วันพุธ, พฤศจิกายน 08, 2560

ความคิดเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการ ต่อ 2 ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคสช. เพื่อสืบทอดอำนาจ 1.แผนชิงมวลชน และ 2.แผนชิงอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย





วิพากษ์แผนชิง ‘มวลชน-อดีตส.ส.’ บันได 2 ขั้นยึดทำเนียบ?


7 พฤศจิกายน 2560
มติชนออนไลน์


หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการ กรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมระบุว่า รัฐบาลวาง 2 ยุทธศาสตร์เพื่อสืบทอดอำนาจต่อคือ 1.แผนชิงมวลชน และแผนชิงอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย โดยตั้งพรรคพลังชาติไทยขึ้นมา เช่นเดียวกับยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรม




องอาจ คล้ามไพบูลย์


รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

กระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แม้แต่ คสช. ก็มีสิทธิตั้งพรรคได้ หากมีคุณสมบัติครบถ้วน และตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่สำคัญการจะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองอย่างถูกต้องด้วย

ส่วนเรื่องการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาล คสช.สร้างกลยุทธ์เรื่อง “โครงการประชารัฐ” หรือ “บัตรผู้มีรายได้น้อย” นั้น มองว่าใครก็ตามที่อยู่ในฐานะรัฐบาล ต้องทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่แน่นอนว่า ผลของการกระทำนั้นอาจถูกมองว่านอกจากแก้ปัญหาให้กับประชาชนแล้ว ยังมีเรื่องอย่างอื่นเกี่ยวข้องอยู่ภายใต้โครงการเหล่านั้นหรือไม่

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย ในความจริงรัฐบาลและ คสช.อาจจะไม่ได้ทำเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองก็เป็นไปได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมคงตั้งข้อสงสัยถึงผลการกระทำในอนาคต คือผลของการกระทำของ คสช.จะพิสูจน์ในอนาคตว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ และได้ดำเนินการลงไปเพื่อแก้ไขผลประโยชน์ให้กับประชาชนจริงๆ หรือ ทำเพื่อผลทางการเมืองในอนาคตกันแน่ ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ แต่ในอนาคตเราอาจจะได้คำตอบ

อย่างไรก็ตาม หากมองว่าถ้า คสช.ตั้งพรรคการเมืองแล้ว การรัฐประหารจะเสียของ หรืออาจก่อให้เกิดความวุ่นวายคล้ายกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 นั้น ผมคิดว่าสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ต่างไปจากสมัยก่อนมาก มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะ จะซ้ำรอยอดีตได้อย่างไรคงไม่มีใครบอกได้ขณะนี้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยในอนาคตต่างๆ มากกว่า




พงศ์เทพ เทพกาญจนา

อดีตรองนายกรัฐมนตรี-แกนนำพรรคเพื่อไทย

อยู่ที่ว่ารัฐบาล คสช.มีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญก็ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่ามีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจในบทบัญญัติที่ให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกฯภายในช่วง 5 ปีแรก ตรงนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ความเคลื่อนไหวที่จะไปจัดตั้งพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ก็มีข่าวซึ่งสื่อมวลชนก็ติดตามได้ว่ามีกลุ่มไหนเคลื่อนไหวอย่างไร

การจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ที่มา หากมีการใช้อำนาจเอาเปรียบคนอื่นเขาแบบนี้ผมว่าไม่ถูกต้อง การใช้อำนาจเอาเปรียบคนอื่น เช่น คนที่มีอำนาจอยู่แล้วคุณใช้อำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้เปรียบคนอื่นมันไม่เป็นธรรม

กลไกต่างๆ ที่คุณสร้างขึ้นมาภายใต้กติกาที่ก็มีปัญหาอยู่แล้ว หากกลไกต่างๆ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตรงนี้ก็จะยิ่งทำให้การเลือกตั้งก็ดีหรือประชาธิปไตยก็ดี กลายเป็นสิ่งที่ถูกบิดเบือน สร้างให้เข้าใจว่าเป็นแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่

คสช.ที่เข้ามายึดอำนาจนั้นผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นแล้ว แล้วคุณไม่มีอำนาจอะไรหรือสิทธิอะไรที่จะมาบอกว่าฉันไม่อยากให้พรรคการเมืองนั้นหรือพรรคการเมืองนี้ชนะเลือกตั้งใช่หรือไม่ คนที่จะบอกว่าพรรคการเมืองใดจะชนะเลือกตั้งนั้นคือประชาชน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ส่วนการช่วงชิงมวลชนก็คงเป็นความพยายาม ตรงนี้หากคุณทำอย่างตรงไปตรงมาหรือสู้กันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม คุณก็สามารถนำเสนอของที่ดีต่อประชาชน และให้ประชาชนตัดสินใจเลือกคุณได้ แต่หากเป็นการต่อสู้กันอย่างไม่เป็นธรรม แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง

ขณะนี้ประชาชนส่วนมากเขาเดือดร้อน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ แต่เขาจะอดทนได้หากประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติ ขณะนี้ประชาชนรอการเลือกตั้งอยู่ หากชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะมีในปีหน้าก็คงไม่มีใครจะอดทนรอไม่ได้ แต่หากมีความพยายามที่จะไม่คืนอำนาจให้ประชาชน ตรงนั้นผมก็ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไร

อย่างไรก็ตาม คุณจะต้องคืนอำนาจให้ประชาชนอยู่แล้ว แม้จะมีการแอบแฝงเอาอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง แต่อย่างน้อยประชาชนก็ยังสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง




รศ.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คุณวีระมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ข้อเท็จจริงทั้งเรื่องการตั้งพรรคและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของ คสช. เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป ส่วน 2 ยุทธศาสตร์ของ คสช. ทั้งเรื่องการดึงมวลชน และดึงอดีต ส.ส. นั้น มีโอกาสเป็นไปได้

อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬถือเป็นบทเรียนสำคัญแก่ทหารในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แม้ว่าตอนนั้นกับปัจจุบันนี้จะเป็นสถานการณ์ภายใต้การรัฐประหารเหมือนกัน แต่พัฒนาการของทหารในการเข้ามาเล่นการเมืองเปลี่ยนไป ในวันนี้มีกลไกอื่นๆ เช่น กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการปฏิรูป การตั้งพรรคการเมืองหรือมีตัวแทนของทหารลงรับสมัครเลือกตั้งอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็น

นอกจากนี้ เหตุการณ์ในปี 2535 เป็นการเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นกลางกับทหาร และมีมวลชนคอยสนับสนุน ขณะที่ปัจจุบัน กลุ่มที่สนับสนุนทหารก็มีส่วนหนึ่ง คนที่ไม่สนับสนุนทหารก็มีส่วนหนึ่ง มวลชนจึงแบ่งออกเป็น 2 ทัศนคติใหญ่ๆ

ดังนั้น สมการทางการเมืองและผลลัพธ์คงเปลี่ยนไปจากเดิม และหากมีพรรคทหารเกิดขึ้นจริง คิดว่าคงได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง เพราะเรื่องทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะใช้กลไกแบบระบบราชการได้ ดังนั้น พรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งมีระบบหัวคะแนนและฐานเสียงอยู่แล้วน่าจะเป็นพรรคที่มีกลไกในการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าพรรคการเมืองตั้งใหม่ที่พยายามอาศัยอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว




ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระ

มองว่ามี 2 ประเด็น หนึ่งคือเรื่องเสียของ มองว่าคุณวีระพูดค่อนข้างซ้ำ แต่เรื่องใหม่ที่เชื่อว่าจะมีคนพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ คือประเด็นที่ 2 นั่นคือการเคลื่อนไหวของ คสช. เกี่ยวกับการมีบทบาททางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เพราะในที่สุด ประเทศต้องมีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่ค่อนข้างประหลาด กล่าวคือ ผู้เล่นหรือผู้แข่งขันจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างถูกห้ามแสดงออกทางการเมือง จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง ขณะที่ฝั่งผู้เล่นคนสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์หรือกองเชียร์พยายามผลักดัน ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเดียวกัน ฝั่งอื่นๆ ขยับอะไรไม่ได้ ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์กลับขยับได้มากที่สุด

การขยับที่ว่ามีอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งเชื่อว่าคนที่อยู่ในวงการการเมืองน่าจะทราบ ขยับแรกคือ การใช้พวกหัวคะแนนเก่าหรือนักการเมืองที่เข้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เข้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นแถว 3 แถว 4 ของแต่ละพื้นที่เป็นกลไกในการทำพรรค เพื่อผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะทราบเรื่องนี้หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่การดำเนินการที่ว่านี้มีอยู่จริง

ขยับที่สองคือ การใช้นโยบาย ตั้งแต่ปี 2560-2561 ที่ประเทศจะมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธตำแหน่งนายกฯ ตอนนี้เริ่มมีนโยบายหลายเรื่องที่เข้าข่ายการสร้างคะแนนนิยม มีความเป็นประชานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น บัตรคนจน กระทั่งการลงพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายผู้นำการเมืองที่พยายามหาเสียง

ดังนั้น สิ่งที่คุณวีระพูด ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องเสียของ แต่เป็นเรื่องสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้ตำแหน่งทางการเมืองของตนเองในปัจจุบันซึ่งอาจจะตอบโจทย์การต่ออายุอำนาจของตัวเองผ่านการเลือกตั้งในปี 2561

แต่ในที่สุด เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดปัญหา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังใช้สถานะของการเป็นหัวหน้า คสช. คุมพรรคการเมืองต่างๆ และใช้นโยบายต่างๆ เพื่อให้ตัวเองกุมความได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าคนอื่นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงใกล้เลือกตั้ง เปรียบเหมือนการแข่งขันวิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกกฎห้ามคนอื่นวิ่ง ห้ามคนอื่นซ้อม แต่ตัวเองกลับซ้อมหรือออกวิ่งได้ตลอดเวลา ทำให้เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเป็นคนที่พร้อมที่สุด

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในตอนนี้มีความแตกต่างจากการตั้งพรรคสามัคคีธรรม เพราะในเวลานั้น ตัวละครหลักๆ ที่ใกล้ชิด พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่างออกมาประกาศตัวอย่างชัดเจน เช่น พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล, นาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ

ขณะที่การทำงานของ คสช. ในแง่ของบุคลากรที่แสดงตัวอย่างเปิดเผยยังไม่มี แม้คนที่ทำงานในวงการการเมืองท้องถิ่นจะรู้แล้วว่าใครเป็นตัวการในการวิ่งหรือดึงนักการเมือง การทาบทามได้เกิดขึ้นแล้ว แต่การทำแบบภาพกว้างแบบคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยังไม่เกิดขึ้น สาเหตุเพราะ พล.อ.สุจินดาดำรงตำแหน่งนายกฯ แค่ปีเดียว ทุกอย่างจึงต้องเร่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขแบบนั้น

หากพรรคทหารเกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่คิดว่าจะดี เพราะพิจารณาจากคนที่ดำเนินการให้ในตอนนี้ ไม่ใช่บุคคลในเกรดเอ หรืออยู่แถวหน้าในวงการการเมือง ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น หากได้คนแบบนี้เข้าไปก็จะทำให้พรรคดูเป็นพรรคโลว์คอสต์ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะดูไม่ดี และนี่อาจกลายเป็นจุดอ่อนของพรรคได้