วันจันทร์, เมษายน 22, 2562

"เสร็จแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหมายอะไรอยู่บ้างไหม" ลองฟัง ปิยบุตร แสงกนกกุล "ท้ายที่สุดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ...ยืนยันว่าจะเป็นฝ่ายค้าน”


ในสถานการณ์ที่กระบวนการตัดกำลัง ทั้งด้วยการคำนวณคะแนนเสียงให้จำนวน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ลดลง การโหมโจมตีและฟ้องร้องคดีความมั่นคงสองแกนนำหลักของพรรคนี้ อันมีนัยยะขจัดออกไปจากวงจรการเมือง แล้วยังอาจต่อยอดไปถึงการยุบพรรคทั้งเพด้วย

เสร็จแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหมายอะไรอยู่บ้างไหม สำหรับกลุ่มการเมืองที่เรียกกันว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่ง ๖ พรรคปฏิญานตัวร่วมกันเป็นสัตยาบัน ว่าหัวเด็ดตีนขาดจะไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างแน่นอน

โดยขณะนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา มิได้บริสุทธิ์ยุติธรรมดังที่รัฐบาล คสช.เคยกล่าวอ้าง มิหนำซ้ำยังเห็นด้วยว่า คสช.กับองคาพยพในรัฐบาลทำการเอารัดเอาเปรียบ และฉ้อโกงหลายทาง รวมทั้งในบทบาทของ กกต.เอง ที่จะทำให้ผลเลือกตั้งลงเอยด้วยชัยชนะของพวกตน

แม้ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ๖ หน่วย ใน ๕ จังหวัด เมื่อ ๒๑ เมษายน กับอีก ๑ หน่วยที่จังหวัดชุมพรในวันที่ ๒๘ เมษายน ทั้งยังสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่มากมายหลายหน่วย เช่นเขต ๓ จังหวัดขอนแก่น ๒ หน่วย และเขต ๑ จังหวัดนครปฐม ราว ๒๔๕ หน่วย

ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุปัญหาบัตรหาย (ผู้ไปใช้สิทธิมากกว่าจำนวนบัตร) และบัตรเขย่ง (บัตรคะแนนมากกว่าจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ) ทั้งสองกรณีจึงต้องจัดให้มีเลือกตั้งใหม่ กับกรณีหน่วยที่คะแนนออกมาเกินจำนวนบัตรและผู้ใช้สิทธิ ก็ให้นับใหม่

ปรากฏว่าหลังจากการเลือกใหม่ของสองหน่วยที่ทราบผลแล้ว (ขณะนี้) คือที่พิษณุโลก หน่วยที่ ๖ มีคนไปออกเสียงเพียง ๒๓๐ คนจากจำนวนผู้มีสิทธิ ๓๖๖ คน ทั้งที่เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคมมีผู้ไปออกเสียง ๒๖๙ คน เท่ากับคนไปใช้สิทธิน้อยลง ๓๙ ราย

เช่นเดียวกับหน่วยเลือกตั้ง ๓๒ เขตหัวหมาก กรุงเทพฯ เมื่อวาน มีคนไปออกเสียงกัน ๓๗๐ คน ทั้งที่เมื่อ ๒๔ มี.ค.มีผู้ไปใช้สิทธิมากกว่า คือ ๕๕๕ คน แสดงว่าหายไป ๑๘๕ คน ซึ่งสื่อ เดอะโมเม็นตัม รายงานว่าผู้ไปออกเสียงอีกครั้งเหล่านั้นไม่ได้รับจดหมายแจ้งจากทางการเหมือนเมื่อวันที่ ๒๔ มี.ค.

แต่พวกเขาทราบจากการประชาสัมพันธ์ของมัสยิดและการส่งข่าวต่อกันในกลุ่มไลน์ รวมถึงการแจ้งของผู้สมัครที่ออกไปหาเสียง อีกทั้งในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ มีการแจ้งผ่านเพจ Future News ให้ทางพรรคไปตรวจสอบความผิดปกติกับ กกต.

เนื่องจากผู้สนับสนุนรายหนึ่งซึ่งออกเสียงเลือกพรรคอนาคตใหม่เมื่อ ๒๔ มี.ค. มาคราวนี้จะไปออกเสียงใหม่แต่ครั้นพอตรวจรายชื่อก่อนลงคะแนนพบว่าชื่อของตนหายไป
 
อีกทั้งรายงานการเลือกตั้งมีผลเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เขต ๑๓ บางกะปิ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ที่เคยได้อันดับสี่ กลับขึ้นมาเป็นอันดับสอง ทำให้ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ตกไปเป็นอันดับสี่ เป็นต้น


เหล่านั้นเหมาะเจาะอย่างยิ่งที่จะเงี่ยฟังความเห็น ความรู้สึกของหนึ่งในผู้ถูกกระหน่ำกระทำ ไม่ว่าเราจะถือตัวว่าอยู่ในสถานะไหนของ เฉด ต่างๆ ในฝ่ายประชาธิปไตย ชื่อยาวชื่อสั้น คนรุ่นใหม่ สายก้าวหน้า เกลียดรัฐประหาร ต้าน คสช. ชอบยิ่งลักษณ์ ฮักทักษิณ ฯลฯ

