วันอาทิตย์, เมษายน 07, 2567

จาก รพ.จิตเวช ถึง รพ.ทหาร เมื่อกะเทยต้องเกณฑ์ทหาร และคนมีจู๋ต้องป้องกันประเทศ เรื่องเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของ ปอย นัตตี้ และเนย (นามสมมติ)



จาก รพ.จิตเวช ถึง รพ.ทหาร เมื่อกะเทยต้องเกณฑ์ทหาร และคนมีจู๋ต้องป้องกันประเทศ

โดย นนทพัทธ์ พรหมกาญจน์
เมษายน 18, 2023
The Isaan Record

เดิมบทความนี้พาดหัวว่า “เมื่อกะเทยไปเกณฑ์ทหาร” ก่อนมีการปรับเปลี่ยนเป็น “จาก รพ.จิตเวช ถึง รพ.ทหาร เมื่อกะเทยต้องเกณฑ์ทหาร และคนมีจู๋ต้องป้องกันประเทศ” โดยบรรณาธิการ The Isaan Record

เมื่อคุณเกิดมามีอวัยวะเพศชายหรือเป็นชายไทยโดยกำเนิดคุณจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญว่า “ชายไทยทุกกคนต้องได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร” ซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย “มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน” โดยกำหนดให้ชายไทยเริ่มเป็นทหารกองเกินนับแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินอาจถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการได้เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินเมื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการครบกำหนด

ด้วยกฎหมายที่มีอายุ 69 ปี ยังบังคับให้คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชาย (ไทย) ต้อง ‘รับราชการทหาร’ และถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 50 ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ (2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ (5) รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

เมื่อกะเทยจะต้องการเกณฑ์ทหาร

ต่อให้มีร่างกายเป็นเพศชายและจิตใจเป็นหญิงก็ยังคงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารความยากลำบากให้กับกลุ่มคนข้ามเพศโดยเฉพาะ TRANSWOMEN หรือผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วและกะเทยหรือสาวประเภทสอง ในการหาวิธีต่างๆ เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นสำหรับการเกณฑ์ทหาร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเป็นทหาร เช่น บางคนต้องเรียน รด.3 ปี เพื่อจะได้รับยกเว้นการเกณฑ์ทหาร

อีกวิธีหนึ่ง คือการขอใบรับรองแพทย์เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร วิธีที่จะทำให้พวกเธอมั่นใจมากที่สุดว่าจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร

การขอใบรับรองแพทย์เป็นวิธีที่มีความยุ่งยากพอสมควรสำหรับพวกเธอ เพราะมีหลายขั้นตอน รวมไปถึงการมีค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองแพทย์อีกด้วย โดย ‘ปอย นัตตี้ และเนย’ (ทั้งสามคนขอใช้นามสมมติเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง) ได้เล่าประสบการณ์การเกณฑ์ทหาร หรือขั้นตอนและประสบการณ์การไปเกณฑ์ทหารของพวกเธอให้ทุกคนเข้าใจถึงความยุ่งยากนี้มากยิ่งขึ้น

ออกโรงพยาบาลจิตเวช เข้าโรงพยาบาลทหาร

ทั้งปอย นัดตี้และเนย เริ่มจากการหาโรงพยาบาลจิตเวชและพวกเธอต้องจองคิวผ่านไลน์ เพื่อที่จะได้คิวเข้ารับการทดสอบและมั่นใจว่าจะสามารถเข้ารับการทดสอบจากจิตแพทย์ได้ เพราะหลายๆ คนเคย walk in เข้าไปก็ไม่สามารถทดสอบได้เนื่องจากคิวของจิตแพทย์ไม่ว่างยาวนาน

‘ปอย’ ‘นัตตี้’ และ ‘เนย’ เริ่มจองคิวช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ได้คิวเข้าพบจิตแพทย์ วันที่ 10 มกราคม 2565 และในวันที่นัดหมายเธอต้องไปก่อนเวลานัด เพื่อทำประวัติคนไข้และนั่งรอคิวกว่า 2 ชั่วโมงก่อนที่จะได้เข้าพบจิตแพทย์

จิตแพทย์คนที่ 1 สอบถามปอยเกี่ยวกับการแต่งตัว การไว้ผม ระยะเวลาการใช้ฮอร์โมน การใช้ชีวิตรวมไปถึงอนาคตที่อยากเป็นหรืออยากทำ ด้านนัตตี้ได้ตรวจสุขภาพร่างกายและวัดสายตา ส่วนเนยได้ตอบคำถามเกี่ยวกับสภาพจิตใจ จากนั้นพวกเธอก็ได้เข้าพบจิตแพทย์คนที่ 2

จิตแพทย์คนที่ 2 ไม่อนุญาตให้พวกเธอนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องทดสอบ โดยการทดสอบคือ ให้วาดภาพบ้านในความคิดของพวกเธอ 1 ภาพ การให้ทายภาพ 15 ภาพ และอธิบายภาพวาดของตนเองและอธิบายการทายภาพของพวกเธอว่าทำไมถึงวาดแบบนี้ทำไม่ถึงทายภาพภาพนี้ว่าเป็นแบบนี้ โดยทั้ง 3 คนได้ทดสอบแบบเดียวกัน แต่ความต่างคือ จะมีการทำแบบทดสอบ ปอยได้ทำแบบทอดสอบ 624 ข้อ ส่วนนัตตี้และเนยได้ทำ 350 ข้อ

“เป็นแบบทดสอบแบบปรนัย” โดยข้อสอบของพวกเธอทั้ง 3 คนเป็นข้อสอบประมาณเดียวกันคือเป็นข้อสอบที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า โดยการตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ โดยค่าใช้จ่ายของพวกเธอในวันนั้นเป็นเงินจำนวน 350 บาท จากนั้นก็รอจะได้ใบนัดอีก 14 วันให้กลับมาพบจิตแพทย์อีกครั้ง

หลังจาก 14 วันพวกเธอก็กลับมาพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชอีกครั้ง โดยรอบนี้ก็ใช้เวลารอคิวนานเหมือนกัน

ปอยได้เข้าพบและพูดคุยกับจิตแพทย์เกี่ยวกับการขอใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์สอบถามเธอว่าว่าใช้สำหรับอะไร ปอยก็บอกว่า “ใช้สำหรับการเกณฑ์ทหารค่ะ” จากนั้นจิตแพทย์ก็ออกใบรับรองแพทย์ของโดยระบุการวินิจฉัยว่า “เพศสภาพ ไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และนัตตี้ก็ได้รับการวินิจฉัยเช่นเดียวกับปอย

ส่วนเนยนั้น จิตแพทย์ออกใบรับรองแพทย์โดยระบุการวินิจฉัยว่า “ลักเพศ-ลักเพศ”


ใบรับรองแพทย์ที่ระบุผลวินิจฉัยว่า ‘ลักเพศ – ลักเพศ’

ทั้งสามคนได้รับคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวช โดยค่าใช้จ่ายของพวกเธอในวันนั้นเป็นเงินจำนวนเงินคนละ 150 บาท

ล่าสุด ค่าใช้จ่ายในการทดสอบทางจิตเวช เพิ่มเป็น 2,950 บาท (แบ่งออกเป็นค่าทดสอบทางจิตวิทยา 2,900 บาท และค่าบริการทางการแพทย์ 50 บาท)

หลังจากได้ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชพวกเธอก็ต้องหาโรงพยาบาลทหารเพื่อที่จะให้แพทย์โรงพยาบาลทหารเซ็นรับรองอีกครั้ง สิ่งที่พวกเธอต้องเตรียมคือ
  • รูปถ่าย 1 นิ้วจำนวน 2 รูป
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ทะเบียนบ้าน
  • ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวช
  • ใบสำคัญ สด.9
  • หมายเรียกทหาร สด.35

