วันศุกร์, เมษายน 19, 2562

รีวิวหนังสือ ที่อยากให้พวกขวาจัดดัดจริตเสพติดชาตินิยม ได้อ่าน - Democratic Reason. Politics, Collective Intelligence, and the Rule of the Many





เหตุผลแห่งประชาธิปไตย และประชาธิปไตยในฐานะระบอบแห่งความรู้ที่ดีที่สุด

งานเขียนที่มัน breakthrough นี่มัน breakthrough จริงๆ อย่างหนังสือเล่มนี้ก็ถือได้ว่าเข้าข่ายนั้นไปเต็มๆ คืออ่านแล้วรู้สึกได้ว่าเจ๋ง หนังสือเล่มนี้ปรับจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของเออเลนน์ ลองด์มอร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเยล ตัวหนังสือได้รับรางวัลเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือรางวัลจากสมาคมรัฐศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นหนึ่งในสมาคมด้านรัฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ประเด็นของลองด์มอร์ในหนังสือเล่มนี้ที่ผมคิดว่า breakthrough ก็คือประเด็นเรื่องคุณค่าของประชาธิปไตยที่ลองด์มอร์เสนอว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการเมืองที่มิเพียงแต่ยืนอยู่บนหลักการเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง(ดังที่หลายคนคุ้นเคย) แต่ยังเป็นระบอบที่เอื้อให้เกิดการออกนโยบายที่ดีที่สุด หรือก็คือเป็นระบอบที่มีกลไกช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆเข้าใกล้สิ่งที่ “ถูกต้อง” และ “ดีงาม” มากกว่าระบอบอื่นๆ พูดอีกแบบก็คือ ลองด์มอร์แกเสนอว่าคุณความดีของประชาธิปไตยนั้นมิใช่อยู่แค่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่พิทักษ์และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองที่ดีที่สุด เป็นการปกครองที่ช่วยยกระดับผู้คนในสังคมการเมืองให้มีชีวิตที่ดี ที่ถูกต้องภายใต้กลไกการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ทรงปัญญาที่สุด พูดในภาษาทางทฤษฎีหน่อยก็คือแกเสนอว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการเมืองที่ดีกว่าระบอบอื่นเพราะมันมีคุณค่าทางความรู้ (epistemic value) เหนือกว่าระบอบอื่นๆนั่นเอง

การเสนอว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่มีคุณค่าทางความรู้เหนือกว่าระบอบการเมืองอื่นๆของลองด์มอร์นี้ ถือได้ว่าเป็นการท้าทายฐานความรู้ทางรัฐศาสตร์และทฤษฎีการเมืองอย่างสำคัญ เพราะในอดีต เวลาเปรียบเทียบกับระบอบการเมืองอื่นๆ นักปรัชญา/นักทฤษฎีการเมืองหรือกระทั่งนักรัฐศาสตร์(ส่วนใหญ่) มักจะจัดให้ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ “อันตรายน้อยที่สุด” หรือ “ส่งเสริมเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชนที่สุด” มากกว่าที่จะจัดให้เป็น “ระบอบที่ดีที่สุด” เนื่องเพราะนักปรัชญา/ทฤษฎีและนักรัฐศาสตร์เหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางสติปัญญาที่มองว่าความยอดเยี่ยมในสติปัญญาตลอดจนไหวพริบ/ปฏิภาณและการแก้ปัญหาต่างๆเป็นคุณสมบัติของคนไม่กี่คน (และดังนั้นการปกครองที่ดีที่สุดจึงต้องเป็นการปกครองภายใต้คนผู้ทรงปัญญาไม่กี่คนเหล่านั้น)

กระนั้น ลองด์มอร์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนทัศน์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางสติปัญญาดังกล่าวแท้จริงแล้วคือผลจากความเข้าใจผิดต่อลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าสติปัญญาหรือ intelligence ที่มองว่าสติปัญญาเป็นคุณสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งไม่สามารถแบ่งหรือมอบให้บุคคลอื่นได้ ทั้งๆที่ แท้จริงแล้วการที่บุคคลๆหนึ่งจะพัฒนาตนเองให้มีสติปัญญาได้นั้นล้วนต้องอาศัยการช่วยเหลือ สังสรรค์ แลกเปลี่ยน ปะทะ หักล้างกับบุคคลอื่นๆอยู่เสมอ เช่นการที่เราสามารถยกระดับสติปัญญาได้นั้นไม่ใช่เพราะจู่ๆเราจะเก่งหรือตรัสรู้สิ่งต่างๆได้เอง แต่เพราะเราสังสรรค์ มีวิวาทะ/ปะทะทางความคิดกับคนอื่นๆจนทำให้เราต้องพัฒนาตนเองให้ทันคนอื่นๆและทำให้เราสามารถยกระดับสติปัญญาขึ้นมาได้ ในแง่นี้ แทนที่จะมองสติปัญญาว่าเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของแต่ละบุคคล ลองด์มอร์กลับเสนอว่าสติปัญญานั้นโดยตัวมันเองแล้วเป็นสิ่งที่ข้ามขอบเขตของบุคคลเสมอ สติปัญญาไม่ใช่เรื่องของปัจเจกหรือ individual แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมหรือ collective ในแง่ที่ว่า ยิ่งเราได้เผชิญหน้า/พบปะ/ปะทะ/สังสรรค์กับผู้คนที่มีความหลากหลายมากเท่าใด เราก็ยิ่งจะพัฒนายกระดับสติปัญญาของเราให้ดี มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเท่านั้น

