วันศุกร์, เมษายน 12, 2567

ชวนรู้จักศิลปินวาดภาพ “อัฐสิษฎ” ที่ถูกคุมขังคดี ม.112 “ผมให้อิสระตัวเองในการวาดภาพ แต่ประเทศนี้ไม่ได้ให้อิสระกับผม” ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน



“ผมให้อิสระตัวเองในการวาดภาพ แต่ประเทศนี้ไม่ได้ให้อิสระกับผม” ชวนรู้จักศิลปินวาดภาพ “อัฐสิษฎ” ที่ถูกคุมขังคดี ม.112 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน

11/04/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

Series: Have You Heard about Me?

คุณเคยได้ยินชื่อ “อัฐสิษฎ” หรือไม่ ?

“อัฐสิษฎ” เป็นศิลปินวาดภาพดิจิตอลเพนท์ จากจังหวัดนครราชสีมา วัย 29 ปี ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุจากการวาดภาพแนวเสียดสีสังคม หรือเรียกว่าการวาดภาพ Parody จำนวน 2 ภาพ ระหว่างเดือน มิ.ย.- ต.ค. 2564 ลงบนเพจเฟซบุ๊กของเขาเอง

6 ปี คือโทษที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอัฐสิษฎจากคดีนี้ ก่อนลดกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 12 เดือน (หรือประมาณ 3 ปี) และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทำความรู้จักอัฐสิษฎ หนึ่งในผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวออกมาต่อสู้คดี ผ่านบทสนทนาในช่วงเวลาก่อนศาลมีคำพิพากษา

.
ใช้ ‘การวาดภาพ’ มาเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวในปี 2563

“ผมชอบวาดรูป ทำงานศิลปะ แต่ไม่ได้เรียนจบศิลปะโดยตรงครับ”

“จริง ๆ ผมวาดบนเฟรมกระดาษมานานแล้ว ตั้งแต่ ป.6 พอยุคมันเปลี่ยนแปลง เห็นงานวาดในคอมฯ ก็เลยลองฝึกดู ผมซื้อคอร์สออนไลน์ของต่างประเทศมาเรียน เพราะชอบงานของศิลปินท่านนึง แต่ผมอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ก็ใช้ Google แปลภาษา คอร์สเรียนมันจะมีคลิปวิดีโอประกอบ ก็เลยพอมองเห็นภาพบ้าง”

ส่วนตัวเขาแล้วเป็นคนติดตามการเมืองตลอด แต่ไม่ค่อยแสดงออกมากเท่าไหร่ จุดเปลี่ยนของเขาคือการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 “เราก็ตามดูข่าวที่เขาออกมาชุมนุมกัน ก็คิดว่าพอจะแสดงออกอะไรได้บ้าง ผมเลยลองวาดภาพแนว Parody เสียดสีสังคม พอเริ่มวาดก็มีคนให้ความสนใจค่อนข้างเยอะ เลยวาดต่อมาเรื่อย ๆ

“งานวาดของผมมันเกิดจากว่า ช่วงนั้นมีกระแสสังคมอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผมก็จะเอามาผสมกับหนังหรือการ์ตูนที่ดู ให้คนไปตีความหมายกันเอง”

หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีเศษ “มันเป็นช่วงโควิดที่ผมเลิกทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วกลับบ้าน แต่ว่ามีคนโทรมาหาผู้ใหญ่บ้านกับพ่อแม่ผมว่า ให้หยุดทำ ถ้าไม่หยุดจะไปบอกเบื้องสูง เขาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่จากไหน” อัฐสิษฎพูดถึงเหตุการณ์ช่วงก่อนที่เขาจะโดนจับกุม ซึ่งทำให้พ่อแม่ตกใจแล้วก็ร้องไห้ และอาจมีส่วนให้เขาเองวาดรูปออกมาน้อยลง

.
โดนบุกจับกุม – ตรวจยึดสิ่งของที่บ้านใน อ.พิมาย โดยไม่มีทนายความ ก่อนถูกควบคุมตัวมาแจ้งข้อหา 112 ที่ บก.ปอท.

เวลาประมาณ 07.30 น. ของวันที่ 8 พ.ย.​ 2565 พ่อของเขามาเคาะประตูเรียก บอกว่ามีตำรวจมาหา “เปิดประตูออกไปเห็นเจ้าหน้าที่เยอะมาก นับไม่ถูกแต่เกิน 10 คนแน่ ๆ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ มีรถตู้ รถกระบะ แล้วก็รถเก๋ง แล้วก็มีเอกสารหมายจับมาอ่านให้ฟัง เขาค้นห้อง ค้นหมดเลย ถ่ายรูป เปิดคอม เช็ก ค้นทุกอย่างในคอมผม..

