วันศุกร์, เมษายน 26, 2562

จริงหรือที่ไทยมีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก



GETTY IMAGES


จริงหรือที่ไทยมีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก


23 เมษายน 2019
บีบีซีไทย


แม้สำนักข่าวบลูมเบิร์กจะจัดอันดับดัชนีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ว่าอยู่ในอันดับประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก แต่คำอธิบายในการจัดอันดับดังกล่าวชี้ว่าเป็นเพราะการจัดทำตัวเลขอัตราว่างงานของไทยนั้นแตกต่างจากประเทศอื่น ดังนั้นจึงมีความสำคัญไม่มากเท่าพัฒนาการของสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

ข้อความดังกล่าวอยู่ในรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา อธิบายว่า "Thailand again claimed the title of the "least miserable" economy, though the government's unique way of tallying unemployment makes it less noteworthy than Switzerland's improvement to second-least and Singapore managing to stay in the bottom three."

คำอธิบายนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเห็นของนายปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ จากฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่่บอกกับบีบีซีไทย

เขาเคยตั้งคำถามถึง "นิยามของอัตราว่างงานของไทย" ในบทความที่เคยตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่า มีนัยสำคัญแฝงเร้นอยู่มากจนอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าคนไทยมีความทุกข์เรื่องงานน้อยมากนั่นเอง

โฮปเวลล์ : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโครงการที่รัฐต้องจ่าย "ค่าโง่" 1.2 หมื่นล้าน
มองสัมพันธ์ ทักษิณ-บิ๊กจ๊อด ผ่านรายงานการตรวจสอบทรัพย์สิน 3.9 พันล้านบาท
คอร์รัปชั่น : อันดับความโปร่งใสไทยปี 2018 ตกจาก 96 เป็น 99

ประยุทธ์ ปลื้มไทยรั้งอันดับ 1 ต่อเนื่อง

แม้อันดับความทุกข์ยากน้อยของไทยจะได้มาโดยที่ผู้จัดทำเห็นว่าไม่สำคัญเท่าพัฒนาการของประเทศอื่น แต่นั่นก็ยังทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพึงพอใจ และเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า

"ไทยมีค่าคะแนนความทุกข์ยากที่ระดับ 2.1 ต่ำสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2018 ขณะที่ผลสำรวจคาดการณ์ดัชนีปี 2019 ของบลูมเบิร์ก พบว่า ไทยยังคงรั้งอันดับ 1 ด้วยคะแนน 2.1 เช่นเดิม"

ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) มาจากไหน
บลูมเบิร์กอธิบายถึงการจัดทำดัชนีดังกล่าวว่าเป็นการคำนวณโดยอาศัยกรอบแนวคิดเดิมที่ว่าอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ โดยทั่วไปแล้วจะสะท้อนความรู้สึกของชาวบ้านที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ

บลูมเบิร์กแจ้งด้วยว่าคะแนนที่คำนวณได้ในปีนี้ได้จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กเอง ขณะที่ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้จะอาศัยข้อมูลจริงในการคำนวณ และแน่นอนว่าในบางครั้งคะแนนดัชนีชี้วัดที่ต่ำอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ อาจเป็นสัญญาณของความต้องการทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และอัตราว่างงานที่ต่ำเกินไปนั้นเป็นผลจากการที่แรงงานไม่กล้าหางานใหม่ เป็นต้น





อัตราว่างงานต่ำเกี่ยวอะไรกับความสุขของคนไทย

"ตัวเลขดัชนีดังกล่าวอย่างเดียว ไม่สามารถอธิบายถึงความสุขหรือทุกข์จริงของแรงงานไทยได้ " นายปุญญวิชญ์ จากฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทย เขาบอกว่ายังมีปัจจัยและนัยสำคัญอื่น ๆ ที่ยังคงแฝงอยู่ในตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำของไทย ซึ่งอยู่ที่ราว 1.1%

