วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 16, 2560

1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 2: ‘ความแปลกใหม่’ หลังรัฐประหารและรัชสมัยใหม่ - ประชาไท





โดย เมตตา วงศ์วัด
ที่มา ประชาไท
2017-11-15


ก้าวสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 10 คดีมาตรา 112 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแตกต่างไปจากเดิม ทิศทางการดำเนินคดี 112 ยังไม่เห็นสัญญาณในทางบวกหรือทางลบอย่างชัดเจนนัก ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยังคงเป็นไป ‘ตามปกติ’ เช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมา เช่น ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา การดำเนินคดีที่ยาวนานในศาลทหารทำให้จำเลยยอมรับสารภาพ เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจในกระบวนการยุติธรรม ดังจะนำเสนอต่อไป

อาจต้องกล่าวสักเล็กน้อยก่อนว่า ช่วงก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ จะขึ้นทรงราชย์ไม่นานนักราวปลายปี 2557 ต่อต้นปี 2558 มีผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทถูกจับกุมคุมขังในความผิดตามมาตรา 112 จำนวนมาก เช่น บิดามารดาและเครือญาติของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ฯ และเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รวมถึงมีการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เป็นปริศนาของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ ‘หมอหยอง’ ในเรือนจำ มทบ.11 (เรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรี) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว เนื่องจากไม่มีญาติผู้ตายร่วมในกระบวนการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย และไม่มีการทำพิธีศพตามปกติ แม้กระบวนการพิเศษนี้จะจำกัดอยู่เพียงผู้ใกล้ชิด แต่นั่นทำให้บรรยากาศโดยรวมในสังคมเต็มไปด้วยความหวาดกลัวมากกว่าเดิม

ในส่วนของภาพรวมคดี 112 ที่เกี่ยวพันกับการแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ ไอลอว์รวบรวมตัวเลขในช่วงเวลาหลังรัฐประหารพบว่า มีอยู่ 37 ราย

การกวาดล้างครั้งใหญ่ หลังรัฐประหาร 2557

สภาพการณ์ของคดี 112 นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากและเกิดรูปแบบใหม่ๆ ในช่วงหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา อีกทั้งตัวเลขการดำเนินคดีในช่วงนี้ยังสูงที่สุดในรอบ 10 ปีด้วย

หลังการยึดอำนาจของ คสช. ผู้คนจำนวนมากถูกเรียกให้ไปรายงานตัวในค่ายทหาร นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการ นักการเมือง ตลอดจนประชาชนที่ไม่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ ด้วยความหวาดกลัวต่อการดำเนินคดี 112 เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คนจำนวนหนึ่งที่ไม่รายงานตัวและไม่ได้ลี้ภัยก็ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีนี้ใน ‘ศาลทหาร’ ผู้ต้องหาบางคนให้ข้อมูลว่า ในการสอบสวนของทหาร ‘แฟ้มประวัติ’ ของพวกเขานั้นหนามากและบรรจุความเคลื่อนไหวย้อนหลังไปหลายปีก่อนการรัฐประหาร

ตัวอย่างผู้ถูกจับและดำเนินคดีหลังรัฐประหารไม่กี่วัน เช่น เจ้าของเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ ถูกดำเนินคดี 112 และพิพากษาให้จำคุก 9 ปี, คฑาวุธ นักจัดรายการทางยูทูปชื่อดังถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี, ทอม ดันดี นักร้องชื่อดังที่เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี 10 เดือน เป็นต้น ทั้งหมดรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง มีเพียงสิรภพ หรือ รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ที่ตัดสินใจสู้คดี ซึ่งปัจจุบันนี้ยังสืบพยานได้เพียง 2 ปากหลังติดคุกมากกว่า 3 ปีแล้ว

แม้มีนักเคลื่อนไหว สื่อ ปัญญาชน นักการเมือง แกนนำระดับพื้นที่จำนวนมากถูกเรียกเข้าค่ายทหารหายไป 7 วันแล้วถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้ถูกดำเนินคดี แต่สภาพความหวาดกลัวเพิ่มขึ้นในสังคมอย่างเห็นได้ชัด บรรณาธิการวารสารวิชาการแห่งหนึ่งที่มักเผยแพร่งานวิชาการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันอย่างตรงไปตรงมาที่สุดฉบับหนึ่งในประเทศไทยตัดสินใจไม่วางจำหน่ายวารสารเล่มที่กำลังจะออก เนื่องจากมีเอกสารบางอย่างที่อาจเป็นเหตุให้โดนดำเนินคดี เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งที่มุ่งเน้นประเด็นสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ตัดสินใจยังไม่ลงรายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของวิทยุใต้ดิน เพราะแม้เขียนโดยระมัดระวังที่สุดก็มีข้อเท็จจริงของผู้ให้สัมภาษณ์ที่ปรากฏแนวคิดสาธารณรัฐอย่างชัดเจน และอาจเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีในยุครัฐบาลทหาร ความไม่แน่ใจเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อน ‘การเซ็นเซอร์ตัวเอง’ ที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นมากเพียงไหนในสังคมไทย

นอกจากนี้ยังพบว่า คดี 112 เก่าๆ ที่อยู่ในชั้นตำรวจและไม่มีความเคลื่อนไหวมานาน หรือตำรวจสั่งไม่ฟ้องไปแล้วถูกนำมาพิจารณาใหม่ ผู้ต้องหาหลายคนที่ถูกสอบสวนในค่ายทหารระบุว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่าคดีพวกเขาถูกรื้อขึ้นมาในช่วงนี้โดยเฉพาะ โดยเฉพาะคดีของผู้มีประวัติป่วยเป็นจิตเภท ไอลอว์ระบุว่า หลังรัฐประหารมีผู้ต้องหาที่ป่วยเป็นจิตเภทถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 6 คน เช่น ธเนศ-เสียงแว่วให้ส่งอีเมล, ประจักษ์ชัย-เขียนหนังสือร้องทุกข์ถึงนายกฯ, เสาร์-ร้องศาลคดีนักการเมืองให้ทวงเงินคืนจากอดีตนายกฯ, ฤาชา-ร่างทรงพระแม่ธรณีสั่งให้โพสต์เฟสบุ๊ค ฯลฯ (อ่านที่นี่) เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ของกองบังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ยืนยันว่า หลังทหารเข้ามามีอำนาจและประกาศกฎอัยการศึก ปอท.ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ในการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วกว่าเดิม เพราะไม่ต้องขออนุมัติจากศาลเหมือนยามปกติ

ประชาชนกับประชาชน ความรุนแรงแบบใหม่ช่วงสิ้นรัชกาลที่ 9

ปรากฏการณ์ ‘พิเศษ’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นและควรบันทึกไว้คือ วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ข่าวการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ถูกเผยแพร่ ประชาชนอยู่ในอารมณ์เศร้าโศก เมืองทั้งเมืองเต็มไปด้วยสีดำเพื่อไว้อาลัยต่อการสูญเสียพระองค์ และเมื่อมีใครทำบางอย่างแตกต่างออกไป เช่น ใส่เสื้อสีสดใสหรือโพสต์ข้อความที่ไม่แสดงความเคารพ ฯลฯ ก็เกิดเป็นความรุนแรงทางกายภาพในระดับปัจเจกชนต่อปัจเจกชน เช่น การตบปากหญิงสูงวัยคนหนึ่งที่น่าจะมีอาการทางจิต มีคนบอกว่า เธอ “ด่าพ่อหลวงมาตลอดทาง” ระหว่างนั่งบนรถเมล์ และท้ายที่สุดจึงถูกหญิงที่โดยสารรถเมล์มาด้วยกันเข้ามาตบปากอย่างแรงหลายครั้ง คลิปต้นฉบับถูกอัพขึ้นเฟสบุ๊ค ในเวลา 7 ชั่วโมงมียอดผู้ชม 2.3 ล้านวิว มีคนไลก์ 55,000 ครั้ง แชร์ 82,000 ครั้ง คอมเมนต์ส่วนใหญ่รู้สึกเห็นด้วย สะใจ และจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการตบปากนั้นเป็นโทษที่น้อยเกินไป

นอกจากนี้ยังมีการ ‘ล้อมบ้าน’ โดยประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เมื่อผู้คนพบเจอข้อความในเฟสบุ๊คที่สร้างความไม่สบายใจให้พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นกรณีภูเก็ต กรณีพังงา กรณีเกาะสมุยกรณีชลบุรี กรณีจันทบุรี

ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดว่ากรณีภูเก็ตนั้นถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลังการแจ้งข้อหาผู้ต้องหาสามารถประกันตัวได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยาน ส่วนกรณีชลบุรี ปรากฏการทำร้ายร่างกายหนุ่มโรงงานที่โพสต์เฟสบุ๊คในระหว่างที่ ‘ผู้หวังดี’ ตามจับตัวเขาส่งตำรวจ เขาถูกคุมขังนานกว่า 1 เดือนกว่าครอบครัวจะหาเงินมายื่นประกันตัวได้ มีรายงานยืนยันด้วยว่าในช่วงแรกที่เข้าไปในเรือนจำ เขาถูกทำร้ายร่างกายโดยนักโทษที่มีทัศนคติไม่ตรงกับเขา

ไม่มีข้อมูลว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั้งหมดกี่ครั้ง ในพื้นที่ใดอีกบ้าง และมีกี่คนที่ต้องถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่เบื้องต้นตำรวจแถลงข่าวในเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เป็นต้นมา พบว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 112 ทั้งสิ้น 27 คดี จับกุมได้แล้ว 10 คดี และอยู่ระหว่างติดตามตัวอีก 17 คดี


คุยกับอนุสรณ์ อุณโณ ปรากฏการณ์ ‘ล่าแม่มด’ ที่ทางของความเศร้า-ความโกรธ

ข้อควรพิจารณาก่อนโกรธและลงมือ: ผู้ป่วยจิตเภทกับคดี 112


จุดกระแสความไม่มั่นคง จับจากเรื่องหนึ่ง ฟ้องอีกเรื่องหนึ่ง


โดยปกติการดำเนินคดีนี้อย่างน้อยผู้ต้องหาต้องมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน แต่ในช่วงการรัฐประหาร เราพบว่ามีคดี 112 ที่เกี่ยวพันกับความรุนแรงและถูกประโคมข่าวใหญ่โต แต่ท้ายที่สุดเมื่อเรื่องเงียบ การฟ้องคดีกลับเป็นพฤติการณ์ที่ต่างไปจากการแถลงข่าวโดยสิ้นเชิง นั่นคือ ข่าวการเตรียมป่วนกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ หรือ Bike for Dad ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเป็นประธานนำการปั่น เมื่อปี 2558 โดยภาครัฐให้ข่าวว่าอาจมีการลอบสังหารบุคคลสำคัญในงานครั้งนี้

จำเลยในคดีนี้มี 6 คน โดย 3 คนในจำนวนนี้เป็นจำเลยในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ที่อยู่ระหว่างการประกันตัว พวกเขาถูกจับกุมอีกครั้ง รวมกับผู้ที่ถูกจับกุมเพิ่มอีก 3 คน ทั้งหมดถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร 7 วันก่อนส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดี มีรายงานว่าจำเลยคนหนึ่งยืนยันกับทนายความว่า โดนทำร้ายร่างกายระหว่างสอบสวนโดยทหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกฟ้องคดีปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งล้วนไม่มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับงาน Bike for Dad ตามที่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดคุยกันในเรือนจำก่อนหน้านี้ การส่งไลน์ส่วนตัว และการเขียนในสมุดบันทึกส่วนตัว

“คดีนี้แบ่งเป็น คดีที่หนึ่งมีจำเลย 5 คน เหตุมาจากการคุยกันเองในเรือนจำ คดีที่สองมีจำเลย 2 คน เหตุมาจากการส่งไลน์คุยกันก่อนหน้านี้และการเขียนบันทึกในสมุดบันทึกส่วนตัว โดยทั้งสองคดีนี้มี 1 คนที่ตกเป็นจำเลยทั้งสองคดี (ประทิน จันเกตุ) และเขายังเป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดลด้วย สรุปก็คือ เมื่อฟ้องคดีมันกลายเป็น 112 ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับงาน Bike for Dad ตามที่แถลงข่าวเลย” เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูล

“ที่น่าสนใจคือ ตอนแถลงข่าวจับกุมและรายชื่อขบวนการนี้ มีคนหนึ่งในนั้นยังอยู่ในคุกอยู่เลยจากคดีส่วนตัวที่ขัดแย้งกับภรรยา ตอนนั้นมีเสียงทักท้วงว่าคนอยู่ในคุกจะวางแผนป่วนงานได้ยังไง...ตอนนี้จำเลยทั้งหมดยังอยู่ในคุก มีคนหนึ่งที่พอมีหลักทรัพย์พยายามยื่นประกัน 3 ครั้งแล้ว แต่ไม่ได้” เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูล

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงการประกันตัวด้วยว่า เมื่อมีการสืบพยานปากสำคัญแล้วทนายความจึงยื่นประกันแต่ศาลก็ยังไม่อนุญาต พยานที่ว่าคือผู้ยืนยันการพูดคุยหมิ่นฯ ในเรือนจำ ในชั้นศาล พยานคนดังกล่าวให้การปฏิเสธว่าไม่ได้รู้จักกับจำเลยอื่นๆ และปฏิเสธเอกสารคำให้การในชั้นสอบสวนที่ได้ยืนยันถึงเหตุการณ์พูดคุยหมิ่นฯ เขาบอกว่าลงชื่อในเอกสารของเจ้าหน้าที่โดยที่ไม่ได้อ่าน เนื่องจากระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหารถูกตบ เตะ เอาถุงคลุมหัว และขู่ว่าจะเอาตัวแม่และน้องมาเพื่อให้เขารับสารภาพและเชื่อมโยงถึงคนอื่น

คดีนี้ยังคงมีการสืบพยานที่ศาลทหารขอนแก่น



ความพยายามแบบใหม่ ประกาศห้ามติดตาม ‘สมศักดิ์ เจียม’ฯลฯ


ประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ห้ามประชาชนติดตามเฟสบุ๊คของบุคคล 3 คนนับเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นเช่นกัน และหลังจากนั้นจึงมีปรากฏการณ์ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

12 เมษายน 2560 กระทรวงดิจิทัลฯ ออกประกาศให้ประชาชนทั่วไปงดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเจตนาและไม่เจตนาของ 1. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 3. Andrew Macgregor Marshall โดยอ้างว่า เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลอาญาได้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมแล้วตามกฎหมายนี้

ประกาศเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งสถานะทางกฎหมายก็ไม่ชัดเจน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและไอลอว์ออกแถลงการณ์ตอบโต้กรณีนี้ว่า การพูดเช่นนี้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ไม่มีกฎหมายใดกำหนดห้ามประชาชนติดตามใคร และการที่ศาล ‘ออกคำสั่งระงับเนื้อหาไม่เหมาะสม’ นั้นคือคำสั่งบล็อคเว็บตามที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติปีละหลายพันยูอาร์แอลอยู่แล้ว จึงนับเป็นคนละเรื่องกัน ขณะเดียวกันอธิบดีศาลอาญาก็ปฏิเสธตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า หากประชาชนละเมิดประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ จะผิดกฎหมายหรือไม่

หากดูบริบทช่วงก่อนการออกประกาศ จะพบว่า คดีของจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเพจสำนักข่าวบีบีซีไทยยังเป็นประเด็นใหญ่ที่มีกระแสต่อเนื่องมาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว จากนั้นเดือนมิถุนายนก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีหมุดคณะราษฎรหายไปแล้วแทนที่ด้วยหมุดใหม่อย่างกว้างขวาง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นโต้โผใหญ่ในการพูดเรื่องเหล่านี้ผ่านทางเฟสบุ๊คของเขา แน่นอนว่าเขาพูดอีกหลายเรื่องที่ไม่มีการพูดถึงเลยในสื่อมวลชนทั่วไป ปัญหาก็คือ ทั้งสามคนล้วนอยู่ต่างประเทศและเผยแพร่ข้อมูลความความคิดเห็นผ่านช่องทางที่รัฐไม่สามารถปิดกั้นได้โดยง่าย (อ่านที่นี่) ความพยายามจัดการกับคนภายในประเทศจึงเกิดขึ้น เช่น

1. การจู่โจมตักเตือนบุคคลที่ติดตามสมศักดิ์หลายกรณีก่อนที่จะมีประกาศ ‘ห้ามติดตาม’ ออกมาอย่างเป็นทางการ (อ่านที่นี่) และนั่นทำให้ยอดผู้ติดตาม (follower) สมศักดิ์ลดลงอย่างรวดเร็ว (1 ชม. ราว 3,000 คน) จนเขาต้องปิดตัวเลขผู้ติดตามไม่ให้ปรากฏต่อสาธารณะ

2. หลังสมศักดิ์วิเคราะห์เรื่องหมุดคณะราษฎรหาย มีการจับกุมบุคคล 6 คนที่กดแชร์สเตตัสของสมศักดิ์ หนึ่งในนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สมศักดิ์สะท้อนว่า รู้สึกเสียใจและโกรธในกรณีนี้ ทั้งที่กระทู้ดังกล่าวเขาเขียนอย่างเป็นวิชาการ

“ตั้งแต่แรกที่ได้ยินว่า ผู้ถูกจับหลายคนถูกข้อหา 112 เพราะแชร์กระทู้ผม ผมก็รู้สึกแย่มาก ในบางด้านคล้ายกับความรู้สึกสมัยแรกๆ หลังรัฐประหารที่ได้ข่าวเรื่องทหารไปคุกคามญาติและคนรู้จัก ประมาณว่า เมื่อเล่นงานผมไม่ได้ ก็ไปเล่นงานคนที่เมืองไทยแทน....ถ้าใครเห็นกระทู้นั้นก็คงพอจะเห็นว่า เป็นกระทู้ที่ผมเขียนในลักษณะที่ถือกันว่า เป็นแนววิชาการมากกว่าหลายกระทู้ (ค่อนข้างเป็นกระทู้ที่ยาว) คือเล่า-วิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลก่อนกับปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร...” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บันทึกความรู้สึกไว้ในเฟสบุ๊คเมื่อ 4 พฤษภาคม 2560

ทั้ง 6 คนถูกจับและควบคุมตัวในค่ายทหารก่อนจะมีการแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการฝากขังในเรือนจำจนครบ 7 ผัด (84 วัน) โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แต่ในท้ายที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ยกเว้นคนเดียวคือ ประเวศ ประภานุกูล ทนายความอาวุโสที่โดนแจ้งข้อกล่าวหาแบบเดียวกับคนอื่น แต่มีความผิดถึง 10 กรรม พ่วงด้วยความผิดตามมาตรา 116 อีก 3 กรรม ทั้งหมดมาจากการโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์การเมืองของเขา

การสู้คดีรูปแบบใหม่ ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม


ประเวศ ประภานุกูล เป็นทนายอาวุโสที่เชี่ยวชาญคดีแพ่ง จนกระทั่งปี 2551 เขารับว่าความให้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นรายแรกๆ โดยตัวเขาและลูกความมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันนัก (อ่านที่นี่) คดีนั้นถูกพิจารณาโดยปิดลับ มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความว่า มาตรา112 ขัดรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ ทุกประเด็นที่ต่อสู้ประสบกับความพ่ายแพ้ ดารณีถูกพิพากษาจำคุก 15 ปีในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เธอตัดสินใจไม่ฎีกาเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็วและจะได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวาระต่างๆ ความขัดแย้งทางการเมืองดำเนินเรื่อยมา ขณะที่ความคิดทางการเมืองของประเวศก็เริ่มเปลี่ยนแปลงซึ่งสามารถเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊ค ท้ายที่สุดเขาถูกจับกุมพร้อมกับกลุ่มคนที่แชร์สเตตัสของสมศักดิ์ แต่มีเขาเพียงคนเดียวที่ถูก ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ และได้ความผิดมาตรา 112 มา 10 กรรม

อย่างไรก็ตาม เขาเป็นจำเลยคนแรกที่ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ข้ออ้างหลักคือ ความไม่เชื่อมั่นในบทบาทของตุลาการที่จะพิจารณาคดีได้อย่างเป็นธรรม เนื่องจากตุลาการตัดสินคดีภายใต้พระปรมาภิไธย เขาออกแถลงการณ์ส่วนตัวและไม่ยินยอมเซ็นเอกสารใดๆ ของศาล คดีของเขาสืบพยานในเดือนพฤษภาคมปีหน้า (2561) หรือทิ้งห่างไปอีก 9 เดือนนับตั้งแต่นัดตรวจพยานหลักฐาน (อ่านที่นี่)

“มันเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ที่คิดแบบนี้มันมาจากประสบการณ์ที่ทำคดีให้ดา (ดารณี) และดูแนวทางของคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา ผมไม่มีความหวังเลยว่า จะสามารถต่อสู้คดีลักษณะนี้ได้เต็มที่และบนหลักการโดยแท้จริง” ประเวศเคยให้สัมภาษณ์

นักกฎหมายรายหนึ่งให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ในทางกฎหมายนั้น กระบวนการต่างๆ ย่อมเดินต่อไปได้ เพราะถือว่าจำเลยไม่ต้องการใช้สิทธิต่อสู้คดีเอง แต่การทำเช่นนี้ของจำเลยเป็น ‘การปลุกมโนธรรมสำนึก’ ของทั้งสังคม โดยเอาอิสรภาพและชีวิตของตนเองเข้าแลก ซึ่งดูแนวโน้มแล้วไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะประสบผล

สถิติใหม่ ผู้ต้องหาอายุน้อยที่สุด 14 ปี


“ผู้ต้องหาอายุน้อยที่สุด 14 ปีต้องกำจัดเชื้อชั่ว!!!, ทหารรวบ 9 มือเผา ‘ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ’ พบเป็น ‘เด็ก14’ รับจ้างแค่ 200 บาท ถูกปั่นหัวจัดตั้งเป็นแก๊ง, สุดเหิม!!!วางแผนเผา 3 จุด???” นั่นคือพาดหัวข่าวของสำนักข่าวทีนิวส์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า คดีนี้มีผู้ต้องหา 9 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ในจำนวนนั้นมี 2 คนที่เป็นผู้ใหญ่วัย 25 ปีและ 60 ปี นอกจากนี้ยังมีเด็กชายอายุ 14 ปีอีก 1 คน ทั้งหมดถูกจ้างวานให้ทำการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น ผู้ใหญ่ทั้ง 8 คนถูกคุมขังจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีรายงานการควบคุมตัวโดยมิชอบ เช่น การบุกคุมตัวเด็กถึงโรงเรียนนำไปค่ายทหาร การจับภรรยาผู้ต้องหาเข้าค่ายทหารเมื่อตามหาตัวผู้ต้องหาไม่เจอ (อ่านที่นี่) คดีกำลังจะเริ่มพิจารณาในช่วงปลายปี 2560 ส่วนกรณีของเด็กชายวัย 14 ปี ครอบครัวไม่ประสงค์ให้เปิดเผยข้อมูล

รัชทายาทคือใคร เรื่องเก่าที่ยังใหม่จนบัดนี้ !?

มาตรา 112 นอกเหนือจากปัญหาการตีความทางกฎหมายว่าอะไรคือ ‘การดูหมิ่น’ ซึ่งมาตรฐานปัจจุบันของศาลได้ตีความไว้กว้างขวางมากแล้ว ในส่วนที่ว่าการคุ้มครองครอบคุมพระองค์ใดบ้างก็ยังเป็นปัญหาการตีความเช่นกัน แม้ตัวบทจะเขียนไว้ชัดเจน 4 ตำแหน่ง คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ตำแหน่งที่ดูจะเป็นปัญหามากที่สุดคือ องค์รัชทายาท ประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมาหลายปีเอกสารต่างๆ ที่จะยืนยันเรื่องนี้ในการต่อสู้คดีเข้าถึงได้ยากยิ่ง ที่น่าแปลกก็คือมันยังคงเป็นเช่นนั้นแม้จะล่วงเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 10 แล้วก็ตาม

เราอาจเห็นเบื้องหลังเหตุผลที่สร้างความลำบากใจให้ผู้พิพากษาได้จากหลายคดีที่พาดพิงถึง “สมเด็จพระเทพฯ” เช่น คดีของนายประจวบ อินทปัตย์ ซึ่งเกิดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว คดีของชาญวิทย์ จริยานุกูล ที่เพิ่งพิพากษาไปในช่วงหลังรัฐประหารไม่นาน คดีของจำเลย 2 คนที่กำแพงเพชรที่ยังต้องสู้ในประเด็นนี้อีกจนปัจจุบัน ท้ายที่สุดคือคดีของอานันท์ ซึ่งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาแล้ว โดยศาลแต่ละแห่งแต่ละชั้นมีความ ‘ละเอียดอ่อน’ ต่อประเด็นนี้และให้เหตุผลแตกต่างกันไป


ประจวบ อินทปัตย์

โดนฟ้องปี 2547 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 5 ปี ศาลฎีกาลงโทษจำคุก 4 ปี การตีความเรื่อง “รัชทายาท” ของศาลมีความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ‘รัชทายาท’ หมายถึงทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดา ขณะที่ในตอนแรกอัยการได้แยกฟ้องประจวบอีกคดีหนึ่งว่า หมิ่นสมเด็จพระเทพฯ โดยใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 แต่ศาลเห็นว่าเป็นสิ่งไม่บังควร ขณะที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาอ้างอิงตามกฎมณเฑียรบาลและเห็นว่า การหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพฯ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 จึงให้ยกฟ้องในส่วนดังกล่าว และลงโทษเพียงส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

ถ้อยคำของศาลชั้นต่างๆ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ศาลชั้นต้น:
“คำว่า ‘รัชทายาท’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง ผู้จะสืบราชสมบัติ มิได้กล่าวถึงคำว่า ‘สิทธิ’ (RIGHT) แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อประมวลประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อตีความแล้วย่อมต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกับคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ และ ‘พระราชินี’ ที่บัญญัติไว้ก่อนหน้าคำว่า ‘รัชทายาท’ ดังนี้ คำว่า ‘รัชทายาท’ แห่งบทบัญญัติมาตรา 112 จึงหมายความถึง ‘พระราชโอรส’ หรือ ‘พระราชธิดา’ ทุกพระองค์ของพระมหากษัตริย์ หาใช่เพียงลำพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง...จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงอยู่ในความหมายของคำว่า ‘รัชทายาท’ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ทั้งนี้มิได้มีประเด็นก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคำว่า พระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด...การแปลกฎหมายที่มีการกระทำความผิดต่อสมเด็จพระเทพฯ โดยนำมาตรา 326 มาปรับใช้ร่วมกับประชาชนบุคคลธรรมดา ย่อมมิอาจกระทำได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และเป็นสิ่งที่มิบังควรอย่างยิ่ง การตีความดังกล่าวเป็นอำนาจทั่วไปที่ศาลจะพึงใช้เพื่อให้มีสภาพบังคับตามกฎหมายโดยคำนึงถึงนิติธรรมประเพณี เจตนารมณ์หรือหลักการทางกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วทั้งหมดเพื่อผดุงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความยุติธรรมทั้งปวง”

ศาลอุทธรณ์ (และศาลฎีกา): “เนื่องจากโจทก์เป็นพนักงานอัยการของรัฐ ได้ทำการตรวจสอบสถานะของสมเด็จพระเทพฯ แล้ว เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยอำนาจฟ้อง การถอนหรือแต่งตั้งองค์รัชทายาทเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อันเป็นกฎหมายเฉพาะ เมื่อสมเด็จพระเทพฯ มิใช่องค์รัชทายาท จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”


ชาญวิทย์ จริยานุกูล


คดีนี้ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาไปเมื่อปี 2558 การกระทำความผิดเกิดในปี 2550 เขาถูกกล่าวหาว่าแจกใบปลิวชุดหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ในเอกสารเอ่ยถึง 1.ในหลวงรัชกาลที่ 9 2.สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 3.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ 4.สมเด็จพระเทพฯ คำฟ้องของอัยการระบุว่าเขาทำผิด 4 กรรม โดยนับตามการกล่าวถึง 4 พระองค์

จำเลยต่อสู้ว่า แจกใบปลิวจริงแต่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนาดี นอกจากนี้ การแจกเอกสาร 1 ชุดควรนับเป็น 1 กรรม แต่หากศาลจะลงโทษตามแนวทางของอัยการก็เข้าองค์ประกอบเพียง 3 พระองค์เท่านั้น ทนายความจำเลยให้ข้อมูลว่า อัยการได้ทำจดหมายหารือไปยังสำนักพระราชวังเพื่อสอบถามว่า รัชทายาทมีกี่พระองค์ และได้รับหนังสือตอบกลับว่า องค์รัชทายาทคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์เดียว แต่เอกสารนี้ศาลเรียกทนายและอัยการไปดูในห้องพิจารณา โดยไม่อนุญาตให้ทนายคัดถ่าย

“การกระทำของจำเลยนั้นถือเป็นการละเมิดดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และทรงทำคุณอเนกอนันต์ให้แก่ประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย ข้อความที่จำเลยเขียนเผยแพร่ในใบปลิวถือเป็นการทำให้สถาบันเสื่อมเสีย มีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ส่วนประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ถือเป็นรัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่นั้น ศาลไม่วินิจฉัยเรื่องนี้เนื่องจากไม่จำเป็น เพราะการกระทำของจำเลยนับเป็นกรรมเดียวอยู่แล้ว” ศูนย์ทนายฯ รายงานถึงส่วนหนึ่งของคำพิพากษา


อัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์


คดีนี้เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี 2558 เป็นคดีแอบอ้างว่าสามารถกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดงานปิดทองฝังลูกนิมิตรของวัดได้ และมีผู้ไปเรียกรับเงินจากวัด จำเลยมี 4 คน รับสารภาพ 2 คน ถูกลงโทษฐานสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ปลอมแปลงเอกสารราชการ รวมถึงมาตรา 112 ให้จำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี 8 เดือน ปัจจุบันจำเลยทั้งคู่ได้ออกจากเรือนจำแล้วเนื่องจากได้รับการลดโทษจากการพระราชอภัยโทษเป็นการทั่วไป ขณะที่จำเลยอีก 2 คนที่สู้คดียังถูกจำคุกจนปัจจุบัน และทนายความพยายามต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเอกสารแผ่นเดียว

รอบแรก ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารฉบับหนึ่งจากศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยคดีนั้นถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพฯ เช่นกัน พนักงานสอบสวนคดีนั้นทำหนังสือไปถึงสำนักพระราชวังเพื่อสอบถามสถานะของสมเด็จพระเทพฯ และได้รับหนังสือตอบกลับว่า ผู้ได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทมีเพียงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (ขณะนั้นอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 9) เอกสารฉบับนี้ถูกอ้างอิงในศาลธัญบุรีและพนักงานสอบสวนก็มาเบิกความด้วย อีกทั้งจำเลยยังชนะคดี

“ศาลไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกหนังสือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ไม่ปรากฏความมีอยู่แน่ชัดของเอกสารชิ้นนี้ ทั้งที่เรามีการระบุถึงเลขหนังสือของสำนักพระราชวัง” ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความจำเลยกล่าว

รอบสอง ทนายความยื่นคำร้องใหม่อ้างคำเบิกความของพนักงานสอบสวน อ้างคำฟ้องในคดีของศาลจังหวัดธัญบุรีและบรรยายถึงความสำคัญของเอกสารชิ้นนี้ว่ามีการตอบข้อหารือของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่สำคัญที่จำเลยต่อสู้ ศาลไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียก

“ศาลเรียกทนายไปคุย บอกเพียงคร่าวๆ ว่า ศาลไม่อาจไปก้าวล่วงได้” ธีรพันธุ์กล่าว

รอมสาม ทีมทนายความค้นเจอเอกสารในเว็บไซต์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งตอบข้อหารือของกรมตำรวจเมื่อปี 2532 ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นรัชทายาทพระองค์เดียว คราวนี้ศาลอนุญาตให้ออกหมายเรียกเพื่อขอเอกสารจากกฤษฎีกา แต่เมื่อนำหมายไปส่งเพียงวันเดียว เอกสารที่เคยปรากฏในเว็บไซต์ก็ถูกถอดออก พร้อมกับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งแฟกซ์มายังศาลว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารลับของทางราชการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ โดยอ้างตามระเบียบการรักษาความลับของทางราชการและ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ขณะนี้ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกเลขาธิการกฤษฎีกามาสอบถามถึงเหตุที่ไม่ส่งเอกสารฉบับนี้ว่า มีเหตุตามสมควรหรือไม่

“โดยปกติแล้ว การต่อสู้คดีต้องเปิดโอกาสให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้เต็มที่ พอเป็นคดีนี้รู้สึกว่า ทุกกระบวนการที่กฎหมายให้อำนาจ ให้สิทธิเราไว้ พอเราจะใช้สิทธิ มันตีบตัน มันพบอุปสรรคไปเสียหมด ในคดีอื่นๆ เราไม่เคยพบอุปสรรคขนาดนี้มาก่อน” ธีรพันธุ์กล่าว


อานันท์

คดีนี้ไม่เป็นข่าว เขาถูกกล่าวหาว่า พูดคุยกับเพื่อนโดยพาดพิงสมเด็จพระเทพฯ เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2555 และตำรวจสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 คดีประเภทนี้ถูกนำกลับมาทบทวนใหม่ เขาถูกฟ้องที่ศาลธัญบุรี ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ตาม อัยการได้ดำเนินการฎีกาต่อ คดีจึงยังไม่สิ้นสุด

บุคคล/สิ่งใหม่ ที่ได้รับการคุ้มครองตาม ม.112


หากดูตามตัวอักษร มาตรานี้ระบุ ‘ตำแหน่ง’ ปัจจุบันที่ได้รับการคุ้มครอง 4 ประเภท แต่การตีความกฎหมายในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ศาลนั้นกว้างขวางไปกว่านั้นมาก เท่าที่ปรากฏพบว่ามันครอบคลุมถึง อดีตกษัตริย์ สุนัขทรงเลี้ยง พระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ และบางกรณีอาจวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ถึงองคมนตรี มีตัวอย่างคดีที่ไล่เรียงตามช่วงเวลาดังนี้

ณัชกฤช จัดรายงานวิทยุชุมชนในปี 2548 เขาตอบคำถามผู้ฟังที่โทรเข้ามาถามเรื่องที่เขาสอบตกในการเลือกตั้งท้องถิ่น เขาอธิบายโดยเปรียบเทียบว่า ถ้าได้เข้าไปแล้วเหมือนสมัยรัชกาลที่ 4 เขาจะไม่ทำ อัยการฟ้องว่า เขากล่าวว่าการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นเป็นระบบทาสซึ่งเป็นการปกครองที่ไม่ดี การกล่าวเช่นนี้ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระองค์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เขามีความผิดจริงตามฟ้อง ให้จำคุก 4 ปี รับสารภาพเหลือ 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ ต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาเพราะเห็นว่า คำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ขณะมีการกระทำความผิด

“โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาทกษัตริย์ รัชกาลที่ 4 ซึ่งไม่ได้ครองราชย์ขณะที่จำเลยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้” ศาลอุทธรณ์ระบุ

ท้ายที่สุดศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น โดยเห็นว่า การหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐด้วย

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด’ ปี 2551 เธอถูกจับกุมคุมขังและถูกฟ้องในความผิด 3 กรรมจากการปราศรัยบนเวทีเล็กๆ ที่สนามหลวง เนื้อหาส่วนหนึ่งมีการพาดพิงถึงบุคคลที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่ง เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการที่ศึกษากฎหมาย 112 มายาวนานได้ตั้งข้อสังเกตส่วนหนึ่งในคำตัดสินของศาลไว้ว่า คำพิพากษาอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 12 (รัฐธรรมนูญ 2540) ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งประธานองคมนตรี ทำให้ดูราวกับว่า มาตรา 112 นี้พลอยทำให้ประธานองคมนตรีได้รับการคุ้มครองไปด้วย

“แม้คำตัดสินจะไม่ระบุออกมาตรงๆ ก็ดูเหมือนว่า การวิพากษ์วิจารณ์เปรมของดารณีนั้นไปละเมิดดุลยพินิจในการแต่งตั้งประธานองคมนตรีของกษัตริย์” บทความของสเตร็คฟัส ในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับกรกฎาคม-กันยายน 2552 ระบุ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในปี 2554 อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 มาแล้วเนื่องจากเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การประทานสัมภาษณ์ของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ คดีนี้กองทัพบกเป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ ปัจจุบันสมศักดิ์ลี้ภัยไปยังต่างประเทศตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 2557

ฐนกร ปลายปี 2558 หนุ่มโรงงานถูกฟ้องคดี 112 จำนวน 2 กรรม เนื่องจากไปกดไลก์ภาพและข้อความในเฟสบุ๊คแฟนเพจแห่งหนึ่งที่เข้าข่ายความผิด กับโพสต์ประชดประชันเกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง (คุณทองแดง) ในเฟสบุ๊คส่วนตัว แต่ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า เขาถูกดำเนินคดีนี้ในช่วงที่ ‘คดีทุจริตราชภักดิ์’ กำลังโด่งดัง และกรรมที่ 3 ของเขาเป็นความผิดฐานปลุกปั่นยุยงเพราะโพสต์ภาพคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการราชภักดิ์ ซึ่งต้นทางของภาพมาจากกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาที่รณรงค์การตรวจสอบประเด็นความโปร่งใสของโครงการ เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาในข่าวต่างประเทศหลายสำนัก เขาถูกคุมขังอยู่ถึง 3 เดือนกว่าจะได้ประกันตัว คดีถูกพิจารณาที่ศาลทหาร นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 9 ตุลาคม 2560 ตำรวจสั่งฟ้องในคดีที่เขาร่วมอภิปรายเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาด้วยเหตุผลว่าเขาหมิ่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะกล่าวว่า การทรงยุทธหัตถีไม่มีจริง ฯลฯ อัยการทหารนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีนี้ต่อศาลทหารในวันที่ 7 ธันวาคม นี้

เงื่อนไขใหม่ สืบพยานนานจนลงเอยที่ ‘รับสารภาพ’


ระหว่างที่ผู้ต้องหาคดี 112 ต่อสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะไม่ได้รับการประกันตัว เหตุผลหลักของศาลไม่ว่าศาลทหารหรือศาลพลเรือน คือ “คดีมีความร้ายแรง” “เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี” แต่ความยาวนานในการสืบพยานนั้นต้องยกให้ศาลทหาร สาเหตุเพราะมีการ ‘เลื่อน’ ไปเรื่อยๆ และการนัดสืบพยานไม่ใช่การนัดต่อเนื่องเช่นศาลอาญา

สำหรับศาลอาญา หากเริ่มสืบพยานเมื่อใด ฝ่ายโจทก์และจำเลยจะได้วันนัดเป็นชุด 2 วัน 3 วัน 5 วันแล้วแต่จำนวนพยานในบัญชีพยาน สืบให้เสร็จทั้งหมดแล้วนัดพิพากษาคดี ส่วนศาลทหารนั้นจะนัดทีละ 1 นัด และมักมีการเลื่อนเป็นประจำ เมื่อเลื่อนแล้วก็จะนัดครั้งใหม่ในเดือนหน้าหรือกระทั่งห่างกัน 3-4 เดือน

