วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 18, 2567

หีก็คือหี ไม่สูงไม่ต่ำ มาจากไหน? อยากรู้ อ่านต่อ


SPECTRUM
Yesterday
·
‘หี’ มาจากไหน?
.
มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่มาและความหมายของคำว่า “หี” สรุปย่อจากบทความของสุพัฒน์ เจริญสรรพพืช (2562) ชื่อ “อันสืบเนื่องจากคำเรียกอวัยวะเพศของไทย” ที่กล่าวถึงการสันนิษฐานของสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเชื่อว่า คำว่า หี มาจากอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แผ่ขยายเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งให้ความหมายแง่ลบกับความเป็นหญิง โดยมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตว่า หีน (หี-นะ) หมายถึง ต่ำช้า, สกปรกโสโครก เช่นคำว่า ทมิฬหีนชาติ ซึ่งเพี้ยนเป็น หินชาติในภายหลัง
.
ส่วนอีกที่มา สุพัฒน์ได้ยกงานวิจัยเรื่อง ThePhonology of Proto-Tai ของ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (2009) ซึ่งเชื่อว่า หี และ ควย เป็นคำไท-ไต ว่า *hi: A /ฮี/ และ *ɣwaj A /ฅวัย/ แต่ก็ยังแตกต่างจากภาษาอื่นๆ ในแถบอุษาคเนย์ เช่น ตระกูลภาษาชิโน ทิเบตัน (พม่า) ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (เวียดนาม กัมพูชา และกระจายตัวไปบางชนกลุ่มใน ไทย พม่า มาเลเซีย)
.
สุพัฒน์ ได้ค้นคว้าขยายข้อถกเถียงนี้ไปยังพื้นที่เหล่านั้น และได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า แม้ไม่มีคำที่ใช้เรียกอวัยวะเพศหญิงที่ใกล้เคียงกับคำว่า “หี” แต่ก็มีคำเรียก เพศหญิง หรือ ตัวเมีย ในกลุ่มคำโบราณของภาษามลายู-พอลินีเชียว่า *Bahi และขึ้นไปเป็นระดับคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียน (PAN) ว่า *bahi /บาฮิ/ เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไท-ไต ว่า *hi: A /ฮี/ จึงให้รูปเสียงและความหมายที่อาจเป็นที่มาของคำว่า หี ในทุกวันนี้ ซึ่งน่าสนใจว่าในรูปแบบวิธีศึกษาเดียวกันนี้ ก็ได้ค้นพบคำว่า *gaway /กาวัย/ ที่หมายถึง งวงหรือหนวดของสัตว์ต่างๆ และอาจเป็นรากและความใกล้ชิดของคำว่า ควัย หรือ ควย ในปัจจุบันเช่นกัน
.
ด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจของทั้ง 3 นี้ ได้ชี้ชวนให้เห็นว่า อวัยวะเพศหญิง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนการเข้ามาของศาสนากระแสหลัก ไม่ได้มีนัยยะในการเป็นของต่ำช้า หรือต้องเซนเซอร์เมื่อต้องการกล่าวถึง สอดคล้องกับศาสนาผีแบบดั้งเดิมในพื้นที่แถบนี้ ที่ผู้หญิงมีสถานะสูงส่งกว่าเพศชาย มีบทบาทเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเผ่าพันธ์ุ เป็นหมอมด หมอผี เป็นใหญ่ในพิธีกรรมทั้งปวง อวัยวะเพศและเรือนร่างของเพศหญิงจึงไม่ได้สกปรก ตกต่ำ หากแต่ศักดิ์สิทธิ์ ทรงพลัง อยู่เคียงข้างอวัยวะของเพศชาย ในฐานะผู้ให้กำเนิด ผู้รักษาความอุดมสมบูรณ์ หากไร้การประเวณีระหว่างอวัยวะเพศหญิงและชาย ข้าวปลาอาหาร สรรพชีวิตก็ไม่อาจเกิดได้ ซึ่งเป็นภัยที่น่ากลัวยิ่งในสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เช่น ประเพณีร่วมเพศขอฝนในยุคดึกดำบรรพ์
.
#แล้วกีหดหายไปแต่เมื่อใด
การบูชาศิวลึงค์ (Lingam) ได้มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยปลายศตวรรษที่ 6 โดยผ่านเข้ามาทางอาณาจักรเขมร (Wedmeyer, 2010) เช่นการประดิษฐานศิวลึงค์ไว้ในหอคอยกลางของนครวัด ซึ่งภายหลังมีนักวิชาการสันนิษฐานว่า ศิวลึงค์นี้ไม่ได้เพื่อบูชาเทพเจ้าเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกษัตริย์เองที่มีฐานะเป็นเทวะราชา เป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้า และมีอิทธิพลต่อความเชื่อไปทั่วภูมิภาค รวมถึงราชสำนักไทย ศิวลึงค์ปรากฎในร่างที่หลากหลาย ศาสนาฮินดูสร้างความแตกต่างระหว่างองคชาติสองประเภท คือ มนุสสีองคชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในขณะที่สยัมภูองคชาติ ที่เกิดจากการก่อตัวของหินตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อพบสยัมภูองคชาติก็จะมีการสร้างวัดไว้รอบ ๆ (Smolarski, 2020) เมื่อผนวกเข้ากับศาสนากระแสหลัก อำนาจของอิสตรีและหีก็พลอยหดหาย กลายเป็นสิ่งเสื่อมทราม เหลือไว้แต่อำนาจของบุรุษที่ส่งผ่านโลกเกษตรกรรม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งราชสำนัก เป็นของขลังสะกดภูติผี และโลดแล่นในระบบทุนนิยมผ่านปลัดขิก
.
ก่อนการบูชาศิวลึงค์ จะแผ่ขยายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โยนี (Yoni) อันหมายถึง อวัยวะเพศหญิง มดลูก การกำเนิด ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ และอาจเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณที่เก่าแก่ที่สุด ไม่เพียงแต่ในอินเดียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมโบราณต่างๆ ความเคารพต่อโยนีมีมายาวนานก่อนพระเวท มีการค้นพบรูปแกะสลักผู้หญิงที่เน้นโยนีและเต้านมอย่างชัดเจน มีอายุในช่วง 4,000 ปีก่อนคริสตศักราช (Dokras, 2023) ซึ่งอาจมีความหมายแรกเริ่มถึงความอุดมสมบูรณ์ ก่อนจะพัฒนามาเป็นสัญญะทางจิตวิญญาณ
.
เช่นเดียวกับเอเชียอาคเนย์ ที่ใกล้ชิดกับฝนและฟ้า คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (2016) ได้กล่าวถึงชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ราบลุ่มน้ำสินธุ (Sindhu) หรือกลุ่มฑราวิธ (Dravidian) ก็ได้มีการบูชาเทวสตรี เป็นสำคัญ ก่อนจะถูกชาวอารยนชนเผ่าเร่ร่อน ที่ไม่ได้ดำรงสังคมแบบการเกษตรติดที่ดินเข้ารุกราน ซึ่งสัมพันธ์กับเทพบุรุษมากกว่า จนผนวกกันลดรูปเหลือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู แต่ก็ยังปรากฏร่องรอยหลักฐานของการบูชาเทวสตรี เช่น การบูชาหินรูปอวัยวะเพศหญิงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า กามขยเทวี ในรัฐอัสสัม หรือการบูชาเลือดประจำเดือน
.
สอดคล้องกับการศึกษาของ Rosati (2021) ที่กล่าวว่า กามขยเทวี เป็นสิ่งประกอบสร้างในยุคกลางของอินเดีย อันเป็นผลมาจากการเจรจาต่อรองระหว่างชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองของรัฐอัสสัมและศาสนาฮินดูพราหมณ์ที่มาจากอินเดียเหนือ
.
“โยนี” หรือหีแห่งบรรพกาล จึงก่อกำเนิดโดยไม่มีความเชื่อมโยงกับลึงค์มาแต่เริ่มแรก หากภายหลังเทพีพื้นเมืองเหล่านี้ กลับเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจให้กับเทพบุรุษ เป็นศักติ (Shaktism) ที่สถิตในมหาเทพผู้สร้างจักรวาล เป็นพระชายาเคียงคู่เหล่าเทพ เช่นที่พระแม่กาลีคือศักติของพระศิวะ โยนีที่เคยอยู่ผู้เดียว จึงปรากฎในรูปแบบของฐานโยนีรองศิวลึงค์ โดยมุ่งเน้นไปที่พลังของจักรวาล ส่วนหนึ่งของบุรุษ โดยทิ้งเรื่องเพศไว้เบื้องหลัง
.
#Yoni #Vagina #Southeastasia #Orientalism #GenderinSouthEastAsia
.
Content by พัชรพร ศุภผล
Graphic by 7pxxch
.
อ้างอิง
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2012). เทวี : เทวสตรีในอินเดีย ใน พลังผู้หญิง แม่เมีย และเทพสตรี: ความจริง และภาพแทน. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช. (2562). อันสืบเนื่องจากคำเรียกอวัยวะเพศของไทย (Etyma for 'vagina' and 'penis' in Tai). (https://bit.ly/3UJ2buS)
Rosati, E.Paolo. (2021). The Yoni of Kāmākhyā: The Intersection of Power and Gender in its Mythology. (https://doi.org/10.1558/rosa.19013 )
Smolarski ,Philippe. (2020). Shaivism in Southeast Asia Lingam and Yoni signification in the Shaivist Temples in Koh Ker. (https://bit.ly/42FbdLq)
Wedemeyer, Christian K. (2012). Making Sense of Tantric Buddhism: History, Semiology and Transgressionin the Indian Traditions . New York: Columbia University Press
.
&Oriental คอลัมน์ที่จะเดินออกจากองค์ความรู้เรื่องเพศแบบหมุนรอบโลกตะวันตก สืบค้นเพื่อพบรากเหง้าของความหลากหลายที่ฝังลึกอยู่ในกายเรา เริ่มที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) พื้นที่ที่เราเกิด เติบโต และอาศัย แต่เรารู้จักมันน้อยกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก
.
ทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
.
#Oriental #GenderinSEA
#noneurocentric #SEA
.
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
"กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”

(https://www.facebook.com/photo/?fbid=856906126235734&set=a.719340903325591)