วันอังคาร, พฤษภาคม 30, 2566

“ใช่ครับ นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพวกคุณ เค้าออกแบบมาเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศครับ”


.....
Supanat Kantha
Yesterday
·
“ใช่ครับ นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพวกคุณ
เค้าออกแบบมาเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศครับ”

ช่วงนี้เริ่มเห็นคนพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลมากขึ้น โดยเฉพาะในเพจการเงินดังๆหลายเจ้า โดยเฉพาะเพจการลงทุน คอมเมนท์มักจะไปในทางแซะและแซว รวมถึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของก้าวไกลว่า จะทำตลาดหุ้นพัง นักลงทุนหนีหาย หลายคนก็แซะไปว่า ก็คนส่วนใหญ่เขาเลือกแบบนี้นิ ส่วนตัวในฐานะที่ทำงานอยู่ภาคการเงิน ขอแชร์ความคิดเห็นประมาณนี้ละกันครับว่า
.
ใช่ครับ นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพวกคุณ
เค้าออกแบบมาเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศครับ
.
ทำไมผมถึงกล้าพูดแบบนี้ เพราะสถิติของคนไทยมันบอกอยู่น่ะสิครับ
.
คุณรู้ไหมว่า ปัจจุบัน ถ้าเอาคนไทยมายืนเรียงต่อกัน 66 ล้านคน
คนที่อยู่ลำดับที่ 33,000,000 หรือ ตรงกลางของประเทศ มีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่?
.
คำตอบคือ 7,000 บาท/เดือนครับ (ข้อมูลปี 2564)
.
ใช่ครับ 50% หรือครึ่งหนึ่งของคนไทย มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 7,000 บาทต่อเดือน!
.
ที่น่าตกใจคืออะไรรู้ไหมครับ
.
ถ้านับต่อไป ไปหาคนที่ยืนอยู่ตำแหน่งที่ 10% ที่รวยที่สุดในประเทศ
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่ ทราบไหมครับ
.
คำตอบคือ 34,463 บาทต่อเดือน

แปลว่า ถ้าวันนี้ คุณมีเงินเดือนเยอะกว่า 35,000 บาทต่อเดือน
คุณรวยกว่าคนอีก 59 ล้านคนในประเทศไทย หรือ 90%ของประเทศ

และก็ใช่ครับ พวกคุณเป็นคนส่วนน้อยของประเทศนี้ รวมถึงผมด้วย

นโยบายทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการและการเก็บภาษีตลาดทุน รวมถึงการเก็บภาษี Wealth tax การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดความเหลื่อมล้ำนี้ ย่อมส่งผลกระทบทางลบระยะสั้นต่อตลาดทุนแน่นอน
.
ถ้ามองในมุมกลับ ถ้าเราเชื่อว่าการประกาศนโยบายต่อสู้กับกลุ่มทุนผูกขาดทำให้ตลาดหุ้นลง แปลว่า เรากำลังยอมรับว่า ประเทศนี้ตลาดทุนถูกผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นไม่ใช่หรือแล้วเรายังจะกล้าคาดหวังว่าตลาดทุนจะเติบโตต่อในอนาคตระยะยาวได้อย่างไรในสภาวะที่ตลาดมีการผูกขาด หากเป็นแบบนี้ยิ่งควรสนับสนุนนโยบายยกเลิกการผูกขาดเหล่านี้เลยไม่ใช่หรือ?
.
แถมนิดหน่อย : นโยบาย เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท
มีคนมองว่า ไม่ได้ก่อให้เกิด productivity ใดๆ ทำไมต้องไปให้ด้วย แล้วยังต้องใช้เงินกว่า 6แสนล้านมา อาจมีปัญหากับวินัยการคลังได้ในอนาคต

ขอเสนอความเห็นแบบนี้ครับ 3,000 นี้ไม่ได้ก่อให้เกิด productivityทางตรงครับ แต่มันก่อให้เกิด productivity ทางอ้อมจากลูกหลานคนในครอบครัวครับ

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้อง 3,000 แต่พอไปดูตัวเลขสถิติก็เข้าใจ
เพราะประเทศไทยนั้น เส้นความยากจนอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือนครับ

พูดง่ายๆก็คือ 10% ที่อยู่ฐานล่างสุดของไทยมีรายได้เฉลี่ยนต่อเดือนที่ 2,100 บาทเท่านั้นเองการสนับสนุนเงินจำนวนเท่านี้คือการดึงกลุ่มคนออกจากพื้นฐานเส้นความยากจน …“ทั้งประเทศ” แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ

สิ่งที่ตามมาคือ ลูกหลาน สามารถออกไปเรียน ไปทำงาน โดยไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่ต้องคอยส่งเงินกลับมาให้ สามารถทำงาน เก็บออม ลงทุน สร้างโอกาสในชีวิตให้ตัวเองได้มากขึ้น สุดท้ายแล้วมันจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพด้วยตัวของคนๆนั้นเอง และผลตอบแทนของสิ่งนี้จะวนมาอยู่ในรูปแบบของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขยาย purchasing power หรือ อำนาจการซื้อของแต่ละบุคคล สุดท้ายก็จะเป็น consumptionที่ทำให้ GDP โตขึ้นในอนาคตครับ

ปล. สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่กังวล อยากจะบอกว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนมาจะ10ปีแล้วนะครับ คนที่รวยขึ้นมีแค่เจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ส่วนเม่าไทยก็อยู่ที่เดิมทั้งหมดแหละครับ หุ้นจะลงรอบนี้ก็เตรียมซื้อครับ ไม่ใช่เตรียมขาย

อีกนิดนึง รอบนี้ดอกเบี้ยขึ้นตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นจะเอาที่ไหนมาขึ้นล่ะครับ

เดี๋ยวแปะลิงค์ ref ข้อมูลสถิติรายได้ไว้ให้ในคอมเมนท์นะครับ

Edit : แปะ ref ตรงนี้เลยละกัน
ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครับ
ข้อมูลดิบ version excel
https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=social...

---
บทวิเคราะห์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครับ
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13081