วันศุกร์, พฤศจิกายน 03, 2560

โฉมหน้า "สังคมไร้ยางอาย"





“สังคมไร้ยางอาย”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 76 และ 219 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการร่างบัญญัติถึง “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่จะใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญทุกคน ทั้งนี้ ตามข้อ 6 (4) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติถึงคำว่า “มาตรฐานทางจริยธรรม” กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

การเอาบุคคลในครอบครัว เช่น บุตร หรือภริยา มาดำรงตำแหน่งนอกจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลในครอบครัวแล้วยังมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้แต่งตั้ง อันถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ดังนั้น การที่นายมีชัยฯ อ้างว่าการแต่งตั้งลูกสาวเป็นรองเลขาฯ เพื่อรักษาความลับของ คสช. และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงเป็นการแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ เพราะขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่นายมีชัยฯ กำหนดให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

พฤติกรรมของนายมีชัยฯ ไม่ต่างจากบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งหลาย เช่น หัวหน้า คสช. ที่ยึดอำนาจมาจากประชาชนแต่กลับแสดงความรำคาญเมื่อถูกทวงถามถึงการคืนอำนาจ หรือบรรดาลิ่วล้อที่ได้รับการแต่งตั้งจากเผด็จการ แต่กลับออกมาอบรมตัวแทนของประชาชนที่ทวงถามถึงการทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่เคยสำเหนียกเลยว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน กิจกรรมที่พรรคการเมืองต้องทำเป็นสิทธิตามกฎหมายเพื่อนำไปสู่การคืนอำนาจให้กับประชาชนทั้งสิ้น บ้านเมืองในยุคนี้จึงวิปริตวิปลาส เพราะคนที่ยึดอำนาจจากประชาชนกลับเดินชูคออยู่บนถนน ส่วนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจต้องเดินก้มหน้าอยู่ในตรอก ถึงเวลามียางอายกันได้หรือยัง

วัฒนา เมืองสุข
สมาชิกพรรคเพื่อไทย
3 พฤศจิกายน 2560


Watana Muangsook

ooo

ชวนอ่าน...




ตั้งลูกสาวเป็นเลขา แปลกตรงไหน ใครใครก็ทำกัน?