“จากตอนนั้นง่วงอยู่ ผมตื่นเลย เครียดมาก เพราะไม่เคยโดนคดีความ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกก็ไม่รู้ต้องทำยังไง ที่บ้านก็ตกใจ คนรอบหมู่บ้านมาดูกันเต็มเลย เพราะเจ้าหน้าที่ไปเยอะมากแล้วรถก็จอดเต็มหน้าบ้านผมเลย วันนั้นเขาให้ผมเซ็นเอกสารเป็นปึกเลย ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ตอนโดนจับผมไม่มีทนายอยู่ด้วย” หลังจากนั้นเขาถูกพาขึ้นรถตู้จากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มาแจ้งข้อหามาตรา 112 ที่ บก.ปอท. กรุงเทพฯ

“คืนนั้นผมถูกขังที่ ปอท. แล้วถูกไปส่งศาลตอน 9 โมงเช้า ผมไม่ได้ประกันตัว ต้องอยู่เรือนจำประมาณ 2 วัน เพราะบ้านผมอยู่ต่างจังหวัดต้องใช้เวลาเดินทาง แล้วเงินที่บ้านก็ไม่ได้มีเยอะ แม่ก็พอมีเงินอยู่บ้าง แต่ก็ต้องเอารถไถไปจำนำเพื่อเอาเงินมาประกันตัว อีกส่วนนึงก็ไปยืมมา รวมแล้วเป็น 90,000 บาท”

หลังจากที่เขาได้ประกันตัวจึงได้ออกจากเรือนจำ และได้มีโอกาสไปปรึกษาคนรู้จักเกี่ยวกับคดีความ เขาจึงติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางคดีกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

.
สูญเสียรายได้จากการวาดรูป ต้องเลิกทำงานประจำ ซ้ำมีภาระเดินทางไปรายงานตัว เสียทั้งเงินและเวลามากมาย

อัฐสิษฎถูกเจ้าหน้าที่ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ เมาท์ปากกาวาดภาพ และโทรศัพท์มือถือ ทันทีหลังถูกจับกุม “มันใช้ในการหาเงินด้วย ผมรับทำงานฟรีแลนซ์วาดภาพประกอบ ทำกราฟิก จะได้ประมาณ 6,000 บาทต่อหนึ่งงาน แต่พอผมโดนยึดคอมพิวเตอร์ไป ก็ไม่มีรายได้จากตรงนี้เลย

“อีกอย่างก็จะเป็นช่วงรายงานตัว ช่วงแรกผมต้องไปแทบทุกเดือน แต่พอหลัง ๆ ก็ห่างออกไป ทุกครั้งผมก็ต้องลาหยุดงาน คือผมอยู่ต่างจังหวัด การที่ผมจะมารายงานตัว 8 โมงเช้าตามนัด ก็ต้องมาล่วงหน้าวันนึง ส่วนค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางหนึ่งครั้งผมหมดประมาณ 2,000 – 3,000 บาท” อัฐสิษฎเล่าถึงค่าใช้จ่ายสำหรับระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรระหว่างบ้านของเขาและกรุงเทพฯ ที่เขาต้องเดินทางมารายงานตัวตามนัดหมายคดีหลายต่อหลายครั้งในช่วงเวลากว่า 1 ปี

“ตอนนี้ผมช่วยงานที่บ้านทำเกษตร ไม่ได้ทำงานประจำ เพราะมันทำไม่ได้จริง ๆ ผมต้องหยุดงานมาเรื่องคดีบ่อย ผมอยากไปเริ่มต้นทำงาน อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่
 


“เรื่องวาดรูป ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าจะกลับไปวาดเหมือนเดิมได้ไหม ยังอยากวาดงาน Parody เสียดสีการเมืองอยู่ ผมเจอแนวทางของตัวเองแล้ว แต่มันไม่สามารถทำได้ต่อ

“ถ้าเกี่ยวกับงานศิลปะ ผมว่าบ้านเรามันไม่ได้มีอิสรภาพในการวาดขนาดนั้น มันไม่ได้อิสระอย่างที่คิดไว้ ผมให้อิสระตัวเองในการวาดภาพและวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในประเทศนี้ไม่ได้ให้อิสระผมขนาดนั้นที่จะแสดงออก มันมีกรอบครับ ถ้ามันมีกรอบขนาดนี้ การที่จะมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มันไม่มีทางเกิดขึ้นหรอกครับ” เขากล่าวทิ้งท้าย

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “อัฐสิษฎ” 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี คดี ม.112 เหตุโพสต์ 2 ภาพ-ข้อความ ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว

https://tlhr2014.com/archives/66287