วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 17, 2567

เบื้องหลังเพื่อไทยถอดใจ ขอถอนร่างแก้ไข 2 กฎหมายลูก - คาดว่าร่าง 2 ฉบับนี้คงหายไปในสายลม



เบื้องหลังเพื่อไทยถอดใจ ขอถอนร่างแก้ไข 2 กฎหมายลูก

15 ก.พ. 2567
SPACEBAR

  • พรรคเพื่อไทย ใส่เกียร์ถอย ขอถอนร่าง พ.ร.ป.ถึง 2 ฉบับ
  • ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • คาดว่าร่าง 2 ฉบับนี้คงหายไปในสายลม

ช่วงบ่ายวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอถอนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่..) พ.ศ... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ...

โดยให้เหตุผลเนื่องจากเห็นว่า ร่างที่เสนอมายังไม่สมบูรณ์ จึงขอถอนร่างดังกล่าวไปก่อน จนทำให้วันมูหัมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้สั่งงดประชุมรัฐสภาในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ และยังไม่ทราบจะนัดอีกครั้งเมื่อใด

ขณะที่ชูศักดิ์ ยอมรับที่ต้องขอถอนร่าง เพราะมีเสียงทักท้วงจากองค์กรอิสระ อาทิ ป.ป.ช. ที่ชี้ว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ต้องการให้ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระเพียงองค์กรเดียวที่สามารถฟ้องนักการเมืองได้

หากรัฐบาลเดินหน้าผลักดันต่อก็อาจจะสะดุดได้ เพราะ ป.ป.ช. ซึ่งเห็นแย้งมาตั้งแต่ต้น อาจจะดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จึงจำเป็นต้องถอนร่างฯ ออกมาก่อน เพื่อนำไปศึกษารายละเอียดให้รอบคอบและไม่เกิดปัญหาในอนาคต

ความจริงการขอแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับนี้ ชูศักดิ์ และคณะ ได้ยื่นเสนอต่อประธานรัฐสภาไปตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ร่างของคณะรัฐมนตรี แต่ให้เหตุผลในการถอนว่าคณะรัฐมนตรีจะนำกลับไปทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ แล้วค่อยเสนอกลับเข้ามาใหม่

ฟังดูแปร่ง ๆ อยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ชูศักดิ์ ยังออกมาโต้กลับสว.บางรายที่ตั้งคำถาม โดยยืนยันว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่การรื้อฟื้นคดีเก่า แต่เป็นการสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาใหม่

‘ไม่ให้ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการฟ้องคดีใหม่’

กล่าวคือ ไม่ให้คดีสิ้นสุดหรือยุติลงในชั้น ป.ป.ช.และอัยการที่สั่งไม่ฟ้องเท่านั้น แต่ให้สิทธิกับผู้เสียหายในการฟ้องคดีใหม่ได้ ถือเป็นการคานอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะไม่ควรไปตัดสิทธิ์ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย

แต่สุดท้ายก่อนถึงวันพิจารณาของรัฐสภาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ชูศักดิ์ ก็มาขอถอนร่างทั้งสองฉบับออกไปแบบปัจจุบันทันด่วน ทั้ง ๆ ที่พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาย้ำจุดยืนสนับสนุนการแก้ไข โดยมี

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย มาร่วมแถลงข่าว พร้อมดึงชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านฯ มาร่วมสนับสนุนด้วย

ด้านหนึ่งเหตุผลคงแจ่มชัดอยู่ในคำชี้แจงของชูศักดิ์แล้ว เพราะ ป.ป.ช.ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว ต่อให้ดันไปจนสุดทางผ่านสภาไปได้ ก็ต้องไปติดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี เนื่องจาก ป.ป.ช.ได้เสนอความเห็นแย้งต่อสภาไว้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77
รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายลูกเอาไว้ใน (2) (3) หลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วภายใน 15 วัน ให้ส่งร่างดังกล่าวไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ เพื่อให้ความเห็นชอบ และหากเห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา..

เจอ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายล๊อคไว้ถึงสองชั้นแบบนี้ จึงทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องใส่เกียร์ถอยออกมาก่อน ส่วนจะรอให้ สว.ชุดนี้หมดวาระลง รวมทั้ง รอเคลียร์เส้นทางให้เปิดโล่งแล้วค่อยเสนอเข้ามาใหม่ ก็น่าจะยังพอมีเวลา เพราะสภาชุดนี้ยังอยู่ไปได้อีกสามปีกว่า

จึงยังมีเวลาไปออกแบบใหม่ ตบซ้ายตบขวาให้เข้าที่เข้าทางได้อีกนาน หากมีความมุ่งมั่นต้องการเข้ามารื้อฟื้นคดีต่าง ๆ ใน ป.ป.ช.ไม่ว่าจะฟอกขาวหรือเช็คบิลใครย้อนหลังก็ตาม

แต่ก็ต้องระวังเจอหมัดสวน อาจถูกอีกฝ่ายรื้อฟื้นคดีที่ ป.ป.ช.สั่งไม่ฟ้องเอาผิดได้ด้วย เพราะมีหลายคดีที่ยังไม่หมดอายุความเช่นกัน

สรุปเพื่อไทยคงถอยด้วยเหตุนี้ และอีกนานกว่าจะดันร่างแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับกลับเข้าสภาใหม่



(https://spacebar.th/deep-space/thailand-council-meeting-pheuthai-parliament-law)