วันพุธ, พฤศจิกายน 08, 2560

เปิด‘พาราไดซ์เปเปอร์’โยงไทย! สัมพันธ์‘ซีพี–มหาเศรษฐีจีน & แจ๊คหม่า’-แจงปฏิบัติตามกม.





เปิด‘พาราไดซ์เปเปอร์’โยงไทย! สัมพันธ์‘ซีพี–มหาเศรษฐีจีน & แจ๊คหม่า’-แจงปฏิบัติตามกม.


07 พฤศจิกายน 2560
ที่มา สำนักข่าวอิศรา


"...จดหมายตอบจากซีพียืนยันว่า นอกจากเรื่องการซื้อขายหุ้นของโอเอสไอแอลแล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่มีการทำธุรกิจหรือความร่วมมืออื่นใดกับนาย เชอ ฟง อีกสำหรับความเห็นต่อข่าว นาย เชอ ฟงถูกทางการจีนสอบสวนกรณีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงความมั่นคงจีนนั้น ในจดหมายตอบว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ทราบถึงความถูกต้องของรายงานข่าว และไม่ขออกความเห็น...”


เอกสารที่ค้นพบในฐานข้อมูล ‘พาราไดซ์ เปเปอร์’ พบว่า มีบริษัทไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง ใช้บริการสำนักกฎหมายแอปเปิลบีจดทะเบียนถือครองบริษัทนอกอาณาเขต หนึ่งในนั้นคือ 'เครือเจริญโภคภัณฑ์'

เอกสาร ‘พาราไดซ์ เปเปอร์’ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายแอปเปิลบีที่ตกอยู่ในมือของหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung ประเทศเยอรมัน แล้วส่งผ่านเครือข่ายผู้สื่อข่าวนานาชาติ หรือ ไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ไปยังผู้สื่อข่าวสมาชิกทั่วโลก รวมทั้งสำนักข่าวอิศรา ซึ่งได้ร่วมงานกับไอซีไอเจในการรายงานข่าว ‘ ปานามา เปเปอร์ส‘ เมื่อปีที่แล้ว (อ่านประกอบ : ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data')

บริษัทจำกัด ซี.พี. โภคภัณฑ์ (C.P. Pokphand Co. Ltd) เป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก่อตั้งที่เบอร์มิวด้าและจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ข้อมูลที่พบในพาราไดซ์ เปเปอร์’ ระบุว่า ใน พ.ศ. 2553 ซี.พี. โภคภัณฑ์ได้แปลงหุ้นบุริมสิทธิ์ (Convertible Preference Shares) ของผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของบริษัท เป็นหุ้นสามัญ (Shares of the Company)

ในบรรดาบริษัทผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ของซี.พี.โภคภัณฑ์กลุ่มนี้ พบว่า สองบริษัทที่เชื่อมโยงกับมหาเศรษฐีชาวจีนผู้มีอิทธิพลสองราย นั่นคือ นาย เชอ ฟง (Che Feng) มหาเศรษฐีชาวจีน บุตรเขยนาย ไต้ เซี่ยงหลง (Dai Xianglong) อดีตประธานธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน (People's Bank of China) และอดีตเทศมนตรีเทศบาลนครเทียนสิน กับ นาย แจ๊ค หม่า (Jack Ma) แห่งอาลีบาบากรุ๊ป

ฐานข้อมูลเก่าไอซีไอเจระบุว่า นาย เชอ ฟง เป็นเจ้าของ บริษัท เอเวอร์ ยูเนี่ยน แคปิตัล จำกัด (Ever Union Capital Limited) ตั้งขึ้นที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงชี้ว่านาย เชอ ฟง ใช้บริษัทนี้เป็นเรือธงในการลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่ส่วนใหญ่เป็นกิจการสื่อสารโทรคมนาคม พลังงาน การค้า และการเงิน


‘พาราไดซ์ เปเปอร์’ แสดงข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 เอเวอร์ ยูเนี่ยน ได้รับโอนหุ้นบุริมสิทธิ์จำนวนกว่า 190 ล้านหุ้นจาก บริษัทโอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ โอเอสไอแอล (Orient Success International Limited: OSIL) ซึ่งเป็นบริษัทนอกอาณาเขตตั้งที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทซีพีโภคภัณฑ์ในขณะนั้น

หลังจากนั้น เอเวอร์ ยูเนี่ยนได้แปลงหุ้นบุริมสิทธิ์ เป็นหุ้นสามัญและจัดสรรบนทะเบียนสาขาฮ่องกงในเดือนเดียวกัน


HK01.com ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาจีนตีพิมพ์ในฮ่องกง และเป็นสมาชิกไอซีไอเจ ซึ่งร่วมมือกับสำนักข่าวอิศราในการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้พบว่า ราคาปิดของหุ้นสามัญของซีพีโภคภัณฑ์ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในวันเดียวกัน คือ 0.6 เหรียญฮ่องกงหรืออีกนัยหนึ่งหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 114 ล้านเหรียญฮ่องกง

