วันพุธ, กุมภาพันธ์ 21, 2567
สั่งฟ้องคดี ม.112 “ยุกติ” นักวิชาการ มธ. กรณีถูกกล่าวหาทวิตเรื่อง #ข่าวลือ เมื่อปี 64 ผู้ถูกกล่าวหาระบุ หวังให้เกิดการนิรโทษกรรม คลี่คลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
5h·
สั่งฟ้องคดี ม.112 “ยุกติ” นักวิชาการ มธ. กรณีถูกกล่าวหาทวิตเรื่อง #ข่าวลือ เมื่อปี 64 ผู้ถูกกล่าวหาระบุ หวังให้เกิดการนิรโทษกรรม คลี่คลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
.
.
20 ก.พ. 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้นัดหมายส่งฟ้องคดีของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีที่ถูกแจ้งความโยงโพสต์ทวิตเตอร์กับปมข่าวลือ ร.10 ประชวร เมื่อปี 2564
.
คดีนี้ มีผู้กล่าวหาคือ อภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564
.
ต่อมา 11 เม.ย. 2565 ยุกติพร้อมทนายความ ได้เดินทางไปที่ สน.นางเลิ้ง โดย พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งพฤติการณ์คดีมีเนื้อหาโดยย่อว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับข่าวลือว่า รัชกาลที่ 10 กำลังประชวรจนต้องเข้าโรงพยาบาล
.
ต่อมาผู้กล่าวหาระบุว่า ยุกติได้โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ข่าวลือ ถ้าไม่จริง ก็แปลงเป็นคำสาปแช่งแล้วกันครับ” ซึ่งเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
.
.
ในการฟ้องคดีมี เอกนวินต์ ปานดำ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
.
คำฟ้องโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงวันและเวลาที่มีข่าวลือแพร่ไปทั่วในสื่อโซเชียลมีเดียว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเช้ารับการถวายการรักษาพระอาการประชวรด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งจำเลยทราบข่าวลือดังกล่าวอยู่แล้วนั้น จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการโพสต์ข้อความว่า “ข่าวลือ ถ้าไม่จริง ก็แปลงเป็นคำสาปแช่งแล้วกันครับ” ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ของตน ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาพาดพิงค์องค์พระมหากษัตริย์
.
คำฟ้องระบุว่า ข้อความดังกล่าวของจำเลย เป็นการกล่าวที่มุ่งร้ายให้องค์พระมหากษัตริย์ เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง อันเป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้าย และแสดงถึงเจตนาของจำเลยได้ว่า จำเลยมีความประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านข้อความนั้นช่วยกันสาปแช่งพระมหากษัตริย์
.
อัยการยังบรรยายว่า คำกล่าวเช่นนี้เป็นการแสดงความไม่ปรารถนาดีและมุ่งร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ย่ำยี เหยียบย่ำหัวใจของคนไทยที่รักและเทิดทูนต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง แสดงออกถึงความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความองค์พระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสื่อมเสียงชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง
.
ในท้ายฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โดยระบุว่า หากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
.
ต่อมา หลังศาลรับฟ้อง และนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ยื่นประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวยุกติ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
.
ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น.
.
.
สำหรับกระบวนการนัดฟ้องคดีในวันนี้ ยุกติได้ให้ความเห็นโดยระบุว่า ตนไม่ผิดคาดที่จะมีการฟ้องดำเนินคดีในวันนี้ จริง ๆ แล้วการแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับประชาชนเป็นนโยบายในยุคสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งจากรูปคดีของตน ไม่ควรที่จะมีการดำเนินคดีแต่แรกด้วยซ้ำ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลมาก็ยังมีการดำเนินคดีอยู่ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ก็ไม่ได้มีความจริงจังในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายนี้หรือไม่ได้มีความจริงจังเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมมันผิดปกติ
.
อย่างไรก็ตาม ยุกติกล่าวเสริมว่า การที่บรรยากาศทางการเมืองเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นตนจึงหวังว่าจะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมคดีการเมืองในทุกลักษณะ เพื่อเป็นการคลี่คลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาอย่างยาวนาน
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/64953