วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 05, 2560

ร่าง ก.ม.พันธุ์พืชฉบับใหม่ เอาเปรียบเกษตรกร หรือส่งเสริมการวิจัย? (ทำไมชอบออกกฏหมายเอื้อประโยชน์ให้นายทุน วิจัยและพัฒนาได้แต่ทำไมต้องห้ามเกษตรกรเอาไปปลูก)



GETTY IMAGES

ร่าง ก.ม.พันธุ์พืชฉบับใหม่ เอาเปรียบเกษตรกร หรือส่งเสริมการวิจัย?


โดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
4 พฤศจิกายน 2017


กระทรวงเกษตรฯ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ในขณะที่บริษัทขายเมล็ดพันธุ์พืชสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ แต่เกษตรกรในชุมชนกลับบอกว่าพวกเขาถูกลิดรอนสิทธิที่มีมาแต่เดิมในการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อไปและบีบให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเท่านั้น บีบีซีไทยพูดคุยกับคนในวงการในประเด็นใครได้ใครเสียจาก พ.ร.บ.ใหม่

ในขณะที่พนักงานขายของบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด กำลังเดินอยู่ในบริเวณแปลงเกษตรใน อ. หนองเสือ จ. ปทุมธานี ในปี 2558 เขาพบมะระซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับมะระพันธุ์ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นมาเองและจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไว้แล้ว

พนักงานก็ได้ซื้อเมล็ดพันธุ์เดียวกับของเกษตรกรจากร้านค้าท้องถิ่น กลับมาให้นักปรับปรุงพันธุ์ของบริษัทตรวจสอบ ก็ได้รับการยืนยันว่ามะระดังกล่าวตรงกับพันธุ์เขียวหยก 16 ของบริษัท ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนารวมทั้งสิ้น 8 ปี


GETTY IMAGES
เกษตรกรชาวอินเดียกำลังคัดแยกมะระเพื่อนำไปจำหน่าย


"นักปรับปรุงพันธุ์เขารู้เลยว่าเป็นของเขาแน่ๆ แต่เกษตรกรบอกว่าซื้อมาจากอีกยี่ห้อหนึ่ง เราไปเก็บเมล็ดไปปลูกเปรียบเทียบ และตรวจดีเอ็นเอเทียบพันธุ์เรา ปรากฎว่าตรง 100%" นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง กล่าวกับบีบีซีไทย

อีสท์ เวสท์ ซีด ได้แจ้งบริษัทที่ขายเมล็ดพันธุ์นี้ว่าละเมิดสิทธิของตนเอง และขอเรียกค่าชดเชย 3 ล้านบาท ในเดือน ก.ย. 2558 กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส เค ไท อะกริคัลเจอร์ จำกัด ได้เขียนจดหมายขอโทษและระบุว่า บริษัทได้รับซื้อเมล็ดพันธุ์จากบุคคลอื่นก่อนนำมาบรรจุเพื่อจำหน่าย จากนั้นก็ได้ยุติการจำหน่ายและเรียกเก็บเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดออกจากท้องตลาดทันที

กรณีของ อีสท์ เวสท์ ซีดเห็นได้ชัดว่าเป็นการละเมิดสิทธิในพันธุ์พืช บริษัทคู่กรณีจึงยอมความและไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง แต่สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า ในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชของไทย มีกรณีของการละเมิดสิทธิจำนวนมากที่การฟ้องร้องไม่สามารถทำได้ และแม้ในบางกรณีอาจมีการรับฟ้อง ผลที่เกิดขึ้นมักจะเป็นการยกฟ้อง เนื่องจากบริษัทที่เลียนแบบ จะนำพันธุ์ไปปรับปรุงนิดหน่อย ทำให้ไม่เหมือนของเดิม 100% ซึ่งกฎหมายไทยไม่ให้การคุ้มครอง

