ไม่อยากจะบอกว่า ‘ม้าร์ค’ ได้ช่องโหนกระแสกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ แต่รูปการณ์มันบ่งเช่นนั้น
จากการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ให้ความเห็นไว้เมื่อตอนกลางอาทิตย์ว่า ระบบเลือกตั้งใหม่ของไทยอาจส่งผลแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งของสหรัฐครั้งนี้ คือผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากลับไม่ได้เป็นรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้จังหวะเหมาะออกมาท้วงว่า “จริงๆ แล้วระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ส.ส.จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนคะแนนที่ลงอยู่แล้ว ปัญหาแบบที่นายวิษณุกล่าวนั้นคงจะเกิดขึ้นกับระบบการเลือกตั้งแบบเก่าๆ มากกว่าระบบใหม่นี้”
(http://www.matichon.co.th/news/373827)
นายอภิสิทธิ์พยายามจะชี้ (เอาดีใส่ตัว) ว่าตนและพวกได้เสนอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการเลือกรัฐบาลและการเลือก ส.ส. แล้วกำหนดรัฐบาลจากจำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้ง แต่ กรธ. ไม่ฟัง
อันที่จริงความเห็นของนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่ความคิดใหม่อะไร เป็นการแสดงว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวของ กรธ. เหมือนกับที่ภาคการเมืองอื่นๆ ค้านกัน ส่วนการตีความของนายวิษณุก็มีทางเป็นไปได้ ในกรณีที่เปิดช่องให้นายกฯ คนนอกเข้าไปแทรกกินพุงปลา
แต่ทั้งคู่ต่างก็อ้างระบบการเมืองอเมริกันเพื่อที่จะสร้างภูมิเขื่องให้แก่ตนเองในระบบการเมืองไทย ที่ยังไม่เป็นระบบที่แน่นอนและมั่นคง ทุกสิ่งยังขึ้นอยู่กับการรัฐประหาร และอำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากปากกระบอกปืน
ในทำนองเดียวกัน เมื่อสองวันก่อน
Stephane Peray นักเขียนการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ซึ่งใช้นามปากกาว่า ‘Stephff’ ได้เขียนการ์ตูนล้อเลียนนาย Glyn T. Davies เอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อต้นเดือน
จากการที่ระบบการนับคะแนนแบบ electoral votes ทำให้นายดอแนลด์ ทรั้มพ์ แห่งพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะ ทั้งๆ ที่คะแนนรายหัว หรือ popular votes ของคู่แข่งขันจากพรรคเดโมแครท มีจำนวนมากกว่า
โดยที่ถึงขณะนี้เมื่อรวมคะแนนจากการออกเสียงทางไปรษณีย์ และคะแนนจากผู้ออกเสียงที่อาศัยอยู่นอกประเทศแล้วปรากฏว่า นางฮิลลารี่ คลินตัน ได้คะแนนเสียงมากกว่าทรั้มพ์ถึง ๒ ล้านกว่าเสียง
การ์ตูนสเตฟฟ์ฟพาดหัวว่า “ดูสิ ตานี้ใครล่ะที่หัวเราะ” เป็นภาพนายกรัฐมนตรีจากคณะรัฐประหารของไทยพูดกับทูตอเมริกันว่า “สบายดีเหรอ ท่านทูตไม่ได้เลคเชอร์เรื่องประชาธิปไตยมาสองอาทิตย์แล้วนะ ผมเป็นห่วง”
แม้จะเป็นน้ำเสียงเชิงเย้นหยันสหรัฐ ที่อาจทำให้ ‘Prayut’ ผู้ที่จากภาพการ์ตูนกำลังหัวเราะชนิด ‘กลิ้ง’ สบอารมณ์ บังเกิดความพึงพอใจกับการ์ตูน ‘Stephff’ ขึ้นมาบ้าง
หลังจากเหตุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ทางการไทยไม่ยอมต่ออายุวีซ่าให้นายสเตฟเฟน ผู้ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน กล่าวกันว่าสาเหตุของการปฏิเสธวีซ่านี้เพราะ การ์ตูนสเตฟฟ์ฟมักวาดภาพล้อเลียนประยุทธ์เป็นจอมเผด็จการอยู่เสมอ
หากแต่การมองภาพและตีความผลเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้โดยเปรียบเทียบกับการเมืองไทย แม้แต่ในประเด็นการเทียบเคียงบุคคลิกน่าเกลียด น่าขัน และก้าวร้าว ของนายทรั้มพ์กับประยุทธ์ เป็นการมักง่าย และให้ข้อสรุปที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของความเป็นประชาธิปไตย
ปัญหา electoral votes ไม่สอดคล้องกับคะแนน popular votes เคยเกิดมาแล้วในปี ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) เมื่อนายอัล กอร์ แห่งพรรคเดโมแครทได้เสียง popular votes มากกว่านายจ๊อร์จ ดับเบิ้ลยู บุสช์ แห่งพรรครีพับลิกัน แต่ฝ่ายหลังชนะคะแนน electoral votes จึงได้ตำแหน่งประธานาธิบดีไปครอง