HK01 ชี้ว่า ซี.พี.โภคภัณฑ์ ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลราคาการโอนหุ้นนี้และไม่มีข้อกำหนดใด ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ต้องรายงานหากสัดส่วนการถือหุ้นไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

นาย เชอ ฟง นักธุรกิจชื่อดังเคยตกเป็นข่าวในสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกงกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนและความไม่โปร่งใสในการทำธุรกิจอยู่เนื่อง ๆ เช่นใน พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ ไต้ เซี่ยงหลง ยังดำรงตำแหน่งประธานธนาคารประชาชนแห่งชาติจีนและเป็นผู้รับผิดชอบกิจการประกันภัยของประเทศ บริษัท Dinghe Venture Capital ของ นาย เชอ ฟงเข้าซื้อหุ้นบริษัทประกันภัย ผิงอัน ในราคาต่ำก่อนที่ ผิงอันจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นและทำกำไรงามเมื่อขายหุ้นออกในราคาสูง

HK01 ระบุว่านาย เชอ ฟง เคยทำธุรกิจกับบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งแต่ พ.ศ. พ.ศ. 2545 โดยอ้างรายงานข่าวของสื่อมวลชนจีนแผ่นดินใหญ่ว่า เขาได้ ซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์จากในฮ่องกงบริษัทหนึ่ง จาก บริษัท ฮ่องกงฟูไต๋ (Hong Kong Fu Tai) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ซีพีโลตัส (CP Lotus) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซีพี โดยผ่านบริษัทนอกชายฝั่ง ในราคา 36 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้ขายไปในปี 2549 ในราคาที่ทำกำไรมหาศาล

ต่อมาในปี 2556 ซีพีเข้าซื้อหุ้นบริษัทประกันภัย ผิงอันจากธนาคาร HSBC อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อหุ้นผิงอันของซีพีกับ นาย เชอ ฟง เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน และไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายในกรณีนี้

ในเดือนมิถุนายน 2558 สื่อมวลชนจีนรายงานว่า นาย เชอ ฟง ซึ่งอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงเป็นเวลาหลายปี ได้ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ปักกิ่งรัฐบาลจีนสอบสวนที่กรุงปักกิ่งในข้อหาเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ขณะนี้ไม่มีข้อมูลว่าเขายังอยู่ที่ปักกิ่งหรือเดินทางกลับฮ่องกงแล้ว

ในเรื่องการโอนหุ้นบุริมสิทธิ์ของซีพีโภคภัณฑ์นั้น ปรากฏความเกี่ยวข้องกับ มหาเศรษฐีชาวจีนชื่อดัง แจ็ค หม่า ผ่านทาง บริษัท ไดมอนเรย์เวนเจอร์ จำกัด (Diamond Ray Venture Limited) ซึ่งได้รับโอนหุ้นบุริมสิทธิ์ของซี.พี. โภคภัณฑ์ จากบริษัท ฮอร์วิค เทรดดิ้ง จำกัด (Horwick Trading Limited) ผู้ถือหุ้นเก่า จำนวนกว่า 190 ล้านหุ้น และได้แปลงเป็นหุ้นสามัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ไดมอน เรย์ เวนเจอร์ จดทะเบียนที่ทำการโดยใช้ที่อยู่คอนโดมีเนียมหรูในฮ่องกง เลขที่ 52/F, Branksome Crest, 3A Tregunter Path, Mid Level, Hong Kong ซึ่งสื่อมวลชนฮ่องกงบทความของเว็บไซต์บริษัทให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์เยอรมัน Engel&Volkers รายงานตรงกันว่านาย แจ๊ค หม่า ผู้ลงทุนซื้อคอนโดมีเนียมสองชั้นขนาดห้าห้องนอนนี้ไว้ในราคา 282 ล้านเหรียญฮ่องกงตั้งแต่ พ.ศ. 2550





สำนักข่าวอิศราร่วมมือกับ HK01 ส่งจดหมายสอบถามรายละเอียดไปยังเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งที่ฮ่องกงและประเทศไทย

โดย HK01 ได้ส่งโทรสารจ่าหน้าถึง นาย ธนินท์ เจียรวนนท์ ในฐานะประธานบริษัทบริษัทจำกัดซีพีโภคภัณฑ์ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 สำนักงานบริษัทจำกัดเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ฮ่องกง) ซึ่งระบุในจดหมายว่าเป็นบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศไทยได้ส่งคำตอบกลับมา