ปอยไปโรงพยาบาลทหารพร้อมกับเพื่อนสาวอีกคน หลังจากกรอกประวัติผู้ป่วยแล้วก็รอคิวพบแพทย์ แพทย์คนแรกพูดกับปอยและเพื่อนเกี่ยวกับเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารว่าจะต้อง ‘ผ่าตัดแปลงเพศ’ มาแล้วเท่านั้น ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถเซ็นให้เธอได้ เพราะทั้งปอยและเพื่อนยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ

เมื่อทั้งสองเดินออกมาจากห้องตรวจก็มีพยาบาลคนหนึ่งบอกให้พวกเธอรอพบแพทย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งแพทย์คนนี้เซ็นรับรองแพทย์ให้โดยระบุในคำวินิจฉัยว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดจริง’ ให้กับพวกเธอ

“หมอเซ็นให้โดยที่เราไม่ได้เข้าไปพบหรือพูดคุยกับแพทย์คนนั้นเลย”

ส่วนนัตตี้และเนยแค่ถูกหมอสอบถามและพูดคุยว่า “เอาไปใช้สำหรับการเกณฑ์ทหารใช่ไหม?” เท่านั้น ก่อนที่หมอจะเซ็นใบรับรองให้ พวกเธอมีค่าใช้จ่ายสำหรับใบรับรองแพทย์คนละ 50 บาท

วันเกณฑ์ทหาร 

ปอยเล่าว่า เธอถูกจับจ้องและถูกมองจากคนที่เข้ารับการเกณฑ์คนอื่นๆ ซึ่งปอยก็ถูกแพทย์ที่ตรวจความผิดปกติของร่างกายเรียกเข้าไปพบและขอดูใบรับรองแพทย์จากนั้นก็นั่งรอ

“มีข้าราชการที่อยู่ในนั้นมาขอถ่ายรูปด้วย จากนั้นเขาก็ให้เราไปนั่งรอตรงแถวคนจำพวกที่ 2 เพื่อรอการออกใบรับรองผลการเกณฑ์ทหารที่สุดท้ายก็เขียนว่า เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ควรเป็นคนจำพวกที่ 2”


ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหาร

ส่วนกรณีนัตตี้ที่มีใบรับรองแพทย์ครบ แต่ก็ยังได้เข้าห้องตรวจร่างกาย ซึ่งในห้องตรวจนั้นมีทหารชาย 2 คน และแพทย์ที่เป็นผู้ชายอีก 1 คน นัตตี้ถูกสั่งให้ถอดเสื้อ และให้หันซ้ายหันขวา ด้านหน้าและด้านหลังตามที่แพทย์ชายคนนั้นสั่ง

นัตตี้เล่าด้วยว่า จากการพูดคุยก็พบว่า ต่อให้แปลงเพศแล้วก็ยังต้องเปิดร่างกายให้ทหารและแพทย์ชายดู ดีที่เธอบอกว่ายังไม่ได้แปลงเพศ ถ้าบอกว่าแปลงเพศแล้วต้องเปิดให้ทหารและแพทย์ชายคนนั้นดูเลย

ส่วนเนยเล่าว่า บรรยากาศการเกณฑ์ทหารสำหรับเธอนั้นไม่โอเคเลย เพราะทุกคนต่างจ้องมองเธออย่างเห็นได้ชัด

ประสบการณ์กะเทยเกณฑ์ทหาร

ปอยเล่าว่า สิ่งที่ดีมีแค่การที่ไม่ต้องรอคิวยาวเหมือนกับกลุ่มผู้ชายที่ต้องจับใบดำใบแดงหรือขอผ่อนผัน ซึ่งเราก็แค่ยื่นใบรับรองแพทย์แล้วก็รอแค่นั้น ส่วน ‘นัตตี้’ รู้สึกว่าได้รับการให้เกียรติพอสมควร จากการที่มีที่ให้นั่งไม่ต้องไปนั่งรวมกับคนอื่น