แต่นายวิชัยก็หวังว่าบริษัทจะได้รับความคุ้มครองมากกว่าเดิมในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ เพราะเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองแก่นักปรับปรุงพันธุ์ในกรณีที่นำพันธุ์เดิมมาต่อยอด แต่ยังคงลักษณะสำคัญส่วนใหญ่ของพันธุ์ตั้งต้นเอาไว้


GETTY IMAGES


นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังให้สิทธิแก่นักปรับปรุงพันธุ์เพิ่มเติมในด้านต่างๆ เช่น ขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชจาก 15-20 ปี เป็น 20-25 ปี และขยายสิทธิในการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปสู่ผลผลิตและผลิตภัณฑ์

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาคประชาสังคมได้ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้ โดยมองว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเกษตรกร โดยเป็นการขยายการผูกขาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์ รวมถึงเป็นการเปิดทางให้นำทรัพยากรชีวภาพไปใช้โดยไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์

มุมมองชุมชน:เมล็ดพันธุ์มีไว้แบ่งปัน ไม่ควรมีใครเป็นเจ้าของ

เป็นเวลา 15 ปีที่เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว จนทุกวันนี้พัฒนาสำเร็จแล้ว 20 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือพันธุ์ "ช่อราตรี" ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2547 จนกระทั่งสำเร็จในปี 2552

นายนพดล มั่นศักดิ์ เกษตรกรปลูกข้าว อ. พยุหคีรี จ. นครสวรรค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงเรียนชาวนา กล่าวว่า ข้าวพันธุ์ดังกล่าวเกิดจากความคิดที่ว่า ต้องการข้าวที่ได้คุณลักษณะเหมือนข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้ทุกฤดูกาล โดยเครือข่ายได้นำข้าวจาก จ.เชียงใหม่มาปรับปรุงจนมีลักษณะเด่น คือ นุ่ม หอมปานกลาง และได้ผลผลิตไร่ละถึง 1 ตัน ซึ่งนายนพดลประเมินว่าน่าจะมีการใช้ข้าวพันธุ์นี้ในที่นากว่า 20,000 ไร่ต่อปี


GETTY IMAGES


ปัจจุบันเครือข่ายฯ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 4,500 คน ได้มีการเปิดตัวสายพันธุ์ข้าวไปแล้ว 4 สายพันธุ์ และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพัฒนาอยู่ 165 ตัวอย่าง โดยใช้องค์ความรู้ของชาวบ้าน และไม่มีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืช

"พวกเราไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน เพราะข้าวเป็นของทุกคนอยู่แล้ว" นายนพดลกล่าว

วิเคราะห์เนื้อในกฎหมาย:สิทธิชุมชนถูกทำลาย


เมื่อวิถีดั้งเดิมของชุมชนเกษตรคือ การได้พันธุ์พืชเพื่อปลูกแล้วคัดจนกว่าจะได้พันธุ์ที่ดีมาเป็นลำดับ และแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน ซึ่งมีพื้นฐานจากแนวคิดช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในสังคมเกษตรของไทยมาแต่โบราณ ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่เป็นการทำลายสิทธิชุมชน เนื่องจากการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ของชุมชนนั้นมีรากเหง้ามาจากวิถีชีวิตในแบบเดิมที่ไม่เคยเห็นพันธุ์พืชเป็นทรัพย์สินที่ใครคนใดคนหนึ่งจะหวงเอาไว้เป็นของตนเอง

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สมชาย ยังชี้ด้วยว่า มีความเสี่ยงที่พันธุ์พืชใหม่อาจผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปโดยธรรมชาติ ซึ่งถ้าดูพันธุกรรมอาจจะมีลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่อยู่ ทำให้เมื่อตรวจดูแล้วอาจเห็นพันธุกรรมสำคัญที่มาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง หรือที่เรียกว่า essentially derived varieties (EDV) ดังนั้นชาวบ้านจะมีความผิดฐานละเมิดสิทธิพันธุ์พืชใหม่ได้ ตามร่างกฎหมายใหม่