ก่อนหน้านี้นายปุญญวิชย์ เคยเขียนบทความตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นางธิรดา ชัยเดชอัครกุล จากกลุ่มสถิติแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเรื่องนี้ โดยทั้งสองตั้งข้อสังเกตว่า อัตราว่างงานที่ต่ำของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั้น เป็นเพียงภาพลวงตา หรือมีความหมายใดแฝงอยู่หรือไม่ และเพราะเหตุใดจึงมีเสียงบ่นจากคนจำนวนไม่น้อยว่ามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ


GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพแรงงานบางส่วนอาจไม่มีทางเลือกและต้องทนทำงานที่ไม่มั่นคง


นายปัญญวิทย์ บอกกับบีบีซีไทยด้วยว่า จากการศึกษาคำนิยามของอัตราการว่างงานไทยพบว่า แท้ที่จริงแล้วนิยามที่ทางการไทยนำมาใช้ เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ที่กำหนดไว้ว่า "ผู้ว่างงาน คือ ผู้ที่ไม่มีงานทำหรือหากมีงานทำก็ทำไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์"เพียงแต่ของไทยมีนัยสำคัญอื่นแฝงเร้นอยู่

อัตราการว่างงานต่ำ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ดี เศรษฐกรประจำ ธปท. บอกว่า หากพิจารณาในด้านโครงสร้างแล้ว แม้ว่าอัตราการว่างงานไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ ในตลาดแรงงาน เนื่องจากว่าไทยยังคงเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 3 ประการคือ
  1. แรงงานบางส่วนอาจไม่มีทางเลือกและต้องทนทำงานทั้ง ๆ ที่ไม่มั่นคง เช่น แรงงานในภาคเกษตรซึ่งมีจำนวนมากว่า 10 ล้านคน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสำคัญ อาทิ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สวัสดิการจากเงินทดแทนกรณีว่างงาน นอกจากนี้ลักษณะงานของภาคเกษตรเองไม่เอื้อต่อการทำงานในแต่ละวันได้เต็มที่ เห็นได้จากเวลาเฉลี่ยในการทำงานประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน ต่ำกว่านอกภาคเกษตรที่เฉลี่ยเกือบ 7 ชั่วโมงต่อวัน
  2. ไม่พร้อมหางานไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการทำงาน อัตราการว่างงานที่ต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังแรงงานบางส่วนเกษียณก่อนอายุกำหนด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนของคนกลุ่มนี้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะหางานหลังพยายามหางานมาแล้วระยะหนึ่ง หรือเรียกว่าถูกบั่นทอนกำลังใจในการหางาน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ถูกนับทั้งว่าเป็นกำลังแรงงานและผู้ว่างงาน ทำให้อัตราการว่างงานต่ำกว่ากรณีที่นับรวมเข้าในกำลังแรงงานและเป็นผู้ว่างงาน ในปัจจุบันแบบสำรวจของไทยไม่สามารถระบุจำนวนคนกลุ่มนี้ ต่างจากแบบสำรวจของประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ
  3. มีงานทำไม่ได้สะท้อนว่าทำงานตรงความสามารถ


tGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพแรงงานในภาคเกษตรซึ่งมีจำนวนมากว่า 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม


ต้องมีตัวชี้วัดเพิ่มเติมมาประกอบ

เมื่อพิจารณาแล้วว่า "อัตราการว่างงาน" อย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดอย่างอื่นเข้ามามีส่วนในการพิจารณาหรือไม่ นายปุญญวิทย์ กล่าวว่า ควรที่จะให้มีการวิเคราะห์และติดตามพัฒนาการตลาดแรงงานเพิ่มเติมใน 3 ด้าน คือ ความเชื่อมั่นของตลาดแรงงาน เช่น แนวโน้มการจ้างงานของภาคธุรกิจ พฤติกรรมของนายจ้างว่าต้องการแรงงานมากน้อยเพียงใด และศักยภาพที่แท้จริงของแรงงาน

นอกจากนี้ เขายังบอกอีกว่า การปรับปรุงชุดคำถามของแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อพัฒนาข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน รวมทั้งการศึกษาเชิงลึกในด้านโครงสร้างตลาดแรงงาน ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน