วันพฤหัสบดี, เมษายน 11, 2567

‘26 เครือข่ายคนรุ่นใหม่’ จุดเทียน-แถลงสนั่น พ้อ 14 ปีคนผิดไม่ติดคุก ‘ไม่ยอม’ ยิงกลางกรุงฯซ้ำรอย

ที่มา มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เนื่องในวาระครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ (10 เม.ย.2553) คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) จัดงานรำลึกและสดุดีวีรชน ’14 ปี เมษา – พฤษภา 53′



ต่อมาเวลา 17.50 น. นายอภิสิทธิ์ ฉวานนท์ หรือ เคี้ยง นายกคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนนิสิต นักศึกษา ทั้งจุฬา ฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์
และตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวรำลึกความว่า



ตนโตมากับครอบครัวที่เป็นเสื้อเหลืองมาก่อน แต่ปัจจุบันเรามองว่ารัฐต้องเยียวยาคนเสื้อแดงจากเหตุการณ์เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากนั้นอ่านแถลงการณ์ร่วม เครือข่าย องค์กร กลุ่มนักศึกษา 26 องค์กร กรณี 14 ปี สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มีเนื้อหาระบุว่า

“เมื่อวันที่ 10 เมษายน 14 ปีที่แล้ว รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ได้ใช้กองกำลังทหาร ภายใต้คำสั่งของ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือ ศอฉ. โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ ภายหลังได้มีการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ และพล.อ.ประยุทธั จันทร์โอชา เข้ามาร่วมฝ่ายอำนวยการศอฉ.ด้วย เพื่อปฏิบัติการสลายการชุมนุมใน
บริเวณสะพานมัฆวาน-สะพานผ่านฟ้าในช่วงบ่าย และในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-คอกวัวตอนค่ำ



พ่อแม่พี่น้องคนเสื้อแดงได้ออกมาชุมนุมเพื่อเพียงเรียกร้องการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่ง
เป็นข้อเรียกร้องอันไม่ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยใด รัฐบาลขณะนั้นก็ยังคงยืนยัน ที่จะอาศัยกองกำลังทหารกว่า 70 กองร้อย รวมทั้งการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และสิ่งที่อำมหิตที่สุด คือการใช้กระสุนจริงเข้ามาปราบปรามประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งหมด 27 ราย และศาลมีคำสั่งในหลายคดีว่า กระสุนมาจากฝั่งทหาร“



”การ ‘ขอคืนพื้นที่’ โดยรัฐไทยในวันนั้น จึงเป็นอาชญากรรมรัฐอันโหดร้ายอย่างยิ่ง และสะท้อนถึง
ความอำมหิตของผู้ปกครองในประเทศ ที่ได้แสดงความพร้อมที่จะเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมในประเทศมาโดยตลอด และจนวันนี้ 14 ปีผ่านมา ยังไม่มีผู้กระทำคนใดที่ถูกลงโทษจากการเข่นฆ่าประชาชนผู้ที่คุ้นเคยกับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 จะรู้ดีว่าการป้ายสีและด้อยค่าผู้เห็นต่างโดยรัฐไทยเป็นบ่อกำเนิดของความอยุติธรรม และเป็นสิ่งที่ก่อให้มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงหลายๆ ครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภาพความโหดร้ายจากวันที่ 10 เมษา 53 จึงเป็นภาพที่ยืนยันว่า ความวิปลาสของรัฐไทยไม่เคยหายไป แต่เพียงเปลี่ยนข้ออ้าง จากการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์สู้การกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
ในยุคนั้น ประชาชนถูกป้ายสีจนทำให้การเข่นฆ่ามีความชอบธรรมในสังคม ในปัจจุบันก็ถูกความ
เกลียดชังจากข้อหาล้มเจ้า ที่ปล่อยให้คนอดอาหารจนอาการวิกฤติ



เมื่อย้อนกลับไปดูช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมใหญ่ได้เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยทั้งกลุ่มการเมืองและประชาชนอิสระ จนอาจเรียกได้ว่ากลายเป็นเรื่องธรรมดาในการเมืองไทย

“แต่สิ่งที่มิอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งปกติ และเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ตอนนั้น คือภาพทหารมาล้อมปราบประชาชน ถนนที่นองเลือด ศพที่นอนตายอยู่ใจกลางเมืองหลวง

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดคือภาพที่คนรุ่นใหม่เห็นในตลอดการเติบโตขึ้นในประเทศนี้ และเป็นเหตุที่ทำให้เยาวชนจำนวนมากยืดมั่นกับความฝันที่จะเห็นสังคมที่ลูกหลานพวกเรามิอาจจะต้องเผชิญสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป เราจึงยืนยันว่า พวกเรา ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะไม่ยอมให้เกิดการล้อมปรามขึ้นอีกในอนาคต และจะทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงต่อไป” นายอภิสิทธิ์อ่านแถลงการณ์ร่วม 26 เครือข่ายองค์กรนิสิต นักศึกษา ทั้งประเทศ

จากนั้น ผู้ร่วมกิจกรรม ต่างเปล่งเสียง ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’

ต่อมาเวลา 18.08 น. มีการจุดเทียนรำลึก และวางดอกไม้ หน้ารูปภาพของวีรชน 10 เมษายน 2553 พร้อมอธิษฐานจิตต่อดวงวิญญาณ โดยมีทั้งอดีตคนเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่ ที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทยอยนำดอกไม้มาวางเพื่อแสดงความสดุดี รวมถึงกลุ่มทะลุแก๊ซ ทะลุวัง

จากนั้น กลุ่มทะลุวังและทะลุแก๊ซ นำโดย น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม นำร้องเพลงเก็บตะวัน พร้อมชูภาพ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ และผู้ต้องหาการเมืองรายอื่น พร้อมเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาการเมือง ทุกคน โดยนางเงินตา คำแสน หรือ มานี เปล่งเสียงว่า ถ้าหากตะวันไม่ถูกคุมขังอยู่ตอนนี้ ก็จะมาร่วมเรียกร้องร่วมกับคนเสื้อแดงเหมือนเช่นทุกปี

ที่มา มติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/politics/news_4520202