วันอังคาร, เมษายน 09, 2567
ศูนย์ทนายฯ ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกลไกพิเศษ UN กรณีคำพิพากษาคดี ม.112 ของ “บัสบาส” และ “เก็ท”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
8h
·
ศูนย์ทนายฯ ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกลไกพิเศษ UN
กรณีคำพิพากษาคดี ม.112 ของ “บัสบาส” และ “เก็ท”
.
.
ในวันที่ 29 ม.ค. และ 19 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการดำเนินคดีและคุมขัง “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร และ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ภายใต้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไปยังกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ได้แก่
.
(1) ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก (Special Rapporteur on Freedom of Opinion and Expression)
(2) ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (Special Rapporteur on Freedom of Peaceful Assembly and of Association)
(3) ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders)
(4) ผู้รายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ (Special Rapporteur on the Independence of Judges and Lawyers)
.
เช่นเดียวกับ คำร้องที่ส่งให้กลไกพิเศษ UN กรณีของ อานนท์ นำภา คำร้องทั้งสองได้ระบุว่า การบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งในระดับภาคประชาสังคม และตามการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกขององค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นเองภาครัฐของไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง และกักขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยทั่วไป
.
.
ศาลตัดสินลงโทษจำคุก “เก็ท โสภณ” ในคดี ม.112 ทั้งหมด 2 คดี
.
ในวันที่ 19 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายฯ ได้ส่งคำร้องถึงผู้รายงานพิเศษฯ เกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิธำรง โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการถูกคุมขังตาม ม. 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโสภณถูกพิพากษาลงโทษจำคุกในคดี ม.112 จำนวน 2 คดี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 และ 27 ธ.ค. 2566 รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 6 ปี 6 เดือน
.
คดี ม.112 ที่ 1 ของโสภณสืบเนื่องมาจากกรณีการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ซึ่งโสภณถูกกล่าวหาว่าคำปราศรัยเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ต่อมาในวันที่ 24 ส.ค. 2566 ศาลอาญา ได้พิพากษาลงโทษจำคุกโสภณภายใต้ มาตรา 112 เป็นเวลา 3 ปี และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีก 6 เดือน
.
คำร้องของศูนย์ทนายฯ ได้ชี้แจงต่อผู้รายงานพิเศษของ UN ว่า โทษจำคุก 6 เดือนจากการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่มีฐานกฎหมายมารองรับ (lack legal basis) เนื่องจากความผิดดังกล่าวถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ซึ่งระวางโทษไว้เพียงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท แต่ศาลกลับลงโทษจำคุกโสภณถึง 6 เดือน
.
คำร้องของศูนยทนายฯ ยังรายงานอีกว่า ระหว่างการพิจารณาคดีก่อนมีคำพิพากษา โสภณถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่ในวันที่ 3 - 30 พ.ค. 2565 ศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะปล่อยตัวโสภณในวันที่ 31 พ.ค. 2565
.
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โสภณเข้าร่วมการเดินขบวนอย่างสงบในระหว่างการประชุมเอเปก (APEC Summit) ในวันที่ 17 พ.ย. 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ศาลอาญาได้เพิกถอนประกันตัวของโสภณในวันที่ 9 ม.ค. 2566 เนื่องจากเห็นว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขประกัน โสภณจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้ง จนศาลจะให้ประกันตัวเขาในวันที่ 20 ก.พ. 2566 โสภณอยู่ในเรือนจำรอบที่ 2 เป็นเวลา 43 วัน
.
คำร้องระบุว่า การคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นการละเมิดสิทธิในการประกันตัว (right to bail) ของโสภณ และขัดกับหลักว่าต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิด (presumption of innocence)
.
ในคดีที่ 2 สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย 2565 บริเวณวงเวียนใหญ่ โสภณถูกกล่าวหาว่าคำปราศรัยเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ต่อมาในวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาธนบุรีได้ลงโทษจำคุกโสภณ 3 ปี โดยคดีนี้โสภณแสดงออกปฏิเสธอำนาจของศาล เพื่อเป็นการประท้วงและเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันแก่ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
.
.
ศาลลงโทษจำคุก “บัสบาส มงคล” 50 ปี เป็นคดี ม.112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
.
ในวันที่ 29 ม.ค. 2566 ศูนย์ทนายฯ ได้ส่งคำร้องให้ผู้รายงานพิเศษฯ เกี่ยวกับคดีที่ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2564 และอีก 1 คดี ในข้อหาเช่นเดียวกัน จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ ในช่วงวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565
.
