วันอังคาร, พฤศจิกายน 29, 2559

อนาคตการเมืองไทย.. เสียงข้างมากไม่มีความหมาย?





ขั้นตอนแรกของการเปลี่ยนรัชกาลเสร็จสิ้นแล้ววันนี้ (๒๙ พ.ย.) เมื่อ ครม. ตามด้วย สนช. มีมติขอพระราชทานอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ ๑๐

ขั้นต่อไปเป็นการที่พระองค์ทรงรับการสถาปนา และทรงดำเนินการปกครองแผ่นดินโดยธรรมสืบไป

หากแต่พสกนิกรทั้งหลายจะมีความพร้อมเพรียงกับการปกครองประเทศไทยโดยระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. แค่ไหน

น่าเสียดายที่จักต้องใช้เวลาเพื่อการพิสูจน์กันอีกไม่น้อยกว่า ๕ ปี และอาจยาวกว่า ๒๐ ปี

วันนี้เช่นกัน ‘หมัดเหล็ก’ ไทยรัฐ เขียนไว้ในบทความของเขา

“การปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ทำให้ความหมายของระบอบประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไปโดยสิ้นเชิง การตัดสินใจของเสียงข้างมากไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะได้รับฉันทานุมัติให้เข้ามาปกครองบริหารประเทศ

การที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ออกมาชี้นำว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากก็อาจไม่ได้เป็นพรรครัฐบาลหรือตั้งรัฐบาล ก็หมายความว่าพรรคที่ชาวบ้านเลือกเข้ามามากที่สุด หัวหน้าพรรคหรือบุคคลที่พรรคเสนอเป็นว่าที่นายกฯ ก็อาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ

เสียงข้างมากไม่มีความหมาย”

(http://www.thairath.co.th/content/795756)

คำพูดของนายวิษณุที่บทความอ้างถึง สืบเนื่องมาจากการนำเอาผลเลือกตั้งในสหรัฐเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนมาตีความเข้าข้างตนเองในสถานการณ์ของประเทศไทย





โดยเชื่อแน่ได้ว่า ด้วยเจตนาดังที่ ‘หมัดเหล็ก’ ระบุว่า “มีความพยายามจะชี้นำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนนอก เข้ามาบริหารราชการต่อไปแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม”

ทำให้ควรต้องกลับไปมองการเลือกตั้งสหรัฐที่ผ่านมากันให้ละเอียดอีกครั้ง

ในสถานการณ์ที่ทางการมลรัฐวิสคอนซินตอบรับคำร้องของ ดร.จิล สไตน์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคกรีน ให้นับคะแนนเลือกตั้งใหม่ใน ๓ มลรัฐที่เคยเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคเดโมแครท (Blue states) แต่ครั้งนี้ตกเป็นของฝ่ายรีพับลิกัน คือมิชิแกน เพ็นซิลเวเนีย และวิสคอนซิน

เนื่องจากมีเหตุอันน่าเป็นห่วงว่าผลเลือกตั้งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงด้วยการแทรกแซงระบบนับคะแนนโดยคอมพิวเตอร์ หรือถูกแฮ็คด์ก็ได้

อีกทั้งคะแนนรายหัวผู้ออกเสียงในรัฐวิสคอนซิน ให้แก่นายดอแนลด์ ทรั้มพ์ แห่งพรรครีพับลิกัน ออกมามากกว่านางฮิลลารี่ คลินตัน เพียง ๒๒,๕๐๐ คะแนน

ขณะที่รัฐมิชิแกนยิ่งน้อยลงไปอีก คือชนะราว ๑๐,๗๐๐ คะแนนเท่านั้น ส่วนในรัฐเพ็นซิลเวเนียซึ่งนางสไตน์ยื่นคำร้องขอนับคะแนนใหม่ได้ทันก่อนหมดกำหนดในวันนี้ คะแนนของทรั้มพ์นำราว ๖๘,๐๐๐ เสียง ถือว่าไม่มากนัก

การนับคะแนนใหม่ในสามมลรัฐอาจเป็นความหวังลอยๆ ของผู้สนับสนุนฮิลลารี่ เนื่องจากไม่เคยมีในประวัติการณ์จากการนับคะแนนใหม่ที่พลิกผลในตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จะมีก็แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น

แต่หากว่าจะเกิดประวัติการณ์พลิกผันเป็นครั้งแรกในคราวนี้ คะแนนที่นับใหม่ของฝ่ายนางคลินตัน จะต้องชนะรวดทั้งสามมลรัฐ จึงจะได้จำนวน electoral college หรือคะแนนผู้เป็นตัวแทนเลือกตั้งเกิน ๒๗๐ และมากกว่าทรั้มพ์

