วันเสาร์, เมษายน 20, 2562
ศาลยุติธรรม : ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม ; ตอนที่ 1 ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย - บทความน่าอ่านของ ประเวศ ประภานุกูล (2010)
ศาลยุติธรรม : ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม ; ตอนที่ 1 ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย
October 11, 2010 at 8:35 AM
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย การเรียกร้องความยุติธรรม ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงแห่งกระบวนการยุติธรรม ตัวตนที่มี 2 มาตรฐาน เมื่อกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมย่อมหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงศาลไม่พ้น ศาลซึ่งเป็นส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรม ในอดีตการโจมตีกระบวนการยุติธรรมได้ยกเว้นศาลไว้ให้อยู่ในฐานะเป็นที่ยอมรับในความเป็นกลาง ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปัจจุบันส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด
บทความนี้มุ่งแสดงถึงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุแห่งความเป็น 2 มาตรฐาน ของ ศาล
การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องทำความรู้จักเข้าใจถึงสิ่งนั้นก่อน และการทำความเข้าใจก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาก่อนเป็นอันดับแรก ในตอนแรกนี้จึงจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของศาลไทย ศาลยุติธรรม
จากนั้นจะกล่าวถึงโครงสร้างผู้พิพากษา และเปรียบเทียบกับระบบของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาในท้ายที่สุด
ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า รัฐไทย ก่อกำเนิดขึ้นในสมัย ร.5 แห่งยุครัตนโกสินทร์ ศาลไทย ตลอดจนระบบกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ในสมัยนั้นรัฐไทย ตกอยู่ภายใต้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่มหาอำนาจตะวันตก โดยไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา-มหามิตรในปัจจุบันนี้ หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น-ประเทศในเอเชีย ก็ได้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือรัฐไทยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัย ร.4 ที่มุ่งรักษาอาณาจักรให้พ้นจากการยึดครองของมหาอำนาจตะวันตก จึงได้ยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบเช่นนี้ การจะแก้ไขยกเลิกสนธิสัญญานี้จึงต้องเริ่มจากการปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาล ให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติก่อน ซึ่งได้เริ่มต้นและเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ร.5 นี้เอง
สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ สนธิสัญญาที่ระบุให้คนของชาตินั้นไม่ต้องขึ้นศาลไทยเมื่อกระทำผิดในไทย แต่ให้ขึ้นศาลของประเทศตนแทน
ในเบื้องต้น ร.5 ได้ส่งเจ้าชายพระองค์หนึ่งไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เมื่อจบการศึกษากลับมา พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งศาลขึ้น โดยใช้ระบบกล่าวหาเช่นเดียวกับที่ใช้ในประเทศอังกฤษตามที่พระองค์ทรงศึกษามา พร้อมทั้งร่างกฎหมายต่างๆ กม.ที่สำคัญคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายลักษณะอาญา(ภายหลังถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาจนทุกวันนี้) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีแพ่ง) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(วิธีดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีอาญา ตลอดจนการสอบสวน การควบคุมผู้ต้องหา การออกหมายจับ กล่าวโดยสรุป เป็นวิธีดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจจนจบคดีที่ศาลฎีกา)
ในส่วนระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความนี้ อาจารย์ผมบางท่านเคยวิเคราะห์ว่า เป็นกม.ของระบบไต่สวน ซึ่งต้องให้อำนาจแก่ศาลในฐานะผู้ไต่สวนค้นหาความจริง แต่โดยที่บ้านเราใช้ระบบกล่าวหาซึ่งศาลต้องวางตัวเป็นกลาง ให้คู่ความ 2 ฝ่ายต่อสู้คดีกันด้วยพยานหลักฐานให้ศาลตัดสิน ทำให้กม.ให้อำนาจศาลมากเกินควร
นอกจากระบบกฎหมายที่ขัดแย้งกับระบบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้คือ ข้อหา ละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะข้อหาดูหมิ่นศาล-เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดอำนาจศาล-เป็นกม.ของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยแท้ กล่าวคือ ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดทั้ง 3 อำนาจ ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การตั้งศาลเป็นเพียงการแบ่งงานของกษัตริย์ในการตัดสินคดี ให้องค์กรที่ตั้งขึ้นทำงานแทนเท่านั้น ศาลในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็นองค์กรหนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานให้แก่กษัตริย์ ทำงานแทนกษัตริย์ ศาลจึงมีสภาพเป็นตัวแทนกษัตริย์ กษัตริย์ที่ใครผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ศาลจึงต้องทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และต้องมีบทบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาลรวมถึงห้ามดูหมิ่นศาล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
