วันอังคาร, ตุลาคม 02, 2561

"เสียงเรียกร้องต่อคนที่หูทวนลม" ภายหลังการปฏิวัติ กลุ่มทหารที่ไม่ยอมเลิกราจะพยายามสืบทอดอำนาจอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจติดใจอำนาจรัฐและผลประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะต้องการนั่งทับของสกปรกเอาไว้ อย่าให้ใครเข้ามารื้อ (ใช่หรือไม่ ?)







"เสียงเรียกร้องต่อคนที่หูทวนลม"

ภายหลังการปฏิวัติ กลุ่มทหารที่ไม่ยอมเลิกราจะพยายามสืบทอดอำนาจอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจติดใจอำนาจรัฐและผลประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะต้องการนั่งทับของสกปรกเอาไว้ อย่าให้ใครเข้ามารื้อ หรือไม่?

แต่สำหรับรัฐบาล คสช. นั้น ผมเห็นว่ามีปัจจัยพิเศษ เพราะในช่วงที่นั่งอยู่ในตำแหน่งกว่า 4 ปีนั้น นายทุนระดับชาติพบว่าสามารถเข้าไปยุ่มย่ามได้มากกว่ารัฐบาลปฏิวัติในอดีต

รัฐบาลปฏิวัติในอดีตส่วนใหญ่จะแยกบทบาทระหว่างผู้ที่ทำปฏิวัติ กับผู้ที่บริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีจึงมีสัดส่วนนักวิชาการและมืออาชีพมากกว่า แต่ในยุค คสช. เน้นพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ไว้ใจได้ ส่วนคนนอกก็มาด้วยการสนับสนุนจากนายทุนระดับชาติ ดังนั้น นอกจากจะขาดการถ่วงดุลแล้ว ผลงานทางเศรษฐกิจจึง 'รวยกระจุก จนกระจาย' เพราะมีหลายโครงการที่ประเคนสิทธิหรือทรัพย์สินของรัฐให้แก่นายทุนระดับชาติ

และยิ่งอยู่นานกว่ารัฐบาลปฏิวัติในอดีตหลายเท่า โครงการทำนองนี้ก็ผุดขึ้น เป็นวงเงินลงทุนมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อน

พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้ปฏิวัติและดำรง 2 ตำแหน่งพร้อมกัน ที่เรียกว่า 'ชงเอง ชิมเอง' นั้น ปกติก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของสากลอยู่แล้ว แต่บัดนี้ มีการขับเคลื่อนด้านการเมืองเต็มรูปแบบ มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างขัดเจน คำวิจารณ์มีแต่จะรุนแรงมากขึ้น

ถึงแม้นักกฎหมายจะบอกว่า ไม่มีข้อห้ามรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง แต่ข้ออนุญาตดังกล่าว เป็นกรณีที่รัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งปกติ รัฐมนตรีจึงสังกัดพรรคการเมืองอัตโนมัติ และพรรครัฐบาลที่ยุบสภาและเดินหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ก็ย่อมจะได้เปรียบระดับหนึ่งจากตำแหน่งการบริหารบ้านเมืองในช่วงหาเสียงไม่มากก็น้อย แต่กรณีนี้ สังคมไทยรับได้ เพราะในระบบปัจจุบันไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

แต่รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนไม่ได้เลือกพวกเขาเข้ามา แต่อาศัยความขัดแย้งทางการเมืองฉวยยึดอำนาจ จึงมีลักษณะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ และมีความจำเป็นต้องรักษาความเป็นกลาง และการสืบทอดอำนาจ ด้วยการออกกติกาที่เอียงให้ประโยชน์แก่พวกของตน และการสวมหมวก 2 ใบ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

รัฐบาลที่มาในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างนี้ การจะอ้างว่าปฏิบัติตัวเป็นธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่าย การอ้างอย่างเดียวยังไม่พอ แต่จำเป็นต้องนำเสนอภาพที่ย้ำประเด็นนี้อย่างชัดเจนด้วย ภาษาอังกฤษเรียกว่า 'not only to be fair, but also to be seen to be fair'

และคำวิจารณ์นี้ จะต้องครอบคลุมถึงตัวพลเอกประยุทธ์เองด้วย เพราะท่านประกาศจุดมุ่งหมายทางการเมืองชัดแจ้งแล้ว และใครก็มองออกว่า บุคคลที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐขณะนี้นั้น ไม่มีฐานะที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลได้เลย และการตั้งบุคคลนี้ให้เป็นหัวหน้าพรรคที่จะเป็นแคนดิเดทสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นเพียงฉากกำบังพลเอกประยุทธ์เท่านั้น

และการที่พลเอกประยุทธ์ยังเลือกที่จะใช้ฉากกำบัง ย่อมแสดงจุดประสงค์เป้าหมายที่จะอาศัยอำนาจรัฐเพื่อเอาเปรียบคู่ต่อสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย!

ส่วนบรรดานายทุนระดับชาติที่พบว่ารัฐบาลนี้นักธุรกิจสามารถเข้าไปกุมบังเหียนทางเศรษฐกิจได้ง่ายดายที่สุด จึงให้ความหวัง ให้การสนับสนุน เพื่อจรรโลงทีมงานตุ๊กตามือให้อยู่ต่อไปนานที่สุดนั้น ถึงเวลาที่ควรต้องตระหนักว่า คุณกำลังสร้างความตึงเครียดทางการเมืองโดยตรง เพราะวันหนึ่งนักธุรกิจขนาดเล็กกว่าก็จะไม่เอาระบบที่พวกคุณอาศัยอำนาจรัฐและข้าราชการเลวสรรสร้างความได้เปรียบหยิบชิ้นปลามัน โดยไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

ส่วนพลเอกประยุทธ์ที่วันนี้อาจจะลืมตัว ตีนลอย หัวใจโป่งพอง มองเห็นความฝันที่ตัวเองจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประวัติศาสตร์จะต้องยกย่องชมเชย นั้น ก็ควรจะให้ทีมงานวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบคอบเสียก่อน โดยเฉพาะดูผลการลงคะแนนโหวตของสำนักข่าว ทีนิวส์ เอาไว้บ้าง

วันที่ 1 ตุลาคม 2561
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)


Thirachai Phuvanatnaranubala