วันอังคาร, เมษายน 23, 2562

ข้อมูล ราชวงศ์ญี่ปุ่น ที่น่ารู้





ในอดีต สมเด็จ #พระจักรพรรดิ แห่ง #ญี่ปุ่น ไม่เพียงเป็นเทพเจ้า แต่ยังเป็นเจ้าแผ่นดิน นั่นคือ ทั่วหล้าแดนอาทิตย์อุทัยล้วนเป็นของพระองค์ แต่หลังจากพ่ายแพ้สงคราม #รัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นกำหนดให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นแทบจะไม่มี “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” รายรับรายจ่ายทั้งหมดในชีวิตล้วนมาจากงบประมาณของรัฐ แม้แต่พระราชวังต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นสมบัติของรัฐทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาตราที่ 88 บัญญัติไว้ว่า “ทรัพย์สินทั้งหมดของ #ราชวงศ์ เป็นของรัฐ ค่าใช้จ่ายสำหรับ #ราชสำนัก จะต้องมีการอภิปรายและกำหนดงบประมาณโดยรัฐสภา”

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับราชวงศ์ญี่ปุ่นแบ่ง 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ใช้กับสำนักพระราชวัง และส่วนที่ใช้กับราชสำนักโดยตรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ โดยเงินทุกเยนมาจากงบประมาณแผ่นดิน

ในที่นี่จะพิจารณาในส่วนของ ค่าใช้จ่ายราชสำนัก โดยแบ่งเป็น 3 หมวดได้แก่
1. ค่าใช้จ่ายเพื่องานราชกิจ 宮廷費
2. ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ 内廷費
3. ค่าใช้จ่ายสำหรับเชื้อพระวงศ์ 皇族費

*********************
ค่าใช้จ่ายเพื่องานราชกิจ เป็นส่วนที่มูลค่ามากที่สุด ในปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ราว 5,600 ล้านเยน เป็น “เงินหลวง” ใช้ในการจัดงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ การเสด็จฯ เยือนที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการบูรณะบำรุงพระตำหนักต่าง ๆ และรถยนต์พระที่นั่ง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเพื่องานราชกิจดูแลโดยสำนักพระราชวัง ทุกอย่างจะต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการ และต้องลงบันทึกทำบัญชีอย่างชัดแจ้ง

*********************
ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ เป็นเหมือน pocket money ที่ทรงใช้สอยได้ตามอัธยาศัย หากแต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะครอบคลุมเฉพาะ สมเด็จพระจักรพรรดิ และมกุฎราชกุมาร เท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จ่ายในจำนวนที่เกือบจะเท่ากันทุกปีมานานเกือบ 30 ปี ที่ 324 ล้านเยน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย แต่เท่าที่ทราบ จำนวนมากที่สุดถูกใช้เพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนของข้าราชบริพารในพระองค์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องฉลองพระองค์ พระกระยาหาร และของใช้ในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล และพระจักรพรรดิยังได้แบ่งเงินส่วนนี้มาบริจาคช่วยเหลือภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วย

ค่าใช้จ่ายเพื่องานราชกิจ และ ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ จะมีสำนักพระราชวังเป็นผู้แบ่งให้ชัดเจน โดยค่าใช้จ่ายเพื่องานราชกิจ ถือเป็น “เงินหลวง” ที่ให้พระจักรพรรดิใช้เพื่อปฏิบัติพระราชกรณีกิจต่างๆ เช่น หากทรงเสด็จฯ ไปเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจก็จะใช้ “เงินหลวง” แต่หาก“เป็นการท่องเที่ยวส่วนพระองค์ก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์

หรือหากทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติราชกิจก็สามารถใช้ “เงินหลวง” แต่หากเรียนดนตรีซึ่งเป็นงานอดิเรกก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายของพระโอรสและพระธิดาก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ทั้งสิ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ งานเลี้ยงวันพระราชสมภพของพระจักรพรรดิและมกุฎราชกุมารถือเป็นราชพิธี ที่ใช้ “เงินหลวง” แต่งานเลี้ยงสำหรับพระจักรพรรดินีและราชวงศ์พระองค์อื่น ถือเป็นงานส่วนพระองค์ ทั้งหมดต้องใช้ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์

*********************
ค่าใช้จ่ายสำหรับเชื้อพระวงศ์ คือค่าใช้จ่ายของสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น เพื่อธำรงพระเกียรติยศ และใช้สอยส่วนพระองค์และครอบครัว แต่ละพระองค์จะได้รับค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามสถานะ เช่น เจ้าชายอากิชิโนะทรงได้รับเงินราวปีละ 30ล้านเยน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของพระองค์และครอบครัว ส่วนพระมเหสีได้ราวครึ่งหนึ่ง คือราว 15 ล้านเยน เจ้าหญิงมาโกะและเจ้าหญิงคาโกะ พระธิดาซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เงินราว 9 ล้านเยน ส่วนเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะได้เงินราว 3 ล้านเยนต่อปี

*********************

นอกจากค่าใช้จ่ายฝ่ายใน 3 ส่วนนี้แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายของสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัย โดยรวมปีละราว 11 ล้านเยน

งบประมาณที่ใช้สำหรับราชวงศ์ญี่ปุ่นนั้น มีผู้ที่เคยคำนวณออกมาแล้ว พบว่าประชาชน 1 คน มีส่วนในการจ่ายภาษีส่วนนี้ราว 200 - 300 เยนต่อปีเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้พระจักรพรรดิจะรับทรัพย์สินจากผู้อื่นได้ปีหนึ่งไม่เกิน 6 ล้านเยน ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยมาก จึงแทบไม่มีใครหรือองค์กรใดบริจาคทรัพย์ให้กับพระจักรพรรดิ สมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลทั้งสิ้น

*********************

ราชวงศ์ญี่ปุ่นถูกจำกัดบทบาทเหลือแค่เป็น "สัญลักษณ์" ทำให้แทบไม่มีใคร "ทำมาหากิน" กับเจ้า เมื่อข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านก็จะวิจารณ์นายกฯ ไม่ใช่พระจักรพรรดิ ในรัฐสภาญี่ปุ่นมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่เคยคิดจะ "ล้มเจ้า" เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปล้ม

ชาวญี่ปุ่น "จงรัก" ต่อพระจักรพรรดิ เพราะทรงทำพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ความ "ภักดี" ก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในความไร้อำนาจก็ทำให้ไร้ผลประโยชน์เช่นกัน ราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงดำรงอยู่ได้แบบ “คนรักเท่าผืนเสื่อ คนชังเท่าผืนหนัง”.



บูรพาไม่แพ้