วันจันทร์, พฤษภาคม 22, 2566

เล่าเรื่อง…Koalitionsvertrag สัญญาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของพรรคการเมืองเยอรมัน


Photo credit: https://www.bundesregierung.de/.../kultur-im...
เยอรมนี มีเรื่องเล่า
16h
·
เล่าเรื่อง…Koalitionsvertrag สัญญาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของพรรคการเมืองเยอรมัน
.
สืบเนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงนี้ ทำให้เราได้ยินข่าวเรื่องพรรคก้าวไกลมีความพยายามในการจัดทำ MOU การร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ และหลายพรรคมีปัญหากับ MOU ว่ามีการกำหนดกะเกณฑ์มากไป ควรเป็นแนวทางกว้างๆ หรือกระทั่งบางอย่างไม่ควรอยู่ใน MOU นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันเรื่องนโยบายของเธอ ของชั้น จะใช้ของใคร ไปจนถึงเรื่องการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าพรรคไหนควรได้กี่เก้าอี้ คุมกระทรวงใดบ้าง ผู้เขียนเลยขอถือโอกาสนี้ เล่าเรื่องว่าในเยอรมนีภายหลังการเลือกตั้ง เค้ามีการเจรจา จนถึงการทำสัญญาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อเป็นข้อมูลว่าประเทศเสรีประชาธิปไตยแบบเยอรมันเค้าทำกันอย่างไรนะคะ
.
หลังการเลือกตั้ง
กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (Bundeswahlgesetz) มาตรา 42 (2) ระบุว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับประเทศ (Bundeswahlausschuß) จะต้องรับรองผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสส. จากนั้นให้ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งของแต่ละรัฐเป็นผู้แจ้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ว่าได้รับการเลือกตั้งและสมาชิกภาพจะเริ่มต้นนับจากวันประชุมสภาวันแรก ถ้าต้องการปฏิเสธไม่รับตำแหน่งต้องแจ้งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐ
.
และในกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมันกำหนดไว้ในมาตรา 39 (2) ว่าการประชุมสภาครั้งแรกจะต้องมีขึ้นภายใน 30 วันหลังจากการเลือกตั้ง แปลว่า กกต. ต้องดำเนินการให้ทุกอย่างแล้วเสร็จก่อนที่จะมีการประชุมสภาครั้งแรก ซึ่งจะบอกว่าขอประกาศวันที่ 29 ไม่ได้ เพราะจะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของแต่ละรัฐไม่สามารถแจ้งสส.ได้ทัน รวมไปถึงทำให้ไม่สามารถเรียกประชุมสภาได้ทันตามรัฐธรรมนูญกำหนด
.
ในเยอรมนีโดยปกติหลังเลือกตั้ง ในคืนนั้นเราก็จะรู้คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ จากนั้น 3 วันควรจะรู้ผลไฟนอลแบบไม่เป็นทางการแล้ว ส่วนการประกาศรับรองสส.อย่างเป็นทางการของกกต.มักจะแล้วเสร็จภายใน 2 อาทิตย์ แต่ก็ไม่มีใครสนใจขั้นตอนนี้เท่าไหร่แล้วค่ะ 555+ เพราะ่ว่ารู้ผลไฟนอลอย่างไม่เป็นทางการ(ซึ่งมักไม่มีอะไรผิดพลาดด้วย) ตั้งแต่ 3 วันแรกแล้ว จากนั้น ประธานสภาชุดก่อนหน้าจะทำการเรียกประชุมสภา ตามระเบียบว่าด้วยเรื่องกิจการสภา (Geschäftsordnung des Deutschen Bundestages) มาตรา 1 (1) ภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญกำหนด ก็เป็นอันเริ่มสมัยของสภาชุดนั้น และในการประชุมนัดแรกนี้สภาก็มักจะทำการเลือกประธาน และรองประธานสภาค่ะ
.
การจัดตั้งรัฐบาล
ภายหลังการเลือกตั้งจะมีการติดต่อพูดคุยกันคร่าวๆ ระหว่างพรรคต่างๆ เพื่อจะจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเรียกการพูดคุยนี้ว่า Sondierungsgespräche โดยปกติพรรคที่มีเสียงมากที่สุดจะติดต่อพูดคุยกับพรรคอื่นๆ แต่ก็มีบางครั้งที่พรรคที่มีขนาดเล็กคุยกันเองว่าจะร่วมกับพรรคขนาดใหญ่พรรคใดดี 5555 แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่รับรู้กันในระบบการเมืองเยอรมันคือ แต่ละพรรคจะมีแนวทางหรืออุดมการณ์ของพรรคที่ชัดเจน การร่วมมือกันนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องคณิตศาสตร์ทางการเมือง พรรคใดจับมือกับพรรคใดก็ได้ แต่จะมีแนวทางว่าพรรคใดที่มีโอกาสร่วมมือกันได้มากน้อยลดหลั่นกันลงไป และไม่มีวันร่วมมือกันเลยอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่การจะร่วมรัฐบาลกันจึงมักยึดถือในเรื่องของอุดมการณ์ของพรรค และนโยบายที่จะไปด้วยกันได้เป็นหลัก ถ้าไปกันไม่ได้ พรรคการเมืองเยอรมันก็จะสะบัดบ๊อบแล้วเป็นฝ่ายค้าน (อย่างที่เคยเล่าไป สภาเยอรมันไม่มีวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นถึงเป็นฝ่ายค้านก็ไม่ได้ร่วมมือกันค่ะ แต่ละพรรคทำหน้าที่กันไปเอง ไม่เกี่ยวกัน 5555+ )
.
หลังจากมีการพูดคุยระหว่างพรรคต่างๆ ถ้าแต่ละพรรคแสดงความสนใจที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ก็จะมาถึงขึ้นตอนของการเจรจาต่อรองในการร่วมรัฐบาล หรือ Koalitionsverhandlung ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของการเจรจาเรื่องของนโยบายของแต่ละพรรคที่จะนำมาทำเป็น “นโยบายรัฐบาล”
.
“นโยบายรัฐบาล” นี้ไม่ใช่การนำนโยบายของแต่ละพรรคมารวมกัน ไม่ใช่การแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ใครได้กระทรวงไหนก็เอานโยบายเกี่ยวกับกระทรวงนั้นของพรรคตัวเองมาใช้ ไม่ใช่ค่ะ จากนโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียงเอาไว้ เมื่อถึงขั้นตอนการเจรจาต่อรอง แต่ละพรรคจะหารือและหาข้อตกลงว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลร่วมที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำอะไรบ้าง นโยบายอาจจะมาจากพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งก็ได้ถ้าทุกพรรคเห็นชอบ หรืออาจจะเอานโยบายเรื่องเดียวกันจากต่างพรรคมาหาข้อสรุปว่าจะทำออกมาอย่างไร บางพรรคอาจจะบอกว่าพรรคเราขอนโยบายนี้ ส่วนเรื่องอื่นเราไม่มีปัญหา ส่วนพรรคอื่นอาจจะบอกว่า โอเค ยอมให้ใช้นโยบายของพรรคคุณได้เพราะเราไม่ซีเรียสเรื่องนโยบายนี้ แต่นโยบายเรื่องอื่นเราขออันนี้นะ ถ้าตกลงกันได้ทุกฝ่ายก็สามารถกลายเป็นนโยบายรัฐบาลได้ค่ะ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะงบประมาณมีจำกัด ก็ต้องวางแผนการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อิอิ
.
จะขอยกกรณีตัวอย่างนโยบายที่พรรคการเมืองประกาศระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เปรียบเทียบกับภายหลังที่ออกมาเป็นนโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจ จะได้เห็นภาพชัดเจนนะคะ ในปี 2005 พรรค SPD มีการทำแคมเปญการหาเสียงว่า "Merkelsteuer, das wird teuer" หรือประมาณว่า “แมร์เคลจ้องจะขูดภาษีคุณ” ในเยอรมนีเวลาหาเสียงเค้ารณรงค์กันเต็มที่ค่ะ แต่ไม่มีใครต่อว่าหรือห้ามพูดถึงพรรคคู่แข่ง เพราะว่าทุกคนเข้าใจดีว่านั่นคือการแข่งขัน ซึ่งในปีนั้นพรรค CDU ของแมร์เคลมีนโยบายว่าจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 16% เป็น 18% ก็ประกาศตรงๆ ใจๆ ไปเลย ทำให้พรรค SPD เอามาเป็นข้อโจมตีว่า CDU เตรียมขูดรีดภาษีประชาชน ในขณะที่ SPD ประกาศว่าพรรคเราจะไม่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาภายหลังการเลือกตั้ง CDU/CSU และ SPD ร่วมรัฐบาลกัน และทำนโยบายรัฐบาลร่วมกัน สุดท้ายนโยบายรัฐบาลข้อนึงคือ เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 16% เป็น 19% มากกว่าที่ CDU บอกไว้ตอนหาเสียงอีก 555555+ ทั้งนี้เพราะ เมื่อทำนโยบายร่วมกันพบว่างบประมาณไม่พอจะทำนโยบายอื่นๆ จึงต้องหาเงินเพิ่ม SPD ก็เข้าใจความจำเป็น เลยตกลงเพิ่มอีก 3% จบๆ ไป 5555+ (ดูข่าวและข้อมูลเพิ่มเติมในภาพประกอบนะคะ)
