วันเสาร์, ตุลาคม 20, 2561

บทความสุดท้าย จากนักข่าวซาอุฯผู้ถูกฆ่าหั่นทั้งเป็น เพียงเพราะสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น





บทความสุดท้าย จากนักข่าวซาอุฯผู้ถูกฆ่าหั่นทั้งเป็น เพียงเพราะสู้เพื่อเสรีภาพ


19 ตุลาคม 2561
ข่าวสดออนไลน์


บทความสุดท้าย – วอชิงตันโพสต์ สื่อยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความ Jamal Khashoggi : What the Arab world needs most is free expression การแสดงออกอย่างเสรีคือสิ่งที่โลกอาหรับต้องการมากที่สุด เขียนโดย จามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระชาวซาอุดีอาระเบียและคอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ ก่อนหายตัวไปอย่างสะท้านโลก ตั้งแต่เดินเข้าไปยังอาคารสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี และไม่กลับออกมาอีกเลย

เจ้าหน้าที่ตุรกีเปิดเผยว่า จากเทปบันทึกที่ได้จากนาฬิกาแอปเปิลวอตช์ที่นายคาช็อกกีใส่เข้าไปด้วย ยืนยันว่านักข่าวรายนี้ได้ถูกสังหารและหั่นทั้งเป็นอย่างน่าสะเทือนขวัญ วอชิงตันโพสต์เผยแพร่บทความนี้ทั้งในเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เข้าใจว่า เสรีภาพที่นายคาช็อกกีเรียกร้องนั้น เป็นสิ่งที่นักข่าวรายนี้ต้องเอาชีวิตเข้าแลก

นี่คือเนื้อความที่นายคาช็อกกีเขียนไว้

**************

ผมเพิ่งดูรายงานการจัดอันดับเสรีภาพโลกปี 2561 โดยฟรีดอมเฮาส์ และได้รู้ความจริงที่น่าสลดใจว่ามีเพียงประเทศตูนิเซียประเทศเดียวในโลกอาหรับที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีเสรีภาพ ส่วนจอร์แดน โมร็อกโก คูเวต มาเป็นลำดับสอง เป็นประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วน ส่วนที่เหลืออยู่ในสถานะไม่มีเสรีภาพ

ผลจากการไม่มีเสรีภาพ ชาวอาหรับที่อาศัยในประเทศเหล่านี้จึงไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารหรือได้รับแต่ข้อมูลผิดๆ ทำให้ไม่อาจจะเข้าใจอะไรได้เพียงพอ ยิ่งการถกเถียงในสาธารณะยิ่งแล้วใหญ่ เกิดขึ้นน้อยมากในสาระเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาหรับและชีวิตประจำวันของพวกเขา

สื่อของรัฐครอบงำจิตใจประชาชน แม้มีจำนวนมากไม่เชื่อสิ่งที่รัฐนำเสนอ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลเท็จ เป็นเรื่องน่าเศร้า ว่าสถานการณ์นี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนได้เลย

โลกอาหรับเคยเริ่มมีความหวังระหว่างช่วงอาหรับสปริง ปรากฏการณ์ลุกฮือต่อสู้เผด็จการในปี 2554 นักวิชาการและประชาชนทั่วไปเริ่มมีความคาดหวังเต็มเปี่ยมถึงสังคมอาหรับที่สดใสสว่างไสวและเสรี ว่าจะเกิดขึ้นภายในประเทศที่เคารพของพวกเขา ชาวอาหรับคาดหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยจากการครองความเป็นเจ้าชีวิตของรัฐบาลตนเอง รวมถึงการเซนเซอร์ การแทรกแซงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

แต่ความคาดหวังดังกล่าวแตกเป็นเสี่ยงๆ อย่างรวดเร็ว สภาวะสังคมเหล่านี้กลับไปอยู่ตามสถานะเดิมก่อนอาหรับสปริง ไม่ก็เผชิญกับสภาวะที่รุนแรงมากกว่าที่เคยเป็น