และด้วยมุมมองต่อสติปัญญาในแบบดังกล่าว จึงไม่ยากเลยที่ลองด์มอร์จะเสนอต่อมาว่าประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่ดีที่สุด เพราะสำหรับลองมอร์แล้วประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่มีเป้าหมายในการนำพาให้ประชาชนทุกคนสามารถบรรลุชีวิตที่ดี ที่ถูกต้อง ใกล้เคียงกับสัจธรรมหรือความสมบูรณ์แบบมากที่สุด เป้าหมายของประชาธิปไตย(สำหรับลองด์มอร์) จึงเป็นเรื่องของการออกแบบนโยบายเพื่อสนองตอบต่อชีวิตที่ดีของประชาชนส่วนใหญ่—หากไม่ใช่ทั้งหมด—ในสังคม เป้าหมายซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดให้คนจำนวนมากที่สุดได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบ ตัดสินใจและกำหนดแนวนโยบายสำหรับแก้ปัญหาต่างๆในสังคม เพราะมีแต่การเปิดให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้นที่จะช่วยให้สังคมการเมืองได้ใช้ประโยชน์จากสติปัญญาอันดีเลิศ ที่ตั้งอยู่บนทัศนะอันหลากหลายของผู้คนจำนวนมากเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม การชี้ให้เห็นถึงคุณค่าทางความรู้ที่ประชาธิปไตยมีเหนือกว่าระบอบอื่นๆนั้น ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะสามารถนำเสนอนโยบายที่ดีที่ผ่านการใช้สติปัญญาอันดีเลิศซึ่งตั้งอยู่บนความหลากหลายได้โดยอัตโนมัติ ในแง่นี้ ลองด์มอร์จึงได้เสนอกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถนำเอาสติปัญญาอันหลากหลายดังกล่าวมาใช้สำหรับกระบวนการออกนโยบายได้อย่างเต็มที่ โดยลองด์มอร์จะเรียกกลไกตรงนี้ว่าเหตุผลแห่งประชาธิปไตยหรือ democratic reason ซึ่งก็คือกลไกของการใช้เหตุผลที่ออกมาจาก demos หรือประชาชน(ส่วนใหญ่)ของสังคม เพราะถ้าสติปัญญาที่สูงส่งที่สุดคือสติปัญญาที่ออกมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีความหลากหลายอย่างไร้ขีดจำกัด สติปัญญาดังกล่าวก็ย่อมจะต้องแสดงตัวผ่านเหตุผลที่ออกมาจาก demos หรือคนส่วนใหญ่นั่นเอง

แน่นอนหากพิจารณาอย่างผิวเผิน การกล่าวถึงกลไกอย่างเหตุผลแห่งประชาธิปไตยนี้อาจดูคล้ายคลึงกับข้อเสนอเรื่องเหตุผลสาธารณะ หรือ public reason ของจอห์น รอลว์ นักปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่แล้ว ผู้ซึ่งเชื่อในการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในสังคมได้เข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันในประเด็นสาธารณะบนฐานของการบรรลุถึงเป้าหมายอันเป็นผลประโยชน์สูงสุดที่แต่ละฝ่ายจะได้โดยไม่ก้าวล่วงไปแตะต้องหลักความเชื่อของแต่ละบุคคล กระนั้น ลองด์มอร์ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในกรอบข้อเสนอเรื่องเหตุผลสาธารณะของรอลว์ โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ว่าสุดท้ายแล้วผู้ที่มีสิทธิสามารถเข้ามาร่วมถกเถียงถึงประเด็นสาธารณะต่างๆนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลหรือพิสูจน์ว่าสามารถใช้เหตุผลได้ (เนื่องจาก—บนฐานความคิดของรอลว์แล้ว—มีแต่ผู้ที่ใช้เหตุผลได้เท่านั้นถึงจะสามารถคำนวณผลได้/ผลเสียต่างๆที่ตนจะได้รับอันเป็นขั้นตอนสำคัญในการหาข้อสรุปสำหรับการถกเถียง) ทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกกีดกันออกจากการเข้าร่วมถกเถียงตรงนี้

และโดยอาศัยการชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของรอลว์ดังกล่าว ลองด์มอร์ก็ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของเหตุผลแห่งประชาธิปไตยที่ตนเสนอ นั่นก็คือการเปิดรับทุกคนให้สามารถเข้ามาร่วมถกเถียงโดยไม่แบ่งแยกไปก่อนว่าบุคคลผู้นั้นจะมีความสามารถในการใช้เหตุผลหรือไม่ เพราะเหตุผลแห่งประชาธิปไตย—สำหรับลองด์มอร์—หาใช่เรื่องของ “ผลรวม” จากสติปัญญาของปัจเจกแต่ละคนที่เข้ามาร่วมถกเถียง แต่เป็นเรื่องของสติปัญญาที่ “เกิดขึ้น” ในขณะที่ผู้ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้ลักษณะที่ยืดหยุ่น หลากหลายและสมบูรณ์บนความเป็นกลุ่มก้อนของสังคมการเมืองที่ไม่สามารถลดทอนให้กลับไปสู่ตัวผู้ร่วมถกเถียงแต่ละคนได้ การเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมถกเถียงโดยไม่กีดกันไปก่อนจึงสำคัญสำหรับลองด์มอร์ เพราะทุกคน—ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเหตุผล—ล้วนต่างก็เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองที่ย่อมมีทัศนะและมองเห็นสังคมจากมุมที่ภาคส่วนอื่นๆมองไม่เห็น อันจะช่วยให้เหตุผลที่ออกมาจากกระบวนการดังกล่าวใกล้เคียงกับองค์รวมของสังคมการเมืองมากที่สุด

นั่นจึงไม่แปลกที่ลองด์มอร์จะอธิบายต่อว่าองค์ประกอบหลักในกลไกของเหตุผลแห่งประชาธิปไตยนั้นจะไม่ใช่อะไรเลยนอกจากหลักการเรื่องการปรึกษาหารือแบบเปิดกว้างหรือ inclusive deliberation อันเป็นหลักการที่มุ่งเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถร่วมถกเถียง/หารือในปมประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถนำเสนอทางออก—จากมุมมองของตน—ต่อปัญหาเชิงนโยบายได้อย่างอิสระ เพราะการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมถกเถียงและเสนอความเห็นอย่างไม่มีขีดจำกัดนั้น คือการเปิดให้มุมมองตลอดจนเหตุผลของปัจเจกแต่ละคนที่หลากหลายได้แสดงตน อันจะนำไปสู่การปะทะ ประสานและยกระดับสติปัญญาเพื่อเปิดประตูสู่ข้อเสนอหรือแนวนโยบายที่รัดกุมรอบด้านและดีสำหรับทุกฝ่ายมากที่สุด

แน่นอน นี่ไม่ได้แปลว่าลองด์มอร์มองไม่เห็นผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายต่างก็พกติดตัวเวลานำเสนอเหตุผลของตนเพื่อถกเถียงกับบุคคลอื่น แต่เพราะสุดท้ายแล้วธรรมชาติของการถกเถียงและปรึกษาหารือนั้นจะวางอยู่บนการเกลี้ยกล่อมให้ผู้เข้าร่วมถกเถียงคนอื่นๆเห็นพ้องหรือเห็นด้วยภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลอันเป็นสากล หนักแน่น เป็น unforced force (หรือแรงบีบที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนกำลังทางกายภาพ หากแต่อยู่บนความหนักแน่นทางตรรกะและความน่าเชื่อถือ)ในแง่นี้ ไม่ว่าคู่สนทนาในเวทีแห่งการปรึกษาหารือจะมีผลประโยชน์ติดตัวซ่อนมากับข้อถกเถียงของตนแค่ไหน แต่หัวใจสำคัญก็ยังคงเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลที่รอบด้านหนักแน่น เป็นสากลที่มุ่งอำนวยประโยชน์ไม่ใช่แค่กับปัจเจกผู้เข้าร่วมแต่ละคน แต่ยังรวมไปถึงสังคมการเมืองและประชาชนทั้งหมดในสังคมการเมืองเอง