.
หรืออย่างกรณี SPD ทำสัญญาร่วมรัฐบาลตกลงกับ CDU เมื่อสมัยรัฐบาลที่แล้วว่าจะลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน และมีนโยบายยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2038 ซึ่งแปลว่า SPD เห็นด้วยกับระยะเวลานี้ แต่พอรัฐบาลปัจจุบันพรรคกรีน มีนโยบายชัดเจนตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าถ้าพรรคกรีนเป็นรัฐบาลจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2030 เมื่อ SPD ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคกรีนก็ต้องยอมรับเงื่อนไขเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่ได้พรรคกรีนจะไม่ร่วมรัฐบาลเด็ดขาด เรื่องอื่นเจรจากันได้ พรรค SPD ซึ่งเคยเห็นด้วยกับการยกเลิกในปี 2038 ในรัฐบาลที่แล้วก็ไม่มีปัญหาที่จะเลื่อนมาเป็นปี 2030 ก็ยินยอม แต่ถ้าเป็นรัฐบาล CDU ก็อาจจะมีปัญหา เพราะนโยบายเรื่องนี้ของ CDU คือค่อยๆ ยกเลิกไปจนปี 2038 (ดูข่าวและข้อมูลเพิ่มเติมในภาพประกอบค่ะ)
.
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นโยบายรัฐบาลอาจจะเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับแก้ไปก็ได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แบบนี้คนเยอรมันไม่ต่อว่าพรรคการเมืองเหรอว่าสัญญาแล้วทำไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าเพราะคนเยอรมันเข้าใจว่ารัฐบาลเยอรมันจะเป็นรัฐบาลผสม ดังนั้น โอกาสที่นโยบายที่หาเสียงไว้นั้นจะถูกปรับแก้หรือแม้กระทั่งไม่สามารถนำไปปฏิบัติก็มีอยู่ นโยบายช่วงหาเสียงจึงเป็นไกด์ไลน์ให้รู้ว่าพรรคมีแนวทางอย่างไร แต่ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องได้แบบนั้นทุกอย่าง
.
แต่สิ่งที่ทำให้คนเชื่อมั่น และใช้ในการตรวจสอบการทำงานพรรคก็คืออุดมการณ์ของแต่ละพรรคนั่นเอง ซึ่งนโยบายและการทำงานของพรรคก็จะสอดคล้องกับอุดมการณ์ อย่างพรรคกรีน ถึงแม้นโยบายจะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติได้จริงทุกอย่าง แต่อย่างน้อยคนก็เชื่อมั่นได้ว่าพรรคจะสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้ช่วงสงครามในยูเครนมีคนที่ต่อต้านสงครามจำนวนหนึ่งบ่นผิดหวังในพรรคกรีน เพราะคิดว่าพรรคจะไม่สนับสนุนสงครามด้วยการคัดค้านการสนับสนุนยูเครน เพื่อให้สงครามหยุดโดยเร็ว แต่พรรคกรีนคือสนับสนุนยูเครนเต็มที่มาก ด้วยเหตุผลว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกรุนราน ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการรุกรานอธิปไตยโดยรัสเซีย ทำให้ฐานเสียงที่เห็นด้วยก็ยังคงสนับสนุนพรรคต่อไป หรือถ้าคนรู้สึกว่า SPD ไม่ให้ความสำคัญกับแรงงาน สหภาพแรงงานมากพอ โหวตเตอร์ก็จะเปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคอื่นทันที เช่นที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2005 ทำให้ CDU นำโดย Merkel ได้รับความนิยมเหนือ SPD มาโดยตลอดจนถึง 2021
.
หลังจากการเจรจาต่อรองทำนโยบายเสร็จสิ้น (บางครั้งก็ล้มเหลว ดีลล่มไปก็มี) ก็จะเป็นขั้นตอนการทำสัญญาการร่วมรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Koalitionsvertrag (หรือของไทยที่พรรคก้าวไกลพยายามทำตอนนี้ก็คือ MOU นั่นเอง) ซึ่งในสัญญานี้จะระบุว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายในด้านต่างๆ อย่างไร ก็เป็นการเอานโยบายที่เจรจากันเรียบร้อยมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นสัญญา แล้วลงนามร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดว่าอะไรที่เราจะทำร่วมกันแน่ๆ
.
“สัญญาการร่วมรัฐบาล” ของเยอรมันนั้นว่ากันว่ามีมาตั้งแต่การมีรัฐสภาครั้งแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็คือในปี 1949 โดยในสภา Bundestag ชุดที่ 1-3 (1949-1961) สัญญาการร่วมรัฐบาลนั้นเป็นการทำสัญญาแลกกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะในขณะนั้น (แต่ภายหลังมีการนำสัญญาของรัฐบาลชุดที่ 3 มาเปิดเผยเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์) แต่นับตั้งแต่สภาชุดที่ 4 (1961-1965) จนถึงปัจจุบันมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยความยาวของสัญญานี้เริ่มจากไม่กี่หน้า เช่นสัญญาในปี 1957 มีเพียง 8 หน้า ก็พัฒนาในเรื่องของความละเอียดของสัญญามากขึ้นตามลำดับ จนช่วงปลาย 1980 ก็มีความยาวมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าเป็นเท่าตัว จนฉบับของรัฐบาลปัจจุบันนี้มีความยาวถึง 177 หน้า
(ดูสัญญาการร่วมรัฐบาลปัจจุบันได้ที่นี่ค่ะ https://www.bundesregierung.de/.../koalitionsvertrag-2021... )
.
โดยในสัญญาการร่วมรัฐบาลนี้ นโยบายบางอย่างอาจจะบอกเป็นกรอบกว้างๆ ว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำอะไร เช่น รัฐบาลชุดที่แล้วทำสัญญาร่วมรัฐบาล (2017) โดยมีนโยบายจะลดการใช้พลังงานถ่านหิน แต่ไม่ได้ระบุว่าจะทำอย่างไร แต่ได้ระบุว่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้ ต่อมาต้นปี 2020 รัฐบาลก็แถลงนโยบายที่ได้ผลสรุปจากคณะทำงานว่าจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2038 บางนโยบายก็จะลงรายละเอียด เช่น มีการกำหนดตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลจะใช้ในการสร้าง infrastructure ภายในปีไหน หรือบางอย่างต้องการแก้ไขในรายละเอียดเฉพาะก็จะระบุลงไป เช่น จะแก้กฎหมายลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 16 ปี เป็นต้น
.
เมื่อได้ “สัญญาการร่วมรัฐบาล” เรียบร้อยแล้ว ต่อไปแต่ละพรรคจะมีการจัดประชุมพรรคเพื่อให้สมาชิกพรรคออกเสียงลงมติเห็นชอบกับสัญญาดังกล่าว เมื่อแต่ละพรรคลงมติเห็นชอบเรียบร้อย เป็นอันว่าสามารถลงนามในสัญญาและมีผลบังคับใช้ได้
.
ขั้นตอนต่อไปสภาก็จะประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อได้นายกรัฐมนตรี นายกจะเสนอชื่อคณะรัฐมนตรี เป็นอันว่ารัฐบาลก็พร้อมเริ่มงานได้ทันที โดยปกติขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่การพูดคุย เจรจาต่อรองจัดทำนโยบาย จนถึงทำสัญญาร่วมรัฐบาลนี้จะใช้เวลานานค่ะ บางครั้งกินเวลาหลายเดือนเพราะกว่าจะตกลงหาข้อสรุปเรื่องนโยบายที่เห็นพ้องต้องกันได้ต้องใช้เวลามากพอสมควร
#การเมืองเยอรมัน #เยอรมนีมีเรื่องเล่า #รัฐบาลเยอรมัน #MOU #ตั้งรัฐบาล
.
สำหรับคนที่สนใจเรื่องการเมืองเยอรมัน รวมลิงค์เรื่องที่เคยเล่าไว้ในลิงค์นี้นะคะ
https://www.facebook.com/GermanySt.../posts/2155586811256436


ข้อมูลเกี่ยวกับ "สัญญาการร่วมรัฐบาล" ตั้งแต่ปี 1949-2007 เป็นการอธิบายว่าแต่ละรัฐบาลทำสัญญาในลักษณะใด ช่วงแรก ปี 1949-1957 จะเป็นการทำจดหมายให้คำมั่นสัญญาแลกกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล(ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ) ปี 1957-1961 เป็นสัญญาที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

ที่น่าสนใจคือ ดูตัวเลขในวงเล็บคอลัมน์ที่ 2 ถัดจากปี นั่นคือจำนวนคำในสัญญา จะเห็นว่าจำนวนคำในปีหลังๆ จะเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าสัญญามีความยาวมากขึ้นกว่าในสมัยแรกๆ

Source: https://www.bpb.de/system/files/pdf/7E0ZMU.pdf

ข่าวพรรค SPD หาเสียงว่าพรรค CDU จะขูดภาษี โดยระบุว่าพรรค SPD จะไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแบบ CDU

Source: https://www.focus.de/.../kohl-ypsilanti-merkel-die...



สัญญาการร่วมรัฐบาลระหว่างพรรค CDU, CSU, SPD ปี 2005 มีนโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 16% เป็น 19% มากกว่าตอนหาเสียงของทั้ง 2 พรรค

Source: https://www.kas.de/.../16f196dd-0298-d416-0acb-954d2a6a9d8d



Photo: สัญญาการร่วมรัฐบาลของพรรค CDU, CSU, SPD (2017) เรื่องการลดการใช้พลังงานถ่านหิน ระบุจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการ

Source: https://archiv.cdu.de/.../koalitionsvertrag_2018.pdf...

ต่อมาภายหลังในปี 2020 รัฐบาลจึงมีนโยบายเรื่องการลดการใช้ถ่านหิน ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2038

Source: https://www.bundesregierung.de/.../bund-laender-einigung...


ข่าว พรรคกรีนมีนโยบายในการหาเสียงยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2030 เร็วกว่ารัฐบาลที่ผ่านมากำหนดไว้

Source: https://www.focus.de/.../analyse-klimaschutz-so-schnell...


พรรค SPD มีนโยบายยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2038

Source: https://www.spd.de/aktuelles/kohleausstieg


สัญญาร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ระบุนโยบายรัฐบาลคือยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2030

Source: https://www.bundesregierung.de/.../2021-12-10-koav2021...

(https://www.facebook.com/GermanyStories/posts/pfbid02GqHQqFb5WA8BNr2jMjnpAaoJfybU2qeSswogokF85sqKDyrCtEQpXsxrGnLX9CRdl)