วันอังคาร, เมษายน 09, 2567

เบื้องหลัง “คืนชีพแคดเมี่ยมจากหลุมฝังกลบ” ผ่านทุนจีน ถ้ารัฐบาลไทย ยังปล่อยให้มี “โรงงานทุนจีนเถื่อน” สามารถมาเปิดโรงงานบนแผ่นดินไทย สามารถตั้งตัวเป็น “รัฐอิสระ” โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยไม่สามารถจัดการได้เช่นนี้ต่อไป ท่านแน่ใจหรือ ... ว่ามันจะจบแค่ “แคดเมี่ยม”


Sataporn Pongpipatwattana
1d
·
เบื้องหลัง “คืนชีพแคดเมี่ยมจากหลุมฝังกลบ” ผ่านทุนจีนเข้า “รัฐอิสระคลองกิ่ว” ชลบุรี ก่อนส่งออกไปจีน
เรื่อง : มารชรา
*****************
“รัฐอิสระคลองกิ่ว” คือ คำนิยามที่ใช้เรียกพื้นที่กว้างขวางขนาด 88 ไร่ ใน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่มีอาคารคล้ายโรงงานขนาดใหญ่กว่า 30 หลัง ซึ่งลักลอบประกอบกิจการมาตลอด และถูกตรวจพบว่าลักลอบประกอบกิจการหลอมซากอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถูกดำเนินคดีและถูกสั่งห้ามใช้เครื่องจักรในเวลาต่อมา
และในวันที่ 6 เมษายน 2567 ... รัฐอิสระคลองกิ่ว โด่งดังไปทั่วประเทศ เพราะกลายเป็นสถานที่ที่ถูกตรวจพบ “แคดเมี่ยม” ปริมาณเกือบ 5,000 ตัน ที่ถูกส่งมาจากเหมืองและโรงถลุงแร่สังกะสี บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ จำกัด (ชื่อเก่าคือ บริษัท ผาแดง อินดัสตรี) จ.ตาก และหายไปจากจุดหมายปลายทาง คือ โรงงานรีไซเคิลอลูมิเนียม เจแอนด์บี เมททอล จ.สมุทรสาคร กว่า 10,000 ตัน
เมื่อพิจารณาว่า โรงงานทุนจีนที่ ต.คลองกิ่ว เป็นเหมือนรัฐอิสระที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงมาตลอด ... ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากจะพบแคดเมี่ยมที่หายไปได้ที่นี่
ที่นี่ถูกเรียกเป็นรัฐอิสระคลองกิ่ว เพราะ .... ใน 88 ไร่ ถูกแบ่งเป็น 4 โซน A B C D ซึ่งเกือบทุกตารางเมตรถูกใช้ประโยชน์เป็นโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ประมาณปี 2561 เป็นที่ตั้งของกิจการทุนจีน 3 บริษัท คือ
บริษัท อิฟง จำกัด มี 1 ใบอนุญาต เป็นโรงงานลำดับที่ 53 (บดอัด หล่อหลอมพลาสติก)
บริษัท ไทยฟุง 2020 จำกัด มี 1 ใบอนุญาต เป็นโรงงานลำดับที่ 53 เช่นกัน
บริษัท ชุนฟุงฮง จำกัด มี 5 ใบอนุญาต เป็นโรงงานลำดับที่ 53 รวม 4 ใบ และเป็นโรงงานลำดับที่ 105 (คัดแยกของสียที่ไม่เป็นอันตราย) อีก 1 ใบ
ทั้ง 3 บริษัท มีกรรมการผู้จัดการ ชื่อ หม่า ย่า เผิง เป็นชาวจีน
จะเห็นได้ว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ทั้ง 3 บริษัท สามารถทำได้เพียงการหลอมพลาสติกและคัดแยกของเสียที่ไม่เป็นอันตรายเท่านั้น ในพื้นที่ของโรงงานเหล่านี้จึงไม่สามารถครอบครองซากอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่ตะกรันจากการหลอมสังสะสีที่มีแคดเมี่ยมปนเปื้อนได้
ยังไม่นับว่า ใบอนุญาตที่มีรวมกันทั้ง 7 ใบ ถูกกำหนดอยู่ในพื้นที่โซน B ของโรงงานเพียงโซนเดียวเท่านั้น และยังไม่เคยแจ้งขอประกอบการ จึงไม่เคยผ่านการตรวจสอบเครื่องจักรใดๆมาก่อน หมายความว่า แม้จะมีใบอนุญาตหลอมพลาสติก โรงงานทุนจีนทั้ง 3 บริษัทนี้ ก็หลอมพลาสติกไม่ได้ด้วยซ้ำ ส่วนจุดที่พบทั้งซากอิเล็กทรอนิกส์และแคดเมี่ยม คือ บริเวณโซน A ซึ่งไม่มีใบอนุญาตอะไรเลย