ส่วนเนยชอบความเป็นระเบียบ การจัดคิวค่อนข้างง่ายไม่เสียเวลา และมีแพทย์สำหรับกลุ่มสาวประเภทสองเพื่อรับรองและง่ายยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน พวกเธอก็มีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการเกณฑ์ทหาร ปอยเล่าว่า นอกจากความยุ่งยากตั้งแต่การขอใบรับรองแพทย์แล้วยังพบว่า “เมื่อมาเกณฑ์ทหารเราต้องเผชิญกับการพูดจาล้อเลียน การถูกจ้องมองทั้งจากประชาชนที่มาลุ้นการเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงทหารที่อยู่ที่นั่นด้วย เขาจับจ้องเราเพียงเพราะเราเป็นกะเทย”

เช่นเดียวกับนัตตี้ที่รู้สึกถึงการถูกคุกคามทางเพศจากทหารและแพทย์ที่คัดกรอง

ส่วนเนยเล่าว่า ยังคงมีการหมิ่นแคลน การเหยียดเพศ การแซว และถูกบังคับให้พูด “ครับ” ในวันเกณฑ์ทหาร

ความจำเป็นของการเกณฑ์ทหาร

เมื่อถามถึงความจำเป็นการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย ปอยตอบทันทีว่า ไม่ควรมี ควรเป็นระบบสมัครใจมากกว่า “เพราะเรารับรู้ได้จากข่าวในปัจจุบันว่ามีการซ้อมทหารทำให้ได้รับอันตราย บางกรณีถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเป็นการเกณฑ์คนเข้าไปเพื่ออะไร เพื่อผลประโยชน์ของใคร ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ทุกคนควรที่จะมีสิทธิ์เลือกว่าจะเป็นทหารหรือไม่เป็นได้เอง”

เช่นเดียวกับนัดตี้ที่อยากให้ประเทศไทยใช้ระบบสมัครใจมากกว่าการเกณฑ์ อย่างเช่นกลุ่มคนที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงก็ไม่ควรให้ไปเกณฑ์ทหาร “อยากให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ต้องเกณฑ์ทหารแต่ควรมาด้วยความสมัครใจ”

เนยกล่าวว่า ไม่จำเป็นเลย ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้เลือกใช้ชีวิต ไม่ใช่การบังคับจับฉลากเอาคนไปเป็นทหาร แต่ควรจะเป็นการรับสมัครด้วยความเต็มใจมากกว่า

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดงบประมาณทหาร

ปอยมองการเป็นทหารเกณฑ์ทำให้เสียเวลาชีวิตสำหรับคนที่ไม่อยากเป็นทหาร หากยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปก็คงจะเป็นผลดีกับประชาชนที่จะได้ไปใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ รวมถึงก็จะได้ลดงบประมาณสำหรับทหารที่ไม่มีความจำเป็น และสามารถเอางบประมาณส่วนนั้นไปใช้สำหรับพัฒนาด้านอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น ด้านการศึกษา

“บางคนกำลังจะมีงานที่ดีๆ ทำ แต่ก็ต้องออกมาเพราะติดทหาร” นัตตี้ยกตัวอย่างคนรู้จักที่เรียนครูและกำลังจะจบออกมาได้เป็นครู แต่ต้องไปเกณฑ์ทหาร นั่นคือ ถ้าเขาสอบติด “การเป็นทหารเกณฑ์ คือ ตัดอนาคตหรือดับความฝันในอาชีพที่เขาอยากจะเป็น ไม่ว่า 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี มันก็คือโอกาสของชีวิตที่หล่นหายไป”

เนยกล่าว่า ถ้าเธอต้องเป็นทหารเกณฑ์ ก็คงเสียอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตไป “เสียโอกาสในการใช้ชีวิต เสียงาน เสียเงิน เสียพลังงานและเสียเวลาเปล่าๆ ไปตั้ง 1 – 2 ปี มันไม่คุ้มเลยกับสิ่งที่เราเสียไปเพื่อที่จะต้องไปเป็นทหาร เพราะมันไม่ใช่อาชีพที่เราอยากจะเป็นเลย”

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO