วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 27, 2559

อนาคตไทย ใต้แผน 'การบริหารปกครองอย่างครอบงำ'





จังหวะพอดีจะถึงวาระสำคัญประชุม ครม. และ สนช. จันทร์นี้ เมื่อวานโพลกรรณิกาออกมาชูแบบแผนปกครองที่จะให้มีคณะผู้วิเศษบงการเหนือรัฐบาลปกติที่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เสียแต่ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าใครกันนะที่น่าจะเป็นผู้วิเศษเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้งดังว่า แค่แย้มๆ จะให้เชื่อว่า “โพล ชี้คน ๘๒.๔ เปอร์เซ็นต์ระบุ คสช. แก้ปัญหาบ้านเมืองได้ดี” อะ

ถามว่าโพลใครวะ อ้อ ‘นพดล กรรณิกา’ ณ เอแบ็คขาเก่าไงล่ะ เจ้านี้เคยทำน้ำลายไหลเปื้อนหน้าแข้ง คสช. มาแล้วหลายครั้ง หลังจากเงียบหายไปพักใหญ่ คราวนี้กลับมาในนาม ‘ซูเปอร์’





“(SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่องสมการการเมือง จัดตั้งรัฐบาลอนาคต” จากตัวอย่าง (เดิมๆ) ผู้ตอบคำถาม ๑,๑๐๔ คนคาดการณ์ โดยอ้างว่า

“หากมีการเลือกตั้งปลายปีหน้า พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๖๐.๕ ระบุสมการการเมืองจัดตั้งรัฐบาลอนาคต มีพรรคการเมืองใหญ่ + พรรคการเมืองเล็ก + พรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

แล้วมาลงที่ “น่าสนใจคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ ๕๔.๑ (หรือประมาณเกือบ ๖๐๐ คน) เห็นด้วยที่จะมี ‘ซุปเปอร์รัฐบาล’ ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกต่อหนึ่ง”

(http://www.thairath.co.th/content/794841)

นี่เทียบเคียงได้กับ ม.๔๔ โมเดลไม่ผิดเพี้ยน อำนาจสารพัดนึกตอนนี้ใช้เองโดยตรง แต่ต่อไปใช้กำกับคณะผู้บริหารประเทศที่ประชาชนเลือก หากว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลเสียเอง

เห็นจะจะ ลักษณะการกำกับของซูเปอร์รัฐบาลในอนาคต จากตัวอย่างที่ทำแล้วเวลานี้ใกล้จะเสร็จก็คือ การปรับร่าง พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอแก้ไข





“ตามแนวทางและยุทธศาสตร์ของเหล่าทัพ กำหนดมาตรการตอบโต้เชิงรุก ให้หน่วยงานความมั่นคงทางทหารและตำรวจร่วมเป็นคณะกรรมการทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการ”

เสนอปรับใหม่บุคคลในตำแหน่งที่จะเข้าไปเป็นกรรมการ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพิ่มรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีดิจิทัล เป็นรองประธาน และเพิ่มจำนวนกรรมการเป็น ๑๒ คน

ข้อสำคัญ “ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ”

(https://www.facebook.com/thainetizen/photos/a.10150109699603130.289409.116319678129/10154813849468130/?type=1&theater)

ซึ่งโดยเนื้อหาบางอย่างของร่างฯ Thai Netizen Network มีข้อสังเกตุควรรับฟัง ที่ว่าทำไมนิยาม ‘ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ ของไทย จึงไม่เหมือนกับที่อื่น





“ตามนิยามสากลแล้ว การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ นั่นคือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ การทำงานของระบบประมวลผลข้อมูลคอมพิวเตอร์

ไม่ใช่เรื่อง ‘เนื้อหา’ ที่มนุษย์สื่อสารถึงกัน...ทำไมคณะกรรมาธิการด้าน ‘สื่อสารมวลชน’ ซึ่งทำเรื่องเนื้อหาในสื่อจึงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”

นี่เป็นลักษณะการบริหารปกครองอย่างครอบงำ โดยไม่คำนึงถึงสวัสดิการและสวัสดิภาพของประชาชน ด้วยการอ้างอำนาจวิเศษของ ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ แบบเดียวกับที่อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยเสนอให้ คสช. ใช้มาตรา ๔๔ ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณของรัฐที่ใช้

เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ๕ เดือนก่อนที่นายศรีราชา เจริญพานิช (นามสกุลพระราชทาน วงศารยางกูร) จะพ้นจากตำแหน่ง เขาได้เสนอให้ประยุทธ์ใช้อำนาจมาตรา ๔๔ กำหนดการศึกษาภาคบังคับเพียง ๙ ปี “ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้น ป.๖”

เขาอ้างว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีตอนอายุ ๑ ขวบถึง ๖ ขวบ จึงร่นการศึกษาภาคบังคับลงไปเริ่มที่เด็กอายุ ๓ ขวบ ไปสิ้นสุดที่ ป.๖

“ให้เด็กที่เรียนจบชั้น ป.๖ แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง ๒.๕ เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.๑ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินจะต้องกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)”





เขาอ้างอีกว่า “ไม่ถือว่าใจร้ายเกินไป” แต่เป็นการ “จูงใจให้ผู้ปกครองและเด็กมีความรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่ระดับประถมศึกษา สนใจเรียน รู้จักคุณค่าของงบฯ ที่รัฐใช้เพื่อการศึกษา”

(http://www.matichon.co.th/news/117418)

ไม่ทราบว่าข้อเสนอของนายศรีราชาไปได้ถึงไหน แต่แนวคิดแบบนี้เป็นการมองมาตรฐานการศึกษาของชาติเป็นเพียงการบริหารจัดการ ที่มุ่งมั่นแต่จะให้ได้ผลประโยชน์ กำไรคุ้มค่าต่อต้นทุนงบประมาณเพียงสถานเดียว

ทำนองเดียวกับการลุกล้ำก้าวก่ายเสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นของประชากร โดยอ้าง ‘ความมั่นคงของชาติ’ แต่แท้จริงแล้วเพื่อให้การบริหารปกครอง ‘ง่ายนิดเดียว’ ดังที่ประยุทธ์เคยพูดไว้