เพื่อนที่รักของผม นายซาเลห์ อัล-เชชี นักเขียนชาวซาอุดีอาระเบียผู้เป็นที่รู้จัก ซึ่งเขียนบทความเลื่องลือที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่มีการเผยแพร่ในสื่อซาอุดีอาระเบีย ขณะนี้อยู่ในเรือนจำ รับโทษจำคุก 5 ปี ในความผิดเสนอความเห็นที่ตรงข้ามกับรากฐานของซาอุดีอาระเบีย





ส่วนการที่รัฐบาลอียิปต์ยึดแท่นพิมพ์ทั้งหมดของหนังสือพิมพ์อัล-มาสรี อัล โยอัม ไม่ได้ทำให้เพื่อนร่วมอาชีพเดือดดาลหรือยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยา การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาคมโลกอีกต่อไป อาจทำให้มีเสียงประณามอย่างรวดเร็ว แต่ก็ตามมาด้วยความเงียบงัน

ผลลัพธ์จากการให้รัฐบาลอาหรับปกครองตามใจชอบ จึงปิดปากสื่อต่อไปในระดับที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เคยมีช่วงเวลาที่นักข่าวเชื่อว่า อินเตอร์เน็ตจะช่วยปลดปล่อยให้ข้อมูลข่าวสารเสรี ปลดปล่อยจากการเซนเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกควบคุม แต่รัฐบาลเหล่านี้กลับควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างมากเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด จึงบล็อกอินเทอร์เน็ตอย่างเด็ดขาด รวมถึงจับกุมนักข่าวท้องถิ่นและกดดันให้ผู้โฆษณาทำให้รายได้จากการเผยแพร่จำหน่ายในสื่อสิ่งพิมพ์ตกอยู่ในภาวะอันตราย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังพอมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ท่ามกลางทะเลทรายแห้งแล้งอยู่บ้าง เพื่อสานต่อพลังของอาหรับสปริง อย่างรัฐบาลกาตาร์ยังคงสนับสนุนการรายงานข่าวระหว่างประเทศ ตรงข้ามกับชาติเพื่อนบ้านที่สนับสนุนค้ำจุนการควบคุมข่าวสารเพื่อส่งเสริมค้ำยัน “ระเบียบอาหรับเก่า”



อาหรับสปริงที่เยเมน มิ.ย.2554 (AP Photo/Hani Mohammed)


แม้กระทั่งในประเทศตูนิเซียและคูเวต ซึ่งได้รับการจัดอันดับว่ามี “เสรีบางส่วน” สื่อมวลชนเน้นรายงานข่าวที่ปัญหาภายในประเทศแต่ไม่ใช่ประเด็นที่โลกอาหรับในระดับที่ใหญ่กว่าเผชิญอยู่ พวกเขาลังเลที่จะให้ช่องทางสื่อสารแก่นักข่าวจากซาอุดีอาระเบีย อียิปต์และเยเมน

แม้กระทั่งในประเทศเลบานอน ที่เป็นเพชรยอดมงกุฎของโลกอาหรับในเรื่องเสรีภาพสื่อ ยังตกเป็นเหยื่อของการทำให้แตกแยกแบ่งเป็นสองขั้วและอิทธิพลของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ถือข้างอิหร่าน

โลกอาหรับกำลังเผชิญม่านเหล็กในเวอร์ชั่นของตนเอง ไม่เพียงเกิดจากตัวแสดงนอกภูมิภาคแต่ผ่านแรงที่แย่งชิงกันภายในภูมิภาคในโลกอาหรับเองด้วย

ช่วงสงครามเย็น สื่อเรดิโอฟรียุโรป มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นและทำให้ความหวังแห่งเสรีภาพยั่งยืน ชาวอาหรับต้องการสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ ส่วนปีพ.ศ. 2510 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์และวอชิงตันโพสต์เข้าเป็นเจ้าของร่วมกันในหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัล ทริบูน ซึ่งกลายเป็นช่องทางแสดงปากเสียงจากทั่วโลก