ณ ขณะนี้ หลังจากที่รัฐมิชิแกนเพิ่งแถลงยืนยันชัยชนะของทรั้มพ์อย่างเป็นทางการ อันทำให้คะแนน electoral votes ของเขาเพิ่มอีก ๑๖ จาก ๒๙๐ เป็น ๓๐๖ ขณะที่ฮิลลารี่ยังอยู่ที่ ๒๓๒

แต่ถ้าผลนับคะแนนใหม่ ฮิลลารี่กลับเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนมากกว่าทั้งสามรัฐละก็ จะทำให้เธอมีคะแนนตัวแทนเลือกตั้งรวมกันอยู่ที่ ๒๗๘ และของทรั้มพ์ลดไปเหลือเพียง ๒๖๐ กลายเป็นประวัติการณ์ไม่เคยปรากฏมาก่อนได้

ค่ายหาเสียงของนางคลินตันได้แถลงสนับสนุนการนับคะแนนใหม่จากการร้องเรียนของนางสไตน์ในทั้งสามรัฐ

ขณะเขียนนี้ยังไม่ปรากฏข่าวว่ารัฐมิชิแกนตอบรับคำร้อง แต่อดีตผู้สมัครของพรรคกรีนมีเวลาถึงวันที่ ๑๓ มกราคมที่จะร้องค้านผลเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นนายทรั้มพ์ก็จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างทางการในวันที่ ๒๐ มกราคม

แน่ละ การนี้นายทรั้มพ์แสดงการคัดค้านการร้องเรียนให้นับคะแนนใหม่ครั้งนี้อย่างสาดเสีย เขาใช้ทวิตเตอร์โพสต์ข้อความโจมตีรัวๆ ไม่หยุดยั้งในช่วงตลอด ๑๒ ชั่วโมงเมื่อวันอาทิตย์ (๒๗ พ.ย.) ว่าเป็นพวก ‘ขี้แย’ และเป็น ‘กลโกง’ ที่น่าเศร้า

แล้วยังเลยเถิดไปถึงผลการนับคะแนนรายหัวของผู้ออกเสียงล่าสุด ที่พบว่าฮิลลารี่ได้คะแนนมากกว่าเขาถึงสองล้านกว่าเสียง

ตามรายงานของ The Cook Political Report แจ้งว่านางคลินตันได้คะแนนเสียงทั้งหมด ๖๔,๖๕๔,๔๘๓ หรือเท่ากับร้อยละ ๔๘.๒ ขณะที่นายทรั้มพ์ได้เพียง ๖๒,๔๑๘,๘๒๐ หรือ ๔๖.๕ เปอร์เซ็นต์ และผู้สมัครอื่นๆ รวมกันได้ ๗,๑๙๒,๐๓๖ คะแนน

แต่ทรั้มพ์ก็ยังไม่วายกล่าวหาว่าคะแนนที่มากกว่าของฮิลลารี่มาจาก “ผู้ออกเสียงอย่างผิดกฎหมาย” ในทวี้ตของเขาชิ้นหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์บอกว่า

“นอกจากผมจะชนะคะแนนอีเล็คทอรัลโหวตแล้ว ผมยังชนะคะแนนพ้อพปูล่าร์โหวตด้วย ถ้าหากตัดคะแนน (ของฮิลลารี่) ที่ได้มาจากพวกออกเสียงอย่างผิดกฎหมายออกไป”

เขาอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งทำนองนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เวอร์จิเนีย นิวแฮมเชียร์ และแคลิฟอร์เนีย

แน่นอนอีกเช่นกัน ข้อกล่าวหาของทรั้มพ์เป็นการพูดเท็จที่คิดค้นขึ้นมาเองโดยไม่มีหลักฐานใดๆ สนับสนุน (สื่อต่างๆ ตรวจสอบแล้ว แม้แต่ทำเนียบขาวก็ยังต้องแถลงแก้ไขความสับสนว่าคำกล่าวหาของทรั้มพ์ไม่เป็นความจริง)

นายเจสัน มิลเลอร์ ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ของทรั้มพ์ ไม่สามารถให้หลักฐานใดๆ สนับสนุนข้อกล่าวหาเช่นกันว่ามีผู้ออกเสียงผิดกฎหมายจริงหรือไม่ เขาเลี่ยงคำตอบไปโจมตีต่อการที่ทีมหาเสียงของคลินตันออกมาสนับสนุนการนับคะแนนใหม่แทน