หัวใจของปัญหาครั้งนั้นอยู่ที่คะแนน popular votes จากมลรัฐฟลอริด้าซึ่งบุสช์ชนะกอร์อย่างสูสี ขณะที่มีเสียงโวยวายว่าบัตรเสียจำนวนมากมาจากท้องที่ซึ่งโหวตให้กอร์อย่างท่วมท้น จึงมีการเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตุว่าบัตรเสียที่เกิดขึ้นเพราะการออกแบบไม่ดี โดยให้กดรอยปรุรูกลม แต่ผู้ออกเสียงของพรรคเดโมแครทที่เป็นหญิงชรากดช่องเลือกกอร์ไม่หนักแน่นพอ เศษกระดาษไม่หลุดจากรอยปรุ (เป็นที่กล่าวขวัญถึงในครั้งนั้นว่า ‘hanging chads’)
ท้ายที่สุดศาลเป็นผู้ตัดสินยอมรับบัตรเสีย ทั้งที่ควรเป็นคะแนนของผู้สมัครพรรคเดโมแครท ทำให้กอร์ไม่สามารถเอาชนะบุสช์ในรัฐฟลอริด้าได้ คะแนน electoral votes ทั้งมลรัฐจึงตกเป็นของบุสช์ พร้อมด้วยชัยชนะทั้งประเทศ
เหตุการณ์ซ้ำรอยกำลังจะเกิดอีกในปี ๒๕๕๙ เมื่อมีการเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ใน ๓ มลรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครท แต่กลับเป็นรัฐที่ทรั้มพ์ชนะ เชื่อว่ามีการนับคะแนนผิดพลาด ส่วนหนึ่งจากการนับคะแนนทางอีเล็คทรอนิค ได้แก่ มิชิแกน วิสคอนซิน และเพ็นซิลเวเนีย
ซึ่งล่าสุดเห็นว่าได้มีการยื่นคำร้องนับคะแนนใหม่ในรัฐวิสคอนซินแล้ว หากรัฐนี้คะแนน popular votes ของนางคลินตันกลับมาเหนือกว่าทรั้มพ์ ก็จะเพิ่มจำนวน electoral votes ของเธอให้ตีตื้นขึ้นมา
ทว่ารัฐเพ็นซิลเวเนียที่กองหาเสียงของนางคลินตันเคยคาดหมายว่าจะได้ชัยชนะแน่ๆ นั้น จะหมดกำหนดยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าฝ่ายฮิลลารี่จะทำการร้องเรียนหรือไม่ เนื่องจากหากร้องเรียนว่ามีการนับคะแนนผิด หรือทุจริตแล้ว ศาลอุทธรณ์ของมลรัฐจะเป็นผู้ตัดสินว่าต้องมีการนับคะแนนใหม่หรือไม่
ส่วนรัฐมิชิแกนนั่นเป็นที่มั่นใจว่าคะแนนชัยชนะของทรั้มพ์เป็นของแท้ เพราะที่นี่มีระบบนับคะแนนที่ใช้ ‘paper trails’ มีเอกสารสนับสนุน ยากแก่การผิดพลาด
ถึงกระนั้นคะแนน popular votes กว่าสองล้านที่เพิ่มมาของฮิลลารี่ เมื่อแยกแยะที่ไปรัฐปลายทางแล้ว ก็อาจก่อผลในการเปลี่ยนแปลงจำนวน electoral votes ของเธอได้เช่นกัน
นอกเหนือจากนี้ มีรายงานเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการปล่อยข่าวเท็จและข่าวมั่วทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นมากทางเฟชบุ๊คเร็วๆ นี้
สำนักวิจัยอิสระที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งพบว่า มีกระบวนการปล่อยข่าวเท็จที่เป็นประโยชน์ต่อการหาเสียงของทรั้มพ์ และทำให้คลินตันเสียเครดิตความน่าเชื่อถือ จากเครือข่ายก่อกวนและโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียจริง
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์อ้างอิงนักวิจัยของสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ ‘FPRI’ รวมทั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ProporNot’ ซึ่งเขียนรายงานเรื่อง “Trolling for Trump: How Russia Is Trying to Destroy Our Democracy.” ยืนยันว่าชัยชนะของทรั้มพ์เกิดจากผลของกระบวนการเหล่านั้นไม่มากก็น้อย
(https://www.washingtonpost.com/…/793903b6-8a40-4ca9-b712-71…)
ระบบเลือกตั้งของสหรัฐซึ่งใช้ electoral college ในการตัดสิน มีรากฐานมาจากสมัยบุกเบิกสร้างชาติของกลุ่ม Founding Fathers ที่ต้องการให้แต่ละท้องที่ (มลรัฐ) มีความทัดเทียมกันในการมีตัวแทนเข้าไปร่วมบริหารสหภาพในรัฐบาลกลาง
และได้มีการอภิปรายถกถียงกันเป็นที่ยุติแล้วในสภาคองเกรสเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้นับคะแนนเสียงแท้จริง หรือใช้ popular votes มาเป็นเครื่องตัดสินแทน electoral votes
นางคลินตันซึ่งได้ร่วมอภิปรายให้พิจารณาใช้มาตรฐาน popular votes ในเรื่องนี้ระหว่างที่เป็นวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ค ก็ยังสงวนท่าทีไม่แสดงจุดยืนใดๆ ออกมาในขณะนี้ ทั้งที่ผู้สนับสนุนของเธอกำลังฟื้นความหวังต่อการนับคะแนนใหม่กันอยู่
จึงไม่ใช่วิสัยของนักการเมืองในที่อื่นใดจะอิงแอบ อ้างสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่งในสหรัฐไปใช้เป็นเครื่องมือเชิดชูศักดาของตน หรือแม้แต่แค่โหนหาเสียง เพื่อให้ ‘ได้หน้า’ เพียงเล็กๆ น้อยๆ