พร้อมกับการก่อตั้งศาลและระบบกฎหมายดังกล่าว พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย ขึ้นในศาล เปิดสอนกฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายป้อนให้เป็นผู้พิพากษาของศาล(ในทางกฎหมาย ได้อธิบายว่า ผู้พิพากษา ไม่ใช่ศาล แต่โดยที่ศาลเป็นองค์กรที่ทำงานโดยผู้พิพากษา ผู้พิพากษากับศาลจึงแยกจากกันไม่ออก) การสอนกฎหมายบรรยายโดยผู้พิพากษาทั้งหมด
การปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ
เมื่ออ.ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง(ปี 2495 จอมพลป.ได้เปลี่ยนชื่อธรรมศาสตร์โดยตัดคำว่า "และการเมือง" ออก) เมื่อปี 2477 การสอนกม.ได้ย้ายมาที่ธรรมศาสตร์ โรงเรียนกม.ของศาลจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เนติบัณฑิตยสภา" พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาว่า ต้องผ่านการอบรมกฎหมาย ของสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา(นอกเหนือจากการจบกม.จากมหาวิทยาลัย) ซึ่งเรียกกันว่า "จบเนติบัณฑิต" อันเป็นระบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การอบรมกฎหมายของเนติ ใช้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาที่เกษียรณ เป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ที่สำคัญหลักสูตรกม.ของเนติใช้แนวทางการตีความกม.ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา(เรียกสั้นๆว่า ฎีกา)
ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา นอกจากต้องจบเนติ(อ่านว่า "เน" หรือ "เน-ติ" ก็ได้ แต่ทั่วไปจะอ่านว่า "เน")แล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอื่นอีก คือ
1. มีอายุ 25 ปีขึ้นไป
2. มีประสบการทำงานอย่างน้อย 2 ปี ในอาชีพที่กำหนด เช่น ทนายความ อัยการ นิติกร สำหรับอาชีพทนายความ นอกจากมีอายุงาน 2 ปีแล้ว ยังได้กำหนดให้ต้องว่าความอย่างน้อย 20 คดี(เพื่อป้องกันการทำใบอนุญาตทนายความโดยไม่ได้ทำงานจริง-ส่วนนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่จะกล่าวต่อไป)
มีข้อสังเกตอีกอย่าง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นพนักงานอัยการ เป็นคุณสมบัติเดียวกับผู้มีสิทธิสมัครสอบผู้พิพากษา
จากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิสมัครสอบ ไม่จำเป็นต้องมาจากทนายความ หรืออัยการ เฉกเช่นประเทศต้นตำรับศาลที่รับมา
เมื่อสอบผ่านแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็น "ผู้ช่วยผู้พิพากษา" และต้องเข้าอบรมทั้งภาพทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การอบรมภาคทฤษฎีนี้ ไม่เคยมีการเปิดเผยกับคนนอกว่ามีการอบรมอะไรบ้าง แต่ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีการสอน "วิชาเขียนคำพิพากษา"ด้วย ส่วนการอบรมภาคปฏิบัติ จะส่งผู้ช่วยผู้พิพากษาไปฝึกงานกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะในศาลใหญ่ในกรุงเทพ คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี
หลังผ่านการอบรมทั้ง 2 ภาคดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นผู้พิพากษา จนกว่าจะได้รับการ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้ง" ก่อน เมื่อได้รับโปรดเกล้าแล้ว จะถูกส่งไปเป็นผู้พิพากษาศาลเล็กๆ คือศาลแขวง และต้องไปเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้พิพากษาจากเมืองที่ห่างไกลกรุงเทพฯ เมื่ออายุงานเพิ่มขึ้นก็จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง โดยไปประจำศาลที่ใหญ่ขึ้นอย่างศาลจังหวัด และค่อยๆขยับย้ายเข้าใกล้กรุงเทพฯมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป ผู้พิพากษาก็มีการเลื่อนตำแหน่งไม่ต่างจากข้าราชการพลเรือนทั่วไป
การจัดสอบคัดเลือกผู้พิพากษา การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา ตลอดจนการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชือ คณะกรรมการตุลาการ หรือที่เรียกย่อว่า กต. กต.ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่ยังดำรงตำแหน่งทั้งหมด ส่วนใหญ่ของกต. เป็นกต.โดยตำแหน่ง มีกต.บางส่วนที่เป็นผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา และประธานศาลฎีกาเป็นประธานกต.โดยตำแหน่ง
จากประวัติความเป็นมาของศาลและโครงสร้างของผู้พิพากษาดังกล่าว ศาลไทยเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช สัญลักษณ์ตลอดจนรูปแบบพิธีการของศาลและผู้พิพากษายังคงเดิมเฉกเช่นเมื่อเริ่มตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการ"กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" การ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้งผู้พิพากษา" หรือแม้แต่บทบัญญัติว่าด้วยการ ดูหมิ่นศาล อีกทั้งโครงสร้างของผู้พิพากษาก็เป็นโครงสร้างของข้าราชการประจำ ไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงถึงประชาชน หรือชี้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจนี้เลย ประชาชนไม่มี และไม่เคยมี ส่วนร่วมในการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้พิพากษา การสอบคัดเลือกผู้พิพากษาไม่แตกต่างอะไรกับการสอบเข้ารับราชการของข้าราชการพลเรือนอื่นๆเลย
ที่สำคัญ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา ระบบการสอบคัดเลือก ระบบการเลื่อนตำแหน่ง ล้วนแต่สร้างให้เกิดเครือข่ายที่ผู้พิพากษาระดับสูงหรือระดับบริหาร สามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาได้ รวมทั้งสร้างทัศนคติร่วมของผู้พิพากษาของศาลทั้งระบบ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป
ประเวศ ประภานุกูล
(https://www.facebook.com/notes/121036411288478/)