ปิยบุตร แสงกนกกุล ให้สัมภาษณ์ ประชาชาติธุรกิจไว้ละเอียดต่อประเด็นที่กำลังเผชิญหน้าทั้งตัวเขาเอง และกระบวนการประชาธิปไตยอันเป็นสากล มากกว่าพิมพ์เขียวในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และกลไกองค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์และพวก คนดี กำหนดไว้ให้

แรกทีเดียวยืนยันว่าอนาคตใหม่ได้ ส.ส. ๘๗ เสียง “เราคำนวณแล้วว่าทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดคือเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาได้...ร่างการกระจายอำนาจ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรื่องการแก้ภาษีทุนผูกขาด แน่นอนสุดท้ายอาจไม่ผ่าน

...แต่สิ่งที่จะได้คือ มีร่างกฎหมายปักในสภา เกิดการดีเบตในสังคมให้ถกเถียงกันต่อ” ดีกว่าให้ ส.ส.ไปนั่งในสภาเฉยๆ รอยกมืออย่างเดียว “จะรื้อฟื้นเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎรกลับมาให้ได้ ให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นสภาผู้แทนราษฎร...

ถ้าฟื้นได้คนก็ไม่เกลียดการเมือง ไม่กลัวการเมือง เมื่อคนเชื่อมั่นในการเมืองก็ไม่ต้องไปกวักมือเรียกทหารเข้ามาอีก...ผมพยายามสื่อสารกับสังคม รวมทั้งสื่อสารกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม อย่ากังวลใจกับ อนค.ว่าเข้ามาแล้วจะกวาดล้าง ทำให้คุณไม่มีที่อยู่ที่ยืน น่ากลัวไปหมด”

“แต่ถ้าบอกว่าไม่รู้ล่ะ จะอยู่แบบนี้จะเป็นแบบนี้ จะครองอำนาจแบบนี้ไม่แบ่งสันปันส่วนอำนาจให้คนอื่น วิธีคิดแบบนี้ต่างหากที่อันตรายต่อสังคมไทย เพราะชนชั้นนำปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดไม่เหมือนกัน อยากจะเปลี่ยนแปลงปฏิรูป”

ร่างกฎหมายที่จะเสนอต่อสภาคือ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการกระทรวงกลาโหม...เราจะเสนอแก้ เพราะถ้าไม่แก้จะบริหารประเทศไม่ได้เลย เพราะหันไปเจอกองทัพเอาปืนจี้หลังได้ทุกวันให้ออกจากอำนาจ”

โจทย์ที่ต้องแก้ “ชุดหนึ่งที่เราต้องสู้กันแท้ๆ คือเรื่องเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมายาวนาน เรื่องทุนผูกขาดกินรวบทั้งประเทศ เรื่องอำนาจรวมศูนย์ รัฐบาลพลเรือนอยู่ใต้กองทัพ” นี่เป็นไปตามหลักพรรคการเมืองของนักกิจกรรม ใครอยู่ในสภาก็ทำงานของสภา แต่พรรคต้องทำกิจกรรมต่อ

“สิ่งที่ อนค.เสนอเป็นเรื่องปกติในทางสังคม เพียงแต่เราอยู่กับความผิดปกติจนคุ้นชิน และวันหนึ่งคนที่ออกมานำเสนอว่าจะให้กลับมาเป็นปกติ กลายเป็นว่าสิ่งที่เสนอผิดปกติ รุนแรงเกินไป...ที่ผ่านมาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยเท่าไหร่”

“สังคมแบบประชาธิปไตย ศาลไม่ใช่เป็นองค์กรที่อยู่สูงที่สุด เป็นองค์กรตุลาการที่อยู่ระนาบเดียวกับองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร การที่บอกว่าศาลมาตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ได้แปลว่าศาลมาขี่คอสภา ขี่คอนายกฯ”

“เมื่อได้ที่สาม ก็ให้เกียรติพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาล และท้ายที่สุดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือช่องทางรัฐธรรมนูญ ๒๗๒ เปิดทางนายกฯ คนนอกเข้ามา ก็ว่าไปตามกระบวนการ อนค.ยืนยันว่าจะเป็นฝ่ายค้าน”

“ถามว่าผมเป็นเลขาธิการพรรคสีไหน เป็นส้มแล้วกัน ตามพรรค...ไม่ต้องการสลายสีเสื้อ ไม่ต้องการบอกว่าทุกคนกลับมาปรองดองกัน เลิกแล้วต่อกัน แต่จะกระตุกเตือนความคิดว่าสังคมไทยแบ่งแบบเดิมไม่ได้ เพราะทหารจะเข้ามา”