นอกจากการปรึกษาหารือแบบเปิดกว้างแล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งภายในกลไกของเหตุผลแห่งประชาธิปไตยที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการยึดหลักเสียงข้างมากหรือ rule of majority โดยเฉพาะในกรณีที่กระบวนการปรึกษาหารือข้างต้นเกิดความไม่ลงรอยและไม่สามารถสร้างการเห็นพ้องในหมู่ผู้เข้าร่วมได้ โดยลองด์มอร์ได้ชี้ให้เห็นว่านอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการตักสินใจภายใต้วิถีแห่งประชาธิปไตยแล้ว เสียงข้างมากยังมีคุณค่าทางความรู้ในแง่ที่ว่าตัวมันเองเป็นผลมาจากการไตร่ตรองของผู้คนจำนวนมากที่มีทักษะความรู้และประสบการณ์อันหลากหลาย ข้อเสนอในการแก้ปัญหาต่างๆที่ออกมาจากเสียงข้างมาก(ซึ่งผ่านกระบวนการปรึกษาหารือมาแล้ว) จึงเป็นข้อเสนอที่ออกมาจากการตัดสินใจที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์แบบมากที่สุด (nearly perfect decision-making) เสียงข้างมากจึงมีคุณสมบัติสำคัญอย่างความสามารถในการคาดการณ์ (predictive function) เพื่อแก้โจทย์หรือปมปัญหาทางการเมืองหนึ่งๆแก่ผู้คนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เสียงข้างมากไม่ใช่มวลรวมของฝูงชนที่ไร้เหตุผล เต็มไปด้วยอารมณ์ที่พร้อมถูกเชิดชักโดยไม่ประสีประสาจากนักพูดการเมือง ตรงกันข้าม เสียงข้างมากกลับคือผลรวมของผู้คนมากหน้าหลายตาที่ต่างก็มีประสบการณ์ เห็นโลกในมุมที่แตกต่าง จนสามารถประมวลผลเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆได้อย่างรอบด้าน เป็นธรรมและถูกต้องใกล้เคียงกับมาตรฐานความดีงามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จริงอยู่ นี่ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะเป็นเสียงสวรรค์ที่สามารถตัดสินสิ่งต่างๆได้อย่างถูกต้องดีงามเสมอไป เพราะต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วเสียงข้างมากก็มาจากมนุษย์ผู้มีขีดจำกัดทางความคิด ซึ่งย่อมทำให้ตัวมันเอง—แม้อาจดีเยี่ยมกว่าสติปัญญาของปัจเจกหรือบุคคลเพียงคนเดียว—ยังคงไม่สมบูรณ์ มีโอกาสผิดพลาดได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าคุณสมบัติประการหนึ่งของมนุษย์คือการเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตต่างๆเพื่อที่จะไม่กระทำซ้ำในอนาคต ในแง่นี้ แม้การตัดสินด้วยเสียงข้างมากอาจมีโอกาสผิดพลาดได้ แต่เมื่อพิจารณาว่าตัวมันเองคือผลรวมของผู้คนที่หลากหลายที่ต่างก็มีประสบการณ์ในความผิดพลาดต่างๆมาก่อน ก็ย่อมจะเป็นไปได้มากว่ามติที่ออกมาจากเสียงข้างมาก—โดยเฉพาะเมื่อผ่านกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้างแล้ว—คือมติที่มีโอกาสผิดพลาดน้อยกว่ามติซึ่งออกมาจากบุคคลหรือคณะบุคคลเพียงหยิบมือผู้ที่แค่วัดโดยจำนวนก็จะเห็นได้ชัดว่ามีขีดจำกัดทางความรู้ต่ำกว่าเสียงข้างมากอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยเหตุนี้ หากลองคิดผ่านข้อเสนอของลองด์มอร์ ก็คงเห็นได้ชัดว่าระบอบการเมืองที่ดีที่จะช่วยพัฒนาประเทศและสังคมการเมืองที่เราอยู่ได้นั้น จะไม่ใช่ระบอบที่ปกครองด้วยคนเพียงคนเดียวหรือคณะบุคคลเพียงคณะเดียว หากแต่คือระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้คนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอความเห็น วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายต่างๆอันจะนำไปสู่การออกนโนบายตลอดจนกำหนดทิศทางที่ก้าวหน้าของประเทศ—ภายใต้สติปัญญาที่ยอดเยี่ยม ยืดหยุ่นที่สุด—อย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมั่นในเสรีภาพ ไม่จำเป็นต้องเห็นถึงความสำคัญของความเสมอภาคเท่าเทียม เพราะสำหรับลองด์มอร์แล้ว ขอแค่มีความรักในสังคมการเมือง อยากให้สังคมการเมืองที่ตนอยู่มีความเจริญก้าวหน้า เป็นสังคมการเมืองที่ดี ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ก็ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะสนับสนุนระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย


Attasit Sittidumrong