"มันน่ากลัวที่เกษตรกรผิด กลายเป็นว่าเราลักลอบเอาพันธุ์เขามา" นายนพดลแสดงความกังวล


SOMCHAI RATANACHUESKUL
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


นอกจากนี้ ร่างกฎหมายใหม่ยังเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ในกรณีที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปเพื่อใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ และมีการขยายการคุ้มครองแก่นักปรับปรุงพันธุ์ให้ครอบคลุมผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากพืชปรับปรุงพันธุ์ด้วย ผศ.ดร.สมชายยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ หากมีการขโมยเมล็ดพันธุ์มะม่วงคุ้มครองไปปลูก จนกระทั่งออกผลแล้วนำแปรรูป เช่น มะม่วงกวน บริษัทก็จะสามารถเอาผิดที่ตัวผลิตภัณฑ์ได้

ขาดการมีส่วนร่วม


เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ปีที่แล้ว นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ได้รับจดหมายจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ไปร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ในวันที่ 16 มี.ค.

เขารู้สึกแปลกใจมากที่ได้รับจดหมายเชิญเพียงหนึ่งวันก่อนประชุม และเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าบางคนเพิ่งได้รับจดหมายเช้าวันนั้นเสียด้วยซ้ำ



GETTY IMAGES


นายวิฑูรย์เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเชิญกว่า 20 รายที่ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันนั้น ที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ สมาคมเมล็ดพันธุ์ และบริษัทเอกชน ซึ่งปรากฏว่าไม่มีการแจกเอกสารใดๆ ในที่ประชุม โดยใช้วิธีฉาย powerpoint ว่าจะมีการแก้ในประเด็นอะไรบ้างพร้อมกับอธิบายรายละเอียด และขอให้ที่ประชุมเสนอความคิดเห็นให้เสร็จภายในครึ่งวัน

"พวกเราเลยต่อรองกันว่าเวลามันสั้นมาก เราขออนุญาตทำความเห็นส่งไป ผมเองก็ต้องรีบพยายามถ่ายรูปตอนที่เขาฉายสไลด์ จากนั้นทำความเห็นไปถึงกรมฯ แล้วเรื่องนี้ก็หายไปเลย แล้วมาทราบอีกที 5 ต.ค. ว่าเขารับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว" นายวิฑูรย์กล่าว

รัฐบาล:พ.ร.บ.ปัจจุบันไม่ดึงดูดการลงทุนเพื่อวิจัยพัฒนา

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมฯ โดยให้เหตุผลในการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่า เป็นการพัฒนากฎหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืชให้มีความเหมาะสมกับสภาพการแข่งขันทางการค้าการลงทุน เนื่องจาก พ.ร.บ. ที่ใช้อยู่ไม่ดึงดูดการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและธุรกิจเมล็ดพันธุ์ จึงสมควรปรับให้มีความสอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญา UPOV 1991)


GETTY IMAGES
กรมวิชาการเกษตรให้เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายว่า พ.ร.บ. ที่ใช้อยู่ไม่ดึงดูดการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและธุรกิจเมล็ดพันธุ์


กรมฯ ยังได้มีการลงสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม 49 มาตรา จากของเดิมที่มีอยู่ 69 มาตรา และไม่มีการนำข้อเสนอแนะของไบโอไทยที่เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังอธิบดีกรมฯ

หลังจากมีกระแสคัดค้านและโต้เถียงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ต่อมากรมฯ จึงมีการขยายเวลารับความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 20 พ.ย. จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 20 ต.ค. โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะไม่เดินหน้า พ.ร.บ. นี้ถ้ามีผลกระทบต่อเกษตรกรและยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้

"สิ่งใดที่มันทันสมัยขึ้นแล้วมันเป็นผลดี ไม่กระทบ ก็เดินหน้าต่อไป แต่ถ้ามันกระทบ ผมสั่งการไปแล้วว่าถ้ายังเคลียร์ไม่ได้ ถ้ายังสร้างความรับรู้ไม่ได้ แล้วก็ยังไม่สามารถตอบสังคมได้ ก็ยังไม่ต้องทำ" เขากล่าว

ด้านกรมวิชาการเกษตรยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ. ใหม่ส่งผลดีต่อเกษตรกร โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น อีกทั้งเกษตรกรจะมีรายได้ที่มากขึ้นจากการรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์

ทว่านายวิฑูรย์กล่าวว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เกษตรกรจะสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ได้ และการขยายเวลาออกไปแทบจะไม่มีผลอะไรเลย เนื่องจากมีการ "ตั้งธง" เอาไว้แล้ว

"อย่าว่าแต่เกษตรกรส่วนใหญ่เลย เกษตรกรที่มีความรู้ก็ยาก มันสักแต่ว่าเป็นพิธีกรรมเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด" เขากล่าว

ระบบป้องกันการขโมยพันธุ์


GETTY IMAGES


ตั้งแต่มี พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชออกมาเมื่อปี 2542 อีสท์ เวสท์ ซีด บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ซึ่งทำธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศเป็นเวลา 34 ปี ได้จดทะเบียนพันธุ์พืชทั้งหมด 24 ตัวที่เสร็จสิ้นกระบวนการและได้หนังสือสำคัญแล้ว และอยู่ในระหว่างกระบวนการอีก 23 ตัว

ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า ในปัจจุบัน มีพันธุ์พืชคุ้มครอง 455 ทะเบียน โดยเป็นพันธุ์พืชคุ้มครองของภาคเอกชนเอกชน 68% ภาคราชการ 15% เกษตรกร 11% และสถาบันการศึกษา 6%

"การที่นักปรับปรุงพันธุ์จะได้พันธุ์ใหม่มาอาจะใช้ 5-10 ปีกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ออกมา กว่าจะออกสู่ท้องตลาดต้องใช้เวลากว่าจะติดตลาดและมียอดขายที่สำคัญ อีกไม่กี่ปีความคุ้มครองก็หมดแล้ว เขาจะรู้สึกว่ามันแทบไม่คุ้มทุนเลย" นายวิชัยกล่าว พร้อมทั้งให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ จากเดิม 15 ปีสำหรับพืชทั่วไป และ 20 ปีสำหรับไม้ยืนต้นและไม้เถายืนต้น ออกไปเป็น 20-25 ปี

นายวิชัยกล่าวว่า อีสท์ เวสท์ ซีด ลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เป็นสัดส่วน 10-15% ของรายได้บริษัท โดยบริษัทมีทีมงานนักปรับปรุงพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 15 คนในประเทศและหลายสิบคนในภูมิภาคอาเซียน และครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของพันธุ์ผักเมืองร้อนทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน และในปี 2557 บริษัทได้ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มมอนซานโต้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์อันดับหนึ่งของโลก

ข้อมูลจากสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ระบุว่า ประเทศไทยผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนและอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ซึ่งการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทย มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี


EAST-WEST SEED
นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง


อีสท์ เวสท์ ซีด เป็นหนึ่งในบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในการส่งออก แต่สำหรับพันธุ์ที่ขายในไทย อีสท์ เวสท์ ซีด จะมีระบบป้องกันการขโมยสายพันธุ์โดยจะผลิตที่ต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายไทยไม่คุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์เท่าที่ควร นายวิชัยกล่าว โดยพันธุ์ที่ผลิตที่ไทยเป็นพันธุ์ที่ผลิตให้ประเทศอื่นและพันธุ์การค้าที่อยู่ในตลาดมานานแล้ว

"พันธุ์ใหม่ถ้าปลูกที่นี่ ลงปั๊ป ก๊อปปี้ทันที และอาจออกสู่ตลาดเร็วกว่าเรา หรือไม่ก็ขโมยไปเลย" นายวิชัยกล่าว "พ.ร.บ. นี้จะลิดรอนสิทธิของพวกนักเลียนแบบหรือคนที่ฉวยโอกาสที่จะหาช่องว่างทางกฎหมายไปเอาเปรียบสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์"

ด้านสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 57 บริษัท ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ โดยระบุว่า เรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย เพราะพันธุ์พืชชนิดเดียวกันกับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอีกมากมาย ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพันธุ์พืชใหม่ โดยเกษตรกรสามารถเลือกซื้อพันธุ์จากหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา หรือบริษัทต่างๆ ได้ตามความพอใจ

นอกจากนั้นบริษัทที่จดทะเบียนขายเมล็ดพันธุ์ในไทยมีมากกว่า 300 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท ทำให้ไทยมีการแข่งขันสูงที่สุดในอาเซียน ในแง่จำนวนบริษัทในตลาด

"เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว ถ้าศรแดงแพงไป ไปเลือกซื้อของบริษัทอื่น กลไกตลาดจะแข่งของมันเอง เอกชนไม่มีทางจะขึ้นราคาพร้อมกันหมด" นายวิชัยกล่าว

ขยายการผูกขาด?

ผศ.ดร.สมชายกล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้เองในฤดูกาลถัดไป ที่เรียกว่า farmer-saved seed ซึ่งกฎหมายปัจจุบัน มีข้อห้ามว่าพันธุ์พืชบางอย่างถ้าต้องการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีสามารถสั่งห้ามเก็บเกินสามเท่า แต่กฎหมายใหม่ให้อำนาจรัฐมนตรีสามารถสั่งไม่ให้เก็บทั้งหมดหรือบางส่วน นั่นหมายความว่า หากเกษตรกรเก็บแม้แต่หนึ่งเมล็ด ก็มีความเสี่ยงที่จะติดคุก และหากเก็บไม่ได้ ก็ต้องกลับไปซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ กลายเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริษัทเมล็ดพันธุ์ โดยข้อมูลจากสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยระบุว่า เมล็ดพันธุ์จากภาคเอกชนในตลาดมีสัดส่วนประมาณ 90%



BIOTHAI FOUNDATION
สัดส่วนการครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ในไทย


นายวิชัยกล่าวว่า คำในกฎหมายอาจจะแก้ไขได้เพื่อไม่ให้ถูกมองเป็นภาพลบ เพราะบริษัทเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ก็จะยอมรับวัฒนธรรมการเกษตรของไทย อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าหากเกษตรกรเก็บผลผลิตของเมล็ดที่ปรับปรุงพันธุ์เอาไว้เพื่อนำไปใช้เมล็ดพันธุ์ในครั้งหน้า ก็อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเดิม

นอกจากนั้น ผศ.ดร.สมชาย ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีการแก้ไขที่มาของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นแก่รัฐมนตรี โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการแต่งตั้งแทนการสรรหา เพื่อความรวดเร็วและต่อเนื่องในการดำเนินงาน ซึ่ง ผศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่ผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็น "เกษตรกรตัวปลอม" ที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ที่แต่งตั้งเข้ามา

"เขาเขียนกฎหมายสามชั้นเลยนะ วรรคแรกสามารถใช้ [เมล็ดพันธุ์] ได้ตลอด ดีมาก ถูกลบด้วย 35 วรรค 2 ซ้อนด้วยมาตราเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการ เกษตรกรชาวบ้านที่ไหนอ่านกฎหมายแบบนี้จะเข้าใจว่าตัวเขาจะโดน คือ คุณถือว่าคุณฉลาด คุณเขียนกฎหมายให้มันซับซ้อน เกษตรกรอ่านไม่รู้เรื่องไม่เป็นไรหรอก คุณเห็นเกษตรกรเขาโง่หรือไง แล้วอย่างนี้ปล่อยออกไป เกษตรกรซวยตายเลย" ผศ.ดร.สมชาย กล่าว