คดีมาตรา 112 แรกของมงคล สืบเนื่องมาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก จำนวน 27 โพสต์ ที่เขาเผยแพร่ระหว่างวันที่ 2 -11 มี.ค. 2564 และ 8-9 เม.ย. 2564 โดยบางโพสต์เป็นการแชร์คลิปของรายการ ทอล์คโชว์ ของ John Oliver (Last Week Tonight) ซีรีย์การ์ตูน American Dad และ สารคดี BBC “Soul of a Nation” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งมงคลถูกกล่าวหาว่าโพสต์มีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมถึงมีบางโพสต์ที่ไม่ชัดเจนว่ากล่าวถึงบุคคลใด
.
ต่อมาในวันที่ 26 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษา ว่าการกระทำของมงคลเป็นความผิดในจำนวน 14 ข้อความ และยกฟ้องอีก 13 ข้อความ ในกรณีข้อความที่เกี่ยวกับอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 หรือข้อความที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ว่าโพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ศาลก็เห็นว่าไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี ทั้งหมด 14 กระทง รวมโทษจำคุก 28 ปี
.
อย่างไรก็ดี วันที่ 18 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นต่างจากศาลชั้นต้น โดยมีคำพิพากษาออกมาว่ามงคลมีความผิดภายใต้ ม.112 อีก 11 โพสต์ โดยศาลเห็นว่าตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6374/2556 วางหลักของความผิดตาม มาตรา 112 พระมหากษัตริย์มิได้หมายความเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือมิได้ทรงครองราชย์ต่อไปแล้วด้วย ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 โพสต์ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วย
.
ส่วนโพสต์ข้อความอีก 2 โพสต์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อเข้าใจโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้กล่าวว่าองค์พระมหากษัตริย์ให้เสียหาย จึงเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ในเมื่อมงคลให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลง 1 ใน 3 เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ รวมเป็นโทษจำคุก 50 ปี
.
หลังจากนั้น ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวมงคล ระบุว่าจากพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 50 ปี หากปล่อยชั่วคราวเชื่อได้ว่าจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง ทำให้มงคลจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายในระหว่างชั้นฎีกา
.
นอกจากคดีข้างต้นแล้ว คำร้องของศูนย์ทนายฯ ยังรายงานอีกว่า มงคลยังถูกฟ้องในคดี ม.112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายอีก 1 คดี จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เมื่อวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 โดยในคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในวันที่ 30 ต.ค. 2566 ลงโทษจำคุกรวมอีก 4 ปี 6 เดือน แต่คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์
.
ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2567 มงคลยังประท้วงอดอาหารในเรือนจำ เพื่อต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั้งหมด
.
.
ข้อเรียกร้องต่อผู้รายงานพิเศษฯ ของ UN
.
ในคำร้องที่ส่งให้ผู้รายงานพิเศษฯ ในกรณีของทั้งสองคน มีข้อเรียกร้องต่อผู้รายงานพิเศษฯ ดังนี้
.
1. ให้ยุติการดำเนินคดี การจับกุม และปล่อยตัวผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนโดยทั่วไป และคุ้มครองบุคคลจากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ จากการที่บุคคลดังกล่าวใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพให้สอดคล้องกับ ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)
.
2. ให้ประกันการใช้สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการประกันตัว
.
3. ให้เคารพและตีความกฎหมายในลักษณะที่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมไปถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
.
4. ให้มีการทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการลงโทษทางอาญา และป้องกันไม่ให้บุคคลใดสามารถกล่าวโทษต่อบุคคลอื่นได้ตามอำเภอใจ
.
5. ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ
.
.
ท่าทีและความเห็นของ UN ต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับมาตรา 112
.
นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 จนถึง ม.ค. 2567 สหประชาชาติ ได้ส่งหนังสือทั้งหมดราว 20 ฉบับถึงรัฐไทยเพื่อที่จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 และได้ให้คำแนะนำแก่รัฐไทยอย่างต่อเนื่องว่า ควรที่จะแก้มาตรา 112 ให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี
.
ในวันที่ 25 มี.ค. 2567 ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากองค์การสหประชาชาติก็ได้เผยแพร่ความเห็นต่อรัฐไทย เรียกร้องให้มีการกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีต่อ อานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112 รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/66232