โดยชี้แจงที่มาเรื่องการโอนหุ้นบุริมสิทธิ์ของซีพีโภคภัณฑ์ว่า บริษัทโอเรี้ยนท์ซักเซส ผู้ถือหุ้น ว่า โอเรี้ยนท์ซักเซส เป็นบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศไทย ไม่ใช่บริษัทส่วนตัวของ นาย ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ. 2553 ซีพีโภคภัณฑ์ได้จัดสรรหุ้นตอบแทน (Consideration Shares) ทั้งหมด 16,534,562,211 หุ้น รวมถึงหุ้นสามัญ (common shares) และหุ้นบุริมสิทธิ์ (convertible preference shares) ให้แก่โอเรี้ยนท์ซักเซส ตามสัญญาการได้บริษัท ในเดือนกรกฎาคม 2553 โอเรี้ยนท์ซักเซส ได้ออกหุ้นบุริมสิทธิ์แปลงสภาพให้แก้ผู้ลงทุนรายต่าง ๆ ในราคาเดียวกัน โดยหุ้นราว 190 ล้านหุ้นได้ขายให้กับบริษัทเอเวอร์ ยูเนี่ยน แคปิตัล ของนาย เชอ ฟง

เรื่องการโอนหุ้นนี้ ทางโอเรี้ยนท์ซักเซส ได้แจ้งให้ซีพีโภคภัณฑ์ทราบเมื่อมีการเซ็นสัญญาและบรรลุข้อตกลงดังกล่าว และซีพีโภคภัณฑ์ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในการประกาศที่เกี่ยวข้องต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ในวันที่ 8 และวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2553

ต่อคำถามว่าทางซีพีทราบว่านาย เชอ ฟง เป็นบุตรเขยของนาย ไต้ เซี่ยงหลง หรือไม่ จดหมายตอบว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์รับทราบจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า นาย เชอ ฟง เป็นบุตรเขยของ ไต้ เซี่ยงหลง แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่านายไต้ทราบว่าบริษัทของนาย เชอ ฟงเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ของซีพีโภคภัณฑ์หรือไม่

ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์กับนาย เชอ ฟง ผ่านการซื้อขายโครงการอสังหาริมทรัพย์และการซื้อหุ้นบริษัทประกันภัยผิงอันนั้น ได้รับคำตอบว่า เครือเจริญโภคพันธ์บันทึกเพียงชิ้นเดียวเกี่ยวกับการขายโครงการอสังหาริมทรัพย์เซี่ยงไฮ้ใน พ.ศ. 2545 ซึ่งเปิดเผยในประกาศตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในเดือนเมษายน 2545 โดยการซื้อขายครั้งนั้นเชื่อมโยงกับบริษัทฮ่องกง ฟอร์จูน จำกัด (Hong King Fortune Limited) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในขณะนั้น

ในกรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์ซื้อหุ้นผิงอันจาก HSBC เมื่อพ.ศ. 2555 และ 2556 นั้น ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ทราบว่า นาย เชอ ฟง ได้ลงทุนในบริษัทเดียวกัน

จดหมายตอบจากซีพียืนยันว่า นอกจากเรื่องการซื้อขายหุ้นของโอเอสไอแอลแล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่มีการทำธุรกิจหรือความร่วมมืออื่นใดกับนาย เชอ ฟง อีก

สำหรับความเห็นต่อข่าว นาย เชอ ฟงถูกทางการจีนสอบสวนกรณีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงความมั่นคงจีนนั้น ในจดหมายตอบว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ทราบถึงความถูกต้องของรายงานข่าว และไม่ขออกความเห็น”

สำนักข่าวอิศราได้ส่งจดหมายถึงนาย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ สอบถามในประเด็นเกี่ยวกับ นาย เชอ ฟง และ นาย แจ็ค หม่า รวมทั้งความเห็นเรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และได้รับจดหมายตอบกลับจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ได้ตอบคำถามของสำนักข่าวอิศราเรื่องการแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์ของบริษัทจำกัดซีพีโภคภัณฑ์ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวข้องกับ นาย เชอ ฟง และนาย แจ๊ค หม่า โดยตรง

อย่างไรก็ตามมีคำตอบดังนี้

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจอย่างเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ของทุกประเทศที่ได้เข้าไปทำการค้าและการลงทุน ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์มีการลงทุนใน 20 ประเทศ มีการจำหน่ายสินค้าและให้บริการใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก ในส่วนของ ซี.พี.โภคภัณฑ์ จำกัดนั้น เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในบริษัทหลักทรัพย์ฯฮ่องกง ปฏิบัติตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ และนักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุน (ซื้อ/ขาย) ได้โดยเสรีตามกฎหมายกำหนด”





อ่านข่าว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ HK01 ได้ที่

< https://www.hk01.com/%E6%B8%AF%E8%81%9E/130452/-%E5%A4%A9%E5%A0%82%E6%96%87%E4%BB%B6-%E4%BA%BA%E8%A1%8C%E5%89%8D%E8%A1%8C%E9%95%B7%E5%A5%B3%E5%A9%BF%E8%BB%8A%E5%B3%B0-%E9%A6%AC%E9%9B%B2%E7%8D%B2%E6%B3%B0%E9%A6%96%E5%AF%8C%E5%84%AA%E5%85%88%E8%82%A1-%E4%BA%A4%E6%98%93%E7%A5%9E%E7%A7%98>

หมายเหตุ: ภาพประกอบแจ็คหม่าจาก ผู้จัดการออนไลน์