ก่อนที่ #ประเทศกูมี ทั้งเอ็มวีและบทกวี 8 บาร์ จะถูกไฮไลท์จากประชาชนชาวไทยและฝ่ายความมั่นคง อะไรคือวิธีคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพของศิลปินที่ลุกขึ้นยืนยันสิ่งที่คิดที่เชื่อ
.
101 เคยสัมภาษณ์ Liberate P หนึ่งในแร็ปเปอร์กลุ่ม Rap Against Dictatorship ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในวาระ 4 ปี คสช. พอดี จึงอยากชวนประชาชนชาวไทยทำความเข้าใจท่าทีและน้ำเสียงของแร็ปเปอร์หนุ่มอีกครั้ง ในวันเวลาที่อารมณ์สังคมไทยเร่าร้อนไปกับ #ประเทศกูมี
.
.
แม้จะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และพฤษภาฯ 35 ก็ยังนับว่าเด็กมาก แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 49 กลับทำให้เขาย้อนศึกษาทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างลงลึก และยิ่งส่วนตัวชื่นชอบเพลงแร็ปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีการสลายการชุมนุม 53 กระทั่งมามีรัฐประหาร 57 แรงอัดอั้นที่เขาระบายออกมาก็สะท้อนวิธีคิดทางการเมืองไว้อย่างแหลมคม ทั้งในชื่อตัวตนและเนื้อเพลง
.
Liberate P หรือ Liberate The People เป็นชื่อและวงของเขาในวงการเพลงแร็ปใต้ดิน ที่ค่อยๆ สะสมหลักไมล์ความสามารถผ่านเวที Rap is Now จนมีลายเซ็นเป็นของตัวเองชัดเจนจากเพลงที่เจ้าตัวแต่งและเผยแพร่ผ่านยูทูบให้ทั้งคอเพลงและคนทั่วไปได้ขมวดคิ้วตีความ
.
แสงไฟไซเรนกระพริบชีวิตยังสู้ด้วยสองมือ
เป้ามันเล็งที่หัวในขณะที่พื้นยังมีสมองมึง
นี่เหรอไอ้ที่เรียกว่าจัดระเบียบเพื่อสนองมึงอ่ะ
ไมต้องขีดเส้นบ้าๆ บอกว่านี่คือโลกกูและนั่นคือโลกของมึงวะ
ความเชื่อเมื่อเป็นอาวุธมนุษย์ฆ่าเป็นผักปลา
เมื่อรักมักเป็นคลั่งเหตุผลงั่งๆ ที่โง่ และดักดาน
การกระด้างกระเดื่องนั่นคือเรื่องถูกต้องแล้วนาย
ได้แค่ฝัน และเฟื่องเพราะถ้ามึงไม่เชื่องมึงก็ต้องตายอ่ะ
.
เนื้อเพลงส่วนหนึ่งของเพลง OC(T)YGEN ที่พูดถึงเหตุการณ์ฆ่าหมู่ประชาชน 6 ตุลาฯ 19 เขาโพสต์เพลงนี้ลงยูทูบเมื่อเดือนธันวาคม 2558 และอาจเป็นเพลงแร็ปเพลงเดียวในประเทศไทยที่พูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น
ต่อมาเดือนมิถุนายน 2560 ระหว่างที่สังคมไทยยังไม่มีการเลือกตั้ง Liberate P แต่งเพลง WONDERLAND โพสต์ลงยูทูบอีกเพลง จนบางคอมเมนต์บอกว่าเดือดถึงกระดูกจริงๆ และอีกไม่น้อยก็มองกระทบชิ่งไปได้อีกหลายประเทศที่เป็นเผด็จการ นี่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงนั้น
.
เพราะว่าพวกกูมีปืนเหนือรัฐธรรมนูญ
ทำรัฐประหารพวกกูมีอำนาจกว่าศาล
ถ้ากูสั่งมึงต้องทำ มึงต้องเจ็บมึงต้องจำ
ถ้ามึงเห่ามึงต้องพัง มึงต้องเข็ดต้องระวัง
ถ้ามึงอยากสู้กูก็คงจะจับแม่มึง
เพราะกูมีโซ่แส้เล็งแค่แม่มึงต้องแย่แน่
.
ความแหลมคมของถ้อยคำและท่วงทำนองของ Liberate P ยังทำให้แม้แต่ ‘กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่’ แร็ปเปอร์ชื่อดังเคยกล่าวถึงเขาในนิตยสาร Billboard Thailand หัวข้อ 10 ศิลปินแร็ป อันเดอร์กราวนด์ ที่อยากแนะนำให้ฟังในทรรศนะของข้าพเจ้า ว่า “Liberate P จัดเป็นอัจฉริยะด้านการปล่อยไรม์ (rhyme) ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่าที่ควรจะเป็น Liberate P คือแร็ปเปอร์หนึ่งในสมาชิกวง 6ick Town ที่โดดเด่นจากไรม์วิพากษ์การเมืองและสังคมอย่างรุนแรง และตรงไปตรงมา
.
แต่นั่นยังไม่เท่ากับถ้อยคำคล้องจองที่อุดมไปด้วยภาษากวีและมากด้วยน้ำหนักของความรู้ ทุกถ้อยคำที่เปล่งเสียงของเขาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่คั้นเลือดแร็ปและเค้นสมองร้อง สไตล์ของ Liberate P นั้นจัดว่าเป็นยอดฝีมือของยุคนี้ น่าเสียดายที่การผลิตงานของเขานั้นออกมาน้อยกว่าที่ควร แต่ลองคลิกฟังเพลงอย่าง OC(T)YGEN ดูจะเข้าใจว่าหมอนี่มันแสบชะมัด”
.
ทั้งหมดทั้งปวง อะไรคือความคิดที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงเหล่านี้ ทำไมเพลงแร็ปต้องพูดเรื่องการเมือง และความท้าทายของคนทำเพลงแนวการเมืองในยุคสมัยที่สังคมไทยมีปืนใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร Liberate P วางไมค์ชั่วคราว และอธิบายกับ 101 ถึงคำถามเหล่านี้
.
“รัฐประหาร 49 ผมงงว่าทำไมแทบไม่มีคนต้านรัฐประหารเลย มันเกิดไรขึ้นวะ ทำไมคนที่เคยแอนตี้ทหาร กลายเป็นว่ามาเชียร์เลย มันเกิดอะไรขึ้น แล้วผมก็ตามอ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างหนักตั้งแต่ตอนนั้น จนรู้สึกว่าประเทศนี้มันถูกอำพรางปัญหาไว้ พอเหตุการณ์ทางการเมืองมันต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากที่ผมเคยชอบทักษิณ ชอบพรรคเพื่อไทย ผมหลุดจากคนพวกนี้ได้หมดเลย อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งทำให้ผมตั้งชื่อตัวเองว่า Liberate P”
.
ช่วงที่เขาเริ่มแต่งเพลงแร็ปใหม่ๆ เขาเล่าว่า ยังใช้สไตล์แร็ปทั่วไปที่นิยมกัน “ประมาณว่ากูเป็นอย่างนั้น มึงเป็นอย่างนี้ กูเจ๋ง มึงกระจอก” ต่อมาเขาได้ดูหนังเรื่อง Straight Outta Compton เกี่ยวกับวงแร็ปอเมริกันชื่อ N.W.A. เป็นวงที่วิพากษ์สังคม ด่าตำรวจ ด่าคนขาวที่เหยียดสีผิว ทำให้เกิดคำถามต่อว่าพวกนี้เป็นศิลปินหรือเป็นอันธพาล เพราะเกิดการจลาจลขึ้นมา แปลว่าเพลงมันมีอิทธิพลต่อความคิดคน
.
“เมื่อก่อนผมจะมีปัญหากับพวกเพลงรัก หรือเพลงกระแสทั่วไป แต่ตอนนี้ผมเฉยๆ ใครจะทำแนวไหนก็ทำไปเถอะ แต่ผมจะมีปัญหากับเพลงที่พยายามจะเป็นการเมือง แต่ยังติดวาทกรรมความดีความเลว ด่านักนักการเมืองทั่วไป ด่าพระเลว ผมมองว่ามันไม่ได้ไปไหน ยังอยู่กับเปลือกของการเมือง”
.
Liberate P มองว่าเพลงมีอิทธิพลกับสังคมมาก เพราะนอกจากเนื้อหา มันสามารถปลุกเร้าด้วยอารมณ์ได้ โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาทางสังคมการเมือง แต่ถ้าคนทำเพลงติดอยู่แค่เปลือก อาจจะกลายเป็นคนหลงยุคได้ และเพลงที่เปิดให้คนตีความตามยุคสมัยและไปถึงเพดานแห่งความกลัวได้ จะมีอิมแพคกว่า โดยเฉพาะการแร็ป ซึ่งต่างจากเพลงทั่วไปที่เน้นเนื้อหาที่สั้นและซ้ำ แต่แร็ปคือการพูดรวดเดียวไปเลย
.
“แร็ปเปอร์ในไทยตอนนี้มีเป็นพันคน ถ้านับจากทั้งเวที Rap is Now หรือล่าสุดอย่าง The Rapper และ Show Me The Money แต่พันกว่าคนนี้มีที่โฟกัสเรื่องการเมืองจริงๆ ไม่เกินสิบคน สัญชาตญาณของคนทำเพลงแร็ปมันต้องขบถหน่อย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะขบถแบบไหน เพลงมันจะฟ้องว่าเป็นการเอาแต่ก่นด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผ่านมาแร็ปไม่เคยเป็นกระแสหลักอยู่แล้ว คนที่มาแร็ปโดยพื้นฐานมักมีมุมมองต่อต้านกระแสหลักพอสมควร”
.
เมื่อสายตาโฟกัสไปที่โครงสร้างสังคมไทย แล้วอะไรคือความท้าทายของแร็ปเปอร์อย่าง Liberate P ที่จะขับเคลื่อนเพลงแร็ปเข้าสู่สาธารณะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง
.