“ผมคิดจริงๆ นะว่านี่เป็นเรื่องเหลวไหลที่ไปให้อ็อกซิเจ็นกับการนับคะแนนใหม่ ทั้งๆ ที่ไม่มีหวังใดๆ เลยที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ตัดสินกันไปแล้ว (ผู้แพ้) ก็ยอมรับกันไปแล้ว”

อย่างไรก็ดีนายมิลเลอร์อ้างเอารายงานของ นสพ.วอชิงตันโพสต์ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๔ ที่แสดงว่ามีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งจำนวน ๑๔ เปอร์เซ็นต์กว่า ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองโดยถูกต้อง นอกนั้นเขาอ้างผลการวิจัยของ a Pew Research study from 2012 ว่ามีจำนวนผู้เลือกตั้งราว ๒๔ ล้านคน ที่ลงทะเบียนไม่ถูกต้องสมบูรณ์

เหล่านี้ แม้เป็นที่ยอมรับกันว่าการพลิกผันมาให้นางคลินตันกลับกลายเป็นผู้ชนะเลือกตั้งด้วยการนับคะแนนใหม่ในสามมลรัฐซึ่งคะแนนนิยมระหว่างสองพรรค ‘สูสี’ ต้องช่วงชิงกันอย่างหนัก นั้นเป็นไปได้ยากมาก





หากแต่ ‘ความไม่นิยม’ ในตัวทรั้มพ์ ซึ่งโนม ชอมสกี้ นักวิชาการฝ่ายซ้ายเก่าแก่ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวอัลจาซีร่า ว่าเป็น “นักแสดง...ไม่มีน้ำใจ ไอ้บ้าคลั่งผิวบาง และเป็นปีศาจร้ายเสียยิ่งกว่าฮิลลารี่ คลินตัน”

ทำให้มีผู้มองหาหนทางที่จะไม่ให้เขาได้เข้าไปเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๔๕ ของสหรัฐอเมริกา ให้จงได้

คี้ธ โอลเบอร์แมนน์ นักวิจารณ์การเมืองฝ่ายซ้ายเสรีนิยม กล่าวในรายการ ‘The Resistance’ ของเขาว่ามีหนทางเขี่ยดอแนลด์ ทรั้มพ์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ด้วย มาตรา ๔ ในบทแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๕

ด้วยการให้คณะรัฐมนตรีของเขาร่วมกันยื่นคำร้องต่อสภาคองเกรสว่าตัวประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะเขามีพฤติกรรมไม่อยู่กับร่องกับรอย





นายโอลเบอร์แมนน์ยกตัวอย่างสิ่งที่ทรั้มพ์กระทำในขณะที่เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ไม่ต่างอะไรกับเมื่อตอนหาเสียง ซึ่งจะทำให้เขาชอบ ‘น้อตหลุด’ บ่อยๆ แม้เมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างทางการแล้ว

เช่นนั้นทีมรัฐมนตรีของเขาสามารถยื่นคำร้องขอให้รองประธานาธิบดี ไม้ค์ เพ้นซ์ เข้าสวมหน้าที่ประธานาธิบดีชั่วคราวได้เลยทันที

(https://twitter.com/KeithOlbermann/status/802270682138771457)

ได้มีการเปรียบเปรยบุคคลิกของทรั้มพ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ๒๕๕๗ ที่เข้าสวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้สองปีกว่า แล้วกล่าวกันว่าเขาชื่นมื่นเพลิดเพลินกับตำแหน่งนี้เสียจนอยากที่จะเป็นต่ออีกสัก ๕ ปี หรือ ๙ ปี แม้จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ความเป็นจริงนั้นประยุทธ์ห่างไกลไม่สามารถเทียบเคียงกับทรั้มพ์ได้ แม้แต่ในบุคคลิกน่า tieb และน่าขัน ก็ยังไม่เหมือนกัน คนหนึ่งชอบยักคิ้วหลิ่วตา อีกคนชอบจีบปากจีบคอ

(หมายเหตุ เรียบเรียงด้วยข้อมูลจาก https://www.yahoo.com/…/trump-aide-attacks-wisconsin-recoun…, http://www.ibtimes.com/can-hillary-clinton-still-win-electi…, http://www.al.com/…/2016/11/clinton_vs_trump_popular_vote_1…, http://www.hollywoodreporter.com/…/trump-clinton-recount-sa… และ http://www.aljazeera.com/…/upfront-special-noam-chomsky-tru…)