วันเสาร์, ตุลาคม 27, 2561

7 เรื่องจริง ที่ประเทศกูมี





7 เรื่องจริง ที่ประเทศกูมี
.
วันนี้ (26 ตุลาคม 2561) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการเผยแพร่เพลง "ประเทศกูมี" ทางเว็บไซต์ยูทูปว่า ได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พิจารณาเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายขัดคำสั่งคสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปจะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่า มีเจตนาทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่
.
ต่อมา พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวว่า มิวสิควิดีโอ “ประเทศกูมี” น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วยเช่นกัน
.
เพลง “ประเทศกูมี” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูปตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2561 โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2561 เวลา 11.00 น. มีผู้เข้าชมประมาณ 800,000 ครั้ง และเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2,000,000 ครั้งในเวลา 19.00 น. ของวันเดียวกัน เนื้อหา “ประเทศกูมี” ว่าด้วยการนำข้อเท็จจริงของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง โดยขับร้องออกมาในสไตล์ Rap กล่าวได้ว่าเพลง “ประเทศกูมี” นั้นเปิดบาดแผลของสังคมไทยที่พยายามซุกซ่อนมานานกว่าสี่ปี ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกขั้วทางการเมือง การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเสียดสีผู้มีอำนาจ นอกจากนี้บรรยากาศในมิวสิควิดีโอยังปรากฏภาพคล้ายเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 อีกด้วย
.
แม้เนื้อหาเพลงไม่ได้กล่าวถึงคสช.หรือระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บางเนื้อความก็เป็นข้อเท็จจริงที่มีการถกเถียงในสังคมและสร้างความหวั่นไหวต่อคสช.มาตลอด





1) ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ rifle
.
เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จับกุมเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และพวก พร้อมซากเสือดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมามีการเผยแพร่เสียงระหว่างการจับกุมในลักษณะต่อรองการจับกุม และท่าทีพินอบพิเทาของเจ้าหน้าที่รัฐในชุดสีกากี ที่มีต่อเปรมชัยก็ทำให้เรื่องราวของเสือดำตกอยู่ภายใต้กระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากประชาชน ขณะเดียวกันความไม่พอใจในเรื่องดังกล่าว นำไปสู่การแสดงออกของประชาชนอย่างการเรียกร้องที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561
.
โดยกลุ่มทีชาล่าจัดกิจกรรม “รวมพลคนพันธุ์เสือดำ” ที่หอศิลป์ฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “เสือดำ” ที่ถูกล่าสังหารในทุ่งใหญ่นเรศวร ภายในงานยังจำลองเหตุการณ์การสังหารเสือดำและแจกหน้ากากเสือดำให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณสิบนายคอยสังเกตการณ์ ผู้จัดงานระบุว่า "งานดังกล่าวสามารถจัดได้เนื่องจากเป็นการใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ ซึ่งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ขอให้พูดในเรื่องเสือดำเท่านั้น ไม่เลยเถิดไปวิพากษ์วิจารณ์คสช."





2) ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ
.
เดือนธันวาคม 2561 เพจ CSI LA เผยแพร่ภาพนาฬิกาข้อมือของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งสิ้น จำนวน 25 เรือน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนาฬิกาแบรนด์หรูราคาระหว่าง 400,000-3,600,00 บาท แต่ทรัพย์สินดังกล่าวกลับไม่ปรากฎในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้รายงานไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในตอนที่เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2557
.
ช่วงเวลานั้น ชายเจ้าของเพจ Headache Stencil ที่ก่อนหน้าเขาจะ โพสต์ภาพกราฟิตีหรือสติกเกอร์ตามที่สาธารณะต่างๆ แต่ละภาพมีเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. และความไม่ชอบธรรมบางอย่างในสังคมไทย ครั้งนี้เขาก็ไม่พลาดที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนาฬิกา เขาพ่นกราฟิตีนาฬิกาปลุกหน้าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สะพานลอยย่านซอยสุขุมวิท 39 เป็นเหตุให้เขาถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอด 24 ชั่วโมง จนต้องหลบออกจากที่พักไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดอื่นชั่วคราว หลังจากนั้น ภาพดังกล่าวก็ถูกลบออกโดยใช้สีขาวทากลบทับ ท้ายที่สุด เขาและเพื่อนเข้าพบตำรวจสน.พระโขนง และยินยอมเสียค่าปรับจำนวน 3,000 บาทจากการพ่นกราฟิตีในที่สาธารณะ
.
วันที่ 3 มกราคม 2561 เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่าสิบนายควบคุมตัวเขาไปไว้ที่อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน กพ. และให้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2561 เอกชัยเดินทางมามอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร อีกครั้งระหว่างที่รอมีชายรายหนึ่งเข้ามาจะทำร้ายเอกชัย แต่ก็ห้ามปรามได้ทัน จากการตรวจสอบพบว่า ชายคนดังกล่าวพกพามีดพับใส่กระเป๋ามาด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เอกชัยเคยมารอพบพล.อ.ประวิตรหลายครั้ง
.
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ธัชพงศ์ และพวกรวมสี่คน นักกิจกรรมจากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ร่วมกันทำกิจกรรมตามใจป้อม ใส่หน้ากากเป็นรูปเคนท์ เจิ้ง นักแสดงชาวฮ่องกงที่มีใบหน้าคล้ายกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อมาถูกตำรวจจับกุมและกล่าวหาว่า ละเมิดมาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก่อนที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561ที่สกายวอล์กบีทีเอส ช่องนนทรีย์ ธัชพงศ์ แสดงละครใบ้คัดค้านการคอร์รัปชัน แต่ยังไม่ทันได้เริ่มตำรวจก็ควบคุมตัวเขาไปที่สน.ยานนาวา อ้างว่า การกระทำของเขาอาจเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหา





3) ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ
.
ปัจจุบันประเทศไทยมี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “สนช.” คอยทำหน้าที่ออกกฎหมาย และคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สมาชิก สนช. มีจำนวน 266 คน ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกทั้งหมดทหารมีสัดส่วนมากที่สุดคือ 142 คน คิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งสภา
.
ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 26 ตุลาคม 2561 สนช. ออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 300 ฉบับ แต่ละฉบับได้รับความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ เช่น พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือนทหาร ศาลและองค์กรอิสระ ฯลฯ และมีกฎหมายอย่างน้อย 19 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณสามฉบับ ซึ่ง สนช. ใช้เวลาพิจารณาอย่างรวดเร็วเพียงแค่วันเดียวเสร็จ นอกจากนี้ สนช. ยังมีอำนาจเห็นชอบบุคคลให้เป็นองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
.
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ยังปรากฎข่าวฉาวของสภาแห่งนี้ว่ามีสมาชิก สนช. อย่างน้อยเจ็ดคน ขาดการลงมติในที่ประชุมสภาเกินกำหนดซึ่งจะต้องถูกให้ออกจากตำแหน่ง แต่สุดท้ายสมาชิก สนช. ทั้งเจ็ดคน ก็ยังสามารถนั่งในสภาต่อไปได้จนถึงทุกวันนี้





4) ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ
.
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหมายสูงสุดของประเทศ การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ก็ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในยุค คสช. การร่างรัฐธรรมนูญคืออุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมาก ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 คือกฎหมายสูงสุดที่ คสช. ทิ้งไว้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ
.
กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ต้องใช้เวลาถึงสามปี ช่วงแรก คสช. ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณหนึ่งปีกว่า ด้วยการแต่งตั้งคน 35 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งคน 250 คน เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สปช. ที่ถูก คสช. แต่งตั้งมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเริ่มร่างกันใหม่
.
ช่วงที่สองของการร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ตั้ง 21 คน เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้ง 220 คน เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนับไปออกเสียงประชามติและผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ แม้การออกเสียงประชามติครั้งนี้จะถูกกังขาถึงความไม่บริสุทธิ์และความไม่ยุติธรรม เพราะมีประชาชนอย่างน้อย 195 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจากการรณรงค์ไม่เห็นชอบ และตรวจสอบจับตาการลงประชามติ
.
อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ยังถูกแก้ไขเพิ่มเติมอีกถึง 4 ครั้ง คือหนึ่ง ใช้ ม.44 กำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี จากที่เดิมเขียนไว้ 12 ปี สอง ใช้ ม.44 กำหนดให้รัฐอุปถัมภ์ทุกศาสนาจากเดิมให้สนับสนุนแค่พุทธศาสนา นิกายเถรวาท สาม แก้ไขให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. และยัง แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน





5) ประเทศที่ 4 ปี แล้วไอ้สัส แม่งยังไม่เลือกตั้ง
.
รัฐบาล คสช. บริหารประเทศยาวนานเกินสี่ปี หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีรัฐบาลไหนสามารถทำได้ เพราะถูกจำกัดวาระให้ไม่เกินสี่ปี ทั้งนี้ คสช. เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยคำสัญญาว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” อย่างไรก็ตามคำสัญญาที่ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้งกลับถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตลอดการยึดอำนาจ คสช. เลื่อนเลือกตั้งไปแล้วห้าครั้ง และสัญญารอบล่าสุดที่จะเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ เพราะ คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ในเลื่อนเลือกตั้งได้ และอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้
.
และเมื่อมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง สิ่งที่ คสช. กระทำคือ การใช้กฎหมายปราบปรามการใช้เสรีภาพของผู้เรียกร้อง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ออกมาเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการจัดชุมนุมทั้งหมดไม่น้อยกว่าหกครั้ง และคสช.ก็ดำเนินคดีผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมในทุกครั้งต่างกรรมต่างวาระเช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เป็นต้น





6) ประเทศที่มีความสามารถเสกกฎหมายกลายเป็นข้ออ้าง
.
หลังรัฐประหาร คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนมาก นับถึงวันที่ 21 กันยายน 2561 คสช. ออกประกาศ 128 ฉบับ ออกคำสั่ง 213 ฉบับ และออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 194 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 535 ฉบับ ในจำนวนนี้มีการออกคำสั่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงอย่างน้อย 35 ฉบับ คำสั่งที่สำคัญ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือให้อำนาจทหารเข้าปราบปรามผู้เห็นต่างได้แทนกฎอัยการศึก ให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังได้เจ็ดวันหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เป็นการปรับทัศนคติ
.
ในข้อ 12 ของคำสั่งนี้ยังสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปด้วย ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ในการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมาตลอดกว่าสามปีนับแต่มีการประกาศใช้ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 421 คนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อนี้ เนื้อหาการแสดงออกส่วนใหญ่ที่ถูกห้ามจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ





7) ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่
.
ตลอดเวลากว่าสี่ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้กฎหมายทั้งที่มีการบัญญัติใช้ไว้ก่อนหน้ารัฐประหารและตราขึ้นใหม่โดยคสช.ในการปราบปรามการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีผู้ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 94 คน, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่น้อยกว่า 91 คน และชุมนุมทางการเมืองตามประกาศคสช.ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่น้อยกว่า 421 คน
.
ในส่วนของการวิพากษ์วิจารณ์คสช. ก็มีตั้งแต่วิจารณ์การทำงานและผลงานของคสช., การคอร์รัปชั่น, คำพิพากษาคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการแชร์ภาพกระเป๋าของนราพร จันทร์โอชา ภรรยาหัวหน้าคสช. ข้อกฎหมายหลักที่นำมาใช้คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่น คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย จากการวิจารณ์บ้านเมืองในยุคคสช.และการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ไม่ให้เกียรติและเหยียดหยามทางเพศ คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หรือคดียุยงปลุกปั่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ ที่มีการโพสต์ภาพเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และการโพสต์ภาพวิพากษ์วิจารณ์แนวขำขันต่อกรณีข้อกล่าวหาการคอร์รัปชั่นในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
.
อาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างหนักหน่วง ของคสช.ที่มีต่อผู้เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ คสช.กลายเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้โดยปริยาย

ที่มา FB


...