เขาอธิบายว่าตอนนี้กำลังทำโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship ร่วมกับเพื่อนๆ เป้าหมายของโปรเจ็กต์นี้นอกจากวิพากษ์ระบบเผด็จการโดยตรง ยังต้องการให้คนทั่วไปมองแร็ปแบบที่ไม่ใช่ความบันเทิงอย่างเดียว
.
เพราะในความบันเทิงมีการต่อสู้แฝงอยู่ เช่น ศิลปินระดับโลกอย่าง Lady Gaga ที่เขาโพสต์ไว้ในเพจ Rap Against Dictatorship ว่า นอกจากภาพจำของเธอในฐานะ Mother Monster ศิลปินผู้สุดโต่งทางด้านแฟชั่น และด้านการแสดงสุดเหวี่ยงชนิดที่ไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวังเลยแม้แต่โชว์เดียว
.
และอย่างที่รู้กัน Lady Gaga คือหนึ่งในศิลปินที่เป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน LGBTQ หรือกลุ่มเพศทางเลือก ยกตัวอย่างเช่นเพลง Poker Face ที่เธอเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เพลงนี้พูดแทนผู้หญิงคนหนึ่งที่เราไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของเธอ และในการสัมภาษณ์นั้นเธอได้ออกมาประกาศถึงการเป็น bisexual ของเธอด้วย รวมไปถึงการก่อตั้งมูลนิธิ Born This Way ตามชื่อเพลงของเธอที่สื่อถึงสิทธิการเลือกและพอใจในเพศสภาพของตัวเอง มูลนิธิของเธอได้ช่วยกลุ่มเด็ก LGBTQ ที่ถูกกลั่นแกล้ง เพียงเพราะเพศสภาพของเด็กๆ เหล่านั้น
.
“ผมไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องพูดเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่อยากบอกกับคนที่คิดว่าไม่ควรพูดเรื่องการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะคนทำงานศิลปะ ที่พยายามจะตัดเรื่องการเมืองออกไป ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้มันไม่จริง”
.
แร็ปเปอร์หนุ่มอธิบายอีกว่า แนวเพลงแร็ปหรือฮิปฮอปมันเป็นแนวเพลงที่ตรงไปตรงมา เป็นคำพูดทั่วไปในชีวิตประจำวัน ใครก็สามารถหยิบไมค์ขึ้นมาร้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมาก เราอยากสร้างพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถแสดงผ่านเพลงได้ ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางการเมืองหรืออุดมการณ์แบบไหน ถ้าเห็นประเทศนี้มีปัญหาและอยากตะโกนออกมา Rap Against Dictatorship จะเป็นพื้นที่เปิดให้สำหรับทุกคน
.
“ถามว่ากลัวไหมที่ทำเพลงวิจารณ์การเมือง ตอบตรงๆ ว่ากลัว ทุกวันนี้ก็ยังกลัว ตอนที่โพสต์เพลง OC(T)YGEN ลงยูทูบ เวลาได้ยินเสียงไซเรนแล้วจะแอบหลอน คิดว่าตำรวจมาหา แต่วันนี้ผมว่าคิดถ้าวงการแร็ปยกระดับในการช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์การเมืองกันมากขึ้น ผมก็คงไม่กลัว”
.
โจทย์ที่ท้าทายของ Liberate P คือทำอย่างไรให้คนชั้นกลางที่ยังเกลียดและกลัวนักการเมืองมาเปิดอกมาคุยกันได้ ทำอย่างไรให้คนที่เห็นความเลวร้ายของทหารแต่ไม่กล้าแสดงออก ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ช่วยกันพูดว่าทางออกแรกคือต้องมีการเลือกตั้ง ถ้ามีเวทีหรือพื้นที่ของฝ่ายแอนตี้ประชาธิปไตย แต่พยายามจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เขาก็พร้อมที่จะไปร่วมโดยไม่ลังเล
.
“ผมคิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่น้อยแอนตี้คนชั้นกลางอนุรักษนิยมมากเกินไป จนเราไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรที่สามารถสร้างฉันทมติกันได้ เลยหาข้อยุติกับเขาไม่ได้สักที ผมว่าโจทย์แบบนี้สำคัญกว่าการเอาแต่ด่าที่ได้แค่สะใจ” Liberate P ย้ำโจทย์ของตัวเองและยังแร็ปเพลงใหม่ล่าสุดของโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship ชื่อเพลง “ประเทศกูมี” ให้ฟังคร่าวๆ
.
ประเทศที่ไร้คอร์รัปชันที่ไม่มีการตรวจสอบ
ประเทศที่นาฬิการัฐมนตรีเป็นของศพ
ประเทศที่สภาฯ เป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ
ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ
ประเทศที่ศิลปินวางท่าเป็นขบถ
ประเทศที่ขบถเจออำนาจรัฐแล้วหัวหด
ประเทศที่ขบถเดินตามรัฐเป็นฝูงมด
.
#ประเทศกูมี #ประเทศกูมี
.
อ่านเรื่อง "เมื่อศิลปินไทยยืนตรงข้ามเผด็จการ" ทั้งหมดต่อที่https://www.the101.world/artist-against-dictatorship/
.
ภาพ : ธิติ มีแต้ม
ที่มา FB