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า พื้นที่ทั้ง 88 ไร่ของโรงงานทุนจีน “รัฐอิสระคลองกิ่ว” ผิดกฎหมายทุกตารางเมตร ฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ครอบครองวัตถุอันตราย ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต .... แต่พวกเขาก็ทำมาได้ตลอดตั้งแต่ปี 2561 แถมยังขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อประชาชนในพื้นที่ไปร้องทุกข์ต่ออุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ก็ได้คำตอบกลับมาเพียงแค่ว่า ได้ใช้อำนาจสั่งให้หยุดไปแล้ว
แต่โรงงานแห่งนี้ไม่เคยหยุด ทั้งเปิดเครื่องจักร ก่อสร้างอาคารเพิ่ม ขุดบ่อน้ำ ปล่อยน้ำเสีย ...
ราวกับไม่ต้องถูกบังคับใช้กฎหมายไทย ราวกับเป็นรัฐอิสระของทุนจีน จะทำอะไรก็ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐของไทยไม่มีความสามารถจะหยุดยั้งได้
*********
พบแคดเมี่ยมจากบิ๊กแบ็กที่คลองกิ่ว ...คาดเป็นปลายทาง(ฝั่งไทย)ที่แท้จริง
11 มีนาคม 2567 มูลนิธิบูรณะนิเวศ กลับไปที่โรงงานทุนจีนรัฐอิสระคลองกิ่ว จ.ชลบุรี อีกครั้ง และได้บันทึกภาพถุงบิ๊กแบ็ฏส่วนหนึ่งไว้จากโกดังใหม่ในโซน A ซึ่งไม่ใช่โกดังเดิมที่ถูกปิดล็อกเครื่องจักรไปเพราะลักลอบรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์
แต่เมื่อภาพถุงบิ๊กแบ็กบรรจุตะกรันปนเปื้อนแคดเมี่ยมที่โรงงาน เจแอนด์บี จ.สมุทรสาคร ถูกเปิดเผยออกมา ทางเจ้าหน้ามูลนิธิบูรณะนิเวศจึงพบว่า ถุงบิ๊กแบ็กที่พบที่สมุทรสาครมีลักษณะการเขียนข้อความบนถุงใกล้เคียงกับบิ๊กแบ็กที่บันทึกภาพมาจาก จ.ชลบุรี มาก จึงนำภาพมาเปรียบเทียบกัน และแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบ จึงพบแคดเมี่ยมส่วนที่หายไป เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567
*****
ก่อนจะไปไล่เรียงเส้นทางของแคดเมี่ยม ... เราลองมาทบทวน “บทบาท” ของตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กันอีกรอบ เพื่อไขปริศนาว่า แคดเมี่ยมเหล่านี้กำลังจะถูกนำไปใช้ทำอะไร
ต้นทาง
เบาด์ แอนด์ บียอนต์ (ชื่อเก่าคือ บริษัท ผาแดง อินดัสตรี) กิจการเหมือง ที่ อ.แม่สอด และโรงถลุงแร่สังกะสี ที่ อ.เมือง จ.ตาก กำลังจะเปลี่ยนไปทำกิจการอื่น อ้างว่าไปขุด “กากตระกันสังกะสีที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยม” ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบบ่อเก็บกากแร่ เพื่อส่งไปขายที่สมุทรสาคร
อุตสาหกรรม จ.ตาก ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ขนย้ายกาก และยังมีข้อสงสัยว่า อนุญาตให้ขุดกากแร่ขึ้นมาจากหลุมหรือไม่
กลางทาง
บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จ.สมุทรสาคร เป็นโรงงานลำดับที่ 106 (รีไซเคิล) หล่อหลอมอลูมิเนียม มีชื่อเป็นผู้รับตะกรันจากการหลอมสังกะสี (ปนเปื้อนแคดเมี่ยม) รวม 15,000 ตัน มาตั้งแต่กลางปี 2566 แต่จัดเก็บไม่ถูกต้อง และถูกตรวจพบว่าไม่มีสิทธิรับ แต่กลับพบของเสียอยู่ในโรงงานเพียง 2,440 ตัน เท่านั้น หายไปมากกว่า 1 หมื่นตัน
อุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ต้องพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการรับตะกรันจากการหลอมสังกะสีที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมมาหรือไม่
ปลายทาง (ประเทศไทย)
โรงงานทุนจีนผิดกฎหมาย 3 บริษัท ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีใบอนุญาตลำดับที่ 53 หล่อพลอมพลาสติก รวมกัน 6 ใบ และลำดับที่ 105 คัดแยกของเสียไม่อันตราย อีก 1 ใบ แต่ไม่เคยแจ้งประกอบกิจการ จึงไม่สามารถรับของเสียกลุ่มนี้เข้ามาได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมาโดยวิธีการใดก็ตาม
อุตสาหกรรม จ.ชลบุรี อธิบายว่าโรงงานเปิดกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตมาตลอด จึงไม่เคยเกี่ยวข้องกับการอนุญาตใดๆของโรงงานนี้เลย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต.คลองกิ่ว ต้องอธิบายว่า ปล่อยให้ก่อสร้างอาคาร ขุดบ่อน้ำ โดยไม่ดี้รับอนุญาตจากท้องถิ่นไดเอย่างไร รวมถึงการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
เมื่อไล่เรียงบทบาทของตัวละครกันแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการกำจัดของเสียอันตรายต่างวิเคราะห์ตรงกันว่า
มีข้อสังเกตว่า การขุดกากแร่ออกมาจากหลุมฝังกลบ ที่ จ.ตาก อาจมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการนำที่ดินแปลงนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นภายหลังหรือไม่
“ได้ที่ดินคืนด้วย ได้ขายของที่ทิ้งไปแล้วด้วย เป็นแรงจูงใจที่มีเหตุผล” เป็นการวิเคราะห์จากกผู้เชี่ยวชาญในวงการรับกำจัดของเสียอันตราย
การขุดกากแร่ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบเป็นสิ่งที่ “ผิดปกติมาก” ผู้เชี่ยวชาญในวงการกำจัดของเสียอันตราย ยืนยันว่า ไม่เคยมีบริษัทรับกำจัดของเสียอันตรายเจ้าอื่นเคยทำเช่นนี้มาก่อนเลย
มีคำถามต่อมาว่า “เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีอำนาจอนุญาตให้ขุดกากของเสียอันตรายขึ้นมาจากหลุมฝังกลบหรือไม่” ข้อนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญในวงการ มีความเห็นว่า “ไม่น่าจะอนุญาตได้ และไม่น่าจะมีเหตุผลที่เหมาะสมในการขุดของเสียอันตรายขึ้นมา เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสูง”
โรงงาน เจแอนด์บี ที่สมุทรสาคร มีใบอนุญาตลำดับที่ 106 ถึงจะเป็นใบอนุญาตหล่อหลอมอลูมิเนียม ก็ถือว่ามีความใกล้เคียงที่จะถูกใช้เป็นปลายทางของการรับตะกรันสังกะสีปนเปื้อนแคดเมี่ยม
ควรเปิดเผยว่า การอนุญาตให้ส่งแคดเมี่ยมมาที่ เจแอนด์บี ทำอย่างถูกต้องหรือไม่
- ถ้าไม่ถูกต้อง หมายความว่า อุตสาหกรรม จ.ตาก ไม่ควรอนุญาตได้
- ถ้าส่งมาถูกต้อง หมายความว่า อาจมีการแก้ไขคุณสมบัติของโรงงานเจแอนด์บีให้สามารถรับหล่อหลอมสังกะสีได้ หรือไม่ ??
เมื่อ เจแอนด์บี มีใบอนุญาต 106 (รีไซเคิล) และมีชื่อระบเป็นผู้รับตามเอกสาร แต่กลับพบของเสียเพียงบางส่วนอยู่ที่โรงงาน แต่กากปนเปื้อนแคดเมี่ยมที่มีอัตลักษณ์มาจากที่เดียวกัน กลับไปปรากฎอยู่ที่ชลบุรี หมายความว่า
- เจแอนด์บี ถูกใช้ให้เป็นชื่อผู้รับตามเอกสารเท่านั้น แต่เป็นเพียงจุดพักของเพื่อส่งต่อไปยังปลายทางที่แท้จริง ใช่หรือไม่ ??
- มีรถขนส่งนำแคดเมี่ยม ออกจาก เจแอนด์บี ไปที่คลองกิ่ว จ.ชลบุรี หรือไม่ ??
- มีแคดเมี่ยม ขนส่งจาก จ.ตาก ตรงไปที่คลองกิ่ว จ.ชลบุรี หรือไม่ ??
เห็นภาพชัดเจนว่า โรงงานทุนจีนเถื่อน ในรัฐอิสระคลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นปลายทางที่แท้จริงของแคดเมี่ยม จาก จ.ตาก ล็อตนี้ ... แต่เป็นเพียงปลายทางในประเทศไทยเท่านั้น
นั่นเป็นเพราะ “โรงงานในไทย” ไม่สามารถสกัดแยกสารต่างๆออกมาเพื่อให้นำไปหาผลประโยชน์ต่ออย่างคุ้มค่าได้ ต้องส่งไปสกัดที่ “จีน”
********
ส่งไปสกัดที่ “จีน” ปลายทางที่แท้จริงของ “แคดเมี่ยม” ที่ต้องผ่านเส้นทาง “ทุนจีนในไทย”
“แคดเมี่ยมที่เราเห็นอยู่ในบิ๊กแบ็ก ผมเชื่อว่า เขาจะหลอมที่โรงงานทุนจีนที่คลองกิ่วเลย แล้วส่งออกไปเป็นแท่ง”
ผู้เชี่ยวชาญในวงการการกำจัดของเสียอันตรายคนหนึ่งวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะหาผลประโยชน์จากแคดเมี่ยม 15,000 ตัน ที่ถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากแร่
เนื่องจากในโรงงานทุนจีนที่ ต.คลองกิ่ว จ.ชลบุรี มีเครื่องจักรที่ใช้หลอมโลหะอยู่ด้วยอย่างแน่นอน มีภาพที่มูลนิธิบูรณะนิเวศเคยบันทึกให้เห็น “แท่งทองแดง” ที่สกัดจาดแผงวงจรอิเล็กอิเล็กทรอนิกส์และเพิ่งผ่านการหลอมถูกวางกองไว้ในโรงงาน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคนนี้เชื่อว่า การนำแคดเมี่ยมมาไว้ที่โรงงานแห่งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจะหลอมเป็นแท่งก่อนส่งออกไปขายที่จีน
“หลอมกากแร่แบบนี้ในประเทศไทย ถือว่าอันตรายมากๆครับ ไม่ว่าจะหลอมที่โรงงานไหนในไทยก้อันตรายหมด เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าทำไมเขาถึงต้องส่งมาหลอมที่โรงงานของกลุ่มทุนจีนไปเลย เพราะมันเป็นโรงงานเถื่อน เพราะมันอยู่แบบเป็นรัฐอิสระที่ลักลอบทำและเจ้าหน้าที่ของไทยก็ทำได้แค่ออกคำสั่งห้ามแต่ไม่เข้าไปปฏิบัติการอะไรเพิ่มเติม”
“การหลอมตัวนี้ที่ไทย ซึ่งอันตรายต่อการปนเปื้อนมาก เขาจะไม่สกัดอะไรออกมาเลย แต่จะหลอมกากกลับไปเป็นแท่งเหมือนแท่งทองแดงที่เราเห็น และจะส่งออกไปที่จีนแบบนี้เลย เพราะการส่งไปเป็นแท่งจะได้ราคาสูงกว่าส่งไปเป็นฝุ่นผงมาก และเมื่อไปถึงจีนแล้วเขาจะหลอมใหม่ทั้งแท่งแบบที่รับไปเลยละมีเทคโนโลยีที่สามารถแยกแคดเมี่ยม แยกสังกะสี แยกทองแดงออกมาได้”
“ส่วนเส้นทางการส่งออกไป ถ้าเป็นกลุ่มที่มีทุนสูงก็ใช้เส้นทางเรือ ส่วนกลุ่มที่มีทุนไม่มากจะใช้การขนส่งด้วยรถผ่านไปทาง สปป.ลาว”
จากปรากฏการณ์นี้ เราจะเห็นได้ว่า การปรากฏขึ้นของ “แคดเมี่ยม” ที่ จ.สมุทรสาคร แม้จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกและสร่างความกังวลอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่ แต่ก็ยังถือว่าเป็นจุดที่มีช่องทางให้พอติดตามตรวจสอบจนพบได้ เพราะยังคงเป็นการขนย้ายกากของเสียอันตรายผ่านระบบที่มีการกำกับดูแล
แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่า ก็คือ การที่ “แคดเมี่ยม” ไปปรากฎอยู่ในโรงงานเถื่อน “รัฐอิสระคลองกิ่ว” อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เพราะเป็นโรงงานที่ไม่สามารถรับกากของเสียชนิดใดตามกฎหมายได้เลย ไม่มีใบอนุญาต ไม่เคยแจ้งขอประกอบการอย่างถูกต้อง ไม่เคยถูกตรวจสอบเครื่องจักร ไม่มีข้อมูลอยู่ในสารบบใดๆเลย มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ ใช้แรงงานต่างชาติเกือบทั้งหมด และไม่แยแสสนใจกับคำสั่งตามกฎหมายใดๆของเจ้าหน้าที่รัฐของไทยเลย ไม่ต่างจากอีกโรงงานหนึ่งที่เครนถล่มทับคนงานเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
และถ้ารัฐบาลไทย โดยเฉพาะ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ยังปล่อยให้มี “โรงงานทุนจีนเถื่อน” สามารถมาเปิดโรงงานบนแผ่นดินไทย สามารถตั้งตัวเป็น “รัฐอิสระ” โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยไม่สามารถจัดการได้เช่นนี้ต่อไป
ในรัฐอิสระคลองกิ่ว ... ครั้งก่อน องค์กรพัฒนาเอกชนกับสื่อมวลชนไปเจอการลักลอบรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาองค์กรพัฒนาเอกชนให้ข้อมูลว่าของในบิ๊กแบ็กอาจเป็นแคดเมี่ยมที่หายไป ... แต่ในรัฐอิสระแห่งนี้ มีมากกว่า 30 อาคาร
หากระบบตรวจสอบหรือการจัดการกากของเสียของท่าน ยังคงทำได้ “กาก” อยู่เช่นนี้ ... มีอะไรอยู่ข้างใน หน่วยงานของรัฐ ไม่รู้เลย
ท่านแน่ใจหรือ ... ว่ามันจะจบแค่ “แคดเมี่ยม”
#มารชรา
Cr ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