วันจันทร์, พฤศจิกายน 28, 2559

ร่าง พรบ.คอมใหม่ กำลังจะทำอะไรคุณ ฉบับ 5 นาทีจบ





ที่มา FB

The MATTER
November 24

ร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ใหม่ กำลังจะทำอะไรคุณ

เชื่อว่าสองสามวันนี้หลายคนคงผ่านหูผ่านตาเรื่องร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่ 2559 ว่าประมาณว่า ‘มันไม่ดี’ ‘มันจะจำกัดสิทธิเราอีกแล้ว’ ‘มันจะบล็อคเว็บง่ายขึ้น’ แต่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดเพราะไม่มีเวลา เรารู้ว่าทุกคนรู้ว่าสำคัญ แต่ก็ไม่มีเวลาอ่าน เลยลองสรุปมาให้ว่ามันมีอะไรอยู่ใน พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับนี้ที่เราเถียงๆ กันอยู่บ้างให้อ่านสั้นๆ ไม่ยาว แป๊บเดียวๆ

1. เอาเบสิกก่อนเลย คือเขาจะเพิ่มฐานความผิดให้กว้างกว่าเดิม แบบ เดิมมันเขียนว่า ถ้าโพสท์ข้อมูลเท็จ จะผิดเฉพาะความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความตื่นตระหนกของประชาชน ประมาณนี้ แต่ฉบับใหม่จะเพิ่มว่า ถ้าโพสท์อะไรเท็จให้เกิดความเสียหายต่อ “สาธารณะ ต่อโครงสร้างพื้นฐาน” ก็จะผิดด้วย ซึ่งเท่านี้ก็มีปัญหาแล้วว่า เดี๋ยว... ไอ้ข้อมูลเท็จที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนี่ตรวจสอบยังไงนะว่าเท็จ เพราะบางเรื่องมันก็เทาๆ เช่น ตัวอย่างที่คุณสฤณียกขึ้นมา บอกว่า “ถ้าฉันโพสท์เรื่องธนาคารแห่งหนึ่งว่าระบบความปลอดภัยห่วย” แบบนี้ จะถือว่าผิดเลยไหม ผิดยังไง ซึ่งการเพิ่มมาแบบนี้ก็อาจจะทำให้ฟ้องร้องกันมั่วซั่วกว่าเดิมได้

2.เบสิกต่อมาคือศาลบอกว่าให้ทำลายข้อมูลเท็จได้ ถ้าใครมีข้อมูลเท็จต้องทำลายให้หมดนะไม่งั้นต้องได้รับโทษครึ่งนึงของคนโพสท์ ซึ่งฟังเผินๆ เหมือนจะดี แต่ก็นั่นแหละ อะไรคือเท็จ นี่ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการลบประวัติศาสตร์หรือเปล่า ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเช่นว่าบอกว่า อดีตนายกฯ สมัคร บอกว่า มีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพียงหนึ่งคน ซึ่งแบบ เท็จ ใช่มั้ย แล้วถ้าศาลสั่งให้ลบให้หมด แล้วจะตามได้ยังไงว่าสมัครเคยพูดแบบนี้ เออ ก็ไม่มีใครรู้อีกแล้ว ทีนี้ ก็มีคนบอกว่า นี่มันคือ Right to be forgotten หรือสิทธิที่จะถูกลืมของยุโรปโว้ย... ซึ่งมันไม่ใช่ไง ไอ้สิทธิที่จะถูกลืมนี่คือ มันไม่ได้แปลว่าลบไปทั้งหมด แค่ให้ถอดออกจากสารบัญ ออกจากการค้นหา ไม่ใช่ลบให้หายไปจากโลกนี้เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น

3. ทีนี้มันมีหลายประเด็นแก อดทนกับเรานิด อีกประเด็นคือ พ.ร.บ. ใหม่นี่บอกว่า ถ้าผู้ให้บริการ (โฮสท์ ISP ต่างๆ) รู้เห็นเป็นใจ ให้ความร่วมมือกับคนโพสท์ ให้มีความผิดเช่นเดียวกับคนโพสท์ ซึ่งก็นั่นแหละ ... จะรู้ได้ไงว่ารู้เห็นเป็นใจ ฮือ... ทุกอย่างใช้การเดาเหรอแก... ทีนี้เขาเลยบอกว่า ให้ประชาชนแจ้งสิ ถ้าแจ้งแล้วต้องลบในสามวัน (โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล!) ซึ่งก็ฮือ... ก็ระดมแจ้ง ก็ต้องลบรัวๆ งี้เหรอแก... สวัสดี กองทัพประชาชน ระดมคนแจ้งรัว

4. อันที่เฮือกและทุกคนกรี๊ดก็คือ เขาจะตั้งคณะกรรมการบล็อคเว็บ ซึ่งมี 5 คน เป็น 5 คนที่เหมือนเทพเจ้าแห่งอินเทอร์เนต ที่ทำหน้าที่ยื่นศาลบล็อกเว็บ แล้วจะขอตั้งศูนย์กลางการบล็อกเว็บด้วย คือไม่ต้องแจ้ง ISP เป็นรายๆ แล้ว แล้วก็ยังครอบจักรวาลมาก แบบ... เมื่อก่อนคือจะเป็นเรื่องความมั่นคงไรงี้ซะเยอะ แต่ตอนนี้ ผิดลิขสิทธิ์ก็เอา เรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยก็เอา ขัดต่อศีลธรรมอันดี (ซึ่งแปลว่าไรวะ...) ก็เอา ก็บล็อกได้หมด ไม่ผิดกฎหมายก็บล็อกได้

5. ทีนี้ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น เจ้าหน้าที่จะยึดคอมได้ง่ายขึ้น เช่น ผิดอาญา ก็ยึดคอมได้ หรือผู้ให้บริการต้องเก็บ Log ไว้นานขึ้น เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่สั่งก็อาจจะต้องเก็บนานชั่วกัปชั่วกัลย์เลยเพราะไม่ได้กำหนดระยะเวลา ประมาณนี้

6. และยังมีประเด็นเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ ที่บอกว่า เฮ้ย เรื่องทางเทคนิคยังไม่ลงไว้ในพระราชบัญญัติอะ เดี๋ยวประกาศตามมาละกันนะ ก็ทำให้คนเป็นห่วงกันว่า อ้าววววว์ แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไงคะ ว่าสิ่งที่เธอจะประกาศมาทีหลังมันโอเคอะ คือที่มันควรจะเป็นคือ ฝ่ายนิติบัญญัติควรจะออกๆ กฎมาให้ครบ หรือไม่ก็วางหลักการให้หนักแน่นหน่อย แต่นี่บอกว่าให้ไปดูกฎกระทรวงทีหลัง ทั้งที่กรอบอะไรก็ไม่เห็นมีจำกัดอำนาจของกระทรวง ซึ่งตอนกระทรวง (ฝ่ายบริหาร) ออก เราก็มาเย้วๆ ไม่ทันแล้ว มันเลยไม่มีอะไรชัดเจนเลย

7. แล้วทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ เอาจริงๆ ก็คือต้องรณรงค์ออนไลน์นี่แหละ โดย Thai Netizen ก็บอกว่า ให้อ่านสรุปให้เยอะๆ หรือไปอ่านตัวจริงเลยก็ได้ แล้วก็ติด #พรบคอม ถ้าโอเคก็ #เราโอเค ถ้าไม่โอเคก็ #เราไม่โอเค ซึ่งไม่บังคับ ถ้ารู้สึกแบบไหนก็เอาแบบนั้นแหละ

ประมาณนี้ ทางเลือกก็อยู่ที่คุณแล้ว ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ ลองไปอ่านพ.ร.บ. คอมตัวเต็มได้

อ้างอิง

https://www.facebook.com/thainetizen
https://ilaw.or.th/node/4335
https://ilaw.or.th/node/4337
http://www.fringer.org/stuff/blog/2016/11/24/8652
http://thematter.co/byte/statemachine/12812

อ่านร่าง > https://ilaw.or.th/sites/default/files/คอมฯ%20ฉบับวันที่%2011%20พ.ย.%202559.pdf