วันเสาร์, พฤษภาคม 27, 2566

ก้าวไกล มาเพื่อเปลี่ยนแปลง อ่าน ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายเหล่านี้


[ 45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลพร้อมผลักดันในสภา ]

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีสังคมที่เท่าเทียม เศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม มีระบบการบริหารราชการที่โปร่งใส มีนิติรัฐ นิติธรรม

ช่องทางในการผลักดัน 300 นโยบาย นอกจากอาศัย ‘กลไกอำนาจบริหาร’ ผ่านการบรรจุนโยบายเข้าไปในวาระ ‘ร่วม’ หรือ MOU จัดตั้งรัฐบาลให้ได้เยอะที่สุด เพื่อผลักดันนโยบายผ่านกระทรวงต่างๆ (ซึ่งจนถึงตอนนี้ ต้องรอการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งว่าพรรคไหนจะรับผิดชอบกระทรวงใด และวาระของแต่ละกระทรวงจะมีอะไรบ้าง)

อีกช่องทางหนึ่งซึ่งพรรคก้าวไกลพูดมาตลอดว่าจะใช้ ไม่ว่าเราจะได้เป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน คือการผลักดันนโยบายผ่าน ‘กลไกนิติบัญญัติ’ ของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค โดยเรามีร่างกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับ เตรียมยื่นต่อสภาฯ แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

- กฎหมายการเมือง 11 ฉบับ
- กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ
- กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ
- กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ
- กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ
- กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ
- กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
- กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ

พรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราเดินบนเส้นทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กฎหมายทั้ง 45 ฉบับนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยมีการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Thread ได้เลย

อ่าน 300 นโยบายพรรคก้าวไกล
election66.moveforwardparty.org/policy


ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเมือง 11 ฉบับ

เป็นร่างกฎหมายที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ปฏิรูปกองทัพ เอาทหารออกจากการเมือง และป้องกันรัฐประหาร เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด สร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหารด้วยสวัสดิการและความก้าวหน้าทางอาชีพ, การจัดระเบียบโครงสร้างภายในของกระทรวงกลาโหมใหม่ แก้ไขให้เฉพาะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก, การยุบเลิกหน่วยงานที่คิดค้นในสมัยสงครามเย็นอย่าง กอ.รมน., การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วยการให้พลเรือนนำทหาร, การปฏิรูปตำรวจ รื้อโครงสร้าง ก.ตร. ให้ยึดโยงประชาชน และการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่เกิดขึ้นนับแต่การรัฐประหารปี 2549
 

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ

แก้ไขกฎหมายเพื่อลดโทษทางอาญาในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เช่น การหมิ่นประมาท การฟ้องปิดปาก ความผิดตามมาตรา 112 และ 116 รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ให้เป็นการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ตามเจตนารมณ์เดิม ไม่ใช่นำมาใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ และการกำหนดโทษแก่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่จงใจบิดเบือนข้อกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้บุคคลทุกเพศสามารถแต่งงานกันได้ และการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สิทธิในการเลือกคำนำหน้านาม และสิทธิของคนข้ามเพศ

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ 4 ฉบับ

ปลดล็อกอำนาจของท้องถิ่นในการให้บริการสาธารณะอย่างมีอิสระมากขึ้น เช่น อำนาจในการดูแลถนนและสะพานทุกเส้นในพื้นที่ ที่ไม่ใช่ถนนเชื่อมระหว่างเมือง, การอนุญาตการเดินรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่, การอนุญาตกิจการประปาขนาดเล็กในพื้นที่ รวมไปถึงการมีกลไกควบคุมคุณภาพน้ำประปาและบทลงโทษผู้ให้บริการประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน
 

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ 6 ฉบับ

ยกเครื่องประสิทธิภาพของระบบราชการ ให้เป็น ‘ราชการเพื่อราษฎร’ ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างรัฐโปร่งใส ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลแทบทุกชิ้นที่รัฐมีอยู่ได้, การทำให้คนโกงวงแตก ด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อนให้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน, การแก้ไขปัญหาการรอการอนุญาตที่ยาวนานของทางราชการ โดยกำหนดให้ใบอนุญาตเกือบทุกประเภทต้องสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายใน 15 วันหลังยื่นขอ
 

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ

ปัญหาการจัดสรรที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนซึ่งถูกกล่าวหาว่ารุกที่ป่า ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นไม่ได้มีสภาพเป็นป่ามานับร้อยปีแล้ว เช่น ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. โดยการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด อย่างเป็นธรรม คืนให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ แลแก้ไขปัญหา ‘ปลูกมะนาวกลางกรุง’ ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


ร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 4 ฉบับ

แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดในธุรกิจผูกขาด โดยเฉพาะธุรกิจสุรา ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถผลิตสุราได้, เพิ่มเงื่อนไข สร้างกลไกป้องกันทุนใหญ่กินรวบผูกขาดทางการค้า, ปรับบทลงโทษ ลดเงื่อนไข แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออก พ.ร.ก. ประมง สมัย คสช. ที่ทำให้การประมงไทยตกต่ำ และการเก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนที่มีทรัพย์สินรวมเกิน 300 ล้านบาท


ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ

สิทธิในการหายใจด้วยอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน จึงต้องมีกฎหมายเพื่อรับประกันสิทธิและสร้างเครื่องมือในการลงโทษผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียงได้ตระหนักเตรียมพร้อมรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ต้องมีการสร้างกลไกการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง เช่น การสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตภาคบังคับสำหรับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก
 

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน 2 ฉบับ

ประกันสิทธิในการรวมตัวกันของแรงงานทุกประเภท เสริมสร้างสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องแรงงานทุกคน อาทิ การกำหนดให้ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ (หยุดเสาร์-อาทิตย์) หากเกินต้องมี OT การลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง 180 วัน แบ่งวันลากันได้ระหว่างพ่อ-แม่ การห้ามเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน เช่น การห้ามบังคับตรวจโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน