วันจันทร์, มกราคม 04, 2559
สุรชาติ บำรุงสุข : ทิศทางของกองทัพในปี 2559
ที่มา โฟกัสกองทัพปี′59 มติชนออนไลน์
รายงานฉบับเต็ม http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1451823991
นายสุรชาติ บำรุงสุขอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ทิศทางของกองทัพในปี 2559 อย่างละเอียด โดยวิเคราะห์ทิศทางของกองทัพไว้เป็นประเด็นดังนี้ ผมมีข้อสังเกตเป็นประเด็นต่างๆ 1.ข้อกังขาในสังคมที่กองทัพเข้าไปพัวพันกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งแน่นอนปัญหานี้เกี่ยวพันกับการเมืองและจะต้องเป็นปัญหาคาราคาซังในปี 2559 และล่าสุดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ของ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้แถลงข่าวออกมาแล้ว จะเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ การชี้แจงจากฝ่ายทหารมากน้อยเท่าไหร่ และสิ่งที่คาดเดาไม่ได้คือจะมีองค์กรอิสระอื่นๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ ขณะเดียวกันการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมทำได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราไม่สามารถตอบได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
นายสุรชาติอธิบายต่อว่าประเด็นที่2 คือ บทบาททหารกับทางการเมือง ตรงนี้ผมคิดว่ากองทัพจะถูกท้าทายมากขึ้น ที่ผมใช้คำว่าท้าทาย เพราะว่าบทบาททหารในยุคปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับการเมือง ทั้งนี้รัฐบาลทหารกับบทบาททหารและการเมืองมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งเราต้องแยกกัน รัฐบาลทหารกับบทบาทผู้นำกองทัพ แต่ต้องคิดว่าการเมืองในปีหน้าจะถูกท้าทายจากความชอบธรรมของรัฐบาลทหารจากกระแสสังคมที่รู้สึกว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยให้นำไปสู่การเลือกตั้งแม้ว่ารัฐบาลจะสัญญาว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแมปทั้งนี้ความรู้สึกไม่มั่นใจคำว่าโรดแมปและการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงๆ ในปีใด ประกอบกับการร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความจัดเจนว่าร่างเสร็จเมื่อใด เพราะฉะนั้นบทบาทของทหารกับรัฐบาลทหารจะตอบโจทย์สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ว่าจะตอบโจทย์กระแสสังคมอย่างไรก็ต้องประเมินกันอีกที
ประเด็นที่3 คือ ปัญหาภายในกองทัพคิดว่าประชาชนทุกคนเห็นเป็นปกติ จะมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง แต่ถึงอย่างไรแล้วสิ่งที่จะเห็นต่อไปภายในปีหน้า คือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช จะอยู่ตำแหน่งเพียงเดือนกันยายน 2559 เพราะฉะนั้นการที่จะคัดสรรบุคคลขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จะเป็นโจทย์ของกองทัพบก รวมถึงหลายส่วนของแต่ละเหล่าทัพ จะมีปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่แตกต่างกันนัก เนื่องด้วยกองทัพไทยไม่มีระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่ชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งการโยกย้ายของนายทหารจะผูกติดและเชื่อมโยงกับการเมืองมาก จนทำให้กระบวนการคัดสรรนายทหารขึ้นสู่สายการบังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับบัญชาระดับสูงมักเป็นปัญหาประจำของกองทัพและการเมืองไทยตลอดทุกปี
อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ได้ปิดท้ายด้วยประเด็นที่4ว่า เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่ากองทัพจะผลักดันโครงการอะไรออกมาอีก ซึ่งในปี 2558 จะเห็นได้ว่าทางกองทัพเรือพยายามผลักดันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ นับได้ว่าเป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ ฉะนั้นเราจะคาดเดาไม่ได้เลยว่าปีหน้าทุกเหล่าทัพจะผลักดันโครงการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อีกหรือไม่ ทั้งนี้จะต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่เอื้อให้ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เลยประกอบกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามทางทหาร มันไม่ใช่โจทย์ที่สู้รบตามแบบปกติแล้ว แต่สงครามในโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ในรูปแบบสงครามก่อการร้าย ต้องใช้การลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้นายสุรชาติวิเคราะห์ข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพว่าการชูประเด็นและข้อเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพไม่ใช่เรื่องใหม่เลยแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้าลองย้อนกลับไปเราจะเห็นข้อเสนอในยุคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ แม้ว่าความพยายามเหล่านี้จะประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้างก็ตาม แต่ในอนาคตข้อเรียกร้องในการปฏิรูปกองทัพจะกลายมาเป็นประเด็นใหม่แน่ๆ เราเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้รัฐบาลทหารพยายามเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องปฏิรูปตนเอง แต่เราจะไม่เห็นอย่างหนึ่งที่รัฐบาลทหารไม่พูดถึงเลย นั่นคือการปฏิรูปกองทัพ เพราะฉะนั้นข้อเรียกร้องดังกล่าวผมคิดว่าทิศทางในปี 2559 น่าจะมีคนเสนอออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นายสุรชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเรามองการเมืองระยะยาวแล้ว ข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพจะต้องถูกเสนอผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่สถานการณ์เฉพาะหน้าเรายังตอบไม่ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และใครจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และในอนาคตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีนโยบายในการปฏิรูปกองทัพและทางทหารจริงจังหรือไม่ ถึงตรงนี้ย่อมคาดเดาไม่ได้เลย คงต้องประเมินกันอีกที