วันพฤหัสบดี, เมษายน 11, 2567

Human Rights Watch เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการสนับสนุนรัฐบาลไทยชิงที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน #ยูเอ็น ถ้าหาก #ก้าวไกล @MFPThailand ถูกยุบด้วยข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม กรณีเสนอแก้ไข #ม112 ชี้ #ยุบพรรคก้าวไกล จะบ่อนทำลายประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน!


Sunai @sunaibkk

ด่วน!
@HRW เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการสนับสนุนรัฐบาลไทยชิงที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน #ยูเอ็น ถ้าหาก #ก้าวไกล @MFPThailand ถูกยุบด้วยข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม กรณีเสนอแก้ไข #ม112 ชี้ #ยุบพรรคก้าวไกล จะบ่อนทำลายประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน! #WhatsHappeningInThailand

(https://hrw.org/news/2024/04/10/thailand-court-ruling-could-subvert-democratic-rule)
.....


ที่มา มติชนออนไลน์

ฮิวแมนไรท์วอทช์ จี้นานาชาติ เลิกหนุนไทย นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน หาก ก้าวไกลถูกยุบพรรค ด้วยข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า คำตัดสินของศาล อาจล้มล้างกฎของประชาธิปไตยได้

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญของไทย กำลังจะตัดสินคำร้อง ที่อาจส่งผลต่อพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศถูกยุบ และ สั่งแบนผู้บริหารพรรคจากการเมือง พรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับจำนวนที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา ที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เรื่องการล้มล้าง

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน 2567 อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง กับการคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของไทย

เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ระบุว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่ศาลจะต้องออกคำตัดสิน โดยปราศจากแรงกดดันทางการเมือง เนื่องจากมีผลกระทบระยะยาวต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ระบุด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกล นำเสนอพยานหลักฐานและอธิบายรายละเอียดการต่อสู้คดีด้วยตัวเอง ซึ่งศาลให้เวลาถึงวันที่ 18 เมษายน ในการยื่นคำชี้แจง

การยุบพรรคก้าวไกล จะเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิก ที่มีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ และการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการรับรองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันในปี พ.ศ. 2539


ทั้งนี้ มาตราที่ 25 ของ ICCPR รับประกันสิทธิของพลเมือง ในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะตลอดจนการลงคะแนนเสียง ลงสมัครทางการเมือง ในการเลือกตั้งโดยเสรี

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของรัฐ ระบุว่ามาตรานี้ ปกป้องสิทธิ การเข้าร่วมองค์กรและสมาคมที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและสาธารณะ และ พรรคการเมืองและการเป็นสมาชิกในฝ่ายต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจการสาธารณะ

การกำจัดพรรคก้าวไกล จะบ่อนทำลายความพยายามของประเทศไทย ในการฟื้นฟูการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ หลังจากปกครองด้วยเผด็จการทหารมานานหลายปี จะทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยฝ่ายค้านทางการเมืองอ่อนแอลง และยกเลิกคะแนนเสียง 14 ล้านเสียงอย่างไม่ยุติธรรม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวอีกว่า พันธมิตรของประเทศไทย รวมไปถึงหน่วยงานของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ควรชี้แจงต่อสาธารณะว่าการยุบพรรคจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจุดยืนของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่เคารพสิทธิโดยทั่วไป

รัฐบาลที่เป็นกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ควรถอนการสนับสนุนข้อเสนอของไทย สำหรับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวาระปี 2568-2570 หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ

“หากพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปถูกยุบได้ในที่เปิดเผย สิทธิในระบอบประชาธิปไตยของคนไทยทุกคน ก็ตกอยู่ในความเสี่ยง” เพียร์สัน กล่าว และว่า พันธมิตรของประเทศไทยควรทำให้ชัดเจนว่า การยุบพรรคก้าวไกลจะทำลายความพยายามของประเทศ ในการบรรลุการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มากขึ้น

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4519657