วันเสาร์, เมษายน 13, 2567

ลำพูน “จังหวัดผู้สูงวัยสมบูรณ์” เมื่อระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์ ชาวลำพูนต้อง “ช่วยเหลือตัวเอง” อย่างไร

สามล้อถีบที่เหลือไม่ถึง 100 คันใน อ.เมืองลำพูน กลายเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ชราภาพที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว

ผู้สูงวัยในลำพูนต้องใช้ชีวิตอย่างไร หลังสถานีขนส่งปิดตัวลง-ระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
11 เมษายน 2024

ช่วงหยุดยาว ผู้คนจากกรุงเทพมหานคร มักเลือกขึ้นรถทัวร์จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อกลับภูมิลำเนาทางภาคเหนือและอีสาน แต่หากคุณเดินทางไป จ.ลำพูน รถทัวร์ส่วนใหญ่จะส่งคุณลง “ข้างถนน” ระหว่างทางไปเชียงใหม่ ไม่ได้เข้าสถานีขนส่ง จ.ลำพูน

จุดที่บริษัทรถทัวร์ปล่อยผู้คนลงมา เรียกว่า “ดอยติ” ตั้งตามวัดดอยติที่อยู่ใกล้กัน มันไม่มีศาลาพัก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เป็นเพิงคิวมอเตอร์ไซค์รับจ้างข้างถนนเท่านั้น

“ใครจะมาลำพูน ต้องลงวินดอยติหมดครับ เพราะรถมันไม่เข้าตัวเมือง” ชูรัตน์ สุภาผาบ วินมอเตอร์ไซค์ วัยกว่า 60 ปี บอกบีบีซีไทยที่ถามต่อว่า แล้วถ้าจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งลำพูนจาก “ดอยติ” ต้องทำอย่างไร

“คุณก็เหมารถสี่ล้อไป คิดเที่ยวละ 100-300 บาท ถ้ามอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ 60 บาท… หรือไม่ก็ให้ญาติมารับ” เขากล่าว


นี่คือ "ดอยติ" หรือเรียกง่าย ๆ ว่า วินมอเตอร์ไซค์ข้างวัดดอยติ ที่รถทัวร์ส่วนใหญ่จะแวะจอดส่งผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมาลำพูน

แต่เมื่อมาถึงสถานีขนส่ง จ.ลำพูน สิ่งที่เห็นคือ รั้วลวดหนามล้อมรอบอาคารเก่าไร้ผู้คนและภายในรกร้าง เพราะสถานีขนส่งที่เปิดมายาวนาน 30 ปี ได้ปิดตำนานลงไปแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. 2567 ทำให้ลำพูนกลายเป็นหนึ่งในจังหวัดของไทยที่ไม่มีสถานีขนส่งประจำจังหวัด

และนี่คือเรื่องราว “การช่วยเหลือตัวเอง” ของคนลำพูน ในสภาพสังคมที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม แม้จะเป็นจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เคยลงพื้นที่เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2567 และชื่นชมว่า มีศักยภาพเป็น “เมืองท่องเที่ยวหลัก” ได้ ไม่แพ้ จ.เชียงใหม่

ลำพูน… ที่ไร้สถานีขนส่ง


สถานีขนส่งลำพูนปิดลงตั้งแต่ 6 ม.ค. 2567 เป็นต้นมา

ห้องพนักงานขายตั๋วที่ว่างเปล่า ม้านั่งสั่งทำพิเศษจากไม้ลำพูนที่ฝุ่นเกาะหนา และหลังคาอาคารผุพังซึ่งได้ยินเสียงนกขึ้นไปทำรังอยู่เป็นระยะ นี่คือสภาพปัจจุบัน ของอดีตสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำพูนขนาด 5 ไร่ ที่เปิดมาหลายทศวรรษ

“ขนส่งแห่งนี้เกิดจากคุณพ่อของผม… ที่อยากให้ลำพูนเจริญ” ประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลลำพูน ผู้สืบทอดสถานีขนส่งฯ ต่อมาจากบิดา บอกบีบีซีไทย แต่จากความคึกคักในช่วง 10 ปีแรก ท้ายสุด มันกลับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าของตระกูล