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ของผม เริ่มแปลงานหลายชิ้นและพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอารบิก ผมรู้สึกขอบคุณ ชาวอาหรับต้องการอ่านงานในภาษาตนเองเพื่อจะได้เข้าใจและถกเถียงถึงมุมมองที่หลากหลายและความซับซ้อนของประชาธิปไตยในประเทศสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก และหากชาวอียิปต์อ่านบทความที่เผยถึงต้นทุนจริงในการก่อสร้างโครงการในสหรัฐ จากนั้นชายหรือหญิงคนนั้นจะสามารถเข้าใจการทำโครงการที่คล้ายคลึงกันนี้ในประเทศของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

โลกอาหรับต้องการสื่อต่างชาติเวอร์ชั่นสมัยใหม่ที่มีดังเช่นในยุคเก่า เพื่อให้พลเมืองอาหรับได้รับแจ้งเหตุการณ์โลก ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเราต้องการช่องทางแสดงเสียงชาวอาหรับ ว่าเราทุกข์จากความยากจน การบริหารจัดการที่ผิดพลาดและการศึกษาที่ย่ำแย่ ผ่านการสร้างพื้นที่ระดับนานาชาติที่เป็นอิสระ ประชาชนธรรมดาในโลกอาหรับจึงจะกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สังคมตนเองเผชิญอยู่ได้

………………..



ธงซาอุดีอาระเบียเหนืออาคารสถานกงสุลที่เชื่อว่าเป็นแดนสังหารนายคาช็อกกี (AP Photo/Petros Giannakouris)

……………………

หมายเหตุ : บันทึกจากบรรณาธิการในส่วนเซ็กชั่นความเห็นระดับโลกวอชิงตันโพสต์ คาเรน แอตเทียห์ เขียนว่า “ดิฉันได้รับคอลัมน์นี้จากล่ามและผู้ช่วยของนายจามาล คาช็อกกี ในวันหลังจากมีรายงานว่านายคาช็อกกีหายตัวไปในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นเหตุให้ทางวอชิงตันโพสต์ได้ชะลอการพิมพ์เผยแพร่ไว้ก่อน เพราะเราหวังว่าจามาลจะกลับมาหาพวกเราเพื่อที่เขาและดิฉันจะเรียบเรียงต้นฉบับด้วยกัน

จนถึงขณะนี้ดิฉันคงต้องยอมรับว่า สิ่งดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น ผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นสุดท้ายของเขาที่ดิฉันจะแก้ไขเพื่อลงในวอชิงตันโพสต์

คอลัมน์นี้เป็นตัวแทนความมุ่งมั่นและแสวงหาถึงเสรีภาพในโลกอาหรับของเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เสรีภาพที่เห็นได้ชัดว่าเขาอุทิศชีวิตเพื่อให้ได้มา ดิฉันจะรู้สึกซาบซึ้งไปตลอดกาลที่เขาเลือกวอชิงตันโพสต์เป็นบ้านแห่งสุดท้ายในงานข่าวของเขาเมื่อหนึ่งปีล่วงมาแล้วและให้โอกาสเราได้ทำงานร่วมกัน”

…………………..

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตุรกีเร่งค้นป่าหาศพนักข่าวซาอุฯ – ‘ทรัมป์’เพิ่งเชื่อว่าน่าจะตายแล้ว
สหรัฐเตือนเจ้าชายซาอุฯ อนาคตราชบัลลังก์สั่นแน่-ถ้าตอบไม่เคลียร์เรื่องนักข่าวหาย
ถูกหั่นศพไปแล้ว! ตุรกีชี้เจอหลักฐานคดีนักข่าวหายในสถานกงสุลซาอุฯ
เจาะปมทรัมป์เสียงอ่อนลงกับซาอุฯ คดีนักข่าวหาย – ดีลอาวุธ3.5ล้านล้าน

ooo