร่ำไป ฉะนั้นเหรอ

“ในอดีตที่ผ่านมา เราไปตรวจสอบแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาพบว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาลส่วนใหญ่ผู้พิพากษาเป็นคนริเริ่มร้องทุกข์ แทบจะไม่เคยปรากฏว่ามีนายดำนายแดงไปแจ้งความแบบนี้ หรือองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นไม่เคยไปร้องทุกข์กล่าวโทษ”

ปิยบุตรยังบอกฝากไปถึง นักการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจด้วยว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เขามีน้ำอดน้ำทนกันได้ทุกอย่าง “ต้องอดทนอดกลั้นกับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง” ไฉนทหารนักการเมืองจึงไม่คิดจะทนบ้าง

ดังจะเห็นว่าทั้งปิยบุตรเอง และธนาธรหัวหน้าพรรคถูกโหมโจมตีทั้งในทางสื่อโซเชียลและหนังสือพิมพ์ปฏิกิริยา เช่น ไทยโพสต์ แนวหน้า และมากที่สุดคือสื่อ เนชั่น“หลายเรื่องที่เป็นข้อความที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง (Hate Speech) หลายเรื่องเป็นการกล่าวเท็จ หลายเรื่องเป็นการใส่ร้ายป้ายสี”

ทำไมพวกเขาต้องทน และทนได้ นักการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจหนักไปทาง ด้านได้หรือไง

(ข้อมูลหลายส่วนจาก https://voicetv.co.th/read/MNpDJiUTB และ https://www.bbc.com/thai/47958604?SThisFB&fbclid_syDxo)