วันพุธ, พฤศจิกายน 01, 2560

ต้นทุนที่ใช้ทำลายเครือข่ายทักษิณ... คุ้มไม๊...




https://www.youtube.com/watch?v=vAEXAhBRi-E

Blog : ต้นทุนทำลายเครือข่ายทักษิณ


...

Make It Clear: ต้นทุนทำลายเครือข่ายทักษิณ


โดย พงศ์ บัญชา
คอลัมนิสต์อิสระ
14 ตุลาคม 2560 
Voice TV

คุณว่าศาลเป็นกลางไหม?


แน่นอนว่า การกล่าวแบบ “เหมารวม” มีโอกาสผิดมากกว่าถูก เช่นเดียวกับที่บอกว่า นักการเมืองทุกคนเป็นคนเลว หรือทหารทุกคนเป็นคนดี

เพราะในทุกสังคมย่อมมีคนหลากหลายแบบปะปนกันไป – สิ่งสำคัญคือ เราจะเอาเครื่องมืออะไรมาวัดล่ะ

เช่นเดียวกับคำถามข้างต้นว่าศาลเป็นกลางจริงหรือไม่ ก็อาจจะกลางหรือไม่กลางก็ได้ ยากจะพิสูจน์ เพราะไม่มีเครื่องมือที่จะวัด หรือต่อให้วัดได้จะมีประโยชน์อะไร หากมีคนบางกลุ่ม – ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลย ในสังคม ไม่เชื่อ มีธง มีคำตอบอยู่ในใจแล้ว

นับแต่ศาลนำหลัก “ตุลาการภิวัฒน์” เข้ามาใช้ในปี 2549 เพื่อผ่าทางตันวิกฤตของบ้านเมือง แต่ยิ่งเวลาผ่านไป นอกจากวิกฤตจะยังไม่คลี่คลาย ศาลยังถูกมองว่าถูกบางขั้วอำนาจ “ดึง” เข้ามากำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตัวเอง อีกต่างหาก

หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดก็คือ ฝ่ายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

อาจเพราะศาลเป็นสถาบันที่สังคมให้ความนับถือมาแต่โบราณ ว่าจะให้ข้อยุติที่ยุติธรรมเมื่อเกิดความขัดแย้ง สะท้อนผ่านคำพูดติดปากของชาวบ้านว่า “ให้ไปจบกันที่ศาล” หรือกระทั่งคำว่า “ได้รู้ดำรู้แดงกัน” ก็ยังอ้างอิงมาจากคดีดำ-คดีแดง ตามระบบการพิจารณาของศาล

จากความเชื่อถือ กลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนให้ความเคารพ แต่ “ต้นทุน” อันสูงลิ่วนี้ กลับเป็นสิ่งที่ถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองที่สุดในช่วงระยะเวลาสิบปีหลัง เมื่อคนจำนวนไม่น้อยมองว่า ศาลถูกคณะรัฐประหารยืมมือเข้ามาจัดสรรอำนาจทางการเมือง ด้วยการเขี่ยฝ่ายตรงข้ามออกนอกกระดาน

ไม่รวมถึงการที่ศาล – หรือพูดใช้ชัดขึ้นคือ “ผู้พิพากษา” บางคน กระโดดมาร่วมกระดานการเมืองเสียเอง จากฝ่ายตุลาการ ข้ามมาเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งหากลาออกมาเลย คงไม่มีใครว่าอะไร แต่หลายคนตัดสินใจกลับไปอยู่ศาล นั่งตัดสินคดีสำคัญๆ ต่อ เมื่อจบภารกิจ)

ด้วยความเชื่อที่ว่า “ศาลอาจไม่เป็นกลางแล้ว” ซึ่งจะจริงหรือเท็จ ไม่อาจรู้ได้ แต่พลันที่มีศาลมีคำตัดสินที่เป็นโทษต่อบางฝ่ายการเมือง แน่นอนว่า กองเชียร์ฝ่ายนั้นย่อมผิดหวัง โกรธแค้น แต่ถามว่าประหลาดใจไหม – เชื่อว่าจำนวนไม่น้อยจะตอบว่า ไม่!

เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาทิ ตัดสินให้การเลือกตั้งปี 2549 และปี 2557 เป็นโมฆะ, ยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน, ให้จำคุกนายทักษิณในคดีที่ดินรัชดา 2 ปี และยึดทรัพย์ 4.63 หมื่นล้านบาทจากคดีร่ำรวยผิดปกติ, ให้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทล้มไป จนทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงต้องสร้างล่าช้ากว่าเดิม, ให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากคดีทำรายการทำกับข้าว, ให้นายนพดล ปัทมะ พ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในคดีเขาพระวิหาร เพราะไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่ “อาจจะ” ทำให้ไทยเสียดินแดน, ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากคดีโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และจำคุก 5 ปี จากคดีจำนำข้าว ฯลฯ

แน่นอนว่า บางคดีมีรายละเอียดน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามนั้น (ไม่รวมถึงบางคดีที่ศาลยกฟ้อง แต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึง) แต่อีกหลายคดี ก็มีคำถาม มีข้อสงสัย เหมือนที่นักวิชาการกลุ่มต่างๆ มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนมีการออกหนังสือที่พูดถึงจุดสังเกตต่างๆ ในคดีดัง ออกมาวางขายจำนวนมาก

อาจเพราะคณะรัฐประหารเคยมีบทเรียนจากการที่ยึดอำนาจในปี 2534 แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมายึดทรัพย์นักการเมือง ซึ่งภายหลังศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ เพราะ “ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาใช้อำนาจแบบศาล ขัดกับประเพณีการปกครองเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ” การรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 จึงไม่มีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใช้อำนาจแบบศาล แต่ใช้วิธีตั้งคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐาน และอาจแก้ไขกฎหมายบางอย่างเพื่อเอื้อต่อการตัดสินคดีนั้นๆ

ภาษาฟุตบอลคือ คณะรัฐประหารจะเป็นผู้คอยแอสซิสต์ โดยหวังว่าศาลจะ “ใส่สกอร์” ให้

จึงไม่ค่อยน่าแปลกใจเลย ที่หลังจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ประกาศใช้ไม่นาน จะมีข่าวว่า ป.ป.ช. เตรียมรื้อคดีที่มีนายทักษิณเป็นจำเลย 2 คดี ทั้งคดีเอ็กซิมแบงก์และคดีหวยบนดิน ซึ่งเคยถูกจำหน่ายออกไปเพราะจำเลยไม่มาศาล ให้กลับมาเดินหน้าต่อ

ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.นี้ ถูกสังคมวิจารณ์ตั้งแต่ตอนที่ สนช. พิจารณาว่า การให้พิจารณาคดี “ลับหลัง” จำเลย แถมบังคับใช้ “ย้อนหลัง” ได้ จะเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้ตามหลักสากลจริงๆ หรือ (กระทั่งตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรมที่มาร่วมพิจารณาด้วย ยังขอให้ตัดเนื้อหาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีลับหลังออกเลย) แต่ท้ายสุด สนช. ก็ยังมีมติเห็นชอบกฎหมายนี้ ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 176 ต่อ 0 เสียง

ไม่ต้องรอให้ถึงวันพิพากษา เชื่อว่าคนบางกลุ่มจะทำนายไปล่วงหน้าแล้วว่า คดีทั้งสองนี้จะจบลงอย่างไร (ส่วนจะจบจริงตามนั้นหรือไม่ ค่อยไปติดตามกันอีกที)

จึงน่าสงสัยว่า ต่อให้สามารถจำกัดฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับคณะรัฐประหารไปได้จริง สิ่งที่ได้รับกลับมาจะคุ้มค่ากับต้นทุนที่ใช้จ่ายออกไปหรือไม่