นายกเทศมนตรีที่รับตำแหน่งสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 ยอมรับว่า ภาพอาคารสถานีฯ ที่ผุผังเช่นนี้ ไม่ทำให้เขารู้สึก “เสียดาย” เพราะเขาเองเป็นผู้ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับกรมการขนส่ง ด้วยเหตุผลว่า “ผมไม่มีเวลาทำ รุ่นลูกผมก็ไม่เอา ไปทำธุรกิจอื่นดีกว่า ไม่ต้องปวดหัวกับระเบียบต่าง ๆ” และ “ทำไปก็ไม่รอด”

ตั้งแต่ก่อนสถานีฯ จะปิดตัวลง บริษัทรถทัวร์ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้ามาจอดรถที่นี่แล้ว ด้วยเหตุผลว่า มีผู้โดยสารน้อย จึงเลือกจอดรับ-ส่ง ที่ “ดอยติ” ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปเชียงใหม่แทน หมายความว่า ถ้าประชาชนอยากเข้าตัวเมืองลำพูนก็ต้องพึ่งพาตนเอง เหมารถ หรือไม่ก็ใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง


ประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลลำพูน นั่งอยู่ในอดีตสถานีขนส่งที่ว่างเปล่า

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ปัจจุบัน มีบริษัททัวร์ 2 แห่งที่ยังนำรถมาจอดรับ-ส่ง ผู้โดยสารที่สถานีขนส่งลำพูน แต่ก็เพียงวันละ 1 รอบ และต้องจอดบริเวณริมถนนนอกสถานีฯ

เมื่อไม่มีรถโดยสารเข้ามาเทียบท่า เอกชนที่ดำเนินกิจการสถานีขนส่งอย่างประภัสร์ จึงอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้รับค่าธรรมเนียม ที่จะเป็นรายได้หลักสำหรับจ้างพนักงานและดำเนินงานต่าง ๆ

“สถานีขนส่ง ทำแล้วจะต้องมีรถเข้า เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งที่จะต้องจัดรถเข้า เพื่อบริการพี่น้องประชาชน” แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น “คุณกลับให้ประชาชนไปโบกรถทัวร์แบบรถเมล์ข้างทาง… นี่รัฐบาลเอาเปรียบพี่น้องประชาชน เอาเปรียบผู้ลงทุน” ประภัสร์ กล่าว

ส่วนระเบียบที่ประภัสร์ชี้ว่า กรมการขนส่งไม่บังคับใช้ คือ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 103 ที่กำหนดว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ “ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่ง”



ด้านสำนักงานขนส่งจังหวัดลำพูน ชี้แจงถึงสาเหตุการปิดตัวของสถานีขนส่งในวงเสวนาของ “ลำพูน ซิตี้แลป” ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อเดือน ก.พ. 2567 ว่า “คนในเขตเมืองเก่าไม่ได้ใช้ขนส่งสาธารณะมากนัก จำนวนผู้ใช้ส่วนใหญ่คือ ผู้เดินทางในเส้นทางระหว่างจังหวัด รวมไปถึงการมาของถนนซุเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง ที่ทำให้เส้นทางระหว่างจังหวัดเดิมที่เข้าตัวเมืองลำพูนถูกลดบทบาทลง” เรืองศักดิ์ ภูมิสันติ หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง กล่าว

“เอกชนภาคธุรกิจขนส่งจึงรวมตัวกันลงทุนจนเกิดเป็นสถานีขนส่งกลาย ๆ โดยเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณแยกดอยติ บนถนนซุเปอร์ไฮเวย์ (ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร) จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่า คนไปตามเส้นทางหรือทางไปตามคน ซึ่งต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้เหมาะสมต่อไป”

ปัจจุบัน สำนักงานขนส่งจังหวัดลำพูน กำลังออกประกาศเชื้อเชิญภาคเอกชน ขอรับใบอนุญาตจัดตั้ง และดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ แต่สำหรับประภัสร์ ผู้ปิดตำนานสถานีขนส่งลำพูนด้วยตัวเอง มองว่า หากภาครัฐยังดำเนินการโดยหวังพึ่งแต่ภาคเอกชน และไม่สนับสนุนผู้ลงทุนเช่นนี้ คนลำพูนอาจต้องรอถึง 10 ปี กว่าจะได้สถานีขนส่งแห่งใหม่ พร้อมตั้งคำถามว่า เอกชนรายใหม่จะอยู่รอดได้อย่างไร

เมืองแห่งการ “เอาตัวรอด”

จากเด็กเชียงรายที่จะเดินทางไปไหนก็สะดวก เพราะมีขนส่งสาธารณะมาจอดใกล้หน้าบ้าน สิ่งที่ ชาญสิทธิ์ สุทธธง ผู้ประสานงานโครงการของลำพูน ซิตี้แลป ต้องทำเมื่อครอบครัวย้ายมาอยู่ลำพูนในวัย 14 ปี คือ “ฝึกขี่จักรยานยนต์”

“มันบีบให้คนต้องช่วยเหลือตัวเอง เพราะทุกคนไม่มีสิทธิเข้าถึงรถยนต์สาธารณะได้ง่าย” เขากล่าว และการเอาตัวรอดในจังหวัดที่ระบบสาธารณะไม่ครอบคลุม ก็คือ การมีรถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะจักรยานยนต์


ชาญสิทธิ์ สุทธธง ยังทำธุรกิจร้าน Temple House ที่เป็นทั้งคาเฟ่และแกลเลอรีในตัว

ข้อมูลจากสำนักงานขนส่ง จ.ลำพูน ชี้ว่า ช่วงปี 2556-2565 คนลำพูนจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ปีละ 7,000 – 15,000 คัน ปัจจุบัน ลำพูนมีรถจักรยานยนต์มากถึง 136,226 คัน จากรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด 219,990 คัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการครอบครองจักรยานยนต์ต่อประชากรเป็นอันดับต้น ๆ ของไทย

แล้วระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุม และเข้าไม่ถึงทุกคนของลำพูนตามที่ ชาญสิทธิ์ กล่าว คืออะไร ระบบบีบีซีไทยได้สำรวจพบ ดังนี้
  • “รถฟ้า” ข้ามจังหวัด : เดินทางไปกลับระหว่างลำพูน-เชียงใหม่ มีจุดขึ้นรถหลักแห่งเดียว คือ หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย
  • “รถลี้” ข้ามอำเภอ : เดินทางไปกลับระหว่างอำเภอเมือง-อำเภอลี้ มีจุดขึ้นรถหลักแห่งเดียว คือ ฝั่งตรงข้ามตลาดโต้รุ่ง ใกล้อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
  • “สามล้อถีบ” และ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง : เดินทางไปจุดต่าง ๆ ของอำเภอเมืองลำพูน เพราะไม่มีรถประจำทาง

จุดจอดรถลี้ ตรงข้ามตลาดโต้รุ่ง

เบญจมาภรณ์ ดวงเกิด วัย 28 ปี ที่ตั้งแต่เกิดจนโตก็อาศัยอยู่ลำพูนมาโดยตลอด ระบบขนส่งสาธารณะที่กระจัดกระจาย ไม่เชื่อมต่อ และไม่มีรถประจำทางเหล่านี้ “มันซับซ้อนและเป็นปัญหา ทำให้คนลำพูนส่วนใหญ่ต้องซื้อรถยนต์ส่วนตัว”

เธอยกตัวอย่าง “ศาลา” ขึ้นรถฟ้า หรือรถโดยสารลำพูน-เชียงใหม่ ไม่มีตารางเดินทางที่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงเวลาทุกวัน อีกทั้ง ยังไม่ตรงต่อเวลา โดยภายในศาลาขนาดเล็ก ๆ จะเห็นตารางเดินรถที่เขียนด้วยมือ “ทุกเช้า คนที่เขาสัมปทานรถจะมาเขียน และกำหนดรอบรถเอง” ส่วนที่ประชาชนพอจะทำได้ คือ กะเวลาเอาในใจ และเผื่อเวลาเดินทาง

ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวจาก จ.เชียงใหม่ ที่ต้องการเดินทางมายัง จ.ลำพูน หรือเดินทางจากลำพูนไปเชียงใหม่ หลังเวลา 17.00 น. อาจพบกับความยากลำบาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจจะสับสับมากขึ้น หลังจากที่สถานีขนส่งปิดตัวลง จึงไม่มีศูนย์กลางในการเดินทางไว้เป็นจุดสังเกตหรือจุดรอขึ้นรถบริการสาธารณะได้


