วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 05, 2560

แนะรัฐจัดการพวกมักง่าย เหตุขยะพลาสติกเกลื่อนทะเล-ชายฝั่ง





แนะรัฐจัดการพวกมักง่าย เหตุขยะพลาสติกเกลื่อนทะเล-ชายฝั่ง


1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ที่มา แนวหน้า

1 พ.ย. 2560 คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนาในหัวข้อ “ทางออกขยะพลาสติก : มุมมองของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์” ณ อาคาร วช. ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากประเทศไทยมีขยะพลาสติกตกค้างจำนวนมาก รวมถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา (University of Georgia , USA) ระบุว่า ในปี 2559 ไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลและมหาสมุทรมากที่สุดในโลก

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. กล่าวว่า แต่ละปีจะมีขยะเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 26 ล้านตัน หรือวันละ 73,000 ตัน ในจำนวนนี้มีขยะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 19 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วที่มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่อยู่ประมาณร้อยละ 30 - 40 อีกทั้งยังมีการศึกษาพบว่า ขยะในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ เฉลี่ยแล้วเป็นพลาสติกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณขยะทั้งหมด และหากนับรวมทั้งประเทศ ปริมาณขยะพลาสติกจะอยู่ที่ร้อยละ 30 ของขยะทั้งหมด





ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์

"สถิติของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สรุปออกมาว่าคนไทยใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ใบต่อวัน ซึ่งก็คงไม่ผิดไปจากความคาดหมาย เพราะเราไปตลาด อย่างหมู 2 ขีดเราก็ซ้อนไป 2 ชั้นแล้ว แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาใช้กัน 3 ใบต่อวัน ถ้าเอาถุงพลาสติกทีใช้มาเรียงต่อกันก็จะพันรอบโลกได้ 4 รอบ" ดร.ขวัญฤดี กล่าว

ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาขยะในทะเล เช่น ขยะตามป่าชายเลน หรือปนเปื้อนในร่างกายของสัตว์ทะเล ยังไม่นับรวมขยะที่มาตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ช่วงปี 2552 - 2559 ได้ทำการสำรวจแล้วพบขยะกว่า 4 แสนชิ้น หรือประมาณ 75 ตัน ในจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติกมากที่สุด รองลงมาเป็นฝาจุก และอันดับ 3 เป็นเชือก ขณะที่สถิติทั่วโลกนั้น พบก้นบุหรี่ในทะเลมากที่สุด แต่รองลงมาก็มีขยะพลาสติกหลายประเภท อาทิ ขวดและถุงพลาสติก





ประเภทขยะในทะเลทั่วโลก

ขณะที่ นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัทดาว (DOW) ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าการเลิกใช้พลาสติกเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการลำเลียงขนส่งอาหาร หากไม่มีพลาสติกบนโลกอาหารจะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์สวนทางกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาขยะพลาสติกนั้นมาจากการบริหารจัดการ เช่น ในประเทศจีน มีขยะที่จัดเก็บอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 40 แต่ถึงจะจัดเก็บอย่างถูกต้อง ก็ยังมีบางส่วน เฉลี่ยร้อยละ 4 - 8 ของจำนวนขยะที่เก็บอย่างถูกต้องไหลลงสู่ทะเล

นายสุพจน์ ระบุว่า ปัญหาขยะส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ผลิตพลาสติก ไม่ว่าผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้แปรรูปเม็ดพลาสติก และบริษัทห้างร้านที่นำผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น ถุงพลาสติก ไปใช้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ผลิตมีกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมควบคุมอยู่แล้ว หากผู้เกี่ยวข้องเข้มงวด ย่อมป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกจากกระบวนการผลิตหลุดออกมายังภายนอกได้ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้บริโภค ต้องทิ้งขยะให้ลงถัง และต้องแยกขยะให้เป็นด้วย





สุพจน์ เกตุโตประการ

“วันที่ 26 ต.ค. 2560 ผมไปต่อแถวรอถวายดอกไม้จันทน์ ด้านหน้าผมมีเด็ก 2 - 3 คน รับขวดน้ำมาดื่มน้ำ ดื่มแล้วก็เดินไปสักพักผมก็เห็นเด็กโยนขวดน้ำทิ้งข้างทางเลย อันนี้เห็นได้เลยว่า ถ้าการโยนขวดทิ้งข้างทางเกิดขึ้นจากคนคนเดียว แล้วทุกคนทำอย่างนี้ ขวดเหล่านี้อาจจะตกลงไปในท่อระบายน้ำ จากท่อระบายน้ำก็ตกลงไปในแม่น้ำ แล้วแม่น้ำก็ลงไปในทะเล มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย” นายสุพจน์ ระบุ

เช่นเดียวกับ นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ที่ย้ำว่า ก่อนจะพูดถึงการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ อย่างแรกต้องทำให้ประชาชนทิ้งขยะลงถังเสียก่อน ซึ่งก็อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงการเพิ่มจำนวนถังขยะให้เพียงพอ เพราะถ้าขยะทุกชิ้นถูกทิ้งลงถัง ก็จะไม่หลุดออกไปลงสู่ท้องทะเล

"คนไทยให้เอาความร่วมมือคงใช้ไม่ได้ในวันนี้ มีถังให้เพียงพอแล้วทุกคนต้องทิ้ง ไม่ทิ้งก็จับปรับ ก็คงต้องเกิดการเก็บที่บ้านหรือชุมชน ก็น่าจะต้องบังคับ ปัญหาของขยะริมแม่น้ำ ชุมชนเราอยู่ริมแม่น้ำ 5 สายหลักเสียเยอะ สมัยก่อนทำกับข้าว ใช้ใบตองก็ทิ้งลงคลองเพราะครัวก็อยู่หลังคลอง ปัจจุบันเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ก็ยังทิ้งลงคลองเหมือนเดิม ทั้งที่วิถีชีวิตมันเปลี่ยนไปแล้ว ความเป็นระเบียบวินัยไม่มี อยากฝากภาครัฐว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนทิ้งขยะลงถัง ถ้าลงถังแล้วเราจะแยกได้ว่าในถังมันมีอะไรบ้าง" นายภราดร ให้ความเห็น

...