วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 24, 2559

วันนี้ในอดีต (23 พย.) “ไทย” ทุบสถิติโลก เต้นแอโรบิก กลางแจ้งกว่า4หมื่นคน บันทึก “กินเนสส์ บุ๊ก”




Thailand's Prime Minister Thaksin Shinawatra (C) swings as he joins a massive crowd in an aerobics session near the Royal Palace 23 November 2002 as part of a global movement for health aimed at being the world's largest health festival. The massive outdoor aerobics exercise session led by Thaksin and involving more than 50,000 people aims to break the world record. The event joins yearlong national efforts around the world to take further this year's World Health Day theme, "Move for Health". AFP PHOTO/Stephen SHAVER / AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER


วันนี้ในอดีต “ไทย” ทุบสถิติโลก เต้นแอโรบิกกลางแจ้งกว่า4หมื่นคน บันทึก “กินเนสส์ บุ๊ก”


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
23 พฤศจิกายน พ.ศ.2559


วันที่ 23 พฤศจิกายน 2545

ชื่อของประเทศไทยได้ถูกบันทึกลงใน “กินเนสส์ บุ๊ก” ในเรื่องของการรวมพลังประชาชนออกกำลังกายได้สูงสุดถึง 46,824 คน และใช้เวลาออกกำลังกายนานที่สุดถึง 61 นาที ทำลายสถิติโลก ในงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร





มหกรรมซึ่งนำไปสู่การทำลายสถิติครั้งนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อเชิญชวนประชาชนออกกำลังกายร่วมกันเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสร้างสถิติใหม่ในการออกกำลังกายพร้อมกันมากที่สุดในโลก โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานนำการออกกำลังกายที่ท้องสนามหลวง ขณะที่ในต่างจังหวัดได้จัดพื้นที่หน้าศาลากลาง หรือสวนสาธารณะของจังหวัดเป็นที่รวมตัวเพื่อออกกำลังกายพร้อมกัน

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วยการเต้นแอโรบิก ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 16.25 น. หลังจากที่เต้นไปได้ 20 นาที พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวบนเวทีว่า “ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำลายสถิติโลกแล้ว โดยมีผู้มาร่วมเต้นทั้งสิ้น 46,824 คน ซึ่งกินเนสส์ บุ๊ก ได้บันทึกไว้แล้ว” จากนั้นเวลา 16.50 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ลงนามบันทึกสถิติโลกในกินเนสส์ บุ๊ก และทำลายสถิติโลกได้เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 17.26 น. รวมเวลา 1 ชั่วโมง 1 นาที ขณะที่สถิติโลกเดิมทำเวลาไว้ 1 ชั่วโมง

สำหรับท่าการออกกำลังกายที่ใช้ในการบันทึกลงในกินเนสส์ บุ๊ก ได้ใช้ท่า ชกมวย การต่อย คาราเต้ และจี้กง ประกอบเพลงกราวกีฬา โดยสถิติที่ถูกบันทึกในกินเนสส์ บุ๊ก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2541 คือประเทศเม็กซิโก ซึ่งเคยทำสถิติไว้เพียง 38,663 คน แต่สำหรับในประเทศไทยครั้งนี้ เฉพาะที่ท้องสนามหลวง นับจำนวนผู้เข้าร่วมได้ 46,824 คน





AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER


ทั้งนี้ จากการประเมินผลการจัดงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2546 ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ พบว่าประชาชนที่มาร่วมงานร้อยละ 81.8 มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 90.5 สนใจมาร่วมงานเอง ร้อยละ 92.7 ออกกำลังกายเป็นประจำ ร้อยละ 74.3 คิดว่าสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ปฏิบัติในการดูแลสุขภาพได้มาก ร้อยละ 87.6 คิดว่าการจัดงานเช่นนี้จะทำให้ประชาชนมีการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 83.9 คิดว่าการจัดงานมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมชมรมสร้างสุขภาพ




AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER


ความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมายดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขจะได้ถือโอกาสขยายผลโดยตั้งเป้าหมายที่จะให้ปี 2547 มีผู้ออกกำลังกายทั้งสิ้น 33 ล้านคน รวมทั้งขยายงานสร้างสุขภาพตามนโยบายและนายกรัฐมนตรี ในด้านอาหารปลอดภัย มีคุณค่า และการส่งเสริมสุขภาพด้านอารมณ์ โดยมีชมรมสร้างสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น และประชาชนที่มาร่วมออกกำลังกายทั่วประเทศครั้งนี้ เป็นฐานในการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งที่สำคัญส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์การอนามัยโลกคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมส่งเสริมสุขภาพแห่งโลก ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2548 ด้วย




AFP PHOTO/Stephen SHAVER

ooo