ธนาคารโลก ติงขึ้นค่าแรง 5-10 บาท น้อยไปhttps://t.co/IKYFkRuvi2#ค่าแรง #ธนาคารโลก pic.twitter.com/eKopIhdLfS— VoiceTV21 (@Voice_TV) November 23, 2016
ธนาคารโลก ติงขึ้นค่าแรง 5-10 บาท น้อยไป
by วชิราภรณ์ นาสวน
23 พฤศจิกายน 2559
นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ระบุการปรับขึ้นค่าแรง 5-10 บาทต่อวัน ในปี 2560 ถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เพราะผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ แต่ในมุมลูกจ้าง ถือว่าอัตราดังกล่าว ยังน้อยเกินไป
นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก มองว่า มติ คณะรัฐมนตรี อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง ประจำปี 2560 เสนอปรับ 5-10 บาทต่อวัน ใน 69 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้(60) ซึ่งปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 แม้จะปรับขึ้นเพียงร้อยละ 1-2 เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นทุกปี แต่รัฐบาล เดินมาถูกทางแล้ว เพราะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทัน ไม่กระทบต้นทุนมากนัก
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งความสามารถจ่ายของผู้ประกอบการและผลิตภาพของแรงงาน ไม่ควรนำเรื่องการปรับค่าจ้าง มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ บทเรียนจากนโยบาย 300บาท" พบว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่เริ่มใช้ในปี 2555 และทยอยปรับขึ้นจนครบทุกจังหวัด เฉลี่ยค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 กระทบต่อแรงงานหนุ่มสาว การศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษา อายุระหว่าง 15-24 ปี ร้อยละ 40
และกระทบธุรกิจกลุ่มไมโครที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน รวมทั้งเอสเอ็มอี ที่มีลูกจ้าง 10-99 คน แต่ยอมรับนโยบายดังกล่าว ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ภาคแรงงานได้จริง
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบราคาสินค้าเข้มงวด โดยเฉพาะจังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรง พร้อมขอความร่วมมือร้านค้า อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา เพราะค่าแรงที่ปรับขึ้น กระทบต้นทุนเพียงร้อยละ 0.01 - 1.02 เช่น อาหารและเครื่องดื่ม มีต้นทุนเพิ่มร้อยละ 0.02 – 0.3 ของใช้ประจำวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 - 0.44 เท่านั้น
นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า มติ ครม.ที่ออกมา แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องยอมรับ เพราะรัฐบาลระบุต้องการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น และได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเบื้องต้น อาจให้ปรับขึ้นหลังจากที่แรงงานทำงานครบ 1 ปี และการปรับค่าแรงต้องเท่ากับเงินเฟ้อในปีนั้นๆ ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาล ดูแลสวัสดิการแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถอยู่ได้ ด้วย
ที่มา http://news.voicetv.co.th/thailand/434982.html