“อันที่จริงแล้วมีจำเลยหลายคนที่อยากจะสู้คดี เช่น สมัคร ธารา วิชัย คฑาวุธ อารีย์ คนเหล่านี้อยากสู้คดีทั้งนั้น บางคนสู้ว่าไม่เจตนา บางคนอยากสู้ในทางเนื้อหาด้วยว่าไม่ได้หมิ่น ถ้าขึ้นศาลพลเรือนคงสู้สุดทางแน่นอน แต่นี่เป็นศาลทหาร และหลายคนเปลี่ยนใจเพราะถูกขังนานมาก” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ที่ติดตามคดี 112 มายาวนานกล่าว

ยิ่งชีพเปรียบเทียบระบบการจัดการของศาลอาญาเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ในศาลอาญา หากพยานไม่มา ศาลอาจให้โอกาสอีกในนัดหน้า แต่หากไม่มาอีกจะต้องตัดพยานนั้นทิ้ง ไม่ใช่เลื่อนแบบไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนศาลทหาร

“ในศาลทหาร เวลาพยานติดราชการจะรู้ก่อนอยู่แล้วแต่ไม่มีการแจ้งทนาย พอถึงวันสืบพยาน สิบโมงครึ่ง ทุกคนมาเต็มห้อง ศาลเดินเข้ามา คำถามแรกที่ศาลถามคือ เอายังไงดีคดีนี้ ทั้งที่เป็นนัดที่สองนัดที่สามแล้วก็ยังถาม พอทางจำเลยยืนยันว่าจะสู้ ศาลก็บอกว่า พยานไม่มานะวันนี้ ติดราชการ นัดอีกทีนู่น 3 เดือน” ยิ่งชีพกล่าว

การเลื่อนสืบพยานไปเรื่อยๆ ของศาลทหาร นอกจากส่งผลเสียต่อจำเลยแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานของทนายความด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่รับทำคดี 112 เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทนายทั่วไปมักหลีกเลี่ยงการทำคดีนี้และจำเลยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

ภาวิณี ชุมศรี อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า การสืบพยานต่อเนื่องแบบศาลอาญาทำให้ทนายความมีสมาธิจดจ่อทีละคดีอย่างเต็มที่ ขณะที่ศาลทหารนั้นพยานแต่ละปากอาจใช้เวลาถึง 2-3 นัด แต่ละนัดห่างกันหลายเดือน

“ยกตัวอย่างเช่น เดือนกันยายนที่ผ่านมามี 3 คดีที่ต้องสืบที่ศาลทหาร คือ ถามค้านพยานทหารที่จับแม่จ่านิว เขาเคยให้การไว้หลายเดือนแล้ว เราก็เตรียมอ่านสำนวนย้อนหลัง เตรียมคำถามค้าน ถึงวันนัดปรากฏพยานไม่มา วันรุ่งขึ้นต้องถามค้านพยานคดีพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) ซึ่งถามไว้คราวที่แล้วเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ยังถามไม่จบ ก็ต้องไปนั่งอ่านว่าถามอะไรไปแล้วบ้าง พอไปถึงศาล พยานไม่มาอีก อาทิตย์ต่อมามีคดีคุณอัญชัญประชุมคดีกับทนายคนอื่นเรียบร้อย เพื่อถามพยานปากนี้ ปรากฏพยานไม่มาอีก นัดอีกทีเดือนมกราปีหน้า นี่แค่ส่วนหนึ่ง ทุกอย่างมันกระจัดกระจายและยาวนานมาก” ภาวิณีกล่าว

ทั้งนี้ นอกเหนือจากสภาพบังคับ (รับสารภาพ) ในแง่ความยาวนานในการพิจารณาคดีแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าในบางกรณีจำเลยก็เปลี่ยนใจเพราะได้รับการติดต่อพูดคุยจากฝ่ายความมั่นคง มีจำเลยคนหนึ่งให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพูดคุยระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ โดยบอกว่าหากรับสารภาพจะทำให้โทษน้อยลงและจะช่วยผลักดันกระบวนการให้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษโดยเร็ว เขาจึงตัดสินใจรับสารภาพทั้งสองคดี แต่กลับถูกลงโทษหนักและจนถึงปัจจุบันการขอพระราชทานอภัยโทษไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

แนวทางใหม่ของโทษจำคุก

‘ยี่ต๊อก’ เป็นภาษาปากที่หมายความถึง แนวทางการกำหนดโทษจำคุกของศาลแบบกว้างๆ และไม่เป็นทางการ เพื่อให้คดีลักษณะเดียวกันมีแนวการลงโทษใกล้เคียงกัน

ตั้งแต่ราวปี 2550 มาจนถึงก่อนการรัฐประหาร เราพอจะเห็นกรอบการลงโทษของศาลอาญาได้ว่า ส่วนมากจะกำหนดโทษจำคุก 5 ปีต่อกรรม เช่น คดีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล คดีอำพล ตั้งนพกุล คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ฯลฯ นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะโทษสูงกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ปรากฏให้เห็นน้อยมาก ส่วนมากเป็นคดีที่เงียบและไม่ได้รับความสนใจ เช่น คดีที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด เคยกำหนดโทษจำคุก 3 ปีและให้รอการลงโทษ จากการมีใบปลิวเข้าข่ายหมิ่นฯ อยู่ที่เถียงนา

หลังการรัฐประหาร เมื่อคดี 112 ถูกกำหนดให้ต้องขึ้นศาลทหาร โทษของคดีนี้มีความยืดหยุ่นสูงขึ้นมาก เกือบทั้งหมดเป็นการลงโทษหนัก คือ จำคุก 9-10 ปีต่อกรรม ไม่ว่าจะเป็น เธียรสุธรรม พงษ์ศักดิ์ เครือข่ายบรรพต ฯลฯ หรือลงโทษ 7 ปีต่อกรรม ในกรณีของบุรินทร์ที่แชทกับ ‘แม่จ่านิว’ ในกล่องข้อความเฟสบุ๊ค

ขณะที่โทษจำคุกต่ำสุดที่ศาลทหารนั้นลงไปถึง 3 ปี แต่ก็พบเพียงกรณีเดียวคือ โอภาสชายสูงวัยที่เขียนผนังห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังพบการลงโทษจำคุก 5 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้อีก 1 กรณีคือ คดีเผยแพร่แถลงการณ์ปลอมของผู้ดูแลเว็บ ASTV และประชาชนอีกคนหนึ่ง

ส่วนศาลพลเรือนในช่วงเวลา 3 ปีเศษที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช. เราพบว่า การกำหนดบทลงโทษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น คดีปิยะ ซึ่งถูกแยกเป็น 4 กรรม (จากพฤติการณ์การส่งอีเมลจากสองอีเมล) แม้ศาลลงโทษเพียงกรรมเดียว แต่ลงโทษจำคุกถึง 8 ปี (เขาถูกฟ้อง 112 อีกคดีหนึ่งในเวลาใกล้เคียงกันถูกลงโทษจำคุก 9 ปี) คดีชาญวิทย์ อัยการฟ้องแยกเป็น 4 กรรม จากใบปลิวฉบับเดียวแยกตามการกล่าวถึงพระองค์ต่างๆ แม้ศาลลงโทษเพียงกรรมเดียว แต่ก็ลงโทษจำคุกถึง 6 ปี

“ช่วงหลังรัฐประหาร พอศาลทหารลงโทษเป็นสิบปี ดูเหมือนยี่ต๊อกของศาลอาญาจะเพิ่มขึ้นจากของเดิม (5 ปี) ด้วยเช่นกัน” ทนายความคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต


รายงาน: ใบปลิวหมิ่นฯ จากเถียงนา ประมวลการสืบพยานคดี 112 ที่ร้อยเอ็ด
รายงาน: อีเมล-พ่อ-และปิยะ คำตัดสินจำคุก 8 ปีคดี 112 มาตรฐานใหม่ศาลอาญา


อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า โทษโดยรวมหลังยุครัฐประหาร โดยเฉพาะคดีที่พิจารณาในศาลทหารนั้นสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เนื่องจากความผิดส่วนมากเกิดในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย การนับ ‘กรรม’ หรือจำนวนการกระทำความผิดที่ตำรวจและอัยการฟ้องจึงเป็นการนับจำนวนครั้งที่โพสต์หรือแชร์ จำเลยจึงถูกลงโทษเรียงกรรม เช่น ธารา ถูกลงโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน จาก 12 ลิงก์ที่เผยแพร่, พงษ์ศักดิ์ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี จากการโพสต์เฟสบุ๊ค 6 ครั้ง, วิชัยถูกลงโทษจำคุก 70 ปีจากการโพสต์เฟสบุ๊ค 10 ครั้ง และอัญชัญ ผู้ต้องหาหญิงคนหนึ่งในเครือข่ายบรรพตถูกฟ้องมากถึง 29 กรรมจากการแชร์คลิปบรรพต 29 ครั้ง ขณะนี้คดีนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 หลังถูกคุมขังมานานกว่า 3 ปี

นอกจากนี้ ‘ค่าพื้นฐาน’ อีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังก็คือ การพิจารณาคดีแบบปิดลับ ศาลทหารนั้นในทางปฏิบัติ การเปิดให้สาธารณะเข้าฟังนับเป็นข้อยกเว้น ขณะที่ศาลอาญาซึ่งก่อนหน้านี้การปิดลับเป็นข้อยกเว้น ก็มีสภาพที่ปิดลับมากขึ้นเรื่อยๆ

มิอาจต่อสู้เนื้อหา สิ่งเก่าที่ไม่เปลี่ยนแปลง

แนวคิดที่แตกต่างนั้นปรากฏอยู่ในทุกสังคม และเป็นสิ่งที่สังคมเสรีประชาธิปไตยพึงยอมรับในการแสดงออกถึงความแตกต่าง แต่สำหรับประเทศไทยการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองมักมีเพดานอยู่ที่การไม่อาจก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ไม่ว่ากรณีใดๆ แม้จะด้วยความเชื่อโดยสุจริตและเจตนาดีก็เป็นการยากเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกดำเนินคดีและยากต่อการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม

ท่ามกลางคดี 112 ที่เพิ่มจำนวนขึ้น เราพบว่า หลายกรณีไม่ใช่ถ้อยคำหยาบคาย และพวกเขาต้องการสู้คดีแม้จะถูกคุมขังระหว่างสู้คดีอย่างยาวนาน ปัญหาสำคัญคือ สาธารณชนไม่อาจล่วงรู้ว่าพวกเขาพูดอะไร ผิดหรือถูกเพียงไหน มีเหตุผลหรือไม่ เพราะข้อความต่างๆ ไม่อาจนำเสนอซ้ำได้ เนื่องจากผู้นำเสนออาจถูกดำเนินคดีได้ด้วยเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง

คดีของดารณีตั้งใจสู้ในประเด็นเนื้อหา ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ จึงไม่มีใครได้เห็นข้อต่อสู้และข้อถกเถียงในศาล แม้มีคำพิพากษาแล้ว สื่อมวลชนก็เผยแพร่เพียงข้อสรุปสั้นๆ (ขณะที่สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้เผยแพร่ข้อความของดารณีในเวทีปราศรัยผ่านดาวเทียม ศาลพิพากษาว่า กระทำไปด้วยเจตนาดี จึงพิพากษายกฟ้อง)

คดีของสมยศ มีการต่อสู้ในทางเนื้อหาและศาลไม่สั่งพิจารณาลับ กระนั้นผู้คนก็ไม่มีโอกาสได้อ่านบทความต้นเรื่องทั้งหมด และเห็นเพียงการต่อสู้ว่า ถ้อยคำที่ 1,2,3,.... หมายถึงใคร ระหว่างฝ่ายโจทก์และจำเลย โดย ‘ตัวแทนของวิญญูชนทั่วไป’ ได้แก่ พยานผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนที่เบิกความถึงการตีความของตน และพยานทั่วไปซึ่งเป็นนักศึกษาฝึกงานของดีเอสไอเอง

คดีของสิรภพ การสืบพยานในศาลทหารเป็นไปโดยปิดลับและยังอยู่ที่พยานโจทก์ปากที่ 2 เราจึงไม่อาจล่วงรู้ข้อมูลใดได้ นอกจากคำบอกเล่าของทนายที่ว่า คดีนี้ขึ้นอยู่กับการตีความอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นงานศิลปะอย่างบทกวีและภาพการ์ตูนเสียดสี

“วิธีสู้ที่เห็นว่าจะได้ยกฟ้องอยู่บ้างคือ ‘ไม่ได้ทำ’ เท่านั้น ถ้าสู้ว่า สิ่งที่พูด ‘ไม่หมิ่น’ หรือไม่ได้เจตนาหมายถึงสถาบันนั้นสู้ยาก ยังไม่เห็นมีใครรอด ยกเว้นคดีเก่านานมากแล้วของ ส.ศิวรักษ์” ยิ่งชีพจากไอลอว์กล่าว


ในตอนสุดท้าย จะเป็นการนำเสนอมุมมองวิพากษ์ต่อตุลาการ และมุมมองจากตุลาการเอง ว่าด้วยคดี 112



เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