เบญจมาภรณ์ ดวงเกิด เล่าว่า ตั้งแต่เกิดจนโต ระบบการขนส่งสาธารณะภายในลำพูนเหมือนถูก "แช่แข็ง"

“มันเหมือนการปิดประตูตาย ไม่ให้เข้ามาแล้วหรือ… ลำพูนจะไม่เหมาะสมสำหรับระบบขนส่งสาธารณะหรือ เพราะว่าไม่มีใครอยากเข้ามา” เบญจมาภรณ์ กล่าวด้วยความรู้สึกอันโอดครวญ

“วันหนึ่งเรามารับพ่อ แล้วเห็นคุณตาที่ป่วยหนัก เขาอยากมาโรงพยาบาล แต่ไม่มีลูกหลานมาส่ง แล้วเขาไม่รู้จะมายังไง เลยเดินมาแล้วก็เป็นลม ต้องมีคนไปเรียกรถพยาบาลไปรับ” เธอเล่าถึงภาพที่ทำให้ตระหนักถึงปัญหาระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเกิดที่เธออยู่

เสาวนีย์ สังขาระ นักผลิตรายการสารคดีอิสระ เลือกย้ายจาก กทม. มาอยู่ที่ลำพูน หลังทราบว่า บิดาป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยเลือกผืนดินใกล้ชิดกับธรรมชาติ ห่างจากใจกลางเมืองลำพูนออกมาพอสมควร และก่อตั้งเป็น "สวนศิลป์บินสิ" ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้และจัดเวิร์กชอปสอนทักษะต่าง ๆ ให้คนในชุมชน

แม้ความสงบเงียบจะมากกว่าเชียงใหม่ที่หนาแน่นและห้อมล้อมด้วยผืนป่าลำน้ำมันสวยงาม แต่ด้วยคุณพ่อวัยชราที่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง แต่ไม่มีระบบขนส่งในชุมชนเลย ทั้งที่อยู่อำเภอเมือง ทำให้เธอตระหนักว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว


เสาวนีย์ และบ้านพักกลางป่าเขา

“ปีแรกที่มา เราพาพ่อไปโรงพยาบาลอาทิตย์ละ 2 ครั้ง บางเดือนคือไปทุกวัน” เธอเล่า “เราต้องเรียกรถสองแถวมา ค่ารถวันหนึ่งก็ 400-500 บาท เป็นการเช่าเหมา”

เหตุการณ์ที่เธอตัดสินใจกู้หนี้ยืมสิน เพื่อซื้อรถยนต์ คือ วันที่พ่อเลือดออกจนร่างกายอิดโรย แล้วโทรเรียกรถสองแถวมารับไม่ได้ จนท้ายสุด ต้องขอให้หน่วยกู้ชีพในหมู่บ้านพาไปส่ง

เกิดอะไรขึ้น เมื่อต้องชราภาพในเมืองที่ขนส่งไร้ประสิทธิภาพ

พ่อของ เสาวนีย์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของสิ่งที่ผู้ชราภาพใน จ.ลำพูน ต้องเผชิญในยามป่วยไข้ และเรื่องราวคล้ายกันนี้ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการเป็นสังคมผู้สูงวัยของไทย

ลำพูน ถือเป็นจังหวัดอันดับ 3 ของไทย ที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุ หรือบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุด คิดเป็น 26.20% ตามข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ 31 ธ.ค. 2565 ลำพูนเป็นรองเพียง จ.ลำปาง (26.75%) และแพร่ (26.34%) เท่านั้น

ในด้านประชากรศาสตร์ การที่มีประชากรสูงอายุ เกิน 20% ของประชากรทั้งหมด ถือได้ว่า 3 จังหวัดนี้ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว

แต่หากเป็นตัวเมืองลำพูนที่มีประชากรราว 11,000 คน ข้อมูลจากสำนักงานเทศบาล ชี้ว่า มีอัตราผู้สูงอายุคิดเป็นเกือบ 32% เลยทีเดียว และคาดว่าในปี 2570 จะมีอัตราสูงถึง 40.77%


อินทร มหาวันวงษ์ ขับสามล้อถีบมาเกือบทั้งชีวิต

ไม่เพียงผู้โดยสารเท่านั้นที่เป็นผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะเอง ก็ชราภาพลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสามล้อถีบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

“ตอนนี้ อายุ 75 ปีแล้ว เริ่มขับสามล้อถีบตั้งแต่อายุ 18-19 ปี เพราะเราเรียนจบไม่สูง” อินทร มหาวันวงษ์ คนขับรถสามล้อถีบ ที่มักจอดรอรับผู้โดยสารบริเวณริมกำแพงคูเมือง กล่าว

อินทร หรือที่ลูกค้าขาประจำมักเรียกว่า “ลุงทร” เล่าว่า แต่ก่อน สามล้อถีบ เป็นขนส่งสาธารณะหลักของ อ.เมืองลำพูนเลย ไม่ว่าจะรับเด็ก ๆ ไปโรงเรียน ไปโรงพยาบาล หรือจุดต่าง ๆ ทั่วเมือง ตอนที่ เขาเริ่มอาชีพนี้เมื่อ 57 ปีก่อน มีรถสามล้อถีบมากถึง 500 คันทีเดียว

“เอาเป็นว่าไปรับไปส่ง จนลูกค้ามีลูกหลานแล้ว บางคนก็ไปเป็นหมอ เราปลื้มใจนะที่ได้ส่งเขาเรียน” สามล้อถีบวัยชรา เล่าต่อ

แต่ปัจจุบัน เหลือสามล้อถีบไม่ถึง 100 คันเท่านั้น และส่วนใหญ่มีแต่ผู้สูงวัยที่ยังขับอยู่ โดยมีจุดจอดหลักอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลจังหวัดลำพูน เพื่อรับผู้โดยสารกลับบ้านในเมือง หรือไปส่งที่คิวรถลี้เพื่อกลับต่างอำเภอ

“พวกเราก็ล้มตายกันไป เราไปที่ไหนไม่ได้ หมดสังขารก็จบ ไม่คิดอะไรแล้ว จะเหลือก็แต่รถเนี่ย” อินทร กล่าวแบบปลง ๆ พลางมองไปที่สามล้อถีบคู่ใจ ที่ต้องใช้มอเตอร์ช่วยขับเคลื่อน เพราะออกแรงปั่นเองแทบไม่ไหวแล้ว


จุดจอดสามล้อถีบหน้าโรงพยาบาลลำพูน

รถสามล้อถีบที่ขับขี่โดยผู้สูงวัยเหล่านี้ ถือเป็น “ข้อต่อ” สำหรับในการเดินทางสำหรับคนต่างอำเภอ ที่ต้องการมาหาหมอที่โรงพยาบาลลำพูน เพราะขามานั้น “รถลี้” (รถข้ามอำเภอ) อาจจอดส่งผู้โดยสารหน้า รพ. ได้ แต่ขากลับ หากไม่เดิน 2 กิโลเมตร ก็มีเพียงสามล้อถีบเท่านั้น ที่จะพาไปส่งที่จุดจอดรถลี้ เพื่อกลับบ้านต่างอำเภอ เพราะไม่มีขนส่งสาธารณะอื่น หรือรถสองแถว ผ่านหน้าโรงพยาบาล

สำหรับ ชาญสิทธิ์ จากลำพูน ซิตี้ แลป เขาเชื่อว่า ลำพูนเป็นเมืองที่อยู่ง่าย เดินเท้าสะดวก และมีศักยภาพรองรับคนกลุ่มใหม่ ๆ มาร่วมพัฒนาเมือง

แต่ปัญหาการปิดตัวลงของสถานีขนส่ง ระบบขนส่งสาธารณะที่กระจัดกระจาย และขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างกัน ทำให้เขารู้สึกว่า ลำพูนยังห่างไกลจากวิสัยทัศน์ “เมืองหลักด้านการท่องเที่ยว” ที่นายกฯ เศรษฐา เคยทำนายไว้

“ถ้ามองเป็นเส้นเลือด ตอนนี้ เส้นเลือดฝอยเราน้อยมาก… ถ้าจะแยกย่อยการท่องเที่ยวของเมืองจริง ๆ เราจำเป็นต้องมีรถโดยสารเพื่อสนับสนุนผู้คนในการท่องเที่ยวจริง ๆ” เขากล่าว

“เรื่องรถสาธารณะเป็นเรื่องที่ทุกคนจ่ายภาษี ทุกคนควรจะได้รับ อย่างน้อยก็เป็นธรรมเท่ากัน”

https://www.bbc.com/thai/articles/c8vzjgdl54ro