วันอังคาร, พฤศจิกายน 22, 2559

'เด็กเอ๋ยเด็กดี' ภายใต้กลไกหล่อหลอม-ปรุงแต่งของรัฐ





“เด็กไทย” ภายใต้กลไกหล่อหลอม-ปรุงแต่งของรัฐ


โดย จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์
ภาพประกอบโดย alexmorellon

21 พ.ย. 2559
iLaw


ว่ากันว่า เด็กคืออนาคตของชาติ เพราะเด็กฉลาด ชาติ (จะ) เจริญ แต่ความเจริญที่ว่าจะไปในทิศทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมที่หล่อหลอมความคิดความอ่านของเด็กขึ่นมา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่มีกลไกอำนาจบางอย่างคอยกำกับอยู่ เสมอ ไม่ว่าจะในรูปของนโยบาย กฎหมาย หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ

‘คนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ’ ถ้อยคำที่เพิ่มเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในเดือนสิงหาคม 2559 มีคนโหวตรับรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย (ฤชุพันธ์) มากถึง 16,820,402 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 61.35 จาก “ผู้มาใช้สิทธิ” ทั้งหมด ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในเร็ววัน

แต่สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับการหล่อหลอมเด็กก็คือ “การศึกษา” ที่ถูกกำหนดไว้ใน หมวด 5 มาตรา 54 ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และในวรรคห้าระบุว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ”

ทั้งนี้ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย และภูมิใจในชาติ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 วรรคสาม ซึ่งระบุว่า “การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครอง และส่งเสริมจากรัฐ”

แม้จะดูเป็นความแตกต่างที่ไม่ยิ่งใหญ่มากนัก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ทุกถ้อยคำต้องมีนัยความบางอย่าง แต่เป็นแง่การปฏิบัติหรืออุดมการณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ชีวิตของเด็กหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกเน้นย้ำเรื่องความเป็น “คนดี” “มีวินัย” และ “ภูมิใจในชาติ” ซึ่งเป็นการตีกรอบ “เนื้อหา” การศึกษาสำหรับเด็กอย่างที่ไม่ค่อยปรากฎในรัฐธรรมนูญมากนัก และค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า “เด็กที่ในอุดมคติของรัฐเป็นอย่างไร”

เด็กเอ๋ยเด็กดีถึงค่านิยม 12 ประการ นิยามเด็ก ‘ดี’ ในแบบของรัฐ

“หนึ่งนับถือศาสนา สองรักษาธรรมเนียมมั่น สามเชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์... สิบทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุณคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา...” คือส่วนหนึ่งของเพลงหน้าที่เด็ก เขียนโดย นักเขียนนวนิยาย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม ต่อมาเพลงนี้ถูกนำไปใช้ในวันเด็กแห่งชาติ

นอกจากนี้ ‘เด็ก’ ยังถูกนิยามผ่านคำขวัญประจำวันเด็ก เป็นกรอบว่าอย่างน้อยๆ เด็กที่ดีควรจะเป็นอย่างไร แม้กระทั่งในสมัยรัฐบาลคสช. ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า ค่านิยม 12 ประการให้นักเรียนท่องจำและนำไปปฏิบัติ ดังว่า

1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม
5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี
11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา
12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

การพยายามผลิตซ้ำผ่านการท่องจำ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อหล่อหลอมอุดมการณ์บางอย่างให้กับเด็กที่วันหนึ่งจะโตไปเป็นอนาคตของชาติ หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับ การเปิดเพลง "คืนความสุข" เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อ ให้กับประชาชนของรัฐบาล เมื่อสมองคนเราจะจดจำอะไรซ้ำๆ ที่คุ้นเคย

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ลำพังแค่การปลูกฝังจะไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ หากปราศจากการคิด วิเคราะห์ อย่างมีตรรกะและหลักการ เมื่อรวมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น หนังสือเรียนเขียนรองรับอุดมการณ์แบบไหน ข้อมูลรอบด้านไหม คุณครูสอนวิธีใด คุณครูอุปถัมป์เด็กที่สอบได้ที่หนึ่งไหม ผู้บริหารโรงเรียนมีกรอบคิดแบบไหน ฯลฯ เกือบทั้งหมดเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การท่องจำเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษาไทย

เมื่อเป็นไปตามนี้ ผู้ใหญ่จึงชมเชยว่าเป็นเด็กดี เก่ง ส่วนที่เหลือก็ลดหลั่นความดีลงมา ฉะนั้น เด็กที่ท่องอาขยายผ่าน จำค่านิยม 12 ประการได้ จำประวัติศาสตร์ไทยแบบที่รัฐต้องได้ ก็จะถือว่าผ่านเกณฑ์ตามระบบ ส่วนคนที่แปลกแยก ตั้งคำถาม หรือไม่เชื่อฟังก็จะถูกกีดกันและลงโทษจากระบบเพียงเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง

อำนาจแนวดิ่ง VS. เสรีภาพทางความคิด

ปัจจุบันนักเรียนชายยังคงตัดผมให้สั้นเกรียน หรือบางโรงเรียนอาจเป็นรองทรงสูง หากเป็นผู้หญิง บางโรงเรียนจะให้ตัดผมสั้นเสมอติ่งหู เบาหน่อยก็ผูกเปีย-มัดผมให้เรียบร้อย และหลายโรงเรียนก็ห้ามทำสีผม มิใช่แค่ส่วนหนึ่งของร่างกาย แม้แต่เครื่องนุ่งห่ม อย่าง เสื้อผ้าเอย กางเกงเอย ถุงเท้า รองเท้า ชุดลูกเสื้อ ชุดพละ แหวน ต่างหู ฯลฯ ต่างๆ นานา ก็ล้วนถูกกำกับภายใต้ความคิดความเชื่อบางอย่าง แล้วเด็กก็ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะมีบทลงโทษตามมา

ปรากฎการณ์นี้สะท้อนว่า อำนาจเป็นของผู้ปกครองที่สามารถควบคุมเด็กได้ บางครั้งอาจอ้างว่า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เขาอาบน้ำร้อนมาก่อน อย่าเป็นเด็กดื้อ ยกตัวอย่าง เช่น

เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ชูป้ายที่มีข้อความว่า “สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรม ดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง #จากใจนักเรียนถึงลุงตู่” ก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวเพราะชูป้ายเพื่อตั้งคำถามต่อพลเอกประยุทธ์ หรือกรณีของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับการตั้งคำถามพิธีกรรมหน้าเสาธง กราบไหว้ ฯลฯ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา มีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย บ้างก่นด่า บ้างชื้นชมในความกล้าท้าทายต่อระบบ

การกำกับดูแลด้วยกฎเกณฑ์ก็หมายถึงการครอบงำบางอย่าง ไม่ว่าเรื่องทรงผมหรือเล็บก็ควบคุมทางร่างกายนานวันเข้าร่างกายก็ยินยอมกับการกำกับ จนผู้ถูกปกครองไม่ได้อยากมีส่วนร่วมของการไม่เห็นด้วย หรือต่อให้เห็นด้วยก็ไม่ได้คิดทักท้วงหรือต่อต้าน ลากยาวไปถึงประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามว่าเดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มหลัง ห้ามเถียงครูบาอาจารย์ อะไรต่อมิอะไรที่มีนัยยะของการเทิดทูน

สังคมที่หลักการถูกคุกคามได้ด้วยอำนาจ ตัวบุคคลจึงศูนย์กลางของการยึดเหนี่ยวว่าผู้ปกครองที่มีอำนาจนั้นสำคัญที่สุด ตลอดจนการครอบงำให้ผู้ถูกปกครองด้วยกันทำหน้าที่ตรวจตาคนที่มีแนวคิดขบถต่ออำนาจที่เอื้อต่อรัฐ

รัฐกับผู้ถูกปกครองก็สะท้อนการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทั้งลงโทษด้วยกลไกทางสังคม รวมถึงกฎเกณฑ์ที่ถูกเขียนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงซุบซิบนินทาจากเพื่อนด้วยกัน เพื่อนไม่คบ จนถึงตีด้วยไม้เรียว เข้าห้องปกครอง ถึงขั้นไล่ออกในที่สุด

ผู้ใหญ่ในฝัน วาทกรรม ‘คนดี’ อำนาจที่มากกว่า

ผู้ใหญ่ (บางคน) ในปัจจุบันเติบโตมาจากระบบที่สร้างวาทกรรม ‘คนดี’ ส่งไม้ต่อให้เด็กมีวาทกรรมนี้ และเมื่อเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็ส่งต่อให้เด็กซ้ำ วนเป็นเช่นนี้ จนเกิดระบบของการสร้างวาทกรรมคนดีโดยสมบูรณ์ ซึ่งระบบที่ว่าก็ยืนหยัดได้ในตัวมันเอง เพราะด้วยสองปัจจัยหนุนอย่าง ปัจจัยทางความคิด (เช่นการให้ท่องจำผ่านอะไรบางอย่าง) และ ปัจจัยทางกายภาพ (การหล่อหลอมผ่านร่างกาย) - นี่คือรูปแบบหนึ่งในวิธีการถ่ายทอดวาทกรรม

การเป็น "คนดี" อาจจะดี แต่มีข้อควรระวังว่า "นิยามของมันคืออะไร" และปัญหาใจกลางก็คือ ใครควรมีอำนาจในการชี้นำความดี และจะพิสูจน์กันอย่างไร ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า ศีลธรรมกับวาทกรรมคนดีไม่เกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิง มิเช่นั้น สังคมก็ยังตกอยู่ในมายาคติของคนดีว่า การเป็นคนดีคือสิ่งที่ถูกต้อง นำไปสู่การสถาปนาตนเป็นคนดี นอกจากจะเป็นคนดีในสถานะแล้ว ยังถูกต้องชอบธรรมในสายตาของใครหลายคนอีกด้วย เมื่อมีความชอบธรรม อำนาจต่อรองย่อมตามมา

อย่างเรื่องเล่าผู้ใหญ่และเด็กทำแก้วน้ำตกในสถานการณ์เดียวกัน เรื่องมีอยู่ว่าแก้วน้ำวางอยู่บนโต๊ะตัวเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน ปัจจัยทุกอย่างเหมือนกัน ที่ไม่เหมือนกันคือคนเดินชนโต๊ะ คนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ อีกคนเป็นเด็ก ผลคือผู้ใหญ่บอกว่าแก้วนี้วางผิดจุดทำให้ตัวเองเดินชน ขณะที่เด็กจะโดนดุว่าเดินไม่ดูตาม้าตาเรือ แก้วน้ำก็วางของมันอยู่ดีๆ

บางครั้งความอาวุโสกลับเป็นภาพสะท้อนของอำนาจต่อรองที่มากกว่าผู้น้อย เพราะจากเรื่องข้างต้นก็ซ่อนมุมมองแห่งการตัดสินคุณค่าว่าใครผิด-ถูก ดี-ไม่ดี โดยอำนาจที่ว่าก็เป็นอำนาจจากผู้ใหญ่ที่บอกว่าตัวเองดีนั่นเอง ดังนั้น เวลาเราพูดถึงคนดี คำนี้จึงไปผูกกับอำนาจโดยอัตโนมัติ เมื่ออำนาจเข้าไปในระบบการปกครอง คนดีจึงมีอำนาจต่อรองมากกว่าคน ที่ไม่มีคำคุณศัพท์ต่อท้าย

แน่นอน ผีย่อมเห็นผี คนดีย่อมเห็นคนดีด้วยกัน จากระบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเด็กให้ดี สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอำนาจจากคนดีที่มีอภิสิทธิ์ผลิตเด็กให้เป็นประเภทเดียวกันได้

ทั้งหมดสะท้อนได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาในการสร้างระบบที่ผลิตคนตามนิยามที่มาจากผู้มีอำนาจ ผ่านการเล่นกับภาษา (คือคำว่าดี) ศีลธรรม (ความผิดชอบชั่วดีถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของคนดี) อำนาจ (อภิสิทธิ์จากการบอกว่าดีคือเหมาะสม) รวมถึงชนชั้นการปกครอง (ที่สังคมถูกกล่อมเกลาว่าเราจำเป็นต้องเลือกคนดี)

วัตถุดิบต่างๆ จึงไม่อาจมีความชอบธรรมได้หากมันมิได้อยู่ในภาชนะที่ชอบธรรม นั่นคือการศึกษา และการเขี่ยวัตถุดิบที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ ซึ่งการเขี่ยออกจึงเริ่มต้นง่ายๆ เมื่อเด็กต่อล้อต่อเถียงกับผู้ใหญ่ ความรู้สึกว่าเด็ก ‘ดื้อ’ เพราะไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ หรือรู้สึกว่า ‘ดื้อ’ เพราะกล้าแสดงออกกับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่า มุมมองต่างกันนิดเดียว โดยสายตาแบบแรกเป็นวิธีของเผด็จการ เพราะเป็นการปิดปากเพื่อให้อำนาจเดิมไม่สั่นคลอน ส่วนอย่างหลังเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการสนับสนุน


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
การศึกษาไทยมาจากไหน?


หมายเหตุ: จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ - ผู้เขียนเป็นนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 3 และขอบคุณภาพประกอบจาก Alexmorellon