วันศุกร์, พฤศจิกายน 03, 2560

เหตุใดพิธีถวายดอกไม้จันทน์จึงต้องให้ “ข้าราชการ” ได้สิทธิก่อนประชาชน - เข้าใจรากสังคมไทย จะเข้าใจ “อภิสิทธิ์ข้าราชการ” เรื่องธรรมดา!! นักยุทธศาสตร์ชี้



ภาพจากอินเทอร์เน็ต

หลายปีก่อนพวกเสื้อแดงยกคำว่า’ไพร่-อำมาตย์’ พวกผู้ดีมีอำนาจก็พากันออกมาบอกว่าไม่มีแล้วสมัยนี้ พอตอนนี้ชาวบ้านตั้งคำถามว่าทำไมข้าราชการได้สิทธิให้เข้าถวายดอกไม้จันทร์ก่อนประชาชนก็มาอธิบายว่าสังคมไทยเป็นสังคมมีลำดับชั้น พวกไปเอาหลักความเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งมาอ้างเป็นพวกไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทย เป็นพวก’คนไร้ราก’ความเป็นไทย

ธัชชัย ทนานนท์

...

“อภิสิทธิ์ข้าราชการ” เรื่องธรรมดา!! นักยุทธศาสตร์ชี้ คนไม่มีราก-ไม่เข้าใจ





31 ต.ค. 2560
โดย: MGR Online


“ข้าราชการ เป็นฐานันดรที่ใกล้ชิดกับพระราชามากกว่าคนทั่วไป” นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงขออธิบายมาตั้งแต่รากเหง้าสังคมไทยว่า เรื่องการแบ่งชนชั้นวรรณะเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ตื่นเต้นน่าจะเป็น “คนไม่มีราก” รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมามากเกินไป จึงไม่เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังว่า เหตุใดพิธีถวายดอกไม้จันทน์จึงต้องให้ “ข้าราชการ” ได้สิทธิก่อนประชาชน ส่วนเรื่องดรามาลงชื่อไล่ผู้ว่าฯ ชลบุรีนั้น เป็นปัญหาเรื่องการจัดการที่ล้มเหลวมากกว่าเรื่องอภิสิทธิ์ข้าราชการไทย!!


ย้ำอภิสิทธิ์ “ชุดขาว” ข้าราชการอยู่เหนือประชาชน!!





“ตามปกติงานพระราชทานเพลิงศพจะมีไฟพระราชทาน จะเชิญข้าราชการก่อน แล้วค่อยมาที่ประชาชน” ภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้เหตุผลเบื้องหลังพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศจำลอง ประจำ จ.ชลบุรี เอาไว้ว่าไม่ได้ทำผิดแผกจากธรรมเนียมปฏิบัติแต่อย่างใด แต่ที่ทำให้ประชาชนต้องรอ 3-7 ชั่วโมง จนแถวยาวเหยียดเป็นงูเลื้อยหลายทบนั้น ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดเรื่องการบริหารจัดการของตัวเองจริงๆ

“เนื่องจากประชาชนมาเป็นจำนวนมาก การจัดระเบียบไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว มีการเบียดเสียด ยอมรับผิดว่าการบริหารจัดการผิดพลาด ไม่สะดวกมากนัก เราเองได้จัดกำลังความเรียบร้อย และพยายามแก้ปัญหาตลอด เมื่อมีคนมากขึ้น ก็ปรับจำนวนวางดอกไม้จันทน์ และดูเรื่องเวลาต่างๆ จนถึงช่วงดึก ต้องให้ประชาชนวางดอกไม้จันทน์ครบทุกคน เราคาดการณ์หลายจุด ซึ่งยืนยันว่าประชาชนที่มาได้วางดอกไม้จันทน์ทุกคน”

แต่ดูเหมือนคำว่า “ครบทุกคน” ของผู้ว่าฯ ชลบุรี จะเป็นคนละมุมมอง เพราะมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ไม่มีโอกาสได้ถวายอาลัยพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยการถวายดอกไม้จันทน์แทนใจ ส่งให้ล่าสุด พสกนิกรของพระราชาเหล่านั้นออกมารวมตัวกัน ขับไล่ผู้ว่าราชการของพวกเขา ตะโกนเสียงดังว่า “ออกไปๆ” พร้อมกับการลงชื่อเกือบทะลุ 5,000 รายเพื่อขับไล่อย่างเป็นทางการเอาไว้ในเว็บไซต์ Chang.org ในแคมเปญ “ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ควรออกมารับผิดชอบเรื่องงาน ถวายดอกไม้จันทน์ ที่ อ.เมืองชลบุรี”



[แถวยาวขดไปมาที่ จ.ชลบุรี]


ที่เป็นประเด็นร้อนในสังคมที่สุดในตอนนี้ เห็นจะเป็นเรื่องการให้สิทธิ “ข้าราชการ” ก่อน เป็นเหตุให้ล่าสุด แฟนเพจ "สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี - Chonburi PR" ได้ออกมาอธิบายอีกครั้งเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า ทางจังหวัดไม่ได้ให้อภิสิทธิ์คนกลุ่มใดเป็นพิเศษ ทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองเข้ามาหมด แต่ดูเหมือนว่าผลที่ออกมากับคำแก้ต่าง จะดูสวนทางกัน เช่นเดียวกับภานุ แย้มศรีผู้ว่าราชการ จ.นนทบุรี ที่ถูกชาวบ้านต่อว่าว่า บริหารจัดการล้มเหลว ปล่อยให้ข้าราชการแซงคิวประชาชน

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งเดือดมากขึ้นไปอีก ก็คือคำอธิบายของผู้ว่าฯ นนทบุรี ที่บอกเอาไว้ว่า "ผมกราบขออภัย และขอรับไปแก้ไขในโอกาสต่อไปครับ" เพราะสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ไม่มีคำว่า “โอกาสต่อไป” ให้ได้แก้ไขอย่างแน่นอน





เพื่อตอบข้อสงสัยที่หลายคนคาใจว่า เหตุใด “ข้าราชการ” จึงได้สิทธิก่อนประชาชนตาดำๆ พล.ต.ดร.อนุชาติ บุนนาค ข้าราชการบำนาญ นักยุทธศาสตร์ความมั่นคง จึงช่วยอธิบายผ่านประวัติศาสตร์ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ข้าราชการจะอยู่เหนือบุคคลทั่วไป

“คำว่า "ข้าราชการ" นั้น ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ามาจาก "ข้า+ราชา+การ" ซึ่งแปลตามตัวว่าเป็นคนรับใช้การทำงานให้กับพระราชานั่นเอง เพราะฉะนั้น ข้าราชการจึงเป็นฐานันดรที่ใกล้ชิดกว่าบุคคลทั่วไป การจัดอันดับให้ข้าราชการขึ้นมาก่อน จึงเป็นเรื่องปกติของการจัดลำดับให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้สมพระเกียรติ

หรือแม้แต่ตอนที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ไปจดทะเบียนมูลนิธิชัยพัฒนา เจ้าหน้าที่เขาถามถึงประธานมูลนิธิเป็นใคร มีอาชีพอะไร ซึ่งประธานมูลนิธิก็คือในหลวงรัชกาลที่ ๙ แต่เรื่องอาชีพ ด็อกเตอร์เขากรอกไม่ถูก จึงมากราบบังคมทูลถามพระองค์อีกครั้ง จนได้ทรงให้คำตอบว่า "เรามีอาชีพทำราชการ" ก็คือพระองค์คือผู้ดูแลสูงสุขของระบบราชการ และทรงแจกจ่ายงานให้ข้าราชการไปทำต่อนั่นเอง




[ประชาชนชาวชลบุรี ออกมาขับไล่ผู้ว่าฯ ของพวกเขา]





ประเด็นที่หลายคนติดใจก็คือ ทำไมข้าราชการต้องได้ถวายดอกไม้จันทน์ก่อน ก็ต้องถามว่า แล้วทำไมเขาถึงไม่เชิญชาวบ้านไปเดินในขบวนพระบรมศพด้วยล่ะ ก็เพราะว่าการแต่งกายของประชาชนมันก็ไม่เข้ากัน และข้าราชการแต่ละจังหวัด จำนวนก็ไม่น่าจะมากมายนัก อย่างมากก็ไม่เกินพัน หรือพันต้นๆ และถึงแม้ข้าราชการไม่ได้ไป ทุกคนก็ต้องรออยู่ดี ขนาดผมเองสวมชุดขาวไป ยังต้องยืนรออยู่ 3 ชั่วโมงกว่าเหมือนกัน

ถ้าเราไม่ยอมรับสัญญาประชาคมตรงนี้ เราจะอยู่กันไม่ได้ ถ้าเรามองแต่เรื่องสิทธิ ไม่มองเรื่องหน้าที่ ซึ่งคนไทยมักจะเป็นแบบนี้ เรื่องที่เราเสียผลประโยชน์ก็มักจะร้องโวยวาย แต่ผมว่าที่คนออกมาร้องเรียนกัน น่าจะพุ่งปัญหาหนักไปที่เรื่องปัญหาการจัดการของผู้นำมากกว่า”

เข้าใจรากสังคมไทย จะเข้าใจ “อภิสิทธิ์ข้าราชการ”!!?






“ที่เป็นปัญหาถกเถียงกัน เรื่องการให้สิทธิข้าราชการเข้าไปถวายดอกไม้จันทน์ก่อน น่าจะเป็นเพราะคนสมัยนี้ไม่มีราก ไม่รู้ความเป็นมา ไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยที่แท้จริง” นักยุทธศาสตร์ความมั่นคง วิเคราะห์เอาไว้อย่างตรงไปตรงมา ก่อนจัดเต็มให้อีกฉากใหญ่ ผ่านสายตาของคนใช้ชีวิตอยู่ในระบบข้าราชการมาทั้งชีวิต

“สังคมไทยเรากำลังสับสนอลหม่าน เพราะว่าเราลืมรากความเป็นมาของชาติ เนื่องจากเรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาระยะหลัง จนกลายมาเป็นปัญหาเรื่องวิธีคิดของ "คนรุ่นใหม่" กับ "คนรุ่นเก่า" ที่ต่อกันไม่ติด ทำให้คอนเซ็ปต์เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มาปะปนกับเรื่องสถานะของคนในสังคม

ต้องเข้าใจก่อนว่า หลังจากเรารับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง "สมมติเทพ" ขึ้นมา และทำให้มีเรื่องของชนชั้นวรรณะเข้ามา ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมไทยก่อนหน้านั้น ที่จะไม่มีเรื่องของสถานะแบบนี้ ทำให้เกิดการจัดระบบการปกครองใหม่ โดยใช้พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง



[พระเมรุมาศจำลอง จ.ชลบุรี]


หลังจากระบบวรรณะเข้ามา ก็แบ่งตามลำดับชั้น เริ่มจาก พระมหากษัตริย์, พระบรมวงศานุวงศ์, ข้าราชการ และประชาชน ซึ่งในอดีตเรียกว่า "ไพร่" ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบราชการ แต่พอช่วงหลังๆ เรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเยอะ ทำให้มาตีกันกับรากเหง้าของเรา ทำให้คนไม่เข้าใจ มาอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไม่เข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมที่แท้จริง

ถ้าวัดจากประวัติศาสตร์การปกครองจริงๆ จะเห็นว่า ระบบการปกครองตั้งแต่อดีตของไทย เราไม่เคยคิดว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันเลย เช่น เรื่องภาษา ถ้าเป็นฝรั่ง เขาจะมีแค่ "I กับ You" แต่ของคนไทย มีทั้ง "กระหม่อม กับ ฝ่าบาท" "ฉัน กับ ท่าน" "แก กับ ข้า" ฯลฯแม้แต่คำศัพท์ที่ใช้ก็มีชนชั้นวรรณะ เราแบ่งแยกแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ใช้ศัพท์ตามแต่ฐานะของบุคคล แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการแบ่งแยกทางสังคมเป็นพื้นฐานมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด



[อีกมุมของแถวที่ประชาชนรอคอย ถวายดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศจำลอง จ.ชลบุรี]


ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับ จ.ชลบุรี ผมมองว่าเขาเตรียมการน้อยไปหน่อย หลายๆ อย่างก็ทำไม่สมพระเกียรติจริงๆ อย่าง "ดอกดาวเรือง" ที่เอาภาพไปติดแทนดอกจริง ก็เป็นอะไรที่ชุ่ยมาก แทนที่จะทำเป็นกระถางมาเรียงกันเหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่เขาทำ อาจจะเป็นปัญหาตรงนี้มากกว่าที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ



[เปรียบเทียบความสมพระเกียรติของ "ดอกดาวเรือง" บริเวณรอบพระเมรุมาศจำลอง]


สิ่งที่เราควรจะเรียนรู้จากกรณีนี้ก็คือ การทำการวิจัยหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่าที่การจัดงานมีปัญหา ไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะอะไร เรื่องไหนบ้าง อะไรที่ล้มเหลวและจะต้องแก้ไขบ้าง ดูข้อบกพร่องในแต่ละจังหวัดโดยให้คนวงนอกเป็นคนพิจารณา แต่ปัญหาคือสังคมไทยอาจจะไม่กล้าทำเรื่องนี้ ถือว่าจบแล้วจบไป กลัวถ้าไปเจอข้อผิดพลาดของผู้ใหญ่ระดับสูง ก็อาจจะไม่กล้าก็ได้”



[มีเพียง จ.ชลบุรี ที่ถูกตำหนิอย่างหนักว่า ใช้ดอกดาวเรืองแบบไม่สมพระเกียรติ]

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live