วันศุกร์, พฤศจิกายน 04, 2559

มารู้จัก 'United in Diversity' หลักสิทธิบุคคลของ EU





ประชาคมอาเซียน AC คือการมอง EU สหภาพยุโรป เป็นต้นแบบ แต่ขาดการนำหลักการสำคัญมาใช้ คือหลักเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการมุ่งสร้างประโยชน์สุขและชีวิตที่ดีขึ้นกว่าของประชาชน

ยุโรปเมื่อเข้าสู่การสร้างรัฐชาติเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว สิ่งที่ตามมาคือสงครามและการทำลายล้าง กระทั่งศตวรรษที่ 20 เป็นสงครามโลกทั้งสองครั้ง

สงครามโลกทั้งสองครั้ง สมรภูมิหลักอยู่ในยุโรป ฝรั่งฆ่ากัน สร้างเครื่องมืออาวุธและเคมีระเบิดรถถังเครื่องบินเพื่อประหัตประหารกันอย่างขนานใหญ่

ภาพสะท้อนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำลายจิตใจที่ดีงามและความเบิกบานของมนุษย์ ดังปรากฏในนวนิยายและหนังเรื่อง “แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” แต่งเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อ Im Westen nichts Neues เมื่อปี 1929/2472 และเป็นหนังในปีต่อมา

เพียงระยะปีครึ่งมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ 25 ภาษา ขายได้กว่า 2.5 ล้านเล่ม ชื่อภาษาอังกฤษ All Quiet on the Western Front และมีการแปลเป็นภาษาไทยอย่างทันทีในปีเดียวกับที่หนังสือออกมา แปลในวารสารรายเดือน รวมพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ “ทหารราบ” ในปี 2478

สงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีฮิตเลอร์เยอรมันประสบความสำเร็จที่ทำให้คนต้องแสดงตนว่ารักจนคลั่งชาติ ทำให้คนต้องยกมือขวาตามท่านผู้นำ สร้างหน่วยยุวชนให้แต่งตัวทหารและฝึกอาวุธเพื่อการรบ (นี้คือต้นแบบยุวชนทหารของไทย ที่วันนี้คือ รด. ที่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังต่อต้านการให้เยาวชนมาฝึกทหาร เพราะนี้คือรากเหง้าของรุนแรงเชิงคลั่งชาติ)

และปลุกเร้าทำให้คนพร้อมที่จะทำร้ายล่วงล้ำสิทธิของผู้หนึ่งผู้ใดได้อย่างรุนแรง หากทำตัวแตกต่าง ไม่ทำตาม

สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945/2488 ยังตามมาด้วยสงครามเย็น ที่แบ่งเยอรมันออกเป็น 2 ประเทศ เยอรมันตะวันออก เยอรมันตะวันตก และสร้างกำแพงเบอร์ลิน แบ่งเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก

ดังนั้น ความฝันของผู้นำใหม่ในยุโรปคือ ทำอย่างไรให้ยุโรปเกิดสันติภาพ และยุติสงครามได้เสียที

สหภาพยุโรปในวันนี้ จึงมีจุดเริ่มมาจากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า [the European Coal and Steel Community (ECSC)] ที่ตั้งขึ้นในปี 1951/2494 และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป [the European Economic Community (EEC)] ที่ตั้งในปี 1958/2502 (ต้นแบบ AEC ทีเดียว)

สถานการณ์ในยุโรปเปลี่ยนแปลง เมื่อกำแพงเบอร์ลินที่ยาว 155 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการหลบหนีของคนเบอร์ลินตะวันออกไปตะวันตกเมื่อเดือนสิงหาคม 1961/2504 เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งโลกทางอุดมการณ์ คอมมิวนิสต์กับโลกเสรี ได้ถูกทุบทำลายเมื่อพฤศจิกายน 1989/2532

ตามมาด้วยการล่มสลายของมหาอำนาจใหญ่คอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียต [the Union of Soviet Socialist Republics (USSR)] ที่สถาปนาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ปี 1917/2460 แต่ต้องล่มลงก่อนสิ้นปี 1991/2534

ดังนั้น ยุโรปจึงก้าวกระโดดครั้งสำคัญในการสร้างสหภาพยุโรปด้วยสนธิสัญญาแมสทริชทในปี 1993/2536 (อาเซียน สร้างประชาคมอาเซียน ASEAN Community ในปี 2003/2546 ตามหลัง EU หนึ่งทศวรรษ)

และการแก้ไขรากฐานทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้กับสมาชิกทุกประเทศด้วยสนธิสัญญาลิสบอน ที่บังคับใช้ในปี 2009/2551

หลักสิทธิบุคคลของ EU คือ ไม่มีใครที่จะไปตบปากทุบตีคนอื่นได้โดยไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย เพราะหากกฎหมายไม่ถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมและทั่วไป รัฐนั้นก็ไม่สามารถประกันถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านอื่นๆ ของมนุษย์ ดังนั้น รัฐก็จะทำการล่วงล้ำสิทธิอื่นๆ ของประชาชนตลอดเวลา จนสร้างความกลัวและการครอบงำในแบบยุคนาซีฮิตเลอร์ และจะนำไปสู่สงครามการทำลายล้าง ไม่ได้สร้างสันติภาพของความสุขการมีชีวิตที่ดีร่วมกันของมนุษยชาติ

หลักเสรีภาพของ EU ได้ทำลายพรมแดนของประเทศ ที่ตลอดมาถูกครอบงำไว้ด้วยมายาคติ “ความมั่นคง” และภารกิจของกองทัพและทหาร ที่ต้องสูญเสียทรัพยากรที่ควรนำไปสร้างชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนไปจำนวนมาก และพรมแดน/เส้นเขตแดน ยังเป็นตัวจุดประกายและฝั่งความเกลียดชังระหว่างคนชาติต่างๆ ให้เป็นเขาเป็นเรา และนำไปสู่การสงคราม ดังนั้น EU จึงทำให้เกิดภาวะ “ไร้พรมแดน” ใน EU ที่ผู้คนเดินทางกันได้อย่างเสรี

ทั้งหลักเสรีภาพ ก็จะทำให้มนุษย์สร้างสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้ความเชื่อการครอบงำการบงการของสิ่งใด ... เพราะมนุษย์เกิดมาอย่างเสรี

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบแล้ว ASEAN ฝันอยากมั่งคั่ง แต่ก็เต็มไปด้วยความกลัว ... กลัวจะสูญเสียสถานภาพของชนชั้นนำในแต่ละประเทศ หากประชาชนมีหลักสิทธิและเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ เพราะประเทศในอาเซียน ชนชั้นนำหลายประเทศยึดกอดคำ “ความมั่งคง” ไว้อย่างแน่น โดยไม่ใส่ใจต่อความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซของประเทศชาติ ประชาชน และลูกหลานของพวกเรา

ฟังข้าพเจ้าในรายการ “อาเซียนเรียนรู้” ตอน มองอาเซียน มองอียู ได้ที่ FM92 AM1161 เสาร์ 5 พ.ย. 59 นี้ เวลา 08.00-09.00, 22.00-23.00

ที่มาข้อมูล
https://europa.eu/european-union/index_en
https://en.wikipedia.org/wiki/European_Union


ที่มา FB