วันเสาร์, เมษายน 27, 2562

ด้วยความนบนอบ ฯพณฯ หัวเจ้าทั่น 'ประธานศาลฎีกา'


พวกตลาการของบ้านเมืองนี้เขามีวิธีคิดชนิดวิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไปนะ เหมือนดั่งว่าสังคมไทยมีหลักการใช้เหตุผลเป็น ๒ ฐานปัญญา ด้านหนึ่งใช้สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ ส่วนอีกด้านเป็น อภิตรรกะใช้กันในหมู่ชนชั้นเทพ หรือระดับ อมนุษย์

ประธานศาลฎีกาน่าจะจัดอยู่ในประเภทบุคคลขั้นเทพ เมื่อเขาพูดอบรม “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ ๒๓ ในงานสัมมนาตอนหนึ่ง” แล้วกลายเป็นข่าวสำคัญ สื่อบางแห่งนำเสนอดั่งมุ่งหวังสอนสั่งสาธารณะ


เรื่องที่ว่า ศาล“ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรม” และว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์จะเป็น ผู้แพ้คดี ทั้งนั้น กระทั่ง “แม้แต่คนๆ เดียวกันเวลามาใช้บริการชนะคดีก็ดีไป หากแพ้คดีก็จะพูดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ทั่นประธานฯ ยังบอกว่า “ศาลโต้ตอบการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ต้องอดทน” เพราะอะไร เพราะว่า “ความเป็นผู้ใหญ่วัดกันที่ความอดทนเป็นสำคัญ จึงอยากให้แต่ละฝ่ายเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกันและกัน”

นั่นสิ แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องที่ทั่นประธานฯ ก้าวเลยไปถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศลองมาฟังความรู้สึกของ คนระดับที่เป็นสามัญกันก่อนสักนิด ในฐานที่คนเหล่านี้ พวกเขาเข้าใจนะว่า “ศาลไม่มีทางทำให้ชนะคดีทั้งสองฝ่าย” ได้

แต่ว่าการวินิจฉัยตัดสินอะไรต่ออะไร ตามวิธีคิดของสามัญชนต้องดูที่ ๑.ข้อเท็จจริง (อันนี้ระบบศาลไทยยกย่อง) ๒. หลักการ หรือตัวบทกฎหมาย และ ๓. การนำหลักการมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เรียกกันว่า ตรรกะ นั่นละ

ในสังคมประชาธิปไตย ทั่วโลกซึ่งทั่นตุลาการใหญ่บอกว่า “แม้ประเทศซึ่งอ้างว่าศิวิไลซ์ ประเทศเจริญแล้ว หากไม่พอใจรัฐก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมาย” นั่นคือเขาค้าน ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับการตัดสินของคนๆ หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง เพราะอะไร

มีความเป็นไปได้ว่าเพราะ ๑.ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน หรือเป็นเพียงข้อกล่าวหาของฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว ๒.หลักการไม่ได้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งมวล (ชนใดเขียนกฎหมายก็เพื่อผลประโยชน์ของชนกลุ่มนั้น) หรือได้มาด้วยการข่มเขาโคเอา

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่ทั่นประธานฯ อ้าง ถึงจะผ่านประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นค้าน หรือแม้แต่วิจารณ์ บอกให้รับๆ ไป จะได้มีเลือกตั้ง เช่นเดียวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ล้วนทำให้กระบวนการเมืองเป็นดังแป้งพอกขาวให้คณะทหารได้ครองอำนาจต่อไปได้สะสวย

ข้อ ๓. การใช้ตรรกะตัดสินแล้วมี “คนไทยส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ” โดยเฉพาะในยุค คสช.ครองเมืองนี่ ที่ว่า ส่วนหนึ่ง มักเป็น ส่วนมาก ทั่นประธานฯ พูดเหมือนว่าคนที่ค้าน ไม่ยอมรับ เป็นพวกไม่รู้ถูกผิด หรือเอาแต่ประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง

ไฉนไม่คิดย้อนดูตัวบ้างว่า ถ้ามีคนท้วง คนค้าน น่าจะเกิดการผิดพลาดในส่วนของตนเองบ้างไหม วิญญูชนสากลในประเทศ ศิวิไลซ์เขาทำกันอย่างนั้น ไม่ใช่ตุลาการเป็น ผู้ใหญ่ ของประเทศ ประชาชนทั่วไปถ้าค้าน แสดงว่า ไร้เดียงสา

ที่ชี้แจงมาหาใช่จะมุ่งหมายหักหาญกับผู้ใหญ่ของประเทศ เพียงแต่ว่าทุกวันนี้ประชาชนธรรมดาต้องใช้ความอดทน อดกลั้น มากกว่าประธานศาลฎีกาด้วยซ้ำไป ทั่นมีความอดทนแต่ทั่นก็บ่นออกสื่อยิ่งยงขนาด คมชัดลึก ได้

ความตั้งใจก็คือ อยากทำตามที่ทั่นแนะ “หากเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน” กติกาที่ต้องการแก้ก็คือรัฐธรรมนูญที่ทั่นยกย่องนักหนาฉบับนี้นี่แหละ เพียงแต่ว่าการจะไปถึงจุดที่ขอแก้ได้ มันมีกฎหมายลูกๆ หลานๆ เขย สะใภ้ รายล้อมเป็นด่านกั้นอยู่เยอะ

กรรมการการเลือกตั้งเอย ศาลรัฐธรรมนูญเอย ไหนจะผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครองสูงสุด สูงกลาง และสูงต่ำ เยอะแนะ หวั่นแต่ว่าศาลฎีกาของทั่น จะกลายเป็นขวากหนามช่วย สอย คนที่ขอแก้ด้วยเท่านั้น

ด้วยความนบนอบ ฯพณฯ หัวเจ้าทั่น